วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

นี่หรือสงครามชนชั้น??

31มี.ค.53

ท่ามกลางบรรยากาศของการช่วงชิงมวลชน และการแสวงหาทางออกทางการเมืองของของฝ่ายต่างๆ

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ในฐานะของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ได้เสนอข้อคิดต่างต่อวาทกรรมของ “ สงครามชนชั้น ” ที่ถูกนำมาใช้กันในขณะนี้

ที่มาที่ไปของรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

จำเป็นต้องดูที่มาที่ไปของการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลที่ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นการเข้ามาโดยเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งในตอนนี้เป็นการแข่งขันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งอภิสิทธิ์ได้รับการสนับสนุน 235 เสียง ต่อ 198 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม! เช่น พรรคเพื่อแผ่นดิน , พรรคชาติไทย , พรรคมัชฌิมาธิปไตย , พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รวมถึงกลุ่มเพื่อนเนวินและกลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ที่แยกตัวออกมาจากการเป็นผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือพรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีตัวเลือกจากพรรค ที่จะมาเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตัวเอง!! เพราะพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน

ซึ่งในที่สุดสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินเองก็ต่างลงคะแนนสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำประเด็นเรื่องการขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบ หรือไม่เป็นประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ข้อเสนอของ นปช.ที่เสนอให้ยุบสภานั้น ผมมีความเห็นว่า

การยุบสภา การยุบสภาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ

1) กลไกรัฐสภาไม่สามารถทำงานได้ 2)รัฐบาลไม่มีเสียงข้างมาก ซึ่งจริงอยู่ ว่าสามารถเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ รัฐธรรมนูญอนุญาต แต่ข้อเท็จจริง คือ

1) พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ ก็ยังไม่แยกตัวออกไป ยังสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่

2) รัฐสภา ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ทำการไม่ได้ หรือไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้

3) ส.ส. ฝ่ายค้านและรัฐบาล ยังทำงานร่วมกันในกลไกของกรรมาธิการได้ในทุกๆ กรรมาธิการ

ในการประชุมใหญ่ มีเพียง 5-6 ครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม ที่น่าสังเกตคือ ในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องปิดการประชุมโดยกระทันหันนั้น เหตุเพราะฝ่ายค้านใช้ยุทธวิธีเสนอให้มีการนับองค์ประชุมอย่างกระทันหัน โดยสมาชิกฝ่ายค้านยังนั่งกันอยู่เต็มห้องประชุม แต่กลับไม่เสียบบัตรลงคะแนน!?!

ในกรณีที่ผู้ชุมชุมและผู้สนับสนุนเรียกร้องให้มีการยุบสภา และส.ส.ฝ่ายค้านจะไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกรัฐสภานั้น ควรกลับเข้ามาดำเนินการอภิปรายในรัฐสภามากกว่า

เพราะหากการอภิปรายในรัฐสภามีประสิทธิภาพ มีหลักฐานเพียงพอ อาจทำให้รัฐบาลผสมสั่นคลอน หรือถึงกับแตกได้ และฝ่ายค้านก็คงได้รับการสนับสนุนมากขึ้น เพราะในรัฐสภามีการบันทึกเป็นหลักฐาน ทั้งทางลายลักษณ์อักษร อีกทั้งภาพและเสียง แต่ตราบใดที่ยังมีการใช้วิธีข่มขู่ กดดันให้รัฐบาลยุบสภา ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับวิธีการเช่นนี้

-การที่มองว่ารัฐบาลนี้เข้ามาโดยอำนาจนอกรัฐสภา ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงมักมุ่งไปที่อำมาตย์ หรือทหาร จริงอยู่ว่าอำมาตย์ หรือที่เสื้อแดงมักเจาะจงว่าเป็น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และทหารนั้น ยังมีอิทธิพลอยู่ ซึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่เคยอยู่ในอำนาจเกิน 2 ปี ครึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เลย ยกเว้นรัฐบาลทักษิณ 1 ที่อยู่ครบ 4 ปีเต็ม

ถึงแม้รัฐบาลทักษิณ 1 มีเสียงข้างมากก็จริง แต่ก็ได้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านและการชุมนุมของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการคอรัปชั่นขนาดใหญ่ เสียจนประเทศไทยกลายเป็นประเทศแห่งการชุมนุมประท้วงไปแล้ว ยิ่งหลังจากการที่ทักษิณถูกเปิดโปงเรื่องการขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็ก เป็นช่วงที่การชุมนุมประท้วงของพันธมิตรฯ มีแนวร่วมและอารมณ์ร่วมสูงสุดจากประชาชน

โดยต่อมาทักษิณประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคชาติไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่ายังไม่จำเป็นต้องหาทางออกด้วยการเลือกตั้ง เนื่องจาก 1) การทำงานของกลไกรัฐสภายังไม่มีปัญหา 2) การชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยของประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐสภา

แต่การที่ทักษิณยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้ง เป็นเพียงการหลบหลีกการถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของทักษิณ จึงทำให้เป็นเหมือนการเลือกตั้งที่จอมปลอม ที่พรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้งเอง มีการตั้งพรรคปลอม โดยมีพรรคเล็กพรรคน้อยที่ตั้งขึ้นใหม่ขึ้นมา ซึ่งบางกรณีผู้สมัครคนเดียวยังลงเลือกตั้งใน 2 เขตเลือกตั้ง และกระบวนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบ จนศาลปกครองมีคำตัดสินให้จัดการเลือกตั้งใหม่ หรือการที่ศาลตัดสินจำคุก กกต.ทั้งหมดว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ณ จุดนี้ จึงถึงจุดของการที่การเลือกตั้งไม่อาจไปต่อได้ ทหารกลุ่มหนึ่งก็ได้ก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2550

-รัฐบาลสมัคร

ย้อนไปถึงที่มาของรัฐบาลของนายสมัคร สุมทรเวช นายสมัคร ซึ่งไม่เคยมีความสัมพันธ์ใดๆ กับพรรคไทยรักไทย หรือต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชนมาก่อน อีกทั้งยังมีประวัติเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อยู่ๆ ก็ ได้เข้ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ในวัย 75 ปี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งก็ชี้ให้เห็นภาวะไร้ผู้นำของพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นว่าขาดความเป็นอิสระต้องเป็นตัวแทนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 แล้ว ส.ส.และสมาชิกพรรคเกือบทั้งหมดได้ย้ายเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย หากมอง ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับ 2 รวม 165 ที่นั่ง รองจากพลังประชาชนที่ได้คะแนนอันดับ 1 ที่ได้ 232 ที่นั่ง (ชาติไทยตามมาอันดับ 3 ที่ 37 ที่นั่ง เพื่อแผ่นดิน 25 ที่นั่ง รวมใจไทยชาติพัฒนา 9 ที่นั่ง มัชฌิมาธิปไตย7 ที่นั่ง ประชาราช 5 ที่นั่ง )

การเลือกตั้งในครั้งนั้น ผลคะแนนในระบบสัดส่วนที่ออกมาสูสีมาก แม้พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้ แต่ก็แพ้ในราวไม่กี่แสนคะแนน เปรียบได้ว่าเสียงประชาชนในประเทศแทบจะถูกแบ่งครึ่งต่อครึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบอยู่สูงในการกำหนดตัวผู้สมัครในระบบเขต ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เปรียบเนื่องจากมีส.ส.ของพรรคไทยรักไทยเดิมซึ่งย้ายมาสมัครในพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก

- การต่อสู้ทางชนชั้น

การที่เรียกว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น เป็นเพียง slogan หรือคำโฆษณาของทักษิณ ถ้าเป็นสงครามทางชนชั้นจริงจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและ ต้องมีการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ แต่ในสมัยที่ทักษิณเป็นนายก เขาไม่เคยอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจ หรือตรวจสอบในโครงการใหญ่ๆ เลย

1. ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม โดยทุกวันนี้ ก็ยังปฏิเสธในเรื่องใหญ่ๆ 2 เรื่อง คือ

1) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องโครงการรุนแรงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 56 ของ รัฐธรรมนูญปี 40 หรือตาม มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50

2) การมีส่วนร่วมการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ตามมาตรา 244 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ ในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 50

ทักษิณปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนการตัดสินใจทางนโยบายสำคัญๆ เพราะคิดว่าพะรุงพะรัง ทำให้ตัดสินใจแบบโชะๆ ในเรื่องการต่างประเทศไม่ได้ แต่ผลจากการเข้าไปทำสัญญา FTA ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทางด้านกติกา ทักษิณไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริงในการตัดสินใจทางนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

2.รัฐบาลทักษิณมีนโยบายประชานิยมที่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม หรือ accountability โดยมองว่าจะทำให้ประชาชนนิยมชมชอบ จากการสามารถนำเงินไปใช้ตามใจชอบ บางกรณี ก็มี อบต. หรือ หมู่บ้านที่มีสำนึกต่อส่วนรวม ที่เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการนำงบประมาณไปใช้เพื่อส่วนรวม แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการนำเงินไปใช้อย่างไม่ยั่งยืน

3.รัฐบาลทักษิณไม่เคยมีนโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุนจริง ๆ สิ่งที่ทักษิณกล่าวอ้างว่าเป็นการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนนั้น เป็นเพียงคำโฆษณาที่ตายแล้ว เพราะการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนจริง ๆ แล้วน่าจะต้องมีนโยบายที่จะกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม เพราะที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญทางการผลิตในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลทักษิณไม่มี

แต่ตรงกันข้าม ครอบครัวของทักษิณ กลับตั้งบริษัทเอสซี แอสเส็ต ที่มีนโยบายกว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่ โดยใช้สิทธิพิเศษและอำนาจเชิงนโยบายในการเข้าถึงที่ดินของรัฐ ในสมัยทักษิณจึงมีการสะสมที่ดินที่กระจุกตัวสูงมาก ของชนชั้นนายทุน

เห็นได้ว่าทักษิณไม่สนใจที่จะมีนโยบายปฏิรูปที่ดินที่เป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามอภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินขึ้นมา เปิดให้ตัวแทนเครือข่ายปฎิรูปที่ดินเข้ามาร่วมเป็นกรรมการกับภาครัฐ โดยมีนายกเป็นประธาน ถึงแม้การดำเนินงานยังเป็นไปได้ช้า แต่ก็เริ่มที่จะมีนโยบายโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการแปรรูปที่ดินของรัฐที่ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยทำกินให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมใช้ประโยชน์และจัดการ ทั้งนี้ ก็ยังมีการต่อต้านจากข้าราชการ หรือ กลุ่มที่ทักษิณใช้คำว่าอำมาตย์อยู่สูงมาก กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้โจมตีเรื่องนี้ แต่กลับพุงเป้าไปที่บ้านพักบนเขายายเที่ยงของพลเอกสุรยุทธ์เท่านั้น

4.การจ่ายชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้อนุมัติจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลหลายพันครอบครัว ใน 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ รวมเป็นเงิน 795 ล้านบาท

ถ้าพูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ช่วยคนยากคนจนและต้องมีสงครามชนชั้น ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้ยกเลิกนโยบายของทักษิณในด้านการจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ แต่ตรงกันข้าม กลับให้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เช่น

1) โครงการชุมชนพอเพียง ที่จัดสรรงบประมาณให้ 18,000 ล้านบาท เมื่อมีข่าวการทุตจริตในการดำเนินโครงการนี้ รัฐบาลก็ได้แก้ไขทันที โดยรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการประกาศลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่เริ่มมีข่าว ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ที่แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณที่แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทุจริตคอรัปชั่น ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ หรือรู้สึกถึงความผิด

2) การประกันรายได้เกษตรกร ต่างจากนโยบายเดิมๆ ที่เป็นการประกันราคาสินค้า หรือการจำนำสินค้าเกษตร
รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) ในการประกันราคาสินค้าโดยตรงจากชาวไร่ชาวนารายปัจเจก ซึ่งต่างจากในอดีต ที่เป็นการประกันผ่านผู้ส่งออกพืชผลทางการเกษตร หรือ โรงสีขนาดใหญ่ ด้วยการกระจายงบประมาณไปให้ ซึ่งส่งผลให้มีการแสวงหาผลประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง และเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร เพราะแทนที่จะเป็นการสนับสนุนเกษตรกร หรือชาวไร่ชาวนา แต่กลับกลายเป็นการสนับสนุนนายทุน แต่สงครามชนชั้น หรือ สิ่งที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้กลับไปใช้นโนบายจำนำสินค้าเกษตรแทน ซึ่งเป็นการสนับสนุนชนชั้นนายทุน

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินนโยบายนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สามารถทำให้ผู้ผลิตข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราในราว 4 ล้านคนพอใจได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าในกลุ่มของผู้ผลิตข้าว ยังมีปัญหา เพราะข้าวปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และเกษตรกรมีการผลิตข้าวกว่า 10 ชนิด ที่มีราคาตลาดแตกต่างกัน ซึ่งสร้างความสับสนอย่างมากในการประกันราคา แต่รัฐบาลก็ยังมีนโนบายที่จะซื้อสินค้าเกษตรโดยตรงจากเกษตรกรหลังการเก็บเกี่ยว

ข้อสำคัญ คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายและหนี้สินของคนยากคนจน โดยมีนโยบายให้

1)เรียนฟรี 15 ปี ที่ให้การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ เช่น เครื่องแบบนักเรียน รวมถึงอุปกรณ์การเรียนและเครื่องเขียน ซึ่งรัฐบาลทักษิณไม่เคยแตะ แต่เป็นภาระทางการเงินของชาวไร่ชาวนา ที่ต้องกู้ยืมเงินจำนวนมากก่อนลูกเปิดเทอม เพื่อนำมาเป็นค่าเล่าเรียนและซื้ออุปกรณ์การศึกษา แต่ตอนนี้ไม่ต้องทำเช่นนั้นแล้ว

2)การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้น ในเดือนมิถุนายน 2552 พบว่า ประชาชนคนไทยมีหลักประกันสุขภาพ จำนวน 62.26 ล้านคน ความครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 99.08 ของประชากรผู้มีสิทธิทั้งประเทศ ( 62.84 ล้านคน) และให้พัฒนาระบบให้ใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดแทนบัตรทองได้

3)เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนละ 500 บาทต่อเดือน ซึ่งกำลังพัฒนานโยบายไปสู่สวัสดิการประชาชนหรือบำนาญประชาชนต่อไป

4)การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น รัฐบาลนี้ หรือ พรรคประชาธิปัติย์ไม่ใช่เทวดา ในกรณีที่มีข่าว หรือข้อสงสัยเพียงเล็กน้อยเรื่องทุจริตในโครงการต่างๆ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและมีการปรับเปลี่ยนออกไปแล้วถึง 3 คน หากทียบกับรัฐบาลทักษิณแล้ว เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองทำผิดอะไรเลย

รัฐบาลอภิสิทธิ์กล้าที่จะเผชิญกับทหารในด้านการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณด้านความมั่นคงจำนวนมาก โดยกล้าทำการพิสูจน์ผ่านทางกระทรวงวิทยาศาตร์ ที่มีผลการทดสอบออกมาว่า GT200 ไร้ประสิทธิภาพ

5)รัฐบาลนี้มีนโยบายเรียกเก็บภาษี ในอัตราก้าวหน้า นั่นคือ ถ้าเงินได้หรือฐานภาษีสูงขึ้น อัตราภาษีที่เรียกเก็บจะสูงขึ้นตามลำดับ โดยการขยายฐานจากการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปสู่การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าด้วย พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้การลงทุนชะงักงันเพราะนักลงทุนต้องเสียภาษีมากขึ้น แต่ก็เป็นการปกป้องชรนชั้นนายทุน

แล้วนี่คืออะไร นี่หรือ สงครามชนชั้น ? หรือเป็นสงครามชนชั้น เพื่อการกลับมาของทักษิณ

ถ้าสิ่งที่เรียกว่าสงครามชนชั้นครั้งนี้ มีประเด็นหรือนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ

1) การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

2 ) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นระบบ

3) ความเท่าเทียมตามระบบยุติธรรม หรือ นิติธรรมตามกฎหมายอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

4) การให้ความมั่นคง ปกป้องสิทธิและความปลอดภัยมากขึ้นกับผู้ใช้แรงงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมกว่าที่เป็นอยู่ เพราะว่ากฎหมายแรงงานในปัจจุบันไม่ได้ให้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานอย่างแท้จริง เช่น การปกป้องสิทธิจากการโดนไล่ออก หากเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานและการดูแลสุขภาวะในที่ทำงาน เป็นต้น ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่จะป้องกันแรงงานจากการถูกไล่ออก เพราะเข้าไปเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

5) การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุลย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้มีการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดและส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้มีสิทธิในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม พรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาแน่ หากไม่เร่งดำเนินการปฏิรูปตามที่ได้ประกาศนโยบายไว้อย่างเร่งด่วน

แต่ที่เป็นอยู่มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนการทำสงครามชนชั้นดังกล่าว เพียงออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาและไม่พูดถึงประเด็นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นก็ยังไปไม่ถึงไหนแน่ ๆ แต่ถ้าจะให้ไปไกลยิ่งกว่านั้น ที่ชุมนุมจะต้องมีจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจน โดยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลลงโทษผู้ที่ละเมิดสิทธิในการฆ่าตัดตอน เช่น ในกรณีของสงครามการปราบปรามยาเสพติด ในระหว่าง พ.ศ. 2547-8 และจากเหตุการณ์กรือเซะและตากใบด้วย

อย่างน้อย ผมก็ภูมิใจที่รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายป่าเถื่อนและโหดเหี้ยมเหมือนในอดีต และได้พยายามทำให้ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในบัญชีดำขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าจะยกระดับการปฏิรูปให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ จะต้องมีการสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางยุติธรรมอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น วาทกรรมที่กลุ่มแกนนำเสื้อแดงใช้ในการปลุกกระแสมวลชน ยกระดับการต่อสู้ทางชนชั้นจึงเป็นเพียงยุทธวิธีในการนำเสนอที่ไร้ซึ่งความเป็นจริงและไร้รูปธรรมแต่ประการใด แท้จริงแล้วก็คือการต่อสู้เพื่อการกลับมาของระบบทักษิณอีกครั้งเท่านั้นเอง
.
.
บทความนี้มาจากคมชัดลึก
.
.
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก