วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

สยาม ฝรั่งเศสปักปันเขตแดนไทยกัมพูชาเสร็จไปแล้ว






 สยามกับฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447)

สยามได้เสียดินแดนในส่วนของ หลวงพระบาง มโนไพร และจำปาศักดิ์ บนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส โดยสนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดเขตแดนในย่านภูเขาดงรักภาคตะวันออกและย่านอื่นๆ โดยกำหนดเอาไว้ว่า:

ข้อ 1 เขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชา เริ่มต้นบนฝั่งซ้ายของทะเลสาบจากปากแม่น้ำสะตุง โรลูโอส และเป็นไปตามเส้นขนานจากจุดนั้นในทางทิศตะวันออกจนกระทั่งถึงแม่น้ำแปรก กำปง เทียม แล้วเลี้ยวไปทางด้านทิศเหนือไปพบกับเส้นตั้งฉากจากจุดบรรจบนั้นจนกระทั่งถึงทิวเขาดงรักจากที่นั่นเส้นเขตแดนคือสันปันน้ำ

ระหว่างลุ่มน้ำของแม่น้ำเสนและแม่น้ำโขงด้านหนึ่ง กับแม่น้ำมูลอีกด้านหนึ่ง และสมทบกับทิวเขาภูผาด่าง โดยถือทวนน้ำขึ้นไปให้ถือแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนของอาณาจักรสยามตามข้อ 1 แห่งสนธิสัญญาฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1893

จากสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1904 ข้อ 1 แสดงให้เห็นว่า “ทิวเขาดงรัก” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ปราสาทพระวิหาร” ระบุเส้นเขตแดนอย่างชัดเจนว่าให้ใช้ “สันปันน้ำ”!!!

------------------

ต่อมาสยามกับฝรั่งเศสได้มีการทำสนธิสัญญาและพิธีสารแนบท้ายต่อกันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เป็นการแลกแผ่นดิน

โดยฝ่ายสยามยก พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส เพื่อที่จะแลกกับเมืองด่านซ้าย ตราด และเกาะทั้งหลายไปจนถึงเกาะกูดให้กลับมาเป็นของสยาม

ด้วยเหตุผลที่มีสนธิสัญญา 2 ฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินระหว่างสยามกับฝรั่งเศส จึงมีการตั้งเป็นคณะกรรมการผสมขึ้นจากตัวแทนฝ่ายสยามและฝรั่งเศสเพื่อสำรวจและปักปันเขตแดนทางบก 2 ช่วงเวลา คือคณะกรรมการผสมชุดแรกที่เกิดขึ้นตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และคณะกรรมการผสมอีกชุดที่สองซึ่งเกิดขึ้นตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907

ผลจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการผสม 2 ชุด พบว่ามีการสำรวจและกำหนดเส้นเขตแดนตามทิวเขาดงรักซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารที่น่าสนใจตามลำดับเวลาดังต่อไปนี้

13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) สยามกับฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาต่อกัน กำหนดให้สันปันน้ำเป็นเขตแดนบริเวณทิวเขาดงรัก

มกราคม ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) ได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติงานสำรวจและกำหนดเขตแดนทางทิศตะวันออกของทิวเขาดงรักซึ่งเป็นทิวเขาที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร

2 ธันวาคม ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) มีการประชุมตกลงกันว่าคณะกรรมการผสมจะขึ้นไปบนเขาดงรักจากที่ราบต่ำของกัมพูชา โดยผ่านขึ้นทางช่องเกน ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพระวิหารและเดินทางไปทิศตะวันออกตามทิวเขาโดยอาศัยเส้นทางที่ ร้อยเอกทิกซีเอ กรรมการคนหนึ่งของฝรั่งเศสได้ตระเวนสำรวจเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448)

18 มกราคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสชุดแรกเพราะปฏิบัติงานเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้รายงานต่อรัฐมนตรีต่างประเทศในกรุงปารีสว่า ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากประธานฝ่ายฝรั่งเศสในคณะกรรมการผสมว่า “การปักปันทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น และว่าได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นเป็นที่แน่นอนแล้วนอกจากในอาณาบริเวณเสียมราฐ” การสำรวจและปักปันครบหมดแล้วย่อมแสดงว่าได้รวมถึงทิวเขาดงรักบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย

20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ประธานได้ส่งรายงานไปให้รัฐบาลของตนระบุเอาไว้ว่า “ตลอดแนวเขาดงรักจนถึงแม่น้ำโขงการกำหนดเขตแดนไม่ได้ประสบความยุ่งยากใดๆ เลย”

คณะกรรมการผสมสรุปโดยไม่ต้องไปปักปันอะไรแล้ว ก็เพราะแนวสันปันน้ำซึ่งถูกระบุอยู่ในสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) ซึ่งใช้สำหรับเป็นเขตแดนตามทิวเขาดงรักนั้น “ชัดเจนตามธรรมชาติด้วยตัวมันเอง”

23 มีนาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) สยามกับฝรั่งเศส ได้ลงนามในสนธิสัญญาและพิธีสารแนบท้าย เพื่อแลกแผ่นดินกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสชุดที่ 2 เพื่อสำรวจในดินแดนที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่

พันเอกแบร์นารด์ ประธานฝ่ายฝรั่งเศสของคณะกรรมการผสม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกร่างแสดงพรมแดนใหม่ โดยพรมแดนด้านตะวันตกที่ตกลงกันใหม่บรรจบกับดงรักพิธีสารได้กำหนดว่า:

“จากจุดที่กล่าวถึงข้างบนซึ่งตั้งอยู่บนสันเขาดงรัก เขตแดนทอดไปตามสันปันน้ำระหว่างลุ่มทะเลสาบใหญ่และแม่น้ำโขงทางหนึ่งและตามลุ่มแม่น้ำมูลอีกทางหนึ่ง และไปจดแม่น้ำโขงใต้ปักมูลที่ปากน้ำห้วยเดื่อ (ห้วยดอน) อันเป็นไปตามเส้นลากซึ่งคณะกรรมการปักปันคณะก่อนได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)

อาศัยความบทแห่งสนธิสัญญานี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่อาจมองไปได้ว่าข้อตกลงของคณะกรรมการผสมภายใต้สนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) อาจจะผิดแผกจากเส้นสันปันน้ำไปได้แต่ประการใด”

ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการลงนามในการแลกแผ่นดินตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) แล้วก็ตาม แต่การยึดหลักสันปันน้ำบริเวณสันเขาดงรักไม่เปลี่ยนแปลงตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และไม่เปลี่ยนแปลงตามคณะกรรมการผสมชุดแรกได้ดำเนินการสำรวจไปก่อนหน้านี้อีกด้วย

20 ธันวาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) พันเอกแบร์นารด์ ประธานฝ่ายฝรั่งเศสของคณะกรรมการผสมฯ ได้ทิ้งพยานหลักฐานเป็นคำบรรยายซึ่งได้แสดงเอาไว้ในกรุงปารีสโดยได้บรรยายถึงงานปักปันเขตแดน 3 ครั้ง จาก ค.ศ. 1905 ถึง ค.ศ. 1907 ความตอนหนึ่งซึ่งมีความชัดเจนว่า:

“แทบทุกหนทุกแห่งสันปันน้ำประกอบเป็นพรมแดนและจะมีปัญหาโต้เถียงกันได้ก็แต่เพียงที่เกี่ยวกับจุดปลายสุดของทั้งสองด้านเท่านั้น”

แสดงว่าทิวเขาดงรักบริเวณรอบปราสาทพระวิหารซึ่งไม่ได้อยู่จุดปลายสุดทั้งสองด้านของสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนที่มีความชัดเจน

ด้วยเหตุผลนี้จึงสามารถสรุปได้ว่าคณะกรรมการสำรวจและปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศส ทั้ง 2 ชุด ได้แบ่งเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเสร็จสิ้นแล้ว โดยยึดหลักสันปันน้ำตามสนธิสัญญาทุกประการ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปปักปันหรือจัดทำหลักเขตแดนใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น






ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ที่มีความไม่ชัดเจน และเริ่มเข้าสู่เป็นที่ราบนั้นต้องมีการปักปันและจัดทำหลักเขตแดนทางบก จึงเป็นที่มาของ 73 หลักเขตแดนทางบก ซึ่งเริ่มต้นหลักเขตแดนทางบกที่ 1 จากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ แล้วจัดทำเรื่อยไปทางตะวันตกและลงไปทางทิศใต้ จนถึงหลักเขตที่ 73 ที่จังหวัดตราด

ในขณะที่ไม่ปรากฏในรายงานการประชุมใดๆ ของคณะกรรมการผสมชุดที่ 2 เลยว่ามีการจัดทำหลักเขตแดนทางบกจากช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกไปจนถึงตัวปราสาทพระวิหารเลยไปถึงช่องบก จ. อุบลราชธานีแม้แต่น้อย เพราะมีสันปันน้ำเป็นแนวตลอดอย่างชัดเจน

วันที่ 15 มิถุนายน 1962 (พ.ศ. 2505) แม้ว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะพิพากษาเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารว่าอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยอ้างกฎหมายปิดปาก เพราะฝ่ายสยามไม่ยอมทักท้วงแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว (ซึ่งฝ่ายสยามไม่เคยลงนามยอมรับแผนที่ดังกล่าวเช่นกัน) 

แต่ด้วยความจริงตามที่ปรากฏข้างต้น ศาลจึงไม่ได้พิพากษา “แผนที่” และ “เส้นเขตแดนตามแผนที่” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ตามที่กัมพูชาร้องขอแต่ประการใด

ดังนั้นฝ่ายไทยจนถึงยุคปัจจุบันจึงมีเครื่องมือที่จะสามารถบอกกับชาวโลกได้ว่า

1. สยาม-ฝรั่งเศสมีสนธิสัญญายึดหลักสันปันน้ำเป็นหลัก ตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)

2. ผลของคณะกรรมการสำรวจและปักปันเขตแดนระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสทั้ง 2 ชุด ได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเขตแดนตามสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงทิวเขาดงรักซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวปราสาทพระวิหารด้วย จึงไม่มีความจำเป็นต้องสำรวจเพื่อปักปันเขตแดนใหม่อีก และบริเวณทิวเขาดงรักแนวสันปันน้ำก็ไม่จำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกเช่นกัน

3. คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  (ศาลโลก) ไม่เคยพิพากษาสถานะของแผนที่ และเส้นเขตแดนตามแผนที่ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่กัมพูชาร้องขอ

ในขณะที่มีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถึง 3 คน ได้มีคำพิพากษาแย้งอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นเท็จ อีกทั้งกัมพูชาไม่เคยสงวนสิทธิ์ในเรื่องแผนที่ และเส้นเขตแดนเอาไว้กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหลังการตัดสินแต่ประการใด ตรงกันข้ามกับประเทศไทยซึ่งได้สงวนสิทธิ์ที่จะทวงคืนปราสาทพระวิหารเอาไว้แล้วทันทีหลังได้ทราบคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว

ด้วยข้อผูกพันตามสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส และผลของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส ในการสำรวจและปักปันเขตแดน ตลอดจนขอบเขตคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือเครื่องยืนยันว่า

หากไม่มี “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543)” ไทยและกัมพูชาจะต้องกลับไปใช้ข้อผูกพันที่มีต่อกันระหว่างไทย-กัมพูชาในการกำหนดเขตแดนทิวเขาดงรัก ซึ่งมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ “สันปันน้ำ”

ตรรกะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวเอาไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ว่า นักการเมืองที่คิดร้ายต่อบ้านเมืองหากไม่มี MOU 2543 แล้วก็จะสามารถกลับไปยึดแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสจัดทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้นจึง “เป็นไปไม่ได้” เพราะไม่มีเอกสารใดๆ ทั้งสิ้นที่ระบุว่าฝ่ายไทยได้เคยมีข้อผูกพันตามแผนที่ดังกล่าวแต่ประการใด นอกจาก MOU 2543 เท่านั้นที่มีความสุ่มเสี่ยง เพราะมีการระบุว่าให้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกตามแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ด้วย

หากยึดหลักสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ยึดหลักผลงานของคณะกรรมการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกของสยาม-ฝรั่งเศส และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2505 ประเทศไทยจะเรียกดินแดนทั้งหมดที่ถูกกัมพูชารุกล้ำอยู่ในขณะนี้ว่า “ดินแดนไทย”เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะไม่เป็นพื้นที่ซึ่งพิพาทหรือทับซ้อน

และสามารถผลักดันทันทีได้หลายรูปแบบด้วยเงื่อนไขที่ว่า “กัมพูชารุกล้ำอธิปไตยของไทย”

ไม่ใช่เหตุผลว่า “กัมพูชามีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในพื้นที่พิพาทตามข้อ 5 ใน MOU 2543” ซึ่งทำได้สูงสุดตามเงื่อนไขในข้อ 8 ของ MOU 2543 คือ “หากมีข้อพิพาทต้องใช้สันติวิธีเท่านั้น” ซึ่งไม่สามารถทวงคืนดินแดนที่ถูกกัมพูชายึดครองอยู่ได้

ด้วยเหตุผลนี้กัมพูชาจึงต้องโวยวายไปทั่วโลกเพื่อกอด MOU 2543 เอาไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดียวกันกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีผิดเพี้ยน!!!


โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ http://astv.mobi/AIMfqtU


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก