วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 8 ที่ 9 ทรงฉลาดกว่าคณะราษฎร








เรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์ของ ร.8 นั้นถูกต้องแล้วครับ ตามความเห็นบน ๆ แต่ถ้าจะไม่มองเรื่องการเมืองเลยสมัยนั้น มันก็จะขาดมิติไป ต้องมองคู่กันไปแล้วทุกอย่างจะเป็นเหตุเป็นผลกัน

ต้องย้อนมาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ 2475 ถ้าดูจาก timeline พวกนี้วางแผนมาอย่างดีนะครับ ไม่ได้เอะอะแล้วจะปฏิวัติเลยเสียเมื่อไหร่ จากเท่าที่ดูประวัติแล้วพวกนี้ต้องการเปลี่ยนการปกครองไปจนถึงระบอบที่ไม่มีกษัตริย์หรืออย่างน้อยถ้ามีก็แค่เป็นสัญลักษณ์ ไม่มีบทบาทอะไรใดๆ ต่อการปกครอง นั่นคือเป้าหมายใหญ่ของเขา

แต่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปถึงจุดนั้น จะหักดิบเลยก็ไม่ได้ เพราะอาจจะมีการต่อต้านจากประชาชน เลยต้องเอาอำนาจมาในมือให้ได้ก่อน แล้วค่อยๆ ลดทอนความสำคัญของราชวงศ์ลง จนคนส่วนใหญ่ของประเทศคล้อยตามกับระบอบที่คณะนี้ต้องการ

ก่อนปฏิวัติ คณะราษฎรต้องศึกษาเรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์มาเป็นอย่างดีแล้ว ว่าใครคือ candidate พระองค์ต่อไป เพราะถ้า worst case ร.7 ไม่ยอมเปลี่ยนและมีการต่อสู้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนรัชกาลตั้งแต่ปีนั้น แล้วที่คณะนี้เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นงานง่าย คือ candidate อีก 2 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระชนนีก็เป็นสามัญชน น่าจะคุมได้ไม่ยาก และยังมีเวลาริดรอนพระราชอำนาจได้อีกนาน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ มีเวลาเหลือเฟือจัดระบบที่เขาต้องการให้อยู่ในรูปในรอยได้อีกหลายปี เข้าทางอย่างที่สุด

แต่กระดูกชิ้นโตคือ candidate ลำดับ 3 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร นั่นเอง เพราะคุมกำลังทหารและความมั่นคงในพระนครอยู่ ณ ขณะนั้น เพราะถ้าเกิด worst case จริง แล้ว ร.8 และ ร.9 ไม่ทรงรับเป็นกษัตริย์ เพราะเห็นเสด็จลุงมีความเหมาะสมกว่า หรือว่าถ้า ร.8 รับเป็นกษัตริย์ก็ดี การมีเสด็จลุงอยู่ก็จะเพิ่มความมั่นคงให้ราชวงศ์ได้อย่างมาก อาจจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการด้วยก็เป็นได้ ดังนั้นแผนการปฏิวัติ 2475 นี้จะสำเร็จหรือไม่ทูลกระหม่อมบริพัตรเป็นตัวแปรที่มีผลมาก 

นั่นเป็นสาเหตุที่ทูลกระหม่อมบริพัตรถูกคณะราษฎร์คุมตัวออกจากวังและให้ขึ้นรถไฟออกนอกประเทศเป็นพระองค์แรก ส่วนพระองค์อื่นๆ ที่เป็นเสาหลักในการบริหารราชการก็ถูกคุมตัวไปพระที่นั่งอนันตฯ เพื่อรอคำตอบของ ร.7 ซึ่งขณะนั้นแปรพระราชฐานอยู่ที่วังไกลกังวล

ผลสรุป ร.7 ยอมเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพออำนาจมาอยู่ในมือคณะราษฎร์ คณะก็เดินเกมยึดทรัพย์เจ้า ยึดวัง ทุบวัง ลดเงิน เอาว่าทำทุกอย่างละกันเพื่อทำให้ราชวงศ์อ่อนแอลง ส่วน ร.7กับรัฐบาลก็ความเห็นไม่ลงรอยกัน เพราะโดนบีบให้ลดทอนพระราชอำนาจลงหลายเรื่อง ระหว่างนี้มีกบฏบวรเดช ที่ฝ่ายเจ้าจะเข้ามายึดอำนาจคืนอีก แต่เสาหลักการทหารอย่างทูลกระหม่อมบริพัตรไม่อยู่แล้ว การยึดอำนาจจึงไม่สำเร็จ คณะราษฎร์ได้ข้ออ้างในการกวาดล้างเจ้านายและขุนนางหัวเก่าได้อีกล๊อตใหญ่ พวกก่อการไม่ต้องพูดถึงโดนยิง โดนขัง เนรเทศไปคุกตะรุเตา ลี้ภัยออกนอกประเทศ



เมษายน 2476 ณ เวลานั้นราชสกุลมหิดลก็ทรงพำนักที่วังสระปทุมกับสมเด็จพระพันวัสสา แล้วขณะนั้น ร.8 ไปโรงเรียนก็มีเพื่อนมาเรียกว่าองค์โป๊ย(ไม่น่าแปลกใจ ถ้าคนที่เรียกนี่เป็นลูกหลานคณะราษฏร์) ยิ่งทำให้สมเด็จพระพันวัสสายิ่งเห็นอันตรายที่เข้าใกล้พระนัดดามากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นสมเด็จพระพันวัสสาจึงรับสั่งให้สมเด็จย่า(สังวาลย์)พาพระโอรสและพระธิดา ไปเรียนต่อที่โลซานน์ให้ห่างไกลการเมือง นับเป็นหมากเดินที่มีประโยชน์มากสำหรับราชวงศ์ต่อไปในอนาคต

ทางด้าน ร.7 ก็ถูกบีบจากรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เอาว่าคณะทำทุกทางให้ ร.7 พ้นบัลลังก์เร็วที่สุดเป็นการดีต่อคณะ เพราะการให้ ร.8 ขึ้นครองราชย์เป็นโอกาสทอง ส่วน ร.7 จะขืนก็มีตัวอย่างของกบฏบวรเดช ถ้าก้าวพลาดเจ้านายอีกหลายพระองค์คงถูกกวาดล้างอีกครั้งใหญ่

มกราคม ปี 2477 ร.7 ทรงเสด็จประพาสอังกฤษเพื่อรักษาอาการประชวรที่พระเนตร ปลายปีช่วงตุลา 2477 เริ่มมีข่าวลือหนาหูว่า ร.7 จะทรงสละราชสมบัติ (ตรงนี้อาจเป็นพระประสงค์จริง หรือข่าวลือที่คณะสร้างขึ้นเพื่อชี้นำหนทางให้ ร.7มีอิสรภาพ) 

และข่าวลือนี้มาพร้อมข่าวพระองค์เจ้าอานันทฯ จะเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป ซึ่งตอนนี้นักข่าวชาวยุโรปเริ่มไล่ล่าหาภาพ ร.8 มาลงหนังสือพิมพ์ (จากหนังสือเจ้านายน้อยๆ ยุวกษัตริย์) ซึ่งตอนนั้นสมเด็จย่าปฏิเสธนักข่าวรัวๆ ว่าไม่ทราบเรื่อง เรื่องอย่างนี้ต้องถาม ร.7 ว่ามีพระประสงค์เช่นไร

2 มี.ค.2478 (นับตามการเปลี่ยนศักราชสมัยนี้) ร.7 ประกาศสละราชสมบัติ และให้สภาหาผู้สืบสันตติวงศ์ต่อเอง ทุกอย่างเข้าทางตามแผนคณะราษฏร์

คณะราษฎร์ส่งโทรเลขมาเชิญ ร.8 รับราชสมบัติ พร้อมส่งคนบินมาสวิสเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่าง on plan ทางด้านสมเด็จย่าไม่อยากรับ เพราะไม่เคยหวังในลาภและอำนาจ อยากให้ลูกๆเป็นคนธรรมดา แต่ทางสมเด็จพระพันวัสสารับสั่งผ่านพระองค์เจ้ารังสิตให้บอกสมเด็จย่าว่าให้รับ (อาจจะเพราะราชวงศ์ไม่มีทางเลือกแล้ว ถ้าไม่รับแล้วจะเป็นใครต่อ หรือสุดท้ายยังไงก็ต้องโดนคณะบีบให้รับอยู่ดี) สุดท้ายสมเด็จย่าโอเคที่จะรับให้ ร.8ขึ้นครองราชย์

แผนต่อของคณะราษฎร์คือให้ ร.8 เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อมาทำพระราชพิธีราชาภิเษกและให้ประชาชนเห็นว่า โอเคระบอบนี้ยังมีกษัตริย์นะ เราไม่ได้ทำลายสถาบันนะ เพราะถ้านับตั้งแต่ ร.7 ประพาสอังกฤษ แผ่นดินไทยไม่มีพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ปีกว่า

แต่สมเด็จย่าก็ทรงต่อรองรัฐบาลไม่พา ร.8 กลับประเทศ ณ ตอนนั้น อ้างถึงพระอาการประชวรที่ต้องอยู่ที่มีอากาศเย็น กลับตอนหน้าร้อน ประชวรไปจะไม่สง่างาม ถึงตรงนี้จะคัดจดหมายที่สมเด็จย่าทรงเขียนโต้ตอบกับสมเด็จพระพันวัสสาช่วงเวลานั้น ไว้โดยละเอียดดังนี้ (จากพระราชนิพนธ์เจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์)

17 มี.ค. 2478 (นับตามการเปลี่ยนศักราชสมัยนี้)
-รัฐบาลส่ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ นายดิเรก ชัยนาม มาเจรจาที่โลซานน์ โดยส่ง หลวงสิริราชไมตรี จากสถานทูตลอนดอน มาเป็นราชเลขานุการในพระองค์

20 มี.ค. 2478 (นับตามการเปลี่ยนศักราชสมัยนี้)
-สมเด็จย่าส่งจดหมายถึงสมเด็จพระพันวัสสาเรื่องการเจรจา รัฐบาลอยากให้ย้ายที่อยู่ให้สมฐานะ (ภายหลังย้ายไปพระตำหนักวิลล่าวัฒนา) สมเด็จย่าเห็นด้วย แต่ขอให้เป็นแบบพอดี ไม่หรูหรา เพราจะทำให้เด็กลำบากและอยู่ไม่เป็นสุข อยากอยู่แบบ incognito (ไม่เปิดเผยฐานะ) แล้วทรงปลอบสมเด็จพระพันวัสสาไม่ให้ต้องกลุ้มพระทัยมาก คิดซะว่าการที่ "นันท" เป็นคิงก็เป็นการช่วยประเทศทางอ้อม ถ้าเขาตั้งคนอื่นอาจจะเกิดยุ่งขึ้นได้

10 เม.ย. 2478 (สมัยนั้นเปลี่ยน พ.ศ. วันที่ 1 เม.ย.)
จดหมายนี้คือตอนสำคัญจะขอเอาเนื้อความจดหมายลงให้ครบโดยละเอียด

"...หม่อมฉันจะขอเล่าถวายถึงเรื่องเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศพูดกับหม่อมฉันเมื่อได้มาพบทีแรก หม่อมฉันจะกราบทูลไปตั้งแต่จดหมายฉบับก่อนก็ลืมไป เจ้าพระยาศรีฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้อยู่โลซานน์ต่อไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งอีก และเจ้าพระยาศรีฯ เองไม่ทราบว่าจะให้อยู่ต่อไปทำไม แต่นึกเอาเองว่าบางทีจะให้อยู่คอยเพื่อจะเชิญนันทเสด็จกลับชั่วคราวสำหรับให้ราษฎรเห็นว่าได้มีพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ ไม่ใช่แต่ชื่อหรือหลอกกันเล่น และเจ้าพระยาศรีฯ ก็ถามความเห็นของหม่อมฉันว่าเห็นเป็นอย่างไร หม่อมฉันก็ตอบว่าเรื่องนี้หม่อมฉันก็เห็นใจรัฐบาล แต่การกลับนั้น ถ้าจะให้กลับเวลานี้ในหน้าร้อนกลัวจะทำให้นันทประชวรทีเดียวเมื่อถึงเมืองไทย หม่อมฉันเห็นว่าการกลับชั่วคราวนี้เราควรจะยอม เพราะรัฐบาลก็จะจัดการให้กลับไปถึงหน้าหนาวและออกมาอีกก่อนหน้าร้อน สิ่งอะไรที่จะผ่อนผันได้หม่อมฉันเห็นว่าควรจะทำ เขาจะได้ตามใจเราบ้างเมื่อเราต้องการให้เป็นอย่างไร และถ้าจะกลับหม่อมฉันขอให้รับสั่งแก่คณะผู้สำเร็จราชการหรือรัฐบาลถึงเรื่องการอยู่ ว่าจะแยกกันไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะนันทก็เป็นเด็ก ยังต้องการความดูแลของแม่เสมอ

หม่อมฉันได้พูดกับเจ้าพระยาศรีฯ และนายดิเรก ชัยนาม ด้วยถึงเรื่องร่างกายและการศึกษาต่อไป ทีแรกเจ้าพระยาศรีฯ เห็นว่านันทไม่ควรไปโรงเรียน ให้มีครูมาสอนที่บ้าน หม่อมฉันก็ตอบไปทันทีว่าหม่อมฉันเห็นตรงกันข้าม เพราะการเรียนคนเดียวจะทำให้เด็กไม่อยากเรียน เพราะไม่มีคนแข่งและไม่สนุกเลยที่ไม่ได้มีเพื่อน จะทำให้นันทไม่มีความสุขที่ต้องแบกยศพระเจ้าแผ่นดินจนไม่มีเวลาที่จะเป็นเด็ก และพระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นมากที่จะต้องปะปนกับคนอื่น จะได้รู้จักนิสัยคนทั่วไป จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย เจ้าพระยาศรีฯ ก็เห็นด้วย

เมื่อเจ้าพระยาศรีฯ จะไปจากโลซานน์ หม่อมฉันก็บอกให้เป็นที่เข้าใจอีกว่า ทั้งลูกและหม่อมฉันไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต่อไปขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้วขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็ก ก็ขอให้เป็นเด็ก พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรงและโง่ก็ไม่เป็นสง่ากับประเทศ

หม่อมฉันรู้สึกว่าอันตรายภายนอกสำหรับนันทคงจะมีน้อย ที่หม่อมฉันวิตกอยู่ก็ถึงเรื่องที่นันทจะไม่ได้มีความสุขอย่างเด็กมาก และกลัวการศึกษาจะได้ไม่เต็มที่ ที่หม่อมฉันไม่ใคร่กลัวอันตรายภายนอกก็เพราะว่าเราไม่ได้อยากจะเป็น แต่ต้องรับเพราะเห็นแก่บ้านเมืองที่อาจไม่สงบได้"

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงพอพระทัยการพูดโต้ตอบของสมเด็จย่ามากได้พบร่างลายพระหัตถ์อยู่ในซองจดหมายจากสมเด็จย่า ใจความว่า

"...ฉันต้องชมเชยสังวาลย์อีกครั้งหนึ่ง ฉลาดเป็นอัศจรรย์ ใจเย็น พูดโต้ตอบได้งดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี่ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วยจนน้ำตาไหล"

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าการย้ายมาสวิสเซอร์แลนด์มีประโยชน์ เพราะการที่รัฐบาลไม่มีกษัตริย์กลับไปให้ราษฎรเห็น ยิ่งสร้างความน่ากังขาให้กับราษฎรว่า การปกครองที่คณะราษฎรยึดมาจากเจ้าเนี่ยจะเป็นระบอบที่มีกษัตริย์อยู่ต่อจริงหรือ หลอกกันมั้ย อย่าลืมว่าเพิ่งจะผ่านการเปลี่ยนแปลง 2475 มายังไม่ทันครบ 3 ปี คนที่ยังไม่พร้อมกับการไม่มีกษัตริย์นั้นมีอยู่มาก

อีกทั้งสมเด็จย่าทรงพระปรีชามากในการต่อรองกับรัฐบาลคณะราษฎร์ จะมาชี้นกชี้ไม้ก็ไม่ได้จะยอมทุกเรื่อง และกว่าจะได้นิวัติประเทศไทยก็ยื้อจนอีกปีถัดมา

ระหว่างนี้ก็มีการปล่อยข่าวทำลายว่า ร.8 มีแม่เป็นสามัญชนอยู่เนืองๆ เพื่อลดความสง่างามของ ร.8 ในการขึ้นครองราชย์ จนสมเด็จย่าตัดพ้อว่าฉันไม่ได้อยากให้ลูกรับ ถ้ารังเกียจเลือดฉันก็ต้องรังเกียจลูกฉันด้วยเพราะมีเลือดแม่อยู่ครึ่งนึง ถ้ารังเกียจมากก็จะลาออกให้ไปหาคนที่มีแม่เป็นเจ้ามาเป็นแทนก็แล้วกัน แต่สุดท้ายก็ทรงอดทนและคิดซะว่าที่ให้ ร.8 รับเป็นกษัตริย์นั้นทำเพื่อบ้านเมือง


ส่วนคณะราษฎร์ใช่ว่าจะราบรื่นมีการแย่งชิงอำนาจกันภายในคณะ มีการยึดอำนาจกันไปมา เริ่มมีอำนาจเป็น 2 ขั้วและขัดกันเองตลอด จนสุดท้ายใช้การสวรรคตของ ร.8 เพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงทำลายความน่าเชื่อถือของ ร.9 และสมเด็จย่าด้วย 

แต่สุดท้ายพวกเรารอดวิกฤติมาได้เพราะในหลวง ร.9 ทรงอดทนต่อการบีบบังคับต่างๆ จากคณะราษฎร์ในช่วง 10 ปีแรกที่ครองราชย์

จนหลังเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2500 จากรัฐบาลจอมพลป. มาเป็นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ในหลวง ร.9 จึงเริ่มทรงงานเพื่อประชาชนและออกเยี่ยมประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและความยากจนของราษฎร พร้อมกับเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ในหลวง ร.9 ทรงงานหนักเพื่อให้ราษฎรกินดีอยู่ดี จนเป็นที่ประจักษ์ต่อราษฎร นำมาซึ่งความรัก ความเทิดทูนและศรัทธาที่มีต่อพระองค์ท่านและพระราชวงศ์องค์อื่นๆ ทำให้วิกฤติของราชวงศ์ช่วง ร.7-ร.8 ที่อ่อนแอลงกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง

ขออภัยหากใช้ราชาศัพท์ผิดพลาด

จากความคิดเห็นที่ 183 จากคุณ DKO
กระทู้ http://pantip.com/topic/35712228

------------------------

ใหม่เมืองเอก สรุป

คือ ข้อเขียนของคุณ DKO นั้นดีมาก แต่ผมอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านก็อ่านแค่เพียงรู้ว่า เป็นทรรศนะหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น เรื่องราวประวัติศาสตร์ในกรณีความเห็นก็ต้องฟังหูไว้หู อย่าปักใจเชื่อจนสนิทใจ 100 %


จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต


ผมขอเสริมนิดนึง คณะราษฎรวางแผนการปฏิวัติได้เนียนและเงียบมาก เพราะทูลกระหม่อมบริพัตร เอง พระองค์ก็ทรงไม่เชื่อข่าวลือเรื่องการปฏิวัติของคณะราษฎร เพราะพระองค์เชื่อว่า รายชื่อคณะราษฎรที่แพร่กระจายออกมานั้น หลายคนในรายชื่อคณะราษฎรก็ทรงคุ้นเคยสนิทสนมนับถือกันเชื่อใจกันเป็นอย่างดี อีกหลายคนทูลกระหม่อมบริพัตรก็ทรงเคยอุปการะด้านการงานหรือส่งเสียเล่าเรียนมาแล้ว

ทูลกระหม่อมบริพัตรจึงทรงประมาท เพราะทรงเชื่อว่า ไม่น่าเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาได้

(เฉพาะเรื่องที่มีคนเนรคุณทูลกระหม่อมบริพัตรหรือไม่ ผมแนะนำให้อ่านบทความตามลิงค์ที่แนบไว้ที่ด้านล่างบทความนี้ต่อไปครับ)

แต่ทั้งหลายทั้งปวง เราคนไทยคงจะเห็นแล้วว่า สุดท้ายอำนาจของพวกนักการเมืองมันหอมหวล ทำให้นักการเมืองไม่ว่าจะสายพลเรือนหรือสายทหาร ก็ล้วนต้องทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองก่อนผลประโยชน์ของชาติทั้งสิ้น

หากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงไม่ทำงานหนักเพื่อประชาชนมาตลอด 70 ปี ทั้งเรื่องยับยั้งการระบาดของโรคเรื้อน ทั้งเรื่องภาวะขาดสารไอโอดีนของคนไทย เรื่องให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น ทั้งเรื่องระบบชลประทาน ทั้งเรื่องฝนหลวง ทั้งเรื่องทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมายกว่า 4,300 โครงการ

ถ้าหาก 70 ปีที่ผ่านมาพวกเราคนไทยไม่มีในหลวงรัชกาลที่9 พระองค์นี้ ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์ประเทศไทยในวันนี้ก็ไม่รู้จะมีสภาพแย่เช่นไร  เพราะคนที่รู้จริงทุกสภาพพื้นที่ดีที่สุดในประเทศไทยคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น แต่พระองค์คนเดียวทำงานหนักทั้งชีวิตพระองค์ก็ยังไม่พอหรอกครับ หากเราคนไทยทุกคนยังรักในหลวงแต่ปากเท่านั้น

ย้อนกลับไปในอดีตอีกสักนิด ดูเหมือนในหลวงรัชกาลที่ 7 เสมือนทรงมีพระญาณทรรศนะล่วงหน้ายาวไกล เหมือนทรงรู้การณ์ไกลว่า เจ้านายพระองค์น้อยพระองค์นี้ ภายภาคหน้าจะทรงเป็นพละกำลังที่สำคัญที่สุดของแผ่นดินนี้ จึงทรงพระราชทานตั้งพระนามให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก

ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"

อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้"

ภูมิพลอดุลยเดช จึงมีความหมายว่า "พลังแผ่นดินคืออำนาจสูงสุด"


"ในหลวงทรงรักราษฎรของพระองค์เสมือนลูก  แต่นักการเมืองเอาใจประชาชนก็เพื่อหวังอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสิ่งแรก"

ก่อนจบบทความ ผมอยากแนะนำเพลง "พระราชาในนิทาน" เป็นเพลงใหม่เมื่อวันที่ 28 ต.ค.59 นี้เอง เพลงไพเราะและน่ารักมาก แต่กลับเรียกน้ำตาแห่งความซาบซึ้งจากใครที่ได้ฟังหลายต่อหลายคนเลยทีเดียว


แนะนำคลิกอ่าน พลโทประยูร เนรคุณทูลกระหม่อมบริพัตร หรือไม่ ?






4 ความคิดเห็น:

  1. รักในหลวงเเละราชวงศ์ทุกพระองค์ครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ30 ตุลาคม 2559 เวลา 06:42

    ลองนึกสภาพเอานะครับ พวกท่านทำงาน 8 ชมต่อวันเหนื่อยไหม ต้องมาแก้ปัญหาที่ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่ง เพราะใครๆก็คิดแค่ว่าไม่ใช่เรื่องของเขา จะไปยุ่งทำไม หรือบางคนก็คิดว่าเพราะกรรมแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาจึงเกิดมาลำบากเช่นนี้หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่เพราะราษฎรลำบากกันอยู่มาก เมื่อราษฎรลำบากไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ แล้วประเทศจะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างไร พระองค์คงคิดเช่นนี้ แล้วโครงการพระราชดำริต่างๆ ของในหลวง ได้ช่วยประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม กี่ครอบครัว ที่ได้ประโยชน์จากโครงการของท่าน ท่านต้องคิด คำนวณ เวลาให้ดี เพราะไหนท่านจะต้องไปพระราชทานปริญญาบัตร ตามสถาบันต่างๆ อีก เมื่อขณะท่านทรงแก้ปัญหาประเทศในเวลาเดียวกัน ในสมัยที่พระราชโอรสและ พระราชธิดา ทรงพระเยาว์

    ตอบลบ
  3. อ่านแล้วขนลุกจะร้องให้เลยค่ะ

    ตอบลบ
  4. ขอพระบารมีของพระองค์ โปรดปรกป้องคุ้มครององค์รัชทายาดเลือดขัคติยะ รัชการ 10 ซึ่งเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังได้ตามรอยพระบาทของพระบิดาด้วยเทอญ สาธุ

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก