วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กำเนิดสังฆทานจาก พระนางมหาปชาบดี ถึง พระอชิตะ






การให้ทานวัตถุที่ได้อานิสงส์มาก มากยิ่งกว่าทำบุญเจาะจงกับพระพุทธเจ้า ก็คือ "การถวายสังฆทาน"

การถวายสังฆทาน คือ บุญที่กระทำถวายสิ่งจำเป็นโดยไม่เจาะจงพระภิกษุ ซึ่งสอนให้เรารู้จักการให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และมีจิตเมตตาที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำบุญแบบเจาะจงให้เพราะรัก ให้เพราะชอบพระรูปนี้มากกว่า ให้เพราะพระรูปนี้ดูน่าเลื่อมใสกว่า


กำเนิดสังฆทาน

พระอชิตราชกุมารออกบวช

พระอชิตราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งประสูติแต่พระนางกาญจนาเทวี ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพยิ่งนัก มีพระประสงค์บวชในสำนักของพระพุทธเจ้า จึงทูลลาพระราชบิดา
ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว จึงพาบริวาร 1,000 คน ออกบวช ครั้นบวชแล้ว ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ได้เป็นอันมาก จนมีความรู้แตกฉานสามารถสอนพระธรรมวินัยแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งปวงได้




พระนางปชาบดีถวายผ้าสาฎก

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งที่ 2 ทรงประทับอยู่ที่นิโครธารามมหาวิหาร ในครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี (แม่บุญธรรมของพระพุทธเจ้า) มีพระราชศรัทธาจะถวายผ้าสาฎก 2 ผืนแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งผ้านั้นทรงจัดการให้ทอขึ้นเป็นพิเศษด้วยพระองค์เอง เป็นผ้าเนื้อดีมีราคาแพง แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับผ้านั้น ทรงแนะนำให้ถวายแก่พระสงฆ์

พระนางมหาปชาบดีทรงอ้อนวอนขอถวายถึง 2 ครั้ง 3 ครั้ง แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับ

ทั้งนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะอนุเคราะห์พระมาตุจฉา (แม่)ให้ได้รับอานิสงส์มากขึ้น โดยจะให้ถวายเป็นสังฆทาน แทน

ทั้งทรงพระประสงค์จะให้พระสงฆ์ได้รับความเคารพสักการะจากมหาชน เพื่อเป็นกำลังในการสืบต่อพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุนี้ พระนางมหาปชาบดีทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงเข้าไปหาพระอานนท์ขอให้ทูลถามถึงเหตุแห่งการไม่ทรงรับผ้าสาฎก 2 ผืนนี้




ทรงแสดงทักษิณาวิภังคสูตร (ต้นกำเนิดสังฆทาน)

ครั้นแล้ว พระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขอให้พระองค์ทรงรับผ้าสาฎกนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเหตุนี้แล้วแสดงทักษิณาวิภังคสูตร จำแนกทานออกเป็น 2 คือ 1. ปาฏิปุคคลิกทาน (ทานที่ถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง) และ 2. สังฆทาน (ทานที่ถวายแก่พระสงฆ์ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง)

พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า ทานทั้ง 2 นั้น สังฆทานมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน

แล้วทรงจำแนก ทักษิณาวิสุทธิ์ คือ ความบริสุทธิ์แห่งการถวายทาน และทรงแสดงให้เห็นว่า ทักษิณาทานมีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้นจะต้องบริสุทธิ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายผู้ให้และฝ่ายผู้รับ





พระอชิตะรับผ้าสาฎก

เมื่อพระนางปชาบดีโคตมีทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงพระโสมนัส (ดีใจ) เป็นอย่างยิ่ง จึงนำผ้าสาฎกคู่นั้นไปถวายพระสารีบุตร ท่านก็ไม่รับ
ทรงนำไปถวายพระโมคคัลลานะ ท่านก็ไม่รับ
ทรงนำไปถวายพระสาวกองค์อื่น ๆ ท่านเหล่านั้นก็ไม่รับ

ในที่สุดก็ทรงนำไปถวาย พระอชิตภิกษุ ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ที่อยู่ท้ายแถว พระอชิตจึงรับไว้

พระนางปชาบดีโทมนัส (เสียใจ) จนน้ำพระเนตรไหล ทรงน้อยพระทัยว่า ตนเองมีบุญน้อย พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ใหญ่จึงไม่รับผ้าสาฎก






พระอชิตะเหยียดมือรับบาตรกลางอากาศ

ครั้นพระศาสดาทรงทราบการที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสียพระทัย จึงใคร่จะทำให้พระนางเกิดความโสมนัสในการถวายทานครั้งนี้

พระพุทธองค์จึงได้โยนบาตรของพระองค์ไปในอากาศ บาตรนั้นหายเข้าไปในกลีบเมฆ พระสารีบุตรและพระสาวกหลายรูปขออนุญาตไปนำบาตรกลับมาถวาย แต่ก็ไม่สามารถนำกลับมาถวายได้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกพระอชิตะให้ไปนำบาตรนั้นมาถวาย พระอชิตะจึงได้เหยียดมือออกไป พร้อมกับตั้งสัตยาธิษฐาน ด้วยอำนาจการบวชด้วยศรัทธา ด้วยอำนาจการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อตรัสรู้ธรรมทั้งปวง และด้วยอำนาจแห่งศีลอันบริสุทธิ์ของตน

ในขณะนั้นบาตรของพระพุทธเจ้าก็ลอยตกลงในมือของพระอชิตภิกษุ

พระนางมหาปชาบดีทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นนมัสการพระพุทธเจ้าแล้ว เสด็จกลับพระราชวัง




พระอชิตะถวายผ้าเป็นพุทธบูชา

ครั้นพระอชิตะรับผ้าสาฎกจากนางมหาปชาบดีแล้ว ก็ดำริว่า ผ้าผืนนี้ไม่สมควรแก่ตน ควรถวายแก่พระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพุทธบูชา จึงเอาผ้าผืนหนึ่งดาดเป็นเพดาน ณ เบื้องบนพระคันธกุฎี ส่วนอีกผืนหนึ่ง ตัดเป็น 4 ท่อน ผูกเป็นม่านห้อยลงที่มุมเพดานทั้ง 4 แล้วตั้งปณิธาน ขอให้วัตถุทานนี้จงเป็นปัจจัยให้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาล

พระพุทธเจ้าทรงดำริแล้วพยากรณ์ว่า อชิตภิกษุนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก