วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นักเศรษฐศาสตร์บอกทักษิณหลอกเรื่องค่าแรง300บาท




บทความที่ผมนำเสนอนี้ นำมาจากมติชนออนไลน์ เขียนโดยไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

ซึ่งผมก็ขอตัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องค่าแรง300บาท เนื้อหาตามนี้

V


V



ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่ผู้นำที่มีลักษณะและมีสไตล์ทางการเมืองเป็น populist ที่ผ่านมาในรอบเกือบสิบปี อย่างคุณทักษิณและพรรคของคุณทักษิณ มีแนวโน้มเพิ่มความขัดแย้งจนเกิดเป็นความรุนแรงและความเสียหายแก่ประเทศได้ง่าย โดยเฉพาะการคิดว่าการได้เสียงข้างมากจากประชาชนนั้นสามารถจะทำอะไรได้ตามใจชอบหรือมีการใช้อำนาจในทางที่มิชอบและขาดความชอบธรรม

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของวิธีการและกระบวนการซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย กรณีที่มาของข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยอาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งมีที่มาเป็นส่วนผสมของ

(ก.) การมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับค่าจ้างของคนระดับล่างและการใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือของพรรคของทักษิณและทีมเศรษฐกิจซึ่งจะถูกจะผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และ

(ข.) การแข่งขันทางการเมืองซึ่งทำให้พรรคต้องฉวยโอกาสในการให้ข้อเสนอที่ดีกว่าคู่แข่งทั้งที่รู้ว่า ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าค่าจ้าง 300 บาทนี้ทำเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งคุณทักษิณก็คงรู้ว่าพรรคกำลังหลอกประชาชน!!

ผู้เขียนไม่แปลกใจที่ว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมากแต่ความเหมาะสมของนโยบายเมื่อถูกประเมินโดยนักเศรษฐศาสตร์กว่าเจ็ดสิบคน นโยบายของพรรคเพื่อไทยได้คะแนนน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์

ที่คุณทักษิณทำเช่นนี้ได้เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองทั้งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งและก่อนหน้าไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสและเป็นผลมาจากกระบวนการไตร่ตรองผ่านการถกเถียงอย่างเข้มข้นกว้างขวางของประชาชนโดยการใช้ฐานความรู้ ข้อมูล เหตุและผลซึ่งเป็นแนวคิดกระบวนการประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง หรือ deliberative democracy ตามแนวคิดของ Habermas นักปรัชญาชาวเยอรมัน

ในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คุณทักษิณและพวกสามารถปกปิดไม่ให้รายละเอียด นโยบายที่เสนอขาดกระบวนการไตร่ตรองถกเถียงอย่างเข้มข้นโดยประชาชนอย่างเท่าเทียมกันเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองสามารถเปิดโอกาสให้แม้กระทั่งว่าที่นายกฯ หัวหน้าพรรคและผู้บริหารของพรรคไม่จำเป็นต้องผูกมัดตัวเองที่จะต้องมาเข้าสู่กระบวนการอภิปรายอย่างเข้มข้นในระดับชาติเหมือนที่เราพบเห็นในประเทศอื่น

กกต.ก็ไม่สามารถออกกติกาเพื่อให้นโยบายที่เสนอมาต้องผ่านกระบวนการไตร่ตรองก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองสามารถขึ้นป้ายเพียงหนึ่งบรรทัดก็โฆษณาชวนเชื่อได้แล้ว

ทักษิณและทีมเศรษฐกิจต้องการเห็นอะไรจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท นอกเหนือจากการดึงแรงงานระดับล่างมาเป็นฐานเสียง ถ้าคิดว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 เพราะคิดว่าค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันเป็นอุปสรรคทำให้ไทยโตได้ช้าไม่เหมือนจีน หรือเห็นว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในกับดักภาวะเงินฝืดเพราะค่าจ้างนิ่งเกินไปถ้าเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ถึงกว่า 100 แล้วจะกระชากเศรษฐกิจไทยได้

คุณทักษิณกำลังเข้าใจผิดและจะทำร้ายเศรษฐกิจไทย

PERON ในปี ค.ศ.1947 เคยหาเสียงกับสหภาพแรงงานของอาร์เจนตินา โดยเพิ่มค่าแรงที่แท้จริงปีละ 25% PERON ทำได้ 2 ปีเศรษฐกิจก็ทรุด เป็นที่ทราบกันดีว่ามรดกประชานิยมของ PERON นอกจากประเทศแตกแยกแล้วเงินเฟ้อระดับปีละเป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจก็ล่มสลายอยู่หลายทศวรรษ

ค่าจ่ายขั้นต่ำของไทยต่ำไปหรือไม่ ? ถ้าดูตามหลักเกณท์ของ ILO ค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ระหว่างร้อยละ 40 ถึง 60 ของรายได้ต่อหัวค่าจ้างเฉลี่ย หรือ MEDIAN ซึ่งของไทยก็อยู่ในเกณท์นี้ (เช่น ระดับค่าจ้างขั้นต่ำระดับ 6,000 บาทเมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยที่ 9,600 บาท ในปี 2553) เมื่อเทียบกับร้อยละ 20 ถึง 30 กรณีของรัสเซียและจีนตามลำดับ

คนที่บอกว่าอยากเห็นประเทศไทยใช้นโยบายสองสูงคือค่าจ้างสูงและราคาสินค้าเกษตรสูงสับสนความเป็นเหตุและผล

ประเทศที่มีค่าจ้างสูงและเจริญมาได้เพราะประเทศนั้นมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงเพราะแรงงานการสะสมทุนเทคโนโลยีและการจัดการมีคุณภาพสูง

มูลค่าเพิ่มต่อคนงานในภาคการผลิตของเกาหลีสูงกว่าไทยอย่างน้อย 3 เท่า ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของเราต่ำ เพราะ PRODUCTIVITY โดยรวมต่ำ

ถ้าทีมเศรษฐกิจของคุณทักษิณมีกึ๋นจริงไม่ต้องเล่นแร่แปรธาตุและสร้างวิมานในอากาศขอให้ใช้เวลาที่จะได้เป็นรัฐบาลอยู่ได้นานๆ สามารถสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมและระบบแรงจูงใจที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดอัตราต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้ดูประเทศกลุ่ม NICS เป็นตัวอย่าง

คุณทักษิณต้องไม่ลืมว่าตั้งแต่ประเทศไทยเจอวิกฤตจากต้มยำกุ้งในสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่มาของความเจริญเติบโตของเรามาจากการสะสมทุนน้อยลงและมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีก็น้อยมาก

ที่มาของ GROWTH ส่วนใหญ่มาจากแรงงานที่ไร้ฝีมือจากภาคชนบทและจากแรงงานต่างด้าวซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นไม่ได้มาก

จากการศึกษาของธนาคารโลกการศึกษาของไทยมีบทบาทต่อการเพิ่มคุณภาพของแรงงานที่มีส่วนช่วยการเจริญเติบโตของไทยเพียง 0.35% ต่อปี ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

การไม่ดันทุรังและยอมรับความจริงและขอโทษประชาชนเรื่องความเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นค่าแรง 300 บาททันที โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศน่าจะเป็นความกล้าหาญของพรรคเพื่อไทย แค่นี้ก็ถือว่าตบหน้าว่าที่นายกฯหญิงและพี่ชายพอสมควรแล้ว จากการที่ 3 สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมรวมทั้งนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับนโยบายที่ไม่ผ่านการไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผล แถมยังสอนด้วยว่าอัตรานี้ควรเป็นอัตราที่ควรใช้ในสามถึงสี่ปีข้างหน้าซึ่งเหมือนกับให้ว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ไปดูข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์จะดีกว่า

อย่าลืมว่าการที่สหภาพแรงงานไทยอ่อนแอเมื่อบวกกับความมีเอกภาพของสมาคมธุรกิจทั้งหลายรวมทั้งความสามารถในการปรับตัว ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเริ่มเป็นภาระที่ผู้ประกอบการรับไม่ได้ผู้ประกอบการมีวิธีปรับตัว ซึ่งหมายความว่าอำนาจของรัฐตามกฎหมายจะไม่ศักดิ์สิทธิ์จะเกิดผลที่คาดไม่ถึงตามมามากมายทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย

อันที่จริงมีสัญญาณตั้งแต่ปีที่แล้วที่การแข่งขันทางการเมืองเริ่มให้ความสำคัญกับแรงงานระดับล่าง คุณอภิสิทธิ์อยากเห็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 250 บาท จนทำให้เพื่อไทยทนไม่ได้ต้องเสนอเป็น 300 บาท ถ้าใช้สูตรของประชาธิปัตย์ที่ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นได้ 12.5% ค่าจ้างขั้นต่ำก็สามารถจะเพิ่มได้ 1 เท่าตัว ภายในเวลาไม่เกิน 6 ปี ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

ผู้เขียนอยากเห็นค่าจ้างขั้นต่ำที่อิงกับผลิตภาพและอัตราเงินเฟ้อ โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นสูงกว่าอัตราค่าจ้างทั่วๆ ไปเพื่อลดความแตกต่างทางด้านค่าจ้างและลดความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ โดยทำควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการสังคม การศึกษา และการสาธารณสุข

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่

------------------------------


ใหม่เมืองเอก ขอสรุปคร่าวๆง่ายๆของสาระสำคัญของบทความนี้ ก็คือ


ค่าแรงไทยจะสูงก็ได้ ถ้าไทยเราเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี คนงานไทยส่วนใหญ่ ย้ำ!! คนงานไทยส่วนใหญ่ ต้องมีต้นทุนความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสูง สามารถผลิตสินค้าไฮเทคของตัวเองได้ (สินค้าไฮเทคที่ผลิตในเมืองไทย เขาก็จ้างแรงงานมีฝีมือสูงกว่า300บาทอยู่แล้ว)


แต่ทุกวันนี้ แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแค่รับจ้างผลิตสินค้าให้ประเทศที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น


และสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าไฮเทค คนงานไทยก็เป็นแค่ลูกจ้างแรงงานธรรมดา ถ้าค่าแรงแพง เขาก็ไปจ้างแรงงานไม่ต้องการฝีมือที่ประเทศอื่นก็ได้


1 ความคิดเห็น:

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก