วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เมื่อลูกชายนิติภูมิ ค้านนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
เกริ่น
นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นคนที่ผมผิดหวังในอุดมการณ์ของเขาเป็นอย่างมาก ละทิ้งอุดมการณ์ไปเข้ากับพรรคเพื่อไทย
ทั้ง ๆ ที่ ตอนยังยึดมั่นอุดมการณ์ นิติภูมิ เป็นคนออกมาต่อต้านระบอบนายทุนกินรวบอย่างระบอบทักษิณ และต่อต้านการเกิดขึ้นของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่ยึดทุกถนนในเมืองไทย ยังต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชน โดยเขานำบทเรียนล่มสลายของอาเจนติน่า ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
แต่แล้วไม่รู้เพราะสาเหตุใด เขาจึงละทิ้งอุดมการณ์ดี ๆ จนไปเข้ารีตระบอบทักษิณจนได้ น่าเสียดายความรู้ความสามารถ ที่เคยถึงกับได้คะแนนเลือกตั้ง สว. เป็นอันดับ 1 ในกรุงเทพฯ มาแล้ว แต่ภายหลังมีการรัฐประหาร 2549 ก็เลยอดเป็น สว. ไป
สุดท้ายตอนนี้นิติภูมิ ได้เป็น สส.บัญชีรายชื่อในพรรคเพื่อไทยไปแล้ว น่าเสียดายอุดมการณ์ที่เคยมีจริง ๆ
แบบนี้ต้องให้ป้าเช็ง ตบกระบาลล้างน้ำหมักซะให้เข็ด ฮ่าๆ
ทีนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ คิดจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท อ้างไม่มีงบประมาณ ถุย!!
ต่อมา คุณนิติ นวรัตน์ ลูกชายคนที่ 2 ของนิติภูมิ นวรัตน์ จึงรีบเขียนบทความในไทยรัฐเพื่อคัดค้านเรื่องนี้ทันที ลองอ่านดูครับ
---------------------
อย่าฆ่าชนบท โดยคุณนิติ นวรัตน์
ผมต้องรีบเขียนบทความชิ้นนี้ เพราะอ่านข่าวพบว่ากระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลไทย และนักการศึกษาของไทย ประกาศนโยบายให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งมี 14,397 โรง ทั่วประเทศ
จากข่าว ผมเดาสิ่งที่อยู่ใต้สมองของคนในกระทรวงนี้ได้ทันทีเลยว่า จำนวนไม่น้อยเป็นพวกวัตถุนิยม เป็นคนที่ยังไม่ตกผลึกทางด้านการศึกษา เขียนอย่างตรงไปตรงมาไม่เกรงใจก็คือ ท่านเป็นนักการศึกษาที่ไม่มีความรู้เรื่องการศึกษา ไม่รู้ซึ้งถึงจิตวิญญาณการเรียนรู้อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
โลกพังเพราะเราปล่อยให้ชนบทร้าง ชนบทไม่มีการเคลื่อนไหว ที่ชนบทนิ่งไม่ไหวติง เพราะรัฐบาล รัฐมนตรีศึกษาธิการ และนักการศึกษาของประเทศ “พวกนั้น” รุมฆ่าประเทศตนเองอย่างโหดเหี้ยม ด้วยนโยบายการศึกษาที่ “พรากคนออกจากท้องถิ่น” ออกแบบการศึกษาที่ผลักเยาวชนให้ไปอยู่โรงเรียนห่างไกลจากชุมชนของตนเอง
รัฐมนตรีและนักการศึกษาพวกนี้ตัดเยาวชนและชุมชนให้ขาดออกจากกัน หลังจากจบการศึกษาแล้ว เยาวชนมุ่งอพยพไปอยู่กันแต่ในเมืองใหญ่ ไปแออัดยัดเยียดกันอยู่ที่นั่น เพราะไม่มีความผูกพันกับชุมชนและผู้คนในพื้นที่ในอดีตของตน หมู่บ้านในชนบทของประเทศที่มีการศึกษาแบบนี้ จึงมีเหลือแต่คนแก่และเด็กๆ ส่วนคนที่อยู่ในวัยทำงานจะไปแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่งในมหานครใหญ่ เมื่อชนบทถูกทิ้งร้าง ทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรอื่นไม่ได้รับการพัฒนาให้สร้างผลผลิต
เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งซึ่งสร้างโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะต้องการผูกเยาวชนกับชุมชนให้ได้ ในชั้น ป.1–6 กระทรวงศึกษาธิการญวนแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่เป็นสากล เด็กทุกคนต้องเรียน liberal education และ liberal arts แบบเดียวกับเด็กทั่วโลก
ส่วนที่ 2 เด็กญวนจะได้เรียนเกี่ยวกับชาติบ้านเมืองของตนเอง รู้ข้อมูลพื้นฐานของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตั้งแต่เหนือจดใต้ หลักสูตรในส่วนนี้ทำให้เด็กรู้จักชาติ เมื่อรู้จักชาติทุกจังหวัด ทุกอำเภอ รู้จักประวัติศาสตร์ชาติ ก็ทำให้เด็กผูกพันกับชาติ รักชาติ มีความเป็นหนึ่งเดียว
ส่วนที่ 3 เด็กนักเรียนเวียดนามจะต้องเรียนรู้เรื่องของชุมชนตนเองตั้งแต่ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในหมู่บ้านและตำบล รู้ว่าหนองน้ำมีกี่แห่ง แต่ละแห่งจะมีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้พอเพียงทั้งปีหรือไม่ มีปลาอะไรบ้าง ในอนาคต เมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาปริญญาตรีจากนครหลวง ก็สามารถมีความรู้และความเคยชินเพียงพอที่จะกลับมาอยู่ในหมู่บ้านเดิม แต่การกลับมาครั้งใหม่เป็นการกลับมาในวัยกำลังทำงาน กลับมาพร้อมกับปริญญาและความรู้ที่จะนำมาพัฒนาชนบท ทำให้ชนบทของเวียดนามเกิดการเคลื่อนไหว ประชาชนมีรายได้จากผลผลิต พื้นที่ทั้งประเทศของเวียดนามจึงเป็นแผ่นดินที่สร้างผลผลิต
ผิดกับสติปัญญาของรัฐบาลไทย รัฐมนตรีไทย และนักการศึกษาของไทยในยุคนี้ ที่ถูกฝรั่งครอบกะโหลกจนจินตนาการกันไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเช้าขึ้นมา พ่อแม่ในชนบทต้องเสียเวลาพาลูกไปโรงเรียนใหญ่ที่อยู่ในตัวอำเภอ หรือในตัวตำบล แทนที่เช้าเย็น เยาวชนของเราจะมีเวลาช่วยงานบ้าน หรืองานอาชีพของพ่อแม่ เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีพจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง กลับต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง
พ่อผมเคยทำสารคดีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นการศึกษาของโรงเรียนชนบทของสวิสเซอร์แลนด์ โรงเรียนนี้มีเพียง 2 ห้อง ห้องแรกเป็นกลุ่มนักเรียนในระดับอนุบาล อีกห้องหนึ่งเป็นนักเรียนทุกเกรดมาเรียนร่วมกัน มีครูเพียง 2 คน คนแรกสอนอนุบาล ครูคนที่สองสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นเกรดหนึ่งถึงเกรดสิบกว่า
บางเกรดมีนักเรียน 5 คน บางเกรดมี 3 คน บางเกรดมีนักเรียนเพียงคนเดียว แต่ทุกคนทุกเกรดก็เรียนอยู่ในห้องเดียวกัน มีครูคนเดียวกัน ครูสอนโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย
ผมดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้หลายรอบ ดูแล้วก็เกิดความประทับใจในสติปัญญาของผู้ที่ออกแบบระบบการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ให้สถาบันการศึกษากับชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โรงเรียนกับชุมชนแนบกันได้สนิท ไม่มีพ่อแม่คนไหนในระดับประถมเดินมา ส่งลูกที่โรงเรียน นักเรียนเดินมาโรงเรียนเอง เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน ตอนเที่ยงก็เดินกลับไปทานอาหารที่บ้าน จำนวนหนึ่งเอาอาหารมาทานที่โรงเรียน นักเรียนพวกนี้ก็จะมีเวลาออกไปวิ่งเล่นข้างนอก
พ่อผมเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดซึ้งล่าง ต.วันยาว อ.ขลุง จ.จันทบุรี เมื่อจบ ม.ศ.5 แล้วก็มีโอกาสได้ไปเรียนมัธยมปลายซ้ำอีกครั้งที่โรงเรียน St.Arnaud รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ส่วนผมเองจบ ป.6 จากโรงเรียนวัดคลองตะเคียน ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ในระหว่างเรียนมัธยมปลาย มีโอกาสไปเรียนที่โรงเรียน Gymnasium Blemfeld เมืองฮัมบูร์ก รัฐฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ผมถึงเอาประสบการณ์มาเล่าขานเปรียบเทียบให้คุณผู้อ่านได้อ่านจากประสบการณ์จริงของคนเขียนเอง ไม่ต้องไปจินตนาการ หรือไปลอกประสบการณ์ของใครที่ไหน
ฐานะที่ผมจบประถมโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นโรงเรียนในชนบท ซึ่งในตอนที่ผมเรียนยังเป็นกิ่งอำเภอ ถนนหนทางยังเป็นลูกรัง แต่ก็ไม่เห็นว่าการศึกษาจากโรงเรียนวัดในชนบทห่างไกล จะทำให้ผมรู้สึกด้อย หรือต่ำต้อย
ผมจึงอยากขอความกรุณารัฐบาลไทยนะครับ ว่าอย่ายุบโรงเรียนเล็ก อย่าเลิกโรงเรียนในชนบท อย่าต้องให้เยาวชนไทยโหนรถสองแถวไปโรงเรียนกันวันละ 50-100 กม.
กรุณาล้มเลิกความคิดที่จะพรากเยาวชนไทยออกจากชนบทไทย
ท่านรัฐมนตรีโปรดอย่า “ฆ่าชนบท”.
คุณนิติ นวรัตน์
http://www.thairath.co.th/column/oversea/worldsky/180879
-----------------------------
ใหม่เมืองเอก สรุปปิดท้าย
ที่ผมนำบทความของคุณนิติ มาลง สืบเนื่องจากพอหลังจากผมทราบนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กลง ทำให้ผมนึกถึงสารคดีเปิดเลนส์ส่องโลก เมื่อหลายปีก่อนที่นิติภูมิ นวรัตน์ พาไปดูโรงเรียนในชนบทของประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ผมจำได้ติดตาติดใจมาจนวันนี้ คือ นักเรียนระดับป. 1 จนถึงระดับ ม.6 ของสวิสฯ เรียนอยู่ในห้องเดียวกัน โดยมีครูสอนเพียงคนเดียว คือหมายถึงว่า อาจมีเด็กป. 1 สักคนนึง ป.3 สัก 2 คน ป.6.สัก 2 คน ม.1 สัก 2 คน ม.3 สัก 1 คน ม.6 สัก 3 คน อะไรทำนองนี้
โดยครูจะเดินไล่สอนนักเรียนไปเรื่อย ๆ โดยใช้กระดานดำอันเดียวกัน นักเรียนทุกคนก็สนใจวิชาในระดับของตัวเองไป
โรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน เพราะการเดินทางบนเทือกเขาในสวิส ก็ไม่สะดวกสบายที่จะให้นักเรียนเดินทางไปเรียนไกล ๆ
คลิกอ่าน ยิ่งลักษณ์ไม่เคยพูดผิดอำเภอขนอม เป็น ขน อม !!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก