วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

กว่าจะได้เป็นประธาน G77 ของประเทศไทย







ฝ่ายเชียร์ คสช. ก็ว่า นี่คือความภาคภูมิใจที่นานาชาติยอมรับรัฐบาล คสช.

ส่วนฝ่ายต่อต้าน คสช. ก็อ้างว่า ไทยได้ตำแหน่งมาเพราะการหมุนเวียนไปตามภูมิภาคและตามตัวอักษรของประเทศสมาชิก


นายวีรชัย พลาดิสัย ผู้จะทำหน้าที่ประธานจี 77 ในปีหน้า


แล้วการได้มาซึ่งเก้าอี้ประธานจี 77 จริง ๆ เป็นอย่างไร ?

เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ "จี 77" ว่า เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รวมตัวกัน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2507

ขณะนั้นประเทศกำลังพัฒนา 77 ชาติรวมถึงไทย ร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับแรกในช่วงท้ายการประชุมยูเอ็นว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือที่เราอาจคุ้นเคยกว่าในชื่อ "อังค์ถัด" ที่นครเจนีวา ตามรัฐมนตรีจี 77 ได้ร่วมกันลงนามใน "กฎบัตรแอลเจียร์"

จากนั้นได้มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างใกล้ชิด จนขณะนี้มีประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 134 ประเทศแล้ว

ดังนั้น ปัจจุบันจี 77 จึงเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในยูเอ็นซึ่งมีสมาชิก 193 ประเทศ

บทบาทสำคัญของจี 77 คือการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถแสดงออกและส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน รวมถึงเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองในประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญภายใต้ระบบของยูเอ็น และส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอีกกรอบหนึ่งด้วย

เป็นเรื่องจริงที่ การรับหน้าที่ประธานจี 77 หมุนเวียนไปตามภูมิภาค ประกอบด้วยแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน


ในปีนี้แอฟริกาใต้ทำหน้าที่ประธานจี 77 ในนิวยอร์ก ดังนั้น หน้าที่ประธานจี 77 ในปี 2559 จึงเป็นของเอเชียและแปซิฟิก

แต่การได้มาซึ่งตำแหน่งประธานจี 77 ของไทย ไม่ใช่ได้มาแบบลอย ๆ หรือได้มาแบบง่าย ๆ ชนิดเรียงตามตัวอักษร


ก่อนประธานจี 77 จะตกเป็นของไทย ได้มี 2 ประเทศที่ประกาศลงชิงเก้าอี้นี้ คือ บังกลาเทศและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประกาศก่อนไทยจะแสดงความสนใจในเก้าอี้ดังกล่าว

แต่ด้วยการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องของคณะทูตถาวรไทยประจำยูเอ็น และกระทรวงการต่างประเทศภายใต้การสนับสนุนและเห็นชอบของรัฐบาลไทย

ในที่สุดประเทศบังกลาเทศและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตัดสินใจหลีกทางให้ไทยรับหน้าที่สำคัญนี้

ได้มีผู้โพสต์ในเฟซบุ๊กระบุว่า ไทยได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งประธานดังกล่าวนี้เมื่อเดือนมกราคมปี 2557 ในระหว่างการประชุมที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ไทยเพิ่งสมัครชิงตำแหน่งประธานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 และใช้เวลา 3 เดือนหาเสียงก่อนได้รับเลือก

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ด้วยความที่จี 77 เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในยูเอ็น ดังนั้นจึงมีสำนักงานเพื่อประสานงานของจี 77 ในเมืองอื่นๆ ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานยูเอ็นด้วย อาทิ เจนีวา ไนโรบี ปารีส โรม และเวียนนา โดยมีนิวยอร์กเป็นเหมือนสำนักงานใหญ่

ในอดีตที่ผ่านมาไทยเคยทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม 77 ที่ไนโรบีในปี 2557 ซึ่งดูแลประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานจี 77 ที่นิวยอร์ก ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลประเด็นทั้งหมดในภาพรวม

นายเสขกล่าวว่า ไทยได้ประกาศเสนอตัวทำหน้าที่ประธานจี 77 ในนิวยอร์กเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 โดยชูประเด็นบทบาทด้านการพัฒนาของไทยที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดเป็นเหตุผลในการขอรับการสนับสนุนจากประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกโดยที่ประชุมกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม มีมติเห็นชอบให้ไทยดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าวนี้ ก่อนที่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีจี 77 จะให้การรับรองเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา

สิ่งที่ได้มากับตำแหน่งประธานจี 77 คือความรับผิดชอบอันมากมายของไทย ในฐานะประเทศที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่อันสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาสำคัญของการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัง ค.ศ.2015 ที่ผู้นำชาติสมาชิกยูเอ็นเพิ่งให้การรับรองไปสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจี 77 ด้วยกันทั้งสิ้น

การทำงานของคณะทูตถาวรไทยในนครนิวยอร์กต่อจากนี้ไป จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและส่วนราชการไทย เพื่อให้การทำงานลุล่วง เป็นไปตามความคาดหวังของชาติสมาชิก

นั่นคือที่มาที่ไปของตำแหน่งประธานกลุ่มจี 77


ที่มา มติชนออนไลน์