วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

พลโทประยูร ภมรมนตรี เนรคุณทูลกระหม่อมบริพัตรหรือไม่ ?






การก่อกำเนิดคณะราษฎร 2475 นั้น เริ่มต้นมาจากบุคคล 2 คนที่เป็นต้นคิดก่อตั้งขึ้น นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์ กับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เมื่อครั้งไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส โดยได้มีการประชุมกันครั้งแรกที่หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบ้านพักของร้อยโทประยูร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469

นั่นคือ การถือกำเนิดคณะราษฎรขึ้นครั้งแรก โดยบุคคลทั้งสองคน คือ นายปรีดี กับร้อยโทประยูร

พลโทประยูร ภมรมนตรี หรือยศทหารในอดีตช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นั้น ท่านเป็นพ่อของอดีตกัปตันใหญ่การบินไทยคือ กัปตันโยธิน ภมรมนตรี และยังเป็นพ่อของคนในวงการบันเทิง 2 คน คือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี กับ นายยอดมนู ภมรมนตรี (ซึ่งทั้งสองคนเป็นลูกคนละแม่กับกัปตันโยธิน)

--------------

ประวัติ พลโทประยูร ภมรมนตรี โดยสังเขป

รองอำมาตย์เอก นายพลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายพลเรือน เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุตรของ พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตทหารประจำจักรวรรดิเยอรมัน กับมารดาที่เป็นชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นครูสอนภาษาเยอรมันให้กับนักเรียนในจักรวรรดิเยอรมันขณะนั้นชื่อ แพทย์หญิงแอนเนลี ไฟร์

พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้เสนอจัดตั้งโรงแรมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับความเจริญของกรุงเทพมหานคร หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2496 และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทของรัฐบาลไทย คือ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด หรือ "โรงแรมเอราวัณ"

พลโทประยูร ภมรมนตรี เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 ที่กรุงเบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน ขณะที่บิดารับราชการเป็นทูตทหารไทยประจำจักรวรรดิเยอรมัน โดยมีพี่ชายฝาแฝด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ทูลกระหม่อมบริพัตร) ทรงรับขวัญเมื่อยามเกิด โดยประทานชื่อให้ว่า "ประยงค์-ประยูร"


รูปฝาแฝด ประยงค์-ประยูร จากหนังสือหนังสืออนุสรณ์งานปลงศพ นายพันตรี พระชำนาญคุรุวิท (แย้ม ภมรมนตรี) และนางชำนาญคุรุวิท(แอนเนลี ภมรมนตรี)

พลโทประยูร ภมรมนตรี เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็ก ตำแหน่ง รองหุ้มแพร (เทียบเท่ายศ ร้อยโท) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบิดาและมารดานำเข้าเฝ้าถวายตัวตั้งแต่เด็ก ๆ อายุเพียง 7-8 ขวบ พร้อมกับพี่ชายฝาแฝด และได้เป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส

---------------------


จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

จากประวัติของพลโทประยูร ข้างต้น โดยสรุปก็คือ พอเกิดมาก็ได้ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงประทานตั้งชื่อรับขวัญให้ และยังทรงรับเป็นข้าหลวงในพระองค์ทูลกระหม่อมบริพัตร ในเวลาต่อมาอีกด้วย

แปลความง่าย ๆ ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงชุบเลี้ยงดูพลโทประยูร และส่งเสียให้การศึกษามาตั้งแต่เกิดนั่นแหละ

เรียกได้ว่า พลโทประยูร เป็นข้าหลวงใกล้ชิดของทูลกระหม่อมบริพัตร นั่นเอง


ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นายทหารคนสนิทของจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ


ซึ่ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงมีอำนาจทางการเมืองและการทหารมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทูลกระหม่อมบริพัตร จึงเป็นบุคคลที่มีอำนาจและมีอิทธิพลมากที่สุดในบ้านเมืองในขณะนั้นรองลงมาจากรัชกาลที่ 7

ดังนั้นเมื่อคณะราษฎร กระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทูลกระหม่อมบริพัตร จึงทรงเป็นองค์ประกันที่สำคัญที่สุด

------------------

หนังสือข่มขู่รัชกาลที่ 7 ของคณะราษฎร

เมื่อคณะราษฎรกระทำการปฏิวัติแล้ว โดยคณะราษฎรได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่บัญชาการ และเชิญพระราชวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เห็นสมควรบางท่านมาควบคุมไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระตำหนักราชฤทธิ์ และในตึกกองรักษาการณ์ เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร

แล้วคณะราษฎรจึงส่งหนังสือกราบทูลเชิญรัชกาลที่ 7 ซึ่งประทับที่พระราชวังไกลกังวล เสด็จฯ กลับพระนคร โดยมีเนื้อหาข่มขู่รัชกาลที่ 7 ดังนี้

"วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน

ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใด ๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่คุมไว้เป็นการตอบแทน 


คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์


ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม


พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ "

--------------------

พลโทประยูร มีหน้าที่ควบคุมตัวทูลกระหม่อมบริพัตร

ในการจับกุมพระราชวงศ์คนสำคัญในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ผู้ที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่ควบคุมตัวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร ก็คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นั้่นเอง

ซึ่งเมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงเคยได้ยินข่าวลือเรื่องคณะราษฎรมาเป็นระยะ ๆ แต่ทรงเชื่อใจอดีตนายทหารคนสนิทของพระองค์มาก เล่ากันว่าทรงเคยเรียก ร.ท.ประยูร เพื่อมาสอบถามว่า ได้รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เขาลือกันอยู่หรือไม่

ร.ท.ประยูร ก็ยังตอบปฏิเสธต่อทูลกระหม่อมบริพัตรว่า ไม่รู้เรื่องพะยะค่ะ

นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทูลกระหม่อมบริพัตรทรงประมาท ทรงเชื่อว่า ยังไม่น่าจะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในระยะเวลาอันใกล้นี้

ครั้นเมื่อ ร.ท.ประยูร ได้ทำการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเสด็จจากวังบางขุนพรหมในฐานะองค์ประกัน ภายใต้การควบคุมของ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ ให้เข้าประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีปฏิสันธานบางประการกับ พลโทประยูร ด้วยถึงการกระทำในครั้งนี้ด้วย



จากส่วนหนึ่งของหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน โดยพลโทประยูร

พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ได้เขียนหนังสื่อ "ชีวิต 5 แผ่นดิน" ถึงเบื้องหน้า-เบื้องหลังด้วยตัวท่านเองในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติของคณะราษฎร  ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนในช่วงจับกุมองค์ทูลกระหม่อมบริพัตร ดังนี้

ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เวลา 08.00 น. พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม พล.ต.พระประสาทพิทยายุทธ์ กับ ร.อ.หลวงนิเทศฯ ร.น. ได้นำจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ มาในรถถัง ส่งให้ข้าพเจ้าที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันต์ ข้าพเจ้าได้ถวายคำนับ เชิญเสด็จให้ลงเดินเข้าไปประทับในพระที่นั่ง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด ตรัสว่า "ตาประยูร แกเอากับเขาจริงๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศบอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อ ทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม"

แล้วก็ทรงเหลียวมองดูหน่วยทหารที่พลุกพล่านเต็มลานพระบรมรูป ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า

"ถ้าบิดาข้าพระพุทธเจ้าสามารถทราบได้ คงจะเศร้าใจมาก"

ในที่สุดข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถามว่า "จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ"

ข้าพเจ้ากราบทูลยืนยันว่า "เชิญเสด็จไปประทับในพระที่นั่งเถอะพ่ะย่ะค่ะ รับรองไม่มีภัยประการใด ข้าพระพุทธเจ้าจะอยู่เฝ้าด้วยตนเอง"

ท่าทางของข้าพเจ้าตอนนั้นคงจะป่าเถื่อนอยู่มาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงจ้องมองข้าพเจ้าด้วยความหวาดระแวง พอข้าพเจ้าสำนึกตัวได้ จึงวางปืนลง แล้วก้มลงกราบขอทรงประทานอภัย ทรงรับสั่งถามเป็นคำแรกว่า

"ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม" 

ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ไม่ใช่พะย่ะค่ะ "

ทรงถามอีกว่า "แล้วใครเล่า"

"ยังกราบทูลไม่ได้พะย่ะค่ะ "

ทูลกระหม่อมฯ ทรงกริ้วข้าพเจ้า รับสั่งหนักแน่นว่า "ตาประยูร แกเป็นกบฏ โทษถึงต้องประหารชีวิต"

ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่า " ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นกบฏ ไม่ได้ล้มพระราชบัลลังก์ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าพลาดพลั้งทำการไม่สำเร็จต้องถูกประหารแน่ แต่วันนี้ คณะข้าพระพุทธเจ้าทำการสำเร็จ ใต้ฝ่าพระบาทไม่มีอันตรายประการใด "

แล้วทรงรับสั่งถามต่อไปว่า "พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการมีปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม?" 

ข้าพเจ้ากราบทูลตอบไปว่า " พะยะค่ะ "

ทูลกระหม่อมฯ ทรงนิ่งอยู่ครู่แล้วรับสั่งถามว่า

"แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือตาประยูร" 

ข้าพเจ้ากราบทูลตอบไปว่า "อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นแต่อาบิสซีเนีย "

ทรงถามว่า "ตอนนี้แกอายุเท่าไหร่?"

เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า " 35 พะยะค่ะ "

ทรงรับสั่งว่า "เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา ๑๕๐ ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ"

"ถึงแม้จะทำสำเร็จ ก็ระวังเถอะ วันหนึ่งจะฆ่ากันเองตายเหมือนประเทศฝรั่งเศส สุดท้ายก็เอา กิโยตินมาตัดคอกันเอง ระวังนะ คิดตรงนี้รอบคอบหรือยัง"


พอดี น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย เปิดประตูเข้ามาถวายคำนับ ส่งขนมปังให้ข้าพเจ้าก้อนหนึ่งกับใบปลิว 3-4 แผ่น ข้าพเจ้าเอาใบปลิวมาอ่านคร่าว ๆ รู้สึกว่ามีข้อความที่รุนแรงอยู่มากซึ่งเป็นเรื่องการเมือง

แต่แล้ว พออ่านบรรทัดสุดท้าย รู้สึกเลือดขึ้นหน้าซ่า คำทำนายของกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่รับสั่งอยู่หยกๆ ว่า "สุดท้ายพวกแกจะต้องเข่นฆ่ากันเอง" พลันเป็นความจริงขึ้นแล้ว

คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี)ได้เขียนข้อความไว้ในวรรคสุดท้ายของคำประกาศยึดอำนาจ ความว่า

"จะได้นำประชาชนให้ไปสู่ความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐสุด ซึ่งเรียกว่าศรีอารยะนั้น ก็พึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

อันคำว่า "ศรีอารยะ" นั้น เป็นคำแฝงที่คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมใช้แทนคำว่า "คอมมูนิสต์"

เป็นอันว่า คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ถือโอกาสแทรกเจตจำนงที่จะนำประเทศชาติไปสู่ลัทธิคอมมูนิสม์ในคำประกาศยึดอำนาจนั้นขึ้นแล้วในวาระแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องผจญสู้และป้องกันกันต่อไป..

(นั่นคือข้อเขียนที่พลโทประยูร เขียนด้วยตัวเองในหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน)



--------------------

ถึงแก่อนิจกรรม

พลโทประยูร ภมรมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมจากการถูกรถโดยสารประจำทางสาย 204 พุ่งชนขณะยืนรอข้ามถนนบริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 รวมอายุ 85 ปี

----------------

ใหม่เมืองเอก สรุปท้ายบทความ

บทความนี้แค่ตีแผ่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้น จากการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง

แต่โดยส่วนตัวผม ใหม่เมืองเอก ไม่ค่อยถือสาหาความอะไรที่มันผ่านไปแล้วนัก เพราะทุกอย่างในอดีตมันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่ให้เรียนรู้ไว้เป็นบทเรียนเท่านั้น

ซึ่งโดยทางอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น จริง ๆ แล้วไม่มีใครผิดใครถูกหรอกครับ เพราะต่างคนต่างยืนกันคนละจุด และเราก็ไม่ได้เกิดทันในยุคนั้นจึงไม่อาจทราบบริบทในขณะนั้นได้ตามความเป็นจริงทุกเรื่อง

เพียงแต่ว่าในการกระทำบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น การปฏิวัติของคณะราษฎร 2475 ถึงวันนี้คนไทยจำนวนมากเริ่มตาสว่างกันแล้วว่า การก่อการของคณะราษฎร ในวันนั้น เป็นการชิงสุกก่อนห่าม กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงที่คนไทยทั้งประเทศยังไม่รู้จักประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

เมื่อในเวลานั้นคนไทยทั้งประเทศยังไม่รู้จักประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ แล้วจะเรียกว่า เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไรกัน

แม้กระทั่งมาจนวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้จักคำว่า "ประชาธิปไตย" ดีพอ เพราะต่างคนต่างยืนอยู่บนผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก นี่ก็เท่ากับว่า ไม่มีหัวใจประชาธิปไตยที่แท้จริง แล้ว

ส่วนกรณี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์ หรือไม่ ?

โดยส่วนตัวของผมเอง ผมคิดว่า นายปรีดี เป็นนักประยุกต์มากกว่า คือ เอาระบอบโน้นระบอบนี้มายำรวมกันเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ผมคิดว่า นายปรีดี น่าจะชอบระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบประเทศฝรั่งเศสใช้มากกว่า ซึ่งระบอบนี้ยากที่จะเกิดขึ้นได้กับคนไทย เพราะคนไทยไม่ค่อยเสียสละจ่ายภาษีตามหน้าที่เพื่อชาติสักเท่าไหร่นักตามแนวคิดแบบสังคมนิยม

แต่ก็นั่นแหละ เพราะการแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่คณะราษฎร ก็เลยทำให้ระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยมาจนวันนี้

เพราะระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร หมายถึง การปกครองของคณะราษฎร โดยคณะราษฎร เพื่อคณะราษฎร เสียมากกว่า

ส่วนคำว่า ศรีอารยะ ที่พลโทประยูร บอกว่า นายปรีดีน่าจะหมายถึงคอมมูนิสต์ นั้น

ผมมองว่า เป็นไปได้ เพราะแท้จริงแล้ว ระบอบคอมมิวนิสต์นั้น เป็นระบอบที่ดีที่สุดเฉพาะในโลกพระศรีอาริยเมตไตรย เท่านั้น คือ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในยุคปัจจุบัน ปรีดี จึงได้ใช้คำว่า ศรีอารยะ 

ส่วนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แท้ ๆ  ที่หมายถึง คนเราทุกคนเท่าเทียมกันนั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงในโลกยุคนี้ เพราะการที่คนเราจะเท่าเทียมกันได้นั้น หมายถึง ทุกคนต้องมีคุณธรรมสูงเท่าเทียมกัน มีศีลเสมอกัน ซึ่งนั่นคือ ยุคของพระศรีอาริยเมตไตรย ครับ ยังไม่ใช่ยุคของพระพุทธเจ้าสมณโคดมของพวกเรา

จากชื่อบทความที่ว่า พลโทประยูร เนรคุณทูลกระหม่อมบริพัตรหรือไม่ ?

ผมใหม่เมืองเอก ก็แค่ตั้งชื่อบทความเพื่อให้ดึงดูดใจให้ดูน่าอ่านเท่านั้น ส่วนพลโทประยูร จะอกตัญญูต่อทูลกระหม่อมบริพัตรหรือไม่นั้น ?

คนที่ตอบคำถามนี้ได้มีเพียงพระองค์เดียว คือ ทูลกระหม่อมบริพัตร เอง

แต่หลังจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ในวันต่อมา ทูลกระหม่อมบริพัตร ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยอย่างกะทันหัน โดยเสด็จไปด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งวิ่งตลอดไม่มีหยุดพักจนเสด็จถึงปีนังเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม และย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ส่วนพลโทประยูร นั้น ได้เสียชีวิตเพราะถูกรถเมล์สาย 204 ชนบริเวณสี่แยกราชประสงค์ (ตายโหง) ซึ่งก็ใกล้ ๆ กับโรงแรมเอราวัณที่ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดไว้

ผมแปลกใจนิด ๆ ตรงที่ รถเมล์จะเป็นสายไหนก็ไม่แปลก แต่เป็นสาย 204 นี่สิ มันเลยแปลกนิด ๆ เพราะมีทั้งเลข 2 และเลข 4 ตรงกับเลขในวันที่ 24 มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ส่วนเลขศูนย์ ก็หมายถึง สูญ นั่นแหละครับ

คลิกอ่าน หมุดเสนียด กับคำประกาศจัญไรของคณะราษฎร



1 ความคิดเห็น:

  1. คนเนรคุณ แซมก็เหมือนกันพรรคเพื่อไทย และที่สำคัญ บทความเขียนบิดเพื่อให้ปรีดี ดูดี ทั้งที่มันมักใหญ่ใฝ่สูง

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก