วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

น้ำใจคนญี่ปุ่นหลังสึนามิ!!

V

V



เรื่องจาก นร ไทยในญี่ปุ่น
Credit: Adisak Chua




Adisak Chua: คิดว่าทุกคนกำลังเครียด เลยอยากแบ่งปันเรื่องดีๆที่เกิดในช่วงแผ่นดินไหว (อ่านเจอลิ้งค์จาก ศูนย์กลางข่าวสารแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น โดย สนญ. และ สนทญ.) เป็นเรื่องราวที่คนต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นประสบ http://prayforjapan.jp/tweet.html

ขอ แปลด้วยความรู้ภาษาญี่ปุ่นที่มี

เรื่องที่หนึ่ง

ข้าพเจ้าได้เห็นเด็กน้อยพูดกับพนักงานรถไฟ "ขอบคุณค่ะ/ครับ ที่เมื่อวานพยายามอย่างสุดชิวิตทำให้รถไฟเดินรถได้อีกครั้ง" พนักงานรถไฟร้องไห้ส่วนข้าพเจ้าร้องไห้ฟูมฟายไปแล้ว (คืนวันที่เกิดแผ่นดินไหว รถไฟหยุดวิ่ง กว่าจะวิ่งได้ก็หลังเที่ยงคืนไปแล้ว)

เรื่อง ที่สอง

ที่ดิสนีย์แลนด์ คนติดกลับบ้านไม่ได้จำนวนมาก และทางร้านขายของก็ได้เอาขนมมาแจกนักท่องเที่ยว ก็ได้มีนร.ม.ปลายหญิงกลุ่มหนึ่งไปเอามาจำนวนมาก มากเกินพอ แว่บแรกที่ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีคือ อะไรวะ เอาไปซะเยอะ แต่วินาทีต่อมากลายเป็นความรู้สึกตื้นตันใจ เพราะเด็กกลุ่มนั้นเอาขนมไปให้เด็กๆ ซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถไปเอาเองได้เพราะต้องดูแลลูกๆ

เรื่อง ที่สาม

ในซุปเปอร์แห่งหนึ่ง ของตกระเกะระกะเพราะแรงแผ่นดินไหว แต่คนซื้อก็เดินไปช่วยกันเก็บของ แล้วก็หยิบส่วนที่ตนอยากซื้อไปต่อคิวจ่ายเงิน ในรถไฟที่เพิ่งเปิดให้ใช้บริการและคนที่ตกค้างจำนวนมากกำลังเดินทางกลับก็ ได้เห็นคนแก่คนหนึ่งลุกให้สตรีมีครรภ์นั่ง คนญี่ปุ่นแม้ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ ก็ยังมีน้ำใจ มีระเบียบ

เรื่อง ที่สี่

ในคืนแรกที่เกิดแผ่นดินไหว รถไฟไม่วิ่ง ทำให้คนจำนวนมากต้องเดินกลับบ้านแทนการนั่งรถไฟ ขณะที่ข้าพเจ้าต้องเดินกลับจากมหาลัยมายังที่พัก ร้านรวงก็ปิดหมดแล้ว ข้าพเจ้าได้ผ่านร้านขนมปังร้านหนึ่งซึ่งปิดไปแล้ว แต่คุณป้าเจ้าของร้านก็ได้เอาขนมปังมาแจกฟรีแก่คนที่กำลังเดินกลับบ้าน แม้ภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ น้ำใจเช่นนี้ทำให้หัวใจข้าพเจ้าอบอุ่น ตื้นตัน

เรื่อง ที่ห้า

ในขณะที่รอรถไฟให้กลับมาวิ่งได้ ข้าพเจ้าก็ได้รออยู่ในอาคารสถานีอย่างเหน็บ หนาว โฮมเลสก็ได้แบ่งปันแผ่นกล่องกระดาษให้ โฮมเลสที่ข้าพเจ้ามองด้วยหางตาทุกวันที่มาใช้สถานี คืนนั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด  (โฮมเลส homeless คนไร้ที่อยู่)

เรื่อง ที่หก

(เรื่องราวคืนรถไฟไม่วิ่งเยอะหน่อยนะครับ) ด้วยระยะเวลาสี่ชั่วโมงที่ต้องเดินเท้ากลับบ้าน ก็ได้ผ่านหน้าบ้านหลังหนึ่ง ตาก็ไปสะดุุดกับแผ่นกระดาษที่เขียนว่า "เชิญใช้ห้องน้ำได้ค่ะ" หญิงสาวท่านหนึ่งได้เปิดบ้านตัวเองให้แก่คนที่กำลังเดินกลับบ้านได้ใช้ วินาทีที่ได้เห็นแผ่นกระดาษนั้น น้ำตามันก็ไหลออกมาเอง น้ำใจคนญี่ปุ่น

เรื่อง ที่เจ็ด

แม้ว่าไฟดับ ก็ยังมีคนที่สู้ทำงานให้ไฟกลับมาติด น้ำไม่ไหลก็ยังมีคนไม่ยอมแพ้ทำให้น้ำกลับมาไหล เกิดปัญหากับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีคนที่พร้อมจะเข้าพื้นที่เพื่อซ่อมมัน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้กลับมาสู่สภาพปกติด้วยตัวมันเอง ขณะที่พวกเราอยู่ในบ้านอันอบอุ่นแล้วก็พร่ำบ่นว่าเมื่อไรไฟมันจะติด น้ำจะไหลน้า ก็มีคนที่อยู่ข้างนอกท่ามกลางความหนาวเหน็บกำลังพยายามสู้อยู่

เรื่อง ที่แปด

ในจังหวัดจิบะ คนลุงคนหนึ่งที่หลบภัยอยู่ก็ได้เปรยออกมาว่า ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรน้า เด็กหนุ่มม.ปลายก็ตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง ต่อจากนี้ไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ พวกผมจะทำให้มันกลับมาเหมือนเดิมแน่นอน (ไม่เป็นไร พวกเรายังมีอนาคต!!!)

เรื่อง ที่เก้า

ขณะที่กำลังได้รับความช่วยเหลือ หลังจากที่ติดอยู่บนหลังคาบ้านมากว่า 42ชั่วโมง คุณลุงก็ได้กล่าวว่า "ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรครับ เคยมีประสบการณ์ทซึนามิที่ชิลีมาแล้ว ต่อจากนี้ไปพวกเรามาช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองกันนะ" แกกล่าวด้วยรอยยิ้ม (สิ่งสำคัญสำหรับพวกเราคือ ต่อจากนี้ไปเราจะทำอะไรต่างหาก)

เรื่อง สุดท้าย ก่อนหน้านี้เมืองมันสว่างเกินไป เกินที่จะมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน แต่จริงๆแล้วดาวสวยเช่นนี้เอง ชาวเซนไดทุกคนลองแหงนมองขึ้นไปข้างบนดูซิ (ตรงนี้ไม่มั่นใจว่าแปลว่า ชาวเซนไดทุกคนมองขึ้นไปบนฟ้า รึเปล่า)

.
.

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

มารู้จักโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันเถอะ

V

V
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” คือ โรงงานผลิต กระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนจากปฏิกิริยาแตกตัวทางนิวเคลียร์ (nuclear fission reaction) ทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูง แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ ซึ่งต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้า และส่งต่อไปยังผู้บริโภคต่อไป

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีหลักการผลิตไฟฟ้าคล้ายกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป กล่าวคือ จะใช้พลังงานความร้อนไปผลิตไอน้ำ แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำและ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ออกมา แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ต้นกำเนิดพลังงานความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดจากปฏิกิริยาแตกตัวของยูเรเนียม-๒๓๕ ในเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

ส่วนความร้อนจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไปนั้นได้จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ซึ่งได้แก่ ถ่านหินหรือลิกไนต์ ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับการ ผลิตไฟฟ้า พบว่า หากใช้ยูเรเนียมธรรมชาติ (ความเข้มข้นของยูเรเนียม-๒๓๕ ประมาณร้อยละ ๐.๗) จำนวน ๑ ตัน จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า ๔๐ ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ในขณะที่ต้องใช้ถ่านหินถึง ๑๖,๐๐๐ ตัน หรือใช้น้ำมันถึง ๘๐,๐๐๐ บาร์เรล (ประมาณ ๑๓ ล้านลิตร) จึงจะผลิตไฟฟ้าได้เท่ากัน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบ่งการทำงานออก เป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ

๑) ส่วนผลิตความร้อน ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ระบบน้ำระบายความร้อน และเครื่องผลิตไอน้ำ

๒) ส่วนผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบด้วย กังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยส่วนผลิตความร้อนจะส่งผ่านความร้อนให้กระบวนการผลิตไอน้ำ เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าต่อไป

พิจารณาจากหลักการทำงาน อาจแบ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกได้เป็น ๓ แบบดังนี้

๑. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PWR มีหลักการทำงานคือ เมื่อเครื่องปฏิกรณ์ทำงาน จะเกิดปฏิกิริยาแตกตัวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ทำให้เกิดความร้อน กัมมันตรังสี และผลิตผล จากการแตกตัว (fission product) หรือกาก เชื้อเพลิง โดยความร้อนจากเชื้อเพลิงจะถ่ายเทให้แก่น้ำระบายความร้อนวงจรที่ ๑ ซึ่งไหลเวียนตลอดเวลาด้วยปั๊มน้ำ โดยมีเครื่องควบคุมความดันคอยควบคุมความดันภายในระบบให้สูงและคงที่
ส่วนน้ำที่รับความร้อนจากเชื้อเพลิงจะไหลไปยังเครื่องผลิตไอน้ำ และถ่ายเทความร้อนให้ระบบน้ำวงจรที่ ๒ ซึ่งแยกเป็นอิสระจากกัน ทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำแรงดันสูง และถูกส่งผ่านไปหมุนกังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิด ไฟฟ้าซึ่งต่ออยู่กับกังหันไอน้ำ เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน จะเกิดกระแสไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้งานได้ต่อไป ไอน้ำแรงดันสูงที่หมุนกังหันไอน้ำแล้ว จะมีแรงดันลดลง และถูกส่งผ่านมาที่เครื่องควบแน่นไอน้ำ เมื่อไอน้ำได้รับความเย็นจากวงจรน้ำเย็นจะกลั่นตัวเป็นน้ำและส่งกลับไปยังเครื่องผลิตไอน้ำด้วยปั๊มน้ำ เพื่อรับความร้อนจากระบบน้ำวงจรที่ ๑ วนเวียนเช่นนี้ตลอดการเดินเครื่องปฏิกรณ์

๒. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำเดือด (Boiling Water Reactor : BWR) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ BWR มีหลัก การทำงานคล้ายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PWR แต่มีข้อแตกต่างกันที่ส่วนผลิตความร้อน เพราะความร้อนจากเชื้อเพลิงที่ถ่ายเทให้แก่วงจรน้ำระบายความร้อน จะทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำโดยตรง โดยไม่มีระบบน้ำวงจรที่ ๒ มารับความร้อน เหมือนแบบ PWR

๓. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (Pressurized Heavy Water Reactor : PHWR) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ PHWR หรือมีชื่อทางการค้าว่า แคนดู (CANDU : CANada Deuterium Uranium) มีหลักการทำงานเหมือนโรงไฟฟ้าแบบ PWR แต่แตกต่างกันที่เครื่องปฏิกรณ์จะวางในแนวนอน ใช้ยูเรเนียมธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และใช้น้ำมวลหนัก (Heavy water : D2O) เป็นสารระบายความร้อนและสารหน่วงนิวตรอน

ญี่ปุ่น มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดินเครื่องอยู่ 55 โรง (48 GWe) กำลังก่อสร้าง 2 โรง อยู่ในแผนการก่อสร้าง 11 โรง (17 GWe) และมีเครื่องปฏิกรณ์วิจัยอีก 17 เครื่อง ญี่ปุ่นผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ 29% คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก หลังปี 2015 เพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) และในระยะยาว การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ( 90 GWe)

หลังปี 2050 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องปฏิกรณ์รุ่นที่ 3 (third generation advanced reactor) ซึ่งได้รับการปรับปรุงระบบความปลอดภัยแล้ว โดยเครื่องปฏิกรณ์เครื่องแรก เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบ ในปี 1966 ญี่ปุ่นได้ทำสัญญา ในการนำเชื้อเพลิงใช้แล้วมาสกัดซ้ำ (reprocessing) เมื่อแยกยูเรเนียมกับพลูโตเนียมกลับมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยทำให้อยู่ในรูปเชื้อเพลิงออกไซด์ผสม (mixed-oxide fuel)

สำหรับเครื่องปฏิกรณ์แบบธรรมดา และเครื่องปฏิกรณ์แบบนิวตรอนเร็ว (fast neutron reactor) ในปี 2003 มีเครื่องปฏิกรณ์จำนวนมาก ที่ต้องดับเครื่องเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อทำการตรวจสอบ หลังจากนั้น จึงเริ่มเดินเครื่องใหม่ ในปี 2005 ญี่ปุ่นมีเครื่องปฏิกรณ์ทดสอบแบบอุณหภูมิสูง (high temperature test reactor) ซึ่งใช้อุณหภูมิได้สูง 950 oC ซึ่งสูงพอที่จะใช้ในการผลิตไฮโรเจนด้วยปฏิกิริยาเคมีความร้อน

คาดว่า ในปี 2050 จะมีการผลิตไฮโดรเจน โดยใช้ความร้อนจากพลังงานนิวเคลียร์ 20 GW ซึ่งโรงงานแรกในเชิงพาณิชย์จะเข้าสู่ระบบ ในปี 2025 แผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลมักทำให้เกิดสึนามิ ซึ่งเป็นคลื่นความดันที่เคลื่อนผ่านมหาสมุทรอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นคลื่นยักษ์ที่มีความสูงมากกว่าสิบเมตรเมื่อไปถึงน้ำตื้น ก่อนจะโถมเข้าใส่แผ่นดินชายฝั่ง ในเดือนธันวาคมปี 2004 แผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ทีอินโดนิเซีย ทำให้เกิดสึนามิไปถึงชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย และทำให้เกิดผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kalpakkam ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมือง Madras/Chennai เมื่อเครื่องตรวจจับพบว่ามีระดับน้ำหล่อเย็นที่ผิดปกติ เครื่องปฏิกรณ์ได้ดับเครื่องลงโดยอัตโนมัติ และเดินเครื่องอีกครั้งใน 6 วันต่อมา

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับระดับน้ำทะเล โครงสร้างอาคารที่คลุมเครื่องปฏิกรณ์ (containment) มีความแข็งแรงทนทาน สามารถป้องกันความเสียหายจากสึนามิ ต่อส่วนที่เป็นอุปกรณ์ทางนิวเคลียร์ได้ และหากส่วนอื่นของโรงไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ก็จะไม่มีอันตรายที่เกิดจากรังสี

ข้อมูลจาก สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK28/chapter7/t28-7-l1.htm#sect1
.
.

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

เมื่อในหลวงเสด็จสนทนาธรรมกับหลวงตามหาบัว






ในหนังสือหลวงตามหาบัว มหัศจรรย์มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า ในตอนเช้าของวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้สั่งกำชับพระเณรในวัดว่า

“วันนี้ จะมีบุคคลสำคัญเข้ามา พวกท่านทั้งหลายจงพากันทำความสะอาดวัดวาอาวาสให้เรียบร้อย อย่าให้บกพร่อง”

พระทั้งหลายเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็ไม่ได้เอะใจอะไร ต่างก็ทำข้อวัตรปฏิบัติไปตามปกติ ทั้งๆที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการหลวงตามหาบัวฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จไปที่วัดป่าบ้านตาด เพื่อกราบนมัสการองค์หลวงตาโดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีทหารคนใดได้ล่วงรู้เรื่องนี้มาก่อน ทหารทั้งหลายต่างสืบข่าวเป็นการโกลาหลว่า เมื่อเวลาบ่ายโมงพระองค์ท่านทรงขับรถออกจากพระตำหนัก ไม่รู้ว่าเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใด

หลวงตาจึงให้โอวาทว่า “มหาบพิตร! พระองค์เป็นถึงพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าชีวิตของชนทั้งชาติ หากพระองค์เสด็จมาโดยลำพัง มีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง ถ้าพระองค์เป็นอะไรขึ้นมา คนทั้งชาติจะไม่เหยียบหลวงตาบัวมิดแผ่นดินหรือ?”
“กลัวจะเป็นการรบกวนองค์หลวงตา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสพร้อมพนมพระหัตถ์ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส

“รบกวน ไม่รบกวนจะเป็นอะไร แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ พระองค์พึงมาได้ทุกเมื่อ”

ทรงถวายผ้าห่มและไทยทานอื่นๆ มากมาย พร้อมกับปัจจัย 3 หมื่นบาท โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้ถวายธรรมะหลายประการ

7 มกราคม 2531 เป็นปีเฉลิมราชย์รัชมังคลาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มากกว่ากษัตริย์ใดในประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้เสด็จไปนิมนต์หลวงตาให้ร่วมงานบำเพ็ญพระราชกุศลในงานพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติ รัชมังคลาภิเษก ด้วยพระองค์เอง ซึ่งปกติหลวงตาท่านไม่ค่อยได้ไปไหน

พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกราบหลวงตาเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ถวายคำถามแรก (พระเจ้าอยู่หัวเรียกหลวงตาว่า "หลวงปู่" )

"หลวงปู่... สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร"

หลวงตาตอบว่า... "พุทธภูมิ ก็เหมือน ดั่งเรานั่งรถไฟนั่งรถไฟไปเชียงใหม่หรือนั่งรถไฟไปอุดรนั่นแหละพุทธภูมิแต่ถ้าเรานั่งจักรยานมาหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปนั่นแหละ สาวกภูมิเพราะฉะนั้นการเป็นพุทธภูมิก็คือการนำคนไปได้เยอะ ๆ ส่วนสาวกภูมินั้นนำไปได้น้อยๆไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ 1 คน หรือ 3-4 คน ก็ว่ากันไป นั่นคือสาวกภูมิเข้าใจไหมล่ะพ่อหลวง"

พระเจ้าอยู่หัวฯทรงตอบหลวงตาว่า "เข้าใจแล้วหลวงปู่ แล้วนิพพานเป็นอย่างไรนะหลวงปู่"

หลวงตาตอบ "อ้อ พ่อหลวงเหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละรู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน อยุ่บนกุฏินี่เหรอ วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะแต่พอพระมหากษัตริย์มาถึงนี่แล้ว บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี้แหละแต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละคือวัดป่าบ้านตาดนี่แหละพระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน"

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอบารมีหลวงตาช่วยต่ออายุให้แม่หลวง (คือสมเด็จย่า)ตอนนั้นสมเด็จย่าทรงประชวรอยู่

หลวงตาท่านก็ตอบปฏิเสธเลยว่า... "พ่อหลวงนั่นแหละก็จัดการเองได้ขอเองได้" ท่านว่างั้นนะ..."พ่อหลวงก็สามารถจัดการได้เอง" ท่านบอกไปเลยนะว่า...ให้พระเจ้าอยู่หัวขอเองจัดการเองจัดการเองอาตมาต่อให้ไม่ได้หรอก

พระเจ้าอยู่หัวฯได้กราบลาว่า "เอาล่ะ ได้เวลาแล้ว จะกลับแล้วท่านหลวงปู่มีอะไรจะบอกไหม"

หลวงตาท่านได้เทศน์สั้น ๆ ว่า:

"การเป็นพุทธภูมิสร้างบารมีเพื่อความเป็นพุทธะ พอจบพุทธภูมิได้ก็เป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระพุทธเจ้าก็มีพุทธกิจ 5 คือ ตอนเช้าบิณฑบาต ตอนบ่ายสอนคหบดีมนุษย์ทั่วไปตกเย็นสอนนักบวช สมณะชีพราหมณ์ ตอนกลางคืนแก้ปัญหาเทวดาพอมาตอนเช้ามืดเล็งญาณดูสัตว์โลก สัตว์โลกตัวไหนมีกิเลสเบาบางพอที่จะบรรลุธรรมได้ท่านก็จะเล็งญาณดูรีบไปโปรดก่อน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีพุทธภูมิจนได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระพุทธกิจ 5 อย่างนี้ แต่...ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของประเทศไทยปรารถนาอะไรทำงานกันจนไม่มีเวลาจะพักผ่อน..เอาล่ะ ๆ ...อาตมาจะให้พร"

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ได้ทรงงานอย่างหนักดังที่หลวงตาได้เทศน์นั้น หลวงตามหาบัวได้เคยแสดงธรรมเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ความตอนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่พึ่งอันเอกอุ ดังพระธรรมเทศนาในวันที่ 31 มกราคม 2544 มีใจความว่า

“ประเทศไทยของเรานี้ มีทั้งพระพุทธศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวมแล้วเป็นศาสนาเอกในโลก เราก็ได้ระลึกเป็นขวัญตาขวัญใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดวงศ์กษัตริย์ทุกๆ พระองค์ ก็เป็นเหมือนมหาพรหม ร่มโพธิ์ร่มไทรอันใหญ่หลวง แห่งประเทศไทยของเรา ซึ่งป็นของเคียงคู่กันเป็นเวลานาน

มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หนึ่ง มีพระมหากษัตริย์ประทานความร่มเย็นให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชีทั้งหลายตลอดมา หนึ่ง นี่เรียกว่าพี่น้องชาวไทยเราได้ที่พึ่งอันเอกอุ จึงขอให้ได้มีความเคารพนับถือบูชาทั้งฝ่ายศาสนธรรม ทั้งฝ่ายองค์กษัตริย์ท่าน ให้มีความเคารพเป็นคู่เคียงกัน จะเป็นสิริมงคลแก่พี่น้องชาวไทยเราตลอดไป...

นี่มีตั้งแต่ความร่มเย็นเป็นสุขอันยิ่งใหญ่ นับแต่พระพุทธศาสนาลงมาถึงวงศ์กษัตริย์ของเรา ล้วนตั้งแต่น้ำอันเย็นฉ่ำที่สำหรับชะล้างจิตใจของเราที่แข็งกระด้างกระเดื่องไปด้วยบาปด้วยกรรม ให้มีความอ่อนโยนนิ่มนวล เคารพนบน้อม กราบไหว้ท่านผู้เลิศเลอคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และองค์พระมหากษัตริย์ ตลอดวงศ์สกุลกษัตริย์เรื่อยมา

อย่างนี้เรียกว่า พวกเราทั้งหลายมีที่อบอุ่น ถ้าต้นไม้ก็เป็นต้นไม้ที่มีใบหนาให้ความร่มเย็นแก่เราทั้งหลาย เวลาเดือดร้อนวิ่งเข้าร่มไม้ก็ชุ่มเย็นเป็นสุข นี่เวลาคิดถึงที่พึ่งที่เกาะ มุ่งคิดไปทางศาสนาก็คือ ธรรม คิดมาทางบ้านเมืองก็คือ วงศ์กษัตริย์ ล้วนแล้วตั้งแต่ให้ความร่มเย็นแก่พี่น้องทั้งหลายเราเป็นลำดับมาอย่างนั้น

จึงขอให้พี่น้องทั้งหลาย ได้ระลึกธรรมทั้งสองประเภท คือ วงศ์กษัตริย์ หนึ่ง พระพุทธศาสนา หนึ่ง ให้เข้าครองภายในจิตใจ จะเป็นเหมือนว่าเรามีพ่อมีแม่ ไปที่ไหนอบอุ่น ผิดกับลูกกำพร้าเป็นไหนๆ ...

นี่เรามีทั้งเกาะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา หมุนไปทางศาสนาก็เป็นธรรมอันเลิศเลอ หมุนไปทางพระมหากษัตริย์ ท่านก็ทรงเลิศเลอด้วยคุณธรรมมาเล้วไม่มีใครเสมอเหมือนแล้วแหละสำหรับเมืองไทยเรา ในการที่ทรงสนใจต่อพระพุทธศาสนา พระองค์มอบทุกสิ่งทุกอย่างกับพระพุทธศาสนา เป็นต้นมา จึงเรียกว่าเป็นน้ำอันเย็นฉ่ำแก่พี่น้องชาวไทยเรา ขอให้ยึดหลักทั้งสองประเภทที่เลิศเลอนี้ไว้ เป็นขวัญตาขวัญใจของเรา”

ธรรมะของหลวงตามหาบัวยังคงดำรงในสัจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงว่า สถาบันชาติดำรงความเข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะมีศาสนาที่มีธรรมอันเลอเลิศ และพระมหากษัตริย์ที่ทรงเลอเลิศด้วยคุณธรรมอย่างที่ไม่มีใครเสมอเหมือน

พสกนิกรชาวไทยจึงถือว่าโชคดีมีบุญ ที่ได้เกิดมาในแผ่นดินที่มีพระพุทธศาสนา และเกิดมาในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม ได้มีโอกาสเคารพนับถือและปฏิบัติบูชาทั้งต่อทั้งศาสนธรรมและพระมหากษัตริย์ตามคำสอนของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

http://astv.mobi/AWn05iB