วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561
ทุกข์ของพระโสดาบันมีมากแค่ไหน ?
ทุกข์ของพระโสดาบัน
พุทธพจน์ “ทุกข์ส่วนที่หมดไปแล้วของพระโสดาบันเปรียบเหมือนกับขุนเขาสิเนรุ ส่วนทุกข์ที่ยังเหลือเปรียบเหมือนก้อนหินขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว 7 ก้อน” (สิเนรุสูตร, 19/1745-1746)
ถ้าอ่านจากพุทธพจน์ อาจยังไม่เข้าใจมากนัก
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.ปยุตโต จึงอธิบายเสริมว่า
ถ้าเปรียบความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ก็จะมีความทุกข์มากมายก้อนใหญ่ขนาดเท่าภูเขาหิมาลัย
แต่พระโสดาบันเหลือทุกข์ขนาดใหญ่แค่เพียงเท่าเมล็ดถั่วเขียว (ทุกข์มากสุดก็ไม่เกิน 7 เมล็ดเทียบเท่าไม่เกิน 7 ชาติ)
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า ปุถุชนแม้จะมีความสุขทางโลก ก็สุขได้ไม่สุด ๆ เพราะยังมีความทุกข์มหาศาลเก็บอยู่ในใจ
ในขณะที่พระโสดาบันซึ่งยังเสพความสุขทางโลกอยู่ ถ้าท่านสุขทางโลกก็จะสุขแบบสุด ๆ แบบที่ปุถุชนไม่มีทางสุขเทียบเท่าท่านได้เลย
เพราะทุกข์ในใจของพระโสดาบันเหลือน้อยจนเบาบางมาก จึงสามารถสุขทางโลกได้อย่างอิ่มเอมอย่างที่สุด
แล้วปุถุชนทั่วไปที่ยังต้องแสวงหาความสุขจากสิ่งภายนอกมากเท่าไหร่ เช่น พยายามเสาะแสวงหาที่กิน ที่เที่ยว เพื่อเสพไปเรื่อย นั่นแสดงว่า ภายในใจของปุถุชนเหล่านั้นยังขาดแคลนความสุขอย่างยิ่ง
เพราะคนที่มีความสุขจริง ๆ แค่อยู่เฉย ๆ ก็มีความสุขมากแล้ว จึงมักไม่ดิ้นรนแสวงหา
เมื่อตอนยังเด็ก ๆ อายุสัก 1-3 ขวบ เด็ก ๆ ก็จะมีความสุขกับการเล่นของเล่น แล้วผู้ใหญ่บางคนก็ชอบแกล้งแย่งของเล่นจากมือเด็ก เด็กเลยร้องไห้ประหนึ่งจะขาดใจ เพราะใจเด็กยึดติดความสุขที่เป็นของเล่นนั้นสำคัญที่สุด
แต่พอเราโตขึ้น พวกของเล่นของเด็กอายุ 1-3 ขวบ เราก็ไม่อยากเล่นแล้วใช่ไหม เราก็จะไปสนใจยึดติดสุขสิ่งอื่นแทน
ถ้าเปรียบจิตปุถุชนทั่วไปที่เสพติดสุขทางโลก ก็จะเสมือนเด็กที่ติดของเล่นนั่นแหละ แต่พอสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะไม่สนใจเล่นของเล่นสำหรับเด็กเล็กอีก
ดังนั้นการเป็นพระอริยะแล้วจึงไม่ย้อนกลับไปเสพกิเลสระดับต่ำอีก มีแต่จะเดินหน้าต่อเพื่อเป็นพระอริยะที่สูงขึ้นไปอีก
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังทิ้งท้ายไว้ว่า จิตที่เป็น อุเบกขา นั้นเป็นสุขที่ยิ่งกว่าสุขแบบที่พวกปุถุชนทั้งโลกพยายามจะแสวงหา
ข้อคิดท้ายบทความ
ผมอยากขยายความที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ บอกว่า อุเบกขา คือ อารมณ์สุขยิ่งกว่าสุขแบบปุถุชนนั้น ก็เพราะ
อุเบกขา คือ "ความสงบ" ซึ่งความสงบคืออารมณ์ที่อยู่ระหว่างความสุข กับความทุกข์
ทั้งความสุข กับความทุกข์ก็ล้วนเป็นกิเลส
ความสุข --- (อุเบกขา) --- ความทุกข์
ซึ่ง จิตอุเบกขาจะไม่สุขไม่ทุกข์ แต่คือความสงบ ซึ่งความสงบในจิตใจนี่แหละสุขยิ่งกว่าสุขจริง ๆ
----------
อคติ4 คือ ความลำเอียง 4 ชนิด คือ
ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา
ปุถุชนทั่วไปล้วนมีความลำเอียงทั้งสิ้น (ความอยุติธรรม) แต่ปุถุชนที่ดี ก็จะพยายามดำรงความยุติธรรมโดยไม่ลำเอียงไปตามอคติทั้ง 4 ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่เมื่อเป็นอริยะชั้นโสดาบันแล้ว จะละอคติทั้ง 4 นี้ได้สิ้น
ให้สังเกตว่า หากใครที่ยังมีพฤติกรรมลำเอียงอยู่เยอะ ยิ่งเยอะมากเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างไกลการสำเร็จโสดาบันมากขึ้นเท่านั้น
อคติ 4 จึงเป็นเหตุแห่งความเสื่อม
คลิกอ่าน การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคืออะไร
--->
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก