วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระพรหมคุณาภรณ์ ประยุทธ์ ปยุตฺโต เขียนถึงรัฐบุรุษปรีดี






พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ภิกษุผู้เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก ท่านเป็นพระผู้แตกฉานในหลักพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกในพุทธศาสนา ที่ผมขอยกย่องว่า เป็นเลิศที่สุดในปัจจุบันนี้

เพราะพระพรหมคุณาภรณ์ อธิบายหลักธรรมที่ลึกซึ้งได้อย่างเข้าใจง่ายที่สุด  ผมจึงเคารพศรัทธาภิกษุรูปนี้มากที่สุด

วันนี้ผมขอนำข้อเขียนของท่าน ที่ได้เขียนถึงรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ไว้ในบทความชื่อ "จุดบรรจบ" มาให้อ่านกัน

แต่ก่อนอื่นผมขอถามคุณผู้อ่านว่า เคยได้ยินคำนี้ไหมครับ ผู้เห็นธรรม ย่อมเข้าถึงผู้เห็นธรรมด้วยกัน


ซ้าย ท่านชยสาโรภิกขุ
กลาง ท่านประยุทธ์ ปยุตโต
ขวา พระสิริปันโน (พระลูกชายของมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของมาเลเซีย)


-----------------

จุดบรรจบ โดยพระพรหมคุณาภรณ์


โดยกาลเวลาแห่งยุคสมัย นายปรีดี พนมยงค์ นับว่าห่างไกลจากอาตมภาพ เนื่องจากท่านเป็นคนรุ่นก่อนบิดามารดาเล็กน้อย จะว่าโดยวิถีชีวิต ท่านก็ห่างไกลกับอาตมภาพในแง่ที่ว่า ท่านอยู่ในวงการเมือง แต่อาตมภาพเป็นพระภิกษุอยู่ทางด้านพระศาสนา แต่แม้ห่างไกลอย่างนั้น ก็มีจุดที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับอาตมภาพมาบรรจบกัน จุดนั้นก็คือ “ธรรม”

ทุกคนไม่เฉพาะนายปรีดี พนมยงค์ และอาตมภาพเท่านั้น ที่มีจุดบรรจบกันที่ธรรม

มนุษย์ทุกคน มีกรรมคือการกระทำหรือสิ่งที่ตนทำไว้เป็นเครื่องวินิจฉัย และเป็นเครื่องจำแนกว่าเป็นคนอย่างไร แล้วธรรมก็เป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรฐานสำหรับตัดสินกรรมอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อพูดในขั้นสุดท้าย ทุกคนจึงบรรจบกันที่ธรรม ไม่ว่าในความหมายที่เป็นความจริงแห่งกฎธรรมชาติ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ทุกคนจะต้องประสบ หรือในความหมายว่าเป็นหลักการแห่งความดีงามถูกต้อง ที่เป็นเกณฑ์ตัดสินกรรมของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม ธรรมที่เป็นจุดบรรจบในที่นี้ อาตมภาพขอโอกาสยังไม่พูดในความหมายที่แท้ข้างต้นนั้น แต่ขอพูดในแง่เป็นเรื่องราวที่เป็นแดนแห่งความสนใจอย่างหนึ่ง

การเมืองก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ และสถานการณ์สำคัญที่กระทบถึงทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะการเมืองไทยในช่วงหลายสิบปีก่อนโน้นที่มีปฏิวัติรัฐประหารบ่อย ๆ เป็นจุดสนใจพิเศษที่ประกอบด้วยความตื่นเต้น บุคคลในวงการเมืองจึงเป็นที่รู้กันทั่ว

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญมีบทบาทมากมายในการเมือง จึงเป็นธรรมดาที่อาตมภาพจะรู้จักชื่อของท่าน เช่นเดียวกับที่พลเมืองไทยทั่วไปรู้จัก ไม่ว่าจะจากข่าวสาร ข่าวสร้าง หรือข่าวลือก็ตาม แต่นั้นก็ไม่ใช่จุดบรรจบแห่งความสนใจ

จนกระทั่งอาตมาได้พบหนังสือของ นายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ซึ่งเป็นการมองความเป็นไปของสังคมมนุษย์ในแง่หลักธรรม แม้เพียงชื่อหนังสือที่มีคำว่า “อนิจจัง” ที่เป็นศัพท์ทางธรรม อาตมภาพก็สะดุดใจและได้อ่านหนังสือของนายปรีดี พนมยงค์

ตามปรกติ เราได้ยินการอธิบายหลักอนิจจังในแง่ของสังขาร คราวนี้มีการมองอนิจจังในแง่ของสังคม แม้ว่าเวลานั้นอาตมภาพจะเป็นสามเณร และอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบ แต่นี้เป็นจุดบรรจบที่อาตมภาพได้มาพบกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่ความสนใจในธรรม

ต่อมาภายหลัง ได้ทราบว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีความสนใจและขวนขวายในกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมะไม่น้อย

การที่นายปรีดี พนมยงค์ สนใจให้ความสำคัญแก่การเมืองนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันเป็นธรรมดา ไม่แปลกอะไร เพราะท่านเป็นบุคคลในวงการเมืองโดยตรง

การที่นายปรีดี พนมยงค์ สนใจให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องสาธยาย เพราะงานของท่านด้านนี้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง

การที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สนใจให้ความสำคัญแก่ปัญหาสังคม ก็เป็นเรื่องที่ชัดแจ้ง เพราะนอกจากการเพียรพยายามแก้ปัญหาทางสังคมด้วยวิธีการทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ท่านก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมเป็นต้นด้วย

การที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สนใจให้ความสำคัญแก่การศึกษา ก็ปรากฏเด่นชัด ดังที่ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมา

แต่การที่นายปรีดี พนมยงค์ สนใจให้ความสำคัญแก่ธรรมะ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครสนใจให้ความสำคัญที่จะยกขึ้นมาเล่าขานกัน

ความจริง จุดที่ว่านี้มีความสำคัญมาก ซึ่งควรจะพิจารณาและรู้ตระหนักกันไว้ เราควรรู้ว่านักการเมืองผู้นั้น ๆ มีความสนใจธรรมหรือไม่ และมีแนวคิดเกี่ยวกับธรรมะว่าอย่างไร

ถ้าเราต้องการให้การเมืองมีคุณค่าและดำเนินไปสู่จุดหมายเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองและประชาชนแท้จริง อย่างน้อย การรู้ว่านักการเมืองนั้นมีแนวคิดความมุ่งหมายในการดำเนินกิจกรรมการเมือง เพื่อธนะคือผลประโยชน์ หรือเพื่อธรรมะคือความถูกต้องชอบธรรมและประโยชน์สุขของประชาชน เป็นข้อพิจารณาอย่างสำคัญ ที่จะช่วยให้มองเห็นวิถีของการเมือง

อาจเป็นเพราะประชาชนไม่ใส่ใจและไม่รู้จักตรวจสอบเนักการเมือง ว่ามีแนวคิดเพื่อธรรมบ้างหรือไม่ การเมืองเพื่อธนะหรือผลประโยชน์จึงดูเหมือนจะกลายเป็นการเมืองกระแสหลักของบ้านเมือง

ถ้าประชาชนสนใจมองเห็นความสำคัญของธรรม และคอยตรวจสอบ อย่างน้อยเพ่งมองนักการเมืองถึงแนวคิดเกี่ยวกับธรรมของเขา ก็จะมีทางเบนกระแสการเมืองนั้นให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง

นอกจากพิจารณาตรวจสอบแนวคิดของนักการเมืองเกี่ยวกับธรรมแล้ว ก็ต้องทำอีกอย่างหนึ่งควบคู่ไปด้วย คือเอาธรรมมาตรวจสอบกรรม คือการกระทำของนักการเมือง

นี้เป็นจุดบรรจบสำคัญที่น่าจะหวังให้เกิดขึ้นในการเมืองไทย

การที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นี้ ให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ถือว่าเป็นข้อควรภาคภูมิใจของคนไทย

แน่นอนว่าการประกาศยกย่องบุคคลสำคัญระดับโลกนี้ มิได้มีจุดมุ่งหมายจบอยู่แค่ความภูมิใจ แต่มุ่งเชิดชูคุณค่าบางอย่างที่ทำให้ความเก่งกล้าสามารถด้านต่าง ๆ ที่บุคคลผู้นั้นได้แสดงออกในการกระทำการสร้างสรรค์ทั้งหลาย เกิดความหมายเป็นประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ และเป็นแบบอย่างแก่มวลมนุษย์ในโลก

บุคคลมากหลายในประวัติศาสตร์ ที่มีความสามารถเก่งกาจมากมาย ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นต้น แต่ความเก่งกาจสามารถของบุคคลเหล่านั้นก่อผลในทางทำลาย ไม่มีคุณค่าที่สร้างสรรค์และเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังรู้จักกันไปทั่วโลก ก็หาได้รับการประกาศยกย่องเช่นนี้ไม่

ความภูมิใจของคนไทยจะมีความหมายแท้จริงก็ต่อเมื่อประกอบด้วยปัญญา ซึ่งหยั่งเห็นคุณค่าที่ประสานนำความเก่งกาจสามารถด้านต่าง ๆ ของบุคคล เข้าสู่จุดหมายแห่งการสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างสมควรเป็นแบบอย่างดังกล่าวแล้ว

คุณค่าที่ว่านั้น เมื่อพูดด้วยคำสั้นที่สุดคำเดียว ก็คือ “ธรรม” ซึ่งเป็นตัวประสานนำให้กรรมทุกอย่างที่คนทำ มีคุณค่าที่ให้เกิดผลตรงตามจุดหมายที่ควรจะเป็น

การประกาศยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก จะมีความหมายแท้จริง ต่อเมื่อคนไทยใส่ใจต่อธรรมที่เป็นเครื่องประสานกรรมทั้งหลายของนายปรีดี พนมยงค์ ให้บรรจบสู่จุดหมายแห่งความเป็นบุคคลที่โลกยกย่อง และรักษาธรรมนั้นให้เป็นมาตรฐานในสังคมของตน

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
๗ มกราคม ๒๕๔๓

----------

ใหม่เมืองเอก สรุปท้ายบทความ

ท่านเจ้าประคุณประยุทธ์ ปยุตโต ได้อ่านงานเขียนเรื่อง "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ของนายปรีดี พนมยงค์ แล้วมีความรู้สึกชื่นชมในงานเขียนเชิงธรรมะของนายปรีดี

ท่านเจ้าประคุณประยุทธ์ ที่ถูกยกย่องเป็นที่สุดนักปราชญ์แห่งธรรมในเวลานี้ ขนาดชื่นชมงานเขียนของนายปรีดีแสดงว่า หนังสือเล่มนี้ของนายปรีดี ต้องเขียนบนความเข้าใจในธรรมะพอควร

นายปรีดี ก่อตั้งมหาวิทยาลัยชื่อ ธรรมศาสตร์ ก็มาจากคำว่า ธรรมะ + ศาสตร์ นั่นเองครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก