วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แนะวิธีแก้ปัญหาการฮุบที่ดินไทยจากต่างชาติ

.
เห็นช่วงที่ผ่านมาพูดกันเอยะเรื่องต่างชาตกว้านซื้อที่ พอดีไปเจอบทความในประชาชาติซึ่งก็มีบางแง่ที่น่าสนใจเลยเอามาฝากไว้ให้อ่าน แต่ย้ำว่าไม่ใช่ต้องเห็นตามทั้งหมด แต่คิดว่ามันเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่ดีครับ
.
--------------------------

.
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 18:32:00 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

วิเคราะห์ ปัญหาต่างชาติซื้อที่นาแก้ไม่ยาก ..แต่ไม่มีใครกล้าแตะพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ

ประชาชาติออนไลน์ วิเคราะห์ ปัญหาต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทย อย่างถึงรากถึงโคน มองปัญหาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เลิกตื่นตูมและโวยวายแบบไร้สติได้แล้ว วิพากษ์จุดบอด พ.ร.บ.การประกอบกิจคนต่างด้าว และ ประมวลกฎหมายที่ดิน ฟันธง ไม่มีรัฐบาลหน้าไหน แก้แตะต้อง เพราะกลัวต่างชาติ ถอนการลงทุน บทวิเคราะห์เสนอแนวทางแก้ปัญหา อย่างชัดเจนเป็นระบบที่สุด

สังคมไทย ตื่นตูมกันอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า ต่างชาติ จะเข้ามาซื้อที่นาปลูกข้าว สื่อบางฉบับ เล่นข่าวแบบหวือหวา น่าวิตก ว่า ต่างชาติจะเข้ามากวาดซื้อที่ดินแปลงใหญ่

เมื่อ นักข่าวไปถามนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยืนยันว่า ตามกฎหมายได้กำหนดชัดเจนว่าชาวต่างชาติไม่สามารถมาซื้อที่ดินในประเทศไทยได้

กฎหมายฉบับที่ท่านผู้นำ พูดถึงก็คือ ประมวลกฎหมายที่ดิน กับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นั่นเองเอาเข้าจริง ปัญหาต่างชาติ เข้ามาซื้อที่ดิน ในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นข่าวขึ้นมา ครั้งใดก็ ตื่นตูม กันพักใหญ่แล้วก็เงียบไป 2 ปีที่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีชวน นายวาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานบริษัทซาอุดีซีเมนต์ (SCC) ซึ่งเป็นบริษัทซีเมนต์รายใหญ่สุดของประเทศซาอุดิอาระเบียและเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ

กลุ่มบริษัท EA Juffali&Brother กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของซาอุฯและภูมิภาคตะวันออกกลาง ลงดูพื้นที่ปลูกข้าว ที่บ้านนายประภัตร โพธสุธน จ.สุพรรณบุรี เพื่อเตรียมลงทุนทำนาปลูกข้าวส่งขายต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม2551
ปรากฏว่า ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และนายประภัตร โพธสุธน ถูกด่ายับ อย่างรุนแรง ด้วยข้อหา ขายชาติ !!!จริงๆ แล้ว คนไทยกลัวต่างชาติ ยึดครองที่ดิน มาโดยตลอด

ในสมัยรัฐกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีความกังวล ปัญหาการโอนที่ดิน ไปตกอยู่ในมือ นักลงทุนชาวญี่ปุ่น นักเก็งกำไรชาวจีน และบริษัทอีสต์-เอเซียติก

รัชกาลที่ 7 ทรงยืนกรานที่จะไม่ยอมให้ที่ดินผืนใหญ่ผ่านมือไปเป็นของชาวต่างชาติ ครั้งหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นได้ถามมาในปี 1929 ว่าจะมาเพาะปลูกอ้อยในสยามได้ไหม?

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า สำหรับตัวข้าพเจ้าเองรู้สึกไม่เต็มใจจะให้ที่ดินของเราตกไปอยู่ในมือคนต่างชาติ หากรัฐบาลยอมให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือคนต่างชาติมากเกินไป ถ้าประชาชนปฏิวัติเขาก็มีเหตุผลสมควรที่จะทำเช่นนั้น

กล่าวกันว่า ตลอดรัชสมัยของพระองค์มีการต่อต้านการโอนที่ดินแปลงใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นาหรือที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมให้กับชาวต่างชาติ แม้เจ้าของจะเป็นคนเชื้อสยาม-จีนก็ตาม

มาในยุคปัจจุบัน 2 ปีที่แล้ว เกิดปัญหา บริษัท ไทยเทียม หรือ การเชิดนอมินี เข้ามาทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ค้าที่ดิน) บนเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี เอาเข้าจริง ปัญหาไทยเทียม กระจายไปทั่วประเทศทั้ง จ.ภูเก็ต จังหวัดชายทะเลอันดามัน เรื่อยมาถึง อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนชายทะเลฝั่งตะวันออก

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2552 อัยการฝ่ายคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องที่ปรึกษากฎหมายที่อยู่เบื้องหลังการกว้านซื้อที่ดินของต่างชาติบนเกาะสมุย จนถึงวันนี้ จึงไม่เคยมีคดีนอมินีขึ้นสู่ชั้นศาล สักคดี

ปัญหา นอมีนี ที่ท้าทาย อำนาจรัฐมากที่สุด แต่รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ก็คือ กรณี บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด นอมินีที่ถูกเชิดมาเพื่อดีล ขาย ชินคอร์ป ให้แก่ เทมาเส็ก มูลค่า 73,000 ล้านบาท

เพราะกรณี กุหลาบแก้ว ขนาดว่า พฤติกรรมชัดเจนมากที่สุดแล้ว ยังลอยนวล แล้วจะไปจัดการกับ นอมินี อีก 5 แสนราย ได้อย่างไร ?

ในขณะที่ กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ บริษัท ไทยเทียม แค่ 6 คน ?

"คณิสสร นาวานุเคราะห์" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ได้ตรวจสอบการข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับกรมฯ ซึ่งมีทั้งหมด 5 แสนราย โดย 3 หมื่นราย มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในบริษัทสัดส่วน 49% ซึ่งกรมฯได้ตรวจสอบลงลึกต่อไปว่าใน 3 หมื่นรายนั้น มีบริษัทไหนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่ดิน พบว่ามีทั้งหมด 1,500 บริษัท จากนั้นตรวจสอบลึกลงไปอีกว่ามีบริษัทไหนที่มีการถือครองที่ดิน

ขณะนี้เหลือบริษัทที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นนอมินี 300 บริษัท กรมฯจึงได้ทำการตรวจสอบเชิงลึก โดยลงไปตรวจสอบในพื้นที่การถือครองที่ดินของ 300 บริษัท เพื่อหาข้อมูล ได้ตรวจไปแล้ว 200 กว่าบริษัท ยังไม่พบความผิดปกติ เหลืออีก 40-50 บริษัทที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ แต่ท้ายที่สุด คำตอบคาดเดาได้ไม่ยากว่า ไม่พบสิ่งผิดปกติ เช่นเดียวกับ "อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ" อธิบดีกรมที่ดิน ที่ได้สั่งการให้สำนักงานที่ดินทั่วประเทศเร่งติดตามตรวจสอบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวต่างชาติ

ตามที่มีกระแสข่าวกลุ่มนายทุนต่างชาติได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร (ทำนา) ไว้ในครอบครอง แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานการตรวจสอบพบความผิดปกติในการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติแต่อย่างใด จริงๆ แล้ว รูปแบบในการทำธุรกิจค้าที่ดินของคนต่างด้าว มักใช้บริการของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายให้คำแนะนำ โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า "คนต่างด้าว" และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้กับรัฐในทุกรูปแบบ

ประเด็นสำคัญคือ การใช้รูปแบบของการถือครองที่ดินโดยนิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่ในอัตราร้อยละ 49 และร้อยละ 51 สำหรับคนไทย เพื่อให้มองดูว่าเป็นนิติบุคคลไทยนั้น ขณะที่กรมที่ดินพิจารณาแต่เพียงการถือหุ้นและจำนวนคนต่างด้าวที่ถือหุ้นเท่านั้น

การให้บริการของ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายคือ การสร้าง "นอมินี" (nominee)
โดยใช้ลูกจ้างของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย หรือคนงานก่อสร้าง ซึ่งไม่มีบทบาทต่อการบริหารธุรกิจ และไม่ได้มีการลงทุนในทุนเรือนหุ้นถือหุ้นแทน

นอกจากนี้ยังมีความแยบยลที่จะกำหนดสภาพของหุ้นที่คนต่างด้าวถือให้เป็น "หุ้นบุริมสิทธิ" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 (4) และ 1142 โดยกำหนดสถานภาพของหุ้นบุริมสิทธิให้สามารถออกเสียง (voting right) ดีกว่าหุ้นธรรมดา เช่น 1 หุ้น มีสิทธิออกเสียงได้ 10 เสียง ในขณะที่คนไทยที่ถือหุ้นสามัญก็มีสิทธิออกเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นสามัญนั้น ทำให้คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงอย่างเบ็ดเสร็จในการดำเนินธุรกิจถึงร้อยละ 90

ทั้งๆ ที่ บริษัทเหล่านี้อยู่ในข่ายเป็น "คนต่างด้าว" และที่สำคัญบริษัทประเภทนี้ ซึงมีจำนวนหลายร้อยหลายพันบริษัท สามารถเข้ามาทำธุรกิจค้าที่ดิน ในประเทศไทย ได้อย่างเปิดเผย ทั้งๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งห้ามคนต่าวด้าวเข้ามาทำธุรกิจค้าที่ดินอย่างชัดเจน และเมื่อวิเคราะห์ ประกอบ ประมวลกฎหมายที่ดิน ฯ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าประมวลกฎหมายที่ดินไม่เปิดช่องให้คนต่างด้าวเข้ามาครอบครองที่ดินเพื่อการพาณิชย์

ปัญหานี้ ดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็รู้ปัญหาดีว่า บริษัทไทยเทียม เข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ดำเนินการใด ๆ เช่นเดียวกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาก็ทราบปัญหาดังกล่าวดี แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ คล้ายกับว่า รัฐบาลปิดตาเสียข้างหนึ่ง

ทั้งๆ ที่ตามหลักกฎหมายการแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิการออกเสียงของบริษัท เพิ่มเติมจากการควบคุมด้านทุน (49/51) อาจเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาที่ถูกทางตามหลักนิติรัฐ และเอาเข้าจริง หลักการดังกล่าว ต่างประเทศ ต่างให้การยอมรับและบัญญัติเป็นกฎหมาย แต่ก็ปรากฎว่า ไม่มีรัฐบาลใดสนใจปัญหาไทยเทียม อย่างจริงจัง

ครั้งหลังสุดที่มีการหยิบปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณา เกิดขึ้นในปี 2550- 2551 ช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อมีการหยิบยกกรณีการขายหุ้น ชินคอร์ป ให้กับ กองทุนเทมาเส็ก 73,000 ล้าน โดยการเชิดบริษัทกุหลาบแก้ว ซึ่งเมื่อตรวจสอบโครงสร้างบริษัทแล้ว พบว่าสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าวสูงกว่าคนไทย แม้ว่า สัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยจะมากกว่าคนต่างด้าวก็ตาม

จากปัญหาดังกล่าวมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในบรรดาร่างแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ของนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ และคณะ ( 1 มีนาคม 2550)

เจตนารมณ์ที่ปรากฏตามร่างกฎหมายฉบับนายสมชาย ระบุว่า ปัจจุบันมีคนต่างด้าวและผู้มีสัญชาติไทย หรือ นิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวเข้าร่วมลงทุนกับคนต่างด้าวเพื่อประกอบธุรกิจที่สงวนไว้ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ เป็นจำนวนมากโดยผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพ.ร.บ.นี้ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่าวด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้บัญชีท้ายพ.ร.บ. โดยคนต่างด้าวนั้น มิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

ดังนั้นจึงสมควรที่จะได้มีการตรวจสอบที่มาของทุนและคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวโดยเคร่งครัด ก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ อีกทั้งสมควรเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดของผู้สัญชาติไทย หรือ นิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวที่กระทำการให้คำปรึกษาแก่คนต่างด้าวเพื่อประกอบธุรกิจโดยจงใจหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ที่สุดร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ของนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ และคณะ
ก็ไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

หลังจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ แทบไม่มีการหยิบยกเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ ขึ้นมาพิจารณาอีกเลย รวมถึงปัญหาการที่คนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจค้าที่ดิน ทุกวันนี้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ปัญหาในพื้นที่ก็ยังดำรงอยู่
เพราะรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัย ไม่มีรัฐบาลใดมีความชัดเจนและเด็ดขาด เพราะด้านหนึ่งรัฐบาลต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็อยากปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความชัดเจน แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจาก เก็บเรื่องใส่ลิ้นชัก

จริงๆ แล้ว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น จะต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ฯ และประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนี้

1. แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 4 พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ฯว่า ..ในกรณีเป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ให้รวมถึงกรณีที่คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ กึ่งหนึ่ง ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด ตามที่ปรากฏในรายการจำนวนหุ้นอันเป็นหุ้นชำระแล้วทั้งหมด ในหนังสือบริคณห์สนธิ ของนิติบุคคลนั้นด้วย ( แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 4 )

2 แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายที่ดิน โดยแก้นิยาม บริษัทต่างด้าว ให้รวมถึง กรณีที่คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ กึ่งหนึ่ง ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด ตามที่ปรากฏในรายการจำนวนหุ้นอันเป็นหุ้นชำระแล้วทั้งหมด ในหนังสือบริคณห์สนธิ ของนิติบุคคลนั้นด้วย

3. รัฐบาลควรทบทวนบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและเศรษฐกิจ

4. กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งตรวจสอบบริษัทที่เข้าข่ายไทยเทียม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม ถ้ารัฐบาล ดำเนินการทั้ง 4 ประการ ทุกอย่างจะเกิดความชัดเจน

แต่เชื่อว่าที่สุดแล้ว รัฐบาล โอบามาร์ค จะนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร!!!

-----------------------

ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


.
.



วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เบื้องหลังค่าโง่โทลเวย์1,500ล้าน ทักษิณมีเอี่ยว!




เคยได้ยินคำว่า ค่าโง่ทางด่วนมั้ย? ผมเองก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่เช่นกัน แต่บทความของประชาติธุรกิจนี้(เครือมติชน) เขาเอาเรื่องค่าโง่โทลเวย์มาให้อ่าน ก็อ่านเข้าใจง่ายและรู้อะไรๆดีๆขึ้นเยอะ ครับ
.
--------------------

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 16:08:16 น.

"ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา" หน.ทีมอัยการเปิดเบื้องหลังสู้คดีดอนเมืองโทลล์เวย์ หลังถูก"วอเตอร์บาวน์"ผู้รับเหมาจากเยอรมนีฟ้องจนรับบาลต้องควักจ่ายค่าเสียหายกว่า 1,500 ล้าน

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ให้กระทรวงคมนาคมร้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ตัดสินให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเสียหายจำนวน 29 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโครงการโทลล์เวย์ หลังรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผิดสัญญานั้น

ล่าสุด รัฐบาลได้ได้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจที่มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและตัวแทนจากอัยการสูงขึ้นมาเพื่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล

"ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา" รองอธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษา สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหนึ่งในอัยการที่เข้าไปติดตามคดีวอเตอร์บาวน์ และเคยเสนอให้รัฐบาลเจรจาประนีประนอม ลดค่าเสียหายที่ฟ้องร้องจาก 1,500 ล้าน เหลือแค่ 1,200 ล้าน แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่กล้าตัดสินใจ จนที่สุด กรมทางหลวงก็เป็นฝ่ายแพ้ต้องจ่ายเต็ม 1,500 ล้าน

ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เผยเบื้องหลัง ความพ่ายแพ้ ในคดีวอเตอร์บาวน์ เป็นครั้งแรก

จากการที่ผมได้เข้าไปดูกรณีวอเตอร์บาวน์ สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติ กังวลอย่างมากที่สุดคือ ผู้บริหารสัญญาระดับสูงสุด มีความนึกคิดและดำเนินการ เป็นสากลหรือไม่ หลังจาก ผมได้เข้าไปติดตามคดีวอเตอร์บาวน์ ผมมีข้อสังเกตหลายประการ

ประเด็นแรก คือ แน่นอนว่า สัญญาของเราอาจจะมีจุดบกพร่องบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้าหากดำเนินการตามแบบของสนธิสัญญา ในสถานการณ์อย่างนั้นผมคิดว่า กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ดำเนินการดีที่สุดแล้วที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ แล้วทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน

แต่มีบางจุดที่เราไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาในสัญญาฉบับนี้ จะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่อนุมัติ จากหน่วยงานที่เห็นชอบก่อน ซึ่งบังเอิญบ้านเรายังไม่มีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรงนี้ ที่ผ่านมาเราใช้มติคณะรัฐมนตรี เป็นด้านหลัก

เราไม่มีกระบวนการอนุมัติ จึงเกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งประเด็นนี้เราจะต้องมาแก้ไขปัญหากันในอนาคต

ประเด็นที่สอง ในส่วนของเนื้อหา ที่ปรากฏอยู่ในสัญญา เมื่อมองดูสัญญาทั้งหมดแล้ว สัญญาก็พอไปได้ แต่ประเด็นคือว่า ทำไมเรื่องนี้ คู่สัญญาคือฝ่ายวอเตอร์บาวน์ ไม่ได้อยู่ในฐานะคู่สัมปทานของรัฐโดยตรง แต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มารับสัมปทานจากรัฐเท่านั้น

แต่บริษัทดังกล่าวกลับอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ.2545

จุดนี้เป็นประเด็นที่คลุมเครืออย่างมาก ประเด็นนี้ อาจจะต้องมีการตีความ อย่างชัดเจนอีกครั้ง

ประเด็นต่อมา หลังจากผิดสัญญากันแล้วทางฝ่ายของเราเองได้เคารพ กฏหมายการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามหลักกฏหมายลงทุนมีขั้นตอนชัดเจนเพียงไร

ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ที่ผมได้ร่วม พิจารณาคดีได้พูดอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก บอกว่า สัญญาโทลล์เวย์ได้ระบุชัดในสัญญาว่า ห้ามมีการสร้างโครงการมาแข่งขัน แต่แล้วรัฐมนตรีท่านหนึ่งก็เสนอโครงการโฮปเวล์ ทั้งที่มีการห้ามการแข่งขัน ประเด็นนี้ เราตอบเขาไม่ได้

เพราะ ผู้มีอำนาจในการบริหารสัญญาสูงสุดของประเทศของเรา ไม่รักษาสัญญาเสียเอง เราจะตอบอย่างไรได้ นี่คือจุดหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็น ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำผิดสัญญา ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย ประเด็นนี้เราก็ตอบเขาไม่ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดที่เรามองข้าม ทั้งที่ประเด็นเหล่านี้คือประเด็นทางกฏหมาย เสร็จแล้วเราก็มาบอกว่าระบบอนุญาโตตุลาการไม่ดี จะรื้อใหม่ทั้งหมด แต่ผมคิดว่า ปัญหาของเราคือการบริหารสัญญา เราเคารพหลักเกณฑ์สากลมากน้อยแค่ไหน

ในช่วงที่ผมทำงาน กับ ไมเคิล (ทนายความฝ่ายไทย) ตอนแรก ผมเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนายไมเคิลมาก เพราะผมพยายามที่จะต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ไมเคิลพูดกับผมคำหนึ่งว่า คุณรู้หรือไม่ว่า พยานหลักฐานพยานบุคคลที่เราเตรียมมาทั้งหมด ให้การดีมาก

ครั้งนั้น ผมไล่พยานบุคคลตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีโภคิน พลกุล ที่ให้การในหลักสัญญาทางปกครอง ซึ่งฝรั่งก็โต้เราไม่ได้ แต่ไมเคิลก็เป็นห่วงเรื่องเดียว ประเด็นในเรื่อง Fact ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามาสัญญา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

Fact หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตโดยเฉพาะผู้นำเราไม่ปฏิบัติตามสัญญาประเด็นนี้แก้ได้ยากมาก

เพราะเป็นประเด็นที่ปรากฏในเอกชนชัดเจน ครั้งหนึ่ง ผมใช้ความบ้าส่วนตัวของผมเข้าไปเสนอต่อที่ประชุมครม. ทั้งๆ ที่นายผมก็ไม่ได้สั่งการอะไร ผมเข้าไปบอกว่าเรื่องนี้ เวลานี้ในสายตาของผม เราน่าจะมีการเจรจาต่อรองก่อนการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ เพราะว่า ฝ่ายบริหารระดับสูงของเราไม่ปฏิบัติตามสัญญา เป็นส่วนที่เราผิดพลาด

หากเราจะจ่ายค่าเสียหาย ไมเคิลเคยบอกผมว่า ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก แต่ถ้าเราเจรจาต่อรองให้ยุติด้วยดี อาจเหลือแค่ 1,200 ล้าน แต่ปัญหาคือ คณะรัฐมนตรี ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะทุกครั้งในกระบวนการเจรจาต่อรอง ประนีประนอมไม่มี Benchmark มาตรฐานอัตราที่ต่อรองที่แน่นอนว่า เราจะใช้อัตราใดที่เหมาะสม

แต่รูปคดีต่างๆ เราสู้เขาได้หมด ยกเว้นข้อเท็จจริงยกเว้น FACT มันแก้ไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นในอดีตไปแล้ว และค่อนข้างชัดเจน

นี่คือ ปากคำของ "ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา" อัยการที่สู้ยิบตากับ วอเตอร์บาวน์

แม้วันนี้ จะยังไม่มี ข่าวดี ก็ตาม...!!


------------------------------------------


แนะนำอ่านนสพ.แนวหน้า เรื่อง ไทยแพ้คดีโทลเวย์


.
.
.

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เงินแสนล้านกับชายหน้าเหลี่ยมคนนั้น

.
.
.วันนี้ผมชอบบทความของคุณเปลว สีเงิน ในไทยโพสต์ ตอน เงินแสนล้านกับชายผู้น่าสงสารคนนั้น เลยคัดเอาช่วงสำคัญของบทความมาช่วยนำเสนอครับ
.
***********************
.
บทคความโดยเปลว สีเงิน

เห็นลูกน้องทักษิณคุยว่าลูกพี่ดีใจมากที่ติดอันดับ "ยอดนิยม" จากการโหวตของผู้เข้าชมเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ผมก็นึกชมเขาอยู่ในใจว่า..เก่ง เพราะผมนั้น แค่ระดับยาฮูยังเปิด-ปิดไม่ค่อยจะถูก ใครต่อใครติดต่อให้คุยกันในเว็บนั้น-เว็บนี้ อยากคุย แต่ทำอะไรนอกหลักสูตรที่เด็กเขาตั้งหน้าจอไว้ให้ไม่เป็น ก็เลยเหมือนหยิ่ง คือไม่ติดต่อกลับกะใครเลย ฉะนั้น โปรดเข้าใจ ไม่ใช่ผมปฏิเสธ แต่ไม่สามารถน่ะ!

อย่าง ๔-๕ วันมานี้ ตาแฉะอยู่กับเวอร์ชั่นใหม่-ล่าสุด "ภาพชุดเบิร์ธเดย์แม้ว" จากดูไบ ใครต่อใครคงเกรงว่าผมจะไม่มีบุญได้ชื่นชม ก็เลยกระหน่ำส่งต่อกันมาจนผมต้องนั่งลบทั้งวัน เพราะกลัวจะล้นเครื่องคอมพ์

ภาพคงคัดมา "ต่างกรรม-ต่างวาระ" แต่แหม...อยู่ถึงดูไบ ยังอุตส่าห์อิมพอร์ตหลวงพ่อ-หลวงพี่ลาแมร์จากเมืองไทยไปสวดมนต์ "ทำบุญวันเกิด" ฉันเช้า-ฉันเพล ประเคนอาหารไทยถิ่นเหนือกันถึงที่โน่น

สาธุสะ ขอให้พระคุ้มครองเน้อ!

ผมพิศดูหน้าตาท่านจากรูปแล้ว "เป็นห่วงจับใจ" ที่พูดกันว่า "หน้าชื่น-อกตรม" เป็นอย่างไร ถ้าคุณทักษิณอยากรู้ เอารูปที่ถ่ายหมู่กับลูกๆ ที่น่ารักในอพาร์ตเมนต์วันนั้นมาดู หรือจะส่องกระจกดูเงียบๆ คนเดียวก็ได้ แล้วท่านจะเห็นอย่างที่ผมเห็น

ปี ๒๕๔๔ "ตาดูดาว-เท้าติดดิน"

แต่ปี ๒๕๕๒ "ตาโรย-เท้าลอย" ชัดเจนมาก!


วันเกิดเหี้ย



ตาคือหน้าต่างใจ จากตาที่สิ้นแสง-โรยแรง-ไร้พลัง นั้นบอกความจริงว่า Vitality คือพลังชีวิตของท่านถึงจุด "เสียสมดุล" และริบหรี่ ด้วยเหลือน้อยเต็มทีแล้ว!?

ผมนั้น เอะใจตั้งแต่ตอนเห็นภาพท่านจากวิดีโอลิงค์ที่เข้ามาปลุกระดมคนเสื้อแดงในพิธีกงเต็กตอนวันเกิด ๒๖ กรกฎา ที่วัดแก้วฟ้า นนทบุรี โน่นแล้ว

ขนาดโปะหน้าอำพรางโทรมจนขาววอก และสวมเสื้อแขนยาวแดงสดใส แต่ก็ยังไม่สามารถปกปิดโครงร่างที่เริ่มอกรวบ เป็นสัญญาณซูบตรอมด้วยโรคอย่างใด-อย่างหนึ่งกำลังรุมเร้า

เพราะอย่างนี้กระมัง ท่านจึงกระตุ้นสมุนแดงออกหน้า-ออกตากว่าแต่ก่อนว่า "อยากกลับบ้าน" ถึงขั้นเพ้อกำหนดวันนั้น-วันนี้ในตอนปลายปี ให้สมุนรีบตีหักชิงเมืองไว้รอท่า?

จากวันนั้น คือวันเกิดท่านที่ ๒๖ กรกฎา นั่นแหละ ผมก็มานั่งทบทวนความเคลื่อนไหวแต่ละฉาก แต่ละตอน จนมาบรรจบที่ ๓ เกลอหัวขวด ลุกลี้ลุกลนขมวดปมสร้างเงื่อนไขสำหรับใช้ก่อการใหม่ๆ ต่อจาก "ล่ารายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ" โดยไม่ดูดำ-ดูดีว่าสิ่งนี้ "ผิดหรือถูก"

มีอะไรสำคัญเป็นเบื้องหลังนักหรือที่ทักษิณจึงดู "กระเหี้ยนกระหือรือ" เร่งเร้าจะกลับเมืองไทย ทั้งที่จริงๆ แล้วจะกลับเข้ามาวันไหน-เวลาไหนก็ไม่มีใครห้ามอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมกลับเข้ามาเอง เพราะเกรง...โทษหนีคุกตะหาก!

ผมประเมินว่า เวลานี้ทักษิณต้องการหมอ และการพยาบาลรักษาด้วย "โรคเฉพาะทาง" อย่างใด-อย่างหนึ่งซึ่งหาการรักษาไม่ได้ในดูไบ หรืออย่างใน มอนเตเนโกร นิการากัว กระทั่งในแอฟริกาที่โม้ว่ากำลังเซ็นสัญญาทำเหมืองเพชร

ชีวิตการทำมาหากินทักษิณนี่ สังเกตดูเถอะ ไม่ว่าเรื่องจริงหรือเรื่องโม้ ไม่หนีเรื่อง "สัมปทานผูกขาด" ซึ่งก็ส่อนิสัย-สันดานชัดเจนว่าเป็นคนประเภทใด อะไรที่ "ผูกขาด" ละถนัดนัก?

ท่านจำได้มั้ย ไม่กี่เดือนก่อนมีข่าวว่า "เยอรมนี" ไล่ตะเพิดทักษิณ ไม่ยอมให้เข้าประเทศ!

พูดง่ายๆ คือ ขณะนี้ทักษิณเป็น "บุคคลน่ารังเกียจ" ที่สหรัฐและประเทศในเครือสหภาพยุโรปไม่ต้อนรับ ไม่ยอมให้เข้าเมือง ฉะนั้น ก็แค่ลัดเลาะอยู่แถวๆ แอฟริกา ในเอเชียนี่ก็แค่นอนกินทราย-กินแดดที่ดูไบเป็นหลัก

เผอิญสัปดาห์ก่อน มีผู้หลัก-ผู้ใหญ่เล่าถึง "ชายคนหนึ่ง" ที่หลบไปซุกทรายอยู่แถบประเทศตะวันออกกลางให้ผมฟัง เมื่อฟังแล้วผมก็นำมาเข้าสมการจากหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏ ก็ให้รู้สึกเป็นห่วง เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ท่านเล่ามันสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ประจักษ์ของ "ชายคนหนึ่ง" ในขณะนี้มาก

คือเมื่อเดือน-สองเดือนนี้ มีนายแพทย์คนหนึ่งได้รับการขอร้องให้เดินทางไปทำคีโมให้กับผู้ป่วยด้วยโรค "มะเร็งต่อมลูกหมาก" คนหนึ่งที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ผมก็สงสัยว่าประเทศร่ำรวยขนาดถมทะเลสร้างเมือง จะหาโรงพยาบาลด้วยเครื่องมือทันสมัยและหมอผู้มีความชำนาญการไมได้เชียวหรือ จำเป็นอะไรต้องอิมพอร์ตหมอไปจากเมืองไทย?

เขาก็อธิบายว่า ที่นั่นเติบโตด้วยการก่อสร้างสารพัด ยกเว้นการแพทย์-การพยาบาล ก็ไม่เห็นหรอกหรือที่ทุกวันนี้ โรงพยาบาลในเมืองไทยอย่าง บำรุงราษฎร์ กรุงเทพ ปิยะเวท ฯลฯ ขวักไขว่ไปด้วยคนเจ็บป่วยจากตะวันออกกลางที่บินมารักษาในเมืองไทย ซึ่งทันสมัยทั้งแพทย์ ทั้งเครื่องมือ และทั้งวิทยาการ

"คีโม-ก็ไม่มีอะไรนอกจาก 'กินกับฉีด' ปะทะ-ปะทังไปเป็นระยะ" ท่านว่า พร้อมอธิบายว่า ในตัวผู้ชายทุกคนมีสาร "มะเร็งต่อมลูกหมาก" อยู่ทุกคน โดยเฉลี่ย-ธรรมชาติจะไม่ยอมให้ผู้ชายมีอายุเกิน ๑๐๐ ปี สมมุติว่าใครอยู่ถึงร้อยปีแล้วยังไม่มีท่าทีว่าจะเป็นโรคอะไร ธรรมชาติจะจัดสรรให้ โดยอภินันทนาการโรค "มะเร็งต่อมลูกหมาก" ตายโดยอายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี

ก็อาจจะมีผู้ชายที่ "มะเร็งขยาด" อายุเกินร้อยอยู่บ้าง แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหญิง! ฉะนั้น จะพบว่า พออายุ ๕๐-๕๕ ขึ้นไป ผู้ชายส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเกี่ยวกับ "ต่อมลูกหมาก" โชคดีก็ระดับ "ต่อมลูกหมากโต" แต่ถ้าแจ็กพอต หมอล้วงทวารควานแล้วพบตะปุ่มตะป่ำเหมือนมะระก็แสดงว่า "มะเร็งต่อมลูกหมาก" มาแล้วจ้ะ

มะเร็งต่อมลูกหมากถือว่าเป็นเครื่อง "เสี่ยงบุญ-เสี่ยงบาป" อย่างหนึ่ง คือเป็นแล้วไม่มีใครบอกได้ว่าอาการนั้น ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๓ ปี ๗ ปี หรือ ๗๗ ปีตาย ไม่เหมือนมะเร็งทั่วๆ ไปที่หมอพอจะกำหนดวันได้ตามอาการ

ฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมและการรักษาของคนนั้นเองว่าจะสามารถอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือว่า โฟนอินอยู่แหงบๆ อ้าว..ปุบปับ ๑๐๐ วันก็....ซี้ซะแหล่ว!?

ทีนี้ถ้าเป็นแล้วอยากอยู่ถึงร้อยปี ทางการแพทย์ก็มีวิธีบำบัดรักษาอยู่คือ การฉายรังสี หรือการฝังแร่ ประเด็นมันก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ เครื่องมือฉายรังสีที่ทันสมัยที่สุดในโลกมีอยู่ในไม่กี่ประเทศ ราคาเครื่องก็ตกเครื่องละประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

อย่างในบ้านเราที่ว่าทันสมัย และมีอยู่ไม่กี่โรงพยาบาลก็แค่ ๓๐๐-๔๐๐ ล้านเท่านั้นเอง! แล้วประเทศไหนล่ะที่มีเครื่องฉายรังสีเครื่องละเป็นพันล้าน?

ที่แน่ๆ ก็ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ครับ เจ๋งที่สุดก็ต้องที่เยอรมนี แต่อย่างว่า ชายคนนั้น "บุญมี-เงินมี" แต่กรรมมันบัง มีเป็นแสนล้าน แต่เงินแสนล้านนั้นไม่สามารถนำมาช่วยซื้อชีวิตในยามคับขันได้ เพราะทั้งสหรัฐและเยอรมนี ไม่ต้อนรับคนที่พยายามแยกชาติ-โกงแผ่นดิน และเป็นนักโทษหนีคุก!

ผมจึงถึง "บางอ้อ" ที่สงสัยมานานว่าเหตุใดจึงมีคนซมซานจะเข้าไปประเทศเยอรมนีในครั้งนั้น ก็คงเพราะมันเหตุนี้แหละ!?
.
.
.