วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560

วิธีเก็บของตกให้ได้เงินรางวัลจากเจ้าของทรัพย์โดยไม่ผิดกฎหมาย






จากกรณีที่เป็นข่าวดังในช่วงนี้ เรื่อง สาวใหญ่เก็บไอโฟน 7 พลัสได้ ไปเรียกร้องค่าไถ่ของคืนจากเจ้าของไอโฟน 7 เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ไม่งั้นจะไม่ยอมคืนโทรศัพท์ให้ จนกลายเป็นคดีความถึงขั้นที่คนเก็บไอโฟน 7 ได้โดนคดียักยอกทรัพย์ไปในที่สุด

จากคดีนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้เก็บของตกได้ เธอไม่รู้กฎหมาย จนตัวเองต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ไปเสียเอง



ถามว่า ในกรณีผู้เก็บของตกได้ สามารถมีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลจากเจ้าของทรัพย์สินที่สูญหายได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ ผู้เก็บของตกได้มีสิทธิเรียกเงินรางวัลจากเจ้าของทรัพย์ได้ครับ โดยไม่ผิดกฎหมายด้วย ขอบอก !!

ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323

"ผู้เก็บของตกได้ต้องทำดังนี้

1.ส่งมอบของนั้นแก่เจ้าของ หรือผู้ที่มีสิทธิจะได้รับของนั้น
2.แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับของนั้นโดยเร็ว
3.ส่งมอบของนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ภายใน 3 วัน และแจ้งถึงพฤติการณ์หรือเบาะแสที่ทราบเพื่อเป็นเครื่องช่วยในการตามหายตัวเจ้าของหรือผู้มีสิทธิได้รับของนั้น

ถ้าไม่ทราบตัวเจ้าของหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับของนั้นให้ทำตาม ข้อ 3. ได้กำหนดคือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น อีกทั้งผู้ที่เก็บของตกหายได้ต้องรักษาของนั้นไว้ด้วยความระมัดระวัง"


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1324 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2548)

"ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายอาจเรียกร้องเอารางวัลจากบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นเป็นจํานวนร้อยละ 10 แห่งค่าทรัพย์สินภายในราคา 30,000 บาท และถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไปให้คิดให้อีกร้อยละ 5 ในจํานวนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพยสินหายได้ส่งมอบทรัพยสินแก่เจ้าพนักงานตํารวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นให้เสียเงินอีกร้อยละ 2.5 แห่งค่าทรัพย์สินเป็นค่าธรรมเนียมแก่ทบวงการนั้น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรางวัลซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้แต่ค่าธรรมเนียมนี้ให้จํากัดไว้ไม่เกินหนึ่งพันบาท"


ตามความในมาตรา 1324 หมายถึง ผู้เก็บของตกได้สามาถเรียกเอารางวัลจากผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับของนั้น เป็นจำนวนร้อยละ 10 แห่งค่าของจาก 30,000 บาท เช่น ของตกหายมีค่า 30,000 บาท ผู้เก็บได้จะได้รางวัล 3,000 บาท

แต่ถ้าของตกหายมีมูลค่าสูงกว่า 30,000 บาท ให้คิดเอาอีกร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่เกินจาก 30,000บาท เช่น ของตกหายมีค่า 50,000 บาท ผู้เก็บได้จะได้รางวัลจาก 30,000 บาทแรก คือ 3,000 บาท ส่วนมูลค่า 20,000 บาทหลังจะได้ 1,000 บาท รวมผู้เก็บของตกจะได้รางวัลทั้งสิ้น 4,000 บาท

ถ้าหากผู้เก็บของตกได้เรียกร้องเงินรางวัลไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็จะไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งยังเก็บทรัพย์ไว้ได้จนกว่าเจ้าของทรัพย์จะนำเงินรางวัลมามอบให้ผู้เก็บของตกได้ตามที่กฎหมายกำหนดแล้วนั่นแหละ

แต่หากผู้เก็บของตกกับเจ้าของทรัพย์ตกลงเรื่องเงินรางวัลไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ก็แนะนำให้ทั้งผู้เก็บของตกและเจ้าของทรัพย์ไปตกลงกันที่สถานีตำรวจจะดีกว่าครับ จะได้มีตำรวจช่วยเป็นพยานให้

-----------------

จากกรณีสาวเก็บไอโฟน 7 พลัสได้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นบาท แต่ผู้เก็บไอโฟนได้กลับเรียกเงินรางวัลจากเจ้าของไอโฟน เป็นเงินจำนวนถึง 5 พันบาทนั้น

นั่นเป็นการเรียกเงินรางวัลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

เพราะของมูลค่า 30,000 บาท ผู้เก็บของตกได้ จะมีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลจากเจ้าของทรัพย์ได้เพียง 3,000 บาทเท่านั้น หรือร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์ครับ

----------------

แต่จากข่าว เจ้าของไอโฟนยินดีจะจ่ายให้ผู้เก็บของตกแค่ 1 พันบาทเท่านั้น (ตอนแรกเจ้าของไอโฟนจะไม่ยอมให้เงินเลยสักบาทด้วย อ้างจะขอคืนแบบช่วยเหลือเอาบุญ) แบบนี้ผู้เก็บไอโฟน 7 ได้ ควรทำอย่างไร

ก็ควรฝากไอโฟน 7 ไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นพยานไว้ก่อนครับ เหตุเพราะตนเองยังไม่พอใจที่เจ้าของทรัพย์จะมอบเงินให้แค่ 1,000 บาทเท่านั้นซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

ตำรวจก็มีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์ที่ยังตกลงกันไม่ได้ไว้ก่อน ซึ่งตำรวจยังไม่มีสิทธิคืนทรัพย์ให้เจ้าของทรัพย์เลยนะครับ หากผู้เก็บของตกได้เขายังไม่ยินยอมในเรื่องเงินรางวัลตามกฎหมาย เหตุเพราะเจ้าของทรัพย์เองก็ยังไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

นี่คือ เอาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จริง ๆ นะครับ

----------------

แต่ถ้ากรณีผู้ที่เก็บของตกได้ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น 

ก็ให้ผู้เก็บของตกได้ต้องส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ก่อน และเพื่อสืบหาเจ้าของทรัพย์ต่อไป

แต่เมื่อตำรวจเจอเจ้าของทรัพย์แล้ว นอกจากผู้เก็บของตกได้จะสามารถเรียกเงินรางวัลได้ร้อยละ 10 จากทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 3 หมื่นบาท และร้อยละ 5 ในส่วนที่เกิน 3 หมื่นบาทได้จากเจ้าของทรัพย์แล้วนั้น

เจ้าของทรัพย์ยังต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมให้สำนักงานตำรวจฯ อีกร้อยละ 2.5 ของมูลค่าทรัพย์นั้นด้วยนะครับ

แปลง่าย ๆ คือ ถ้าผู้เก็บของตกได้ไปฝากของไว้กับตำรวจ เจ้าของทรัพย์ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

----------------

สรุป คดีเก็บไอโฟน 7 พลัส ตำรวจไทยเองก็ไม่แม่นกฎหมาย

ถ้าดูจากกรณีผู้เก็บไอโฟน 7 พลัสได้ ผมต้องโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยที่ไม่ช่วยเจรจาให้เจ้าของทรัพย์จ่ายเงินรางวัลให้ผู้เก็บไอโฟน 7 ได้ไปตามกฎหมายคือ 3,000 บาท

ซึ่งสุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไปแจ้งข้อหาให้ผู้เก็บของตกได้แทน

เฮ่อ.. นี่แหละหนาตำรวจไทยเก่งนักไอ้เรื่องแบบนี้ คือตำรวจเองก็ไม่แม่นกฎหมาย ทำให้ผู้เก็บทรัพย์ตกได้เขาต้องกลายเป็นโจรไป ทั้ง ๆ ที่ เขามีสิทธิจะเรียกร้องเงินรางวัลจากเจ้าของทรัพย์ได้นะครับ แต่เรียกได้แค่ 3 พันบาทเท่านั้น ถ้าเรียกเกินจากนั้น ก็เจอข้อหายักยอกทรัพย์ได้

คือ ถ้าตำรวจรู้กฎหมายดีพอ ก็สามารถช่วยไกล่เกลี่ยให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีได้ทั้งสองฝ่าย เรื่องก็คงไม่ลงเอยแบบนี้ จนผู้เก็บไอโฟน 7 ได้เลยโดนคนประณามกันทั้งเมือง แถมยังตกเป็นผู้ต้องหายักยอกทรัพย์อีก

เรียกว่า คนเก็บไอโฟน 7 ได้ เลยเจอความซวยเกินไป เหตุเพราะตำรวจไม่ได้เรื่อง

----------------

ที่สำคัญนอกจากคนไทยส่วนใหญ่จะไม่รู้กฎหมายเรื่องการมอบเงินรางวัลให้แก่ผู้เก็บของตกได้แล้ว กล่าวคือ เจ้าของทรัพย์หายจำนวนมากก็มักจะจ่ายสินน้ำใจแก่ผู้เก็บของตกได้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย

แน่นอน คนดีจำนวนมากที่เก็บทรัพย์ตกได้ เขาทำดีแบบไม่หวังผลตอบแทน แต่โดยมารยาทจงจำไว้เลยนะครับ ถ้าใครทำของหายก็ควรให้เงินรางวัลแก่ผู้เก็บของตกได้ อย่าให้เขาน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ ร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์นั้น

เขาเรียกว่า "สินน้ำใจ" หรือ ตอบแทนคุณ

เช่น ถ้าคุณทำเงินหาย 1 ล้านบาท แล้วมีคนเก็บได้ คุณควรจะมอบสินน้ำใจให้แก่คนที่เขาเก็บเงินได้สัก 1 แสนบาทเป็นอย่างน้อยหรือมากกว่านั้นครับ 

เหตุที่กฎหมายต้องกำหนด เพราะเจ้าของทรัพย์บางคนก็เอาแต่ได้ ไม่รู้จักตอบแทนน้ำใจคนเก็บเลยก็มี หรือให้น้อยจนเกินไปก็มี หรือผู้เก็บของได้ก็เรียกร้องมากเกินไปก็มี กฎหมายเลยกำหนดไว้เพื่อตัดปัญหา

เข้าใจตรงกันแล้วนะ !!

คลิกอ่าน ถ้าคุณได้ของรางวัลราคาหลายล้านบาท คุณต้องเสียภาษีอย่างไรจึงจะถูกต้อง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก