วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทุกข์ที่สุดของในหลวงรัชกาลที่ 5 กับเงินถุงแดงไถ่ชาติ







บทนำ

“วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒” เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในอดีตที่สร้างความเศร้าโศก เสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทมจนประชวรหนัก เพราะเหตุทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัย ขมขื่นและระทมทุกข์ จากชาติฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนท้อพระทัยว่า พระนามของพระองค์จะถูกลูกหลานในอนาคตติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น

เปรียบเสมือนสองกษัตริย์ “ทวิราช” ที่สูญเสียเศวตฉัตรแห่งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้กับอังวะในปี พ.ศ. ๒๓๑๐

และเป็นที่ทราบกันดีว่าวิฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ในครั้งนี้ ได้เป็นจุดเริ่มแห่งความเจ็บช้ำในพระทัยต่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (กรมหลวงชุมพร) และทรงจดจำมิลืมเลือน จึงทรงสักยันต์ ตราด ร.ศ.๑๑๒ ไว้ตรงพระอุระของพระองค์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเจ็บช้ำที่เกิดจากเหตุการณ์ในกาลนั้น

โดยบล็อคเจ้าพระยา

--------------

ความทุกข์โทมนัสและพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5

โดย เผ่าทอง ทองเจือ


ใครจะนึกนะครับว่าผู้ที่เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน มีพระบุญญาบารมีมากมายล้นฟ้า จะทรงมีความทุกข์โทมนัสทรงท้อถอยยอมแพ้ถึงขนาดทรงประชวรหนัก ถึงกับไม่มีพระราชประสงค์จะทรงดำรงพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความบีบคั้นพระราชหฤทัยอย่างเหลือประมาณ...

ในช่วงราวปี พ.ศ.2436 อันตรงกับปี ร.ศ.112 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือเป็นเหตุสำคัญของประวัติศาสตร์บ้านเมืองของไทย ที่คนไทยทุกคนควรจำใส่ใจไว้ให้ดี

เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยของเรา ถูกกองทัพเรือของฝรั่งเศสล้อมปิดปากอ่าวไทย และยังส่งเรือรบแล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกิดยุทธนาวีกับกองทัพเรือไทย การสู้รบกันครั้งนั้นจบลงด้วยฝ่ายไทยต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามให้กับฝ่ายฝรั่งเศสเป็นเงินนับล้านๆ บาท ตามอัตราเงินของสมัยนั้น

จากนั้นต่อมาฝรั่งเศสยังได้เข้ายึดครองเมืองจันทบุรีไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2436 จนราวเดือนมกราคม 2447 จึงยอมถอยออกจากจันทบุรี และได้เปลี่ยนไปยึดเอาเมืองตราดและเกาะกงไว้แทน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันว่าสยามจะปฏิบัติตามอนุสัญญาใหม่โดยเคร่งครัด

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2447 ถือเป็นวันสำคัญที่ชาวตราด และชาวไทยทั้งปวงต้องเจ็บช้ำน้ำใจอย่างที่สุด เพราะเป็นวันที่ทางราชการไทยต้อง ทำหนังสือสัญญาส่งมอบดินแดนของประเทศไทยเอง ให้กับทางรัฐบาลฝรั่งเศส เปรียบเสมือนในปัจจุบันที่ผู้ป่วยต้องลงนามอย่างขมขื่นที่จะต้องยินยอมให้แพทย์ตัดแขนตัดขา หรือควักลูกนัยน์ตาของตัวเองออกทิ้งไปเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปแทนพระองค์ คือพระยามหาอำมาตย์ เดินทางโดยเรือรบหลวงมกุฎราชกุมาร ไปยังเมืองตราด

ครั้นถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2447 ณ ที่ศาลาว่าการจังหวัดตราด ข้าราชการฝ่ายไทยที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ประกอบด้วย พระยาพิพิธพิสัยสุนทรการ (สุข บริชญานนท์) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และพระจรูญภาระการ (โป๊ะ กูรมะโรหิต) ซึ่งในขณะนั้นเป็นหลวงรามฤทธิรงค์ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองตราด ได้ร่วมเป็นสักขีฝ่ายไทย โดยพระยามหาอำมาตย์ได้ลงนามในหนังสือสำคัญยกดินแดนไทยให้กับฝรั่งเศส และมอบให้แก่มอบเรสิดังต์กำปอดผู้เป็นข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศส

หลังจากทำพิธีลงนามมอบดินแดนไทยให้ฝรั่งเศสเสร็จแล้ว ได้มีพิธีเชิญธงชาติไทยลงจากยอดเสา และเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสาแทน โดยเสาธงที่ตั้งประจำอยู่ด้านหน้าของศาลาว่าการจังหวัดตราดในตอนเช้าวันนั้น ยังชักธงชาติไทยไว้บนยอดเสาตามปกติ ซึ่งในขณะนั้นคือธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ส่วนธงชาติของฝรั่งเศสคือธงสามสีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ทางการทหารฝรั่งเศสได้นำธงของเขามาผูกไว้เบื้องล่างในสายเชือกคู่เดียวกัน นอกจากนั้นแล้วทางฝ่ายทหารฝรั่งเศสก็ให้ทหารญวน ซึ่งขณะนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย ไปตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศยืนอยู่ที่หน้าเสาธงในเวลานั้นด้วย


พิธีชักธงชาติไทยลง แล้วชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสาแทน

ณ เวลาที่ทำการชักธงชาติของฝ่ายไทยลงจากยอดเสาและในขณะเดียวกัน ก็ชักธงชาติสามสีของฝรั่งเศสสวนสลับฉับพลันขึ้นไปแทนธงช้างของชาติไทยเราทันที พร้อมๆ กับที่กองทหารฝรั่งเศสทำความเคารพและเป่าเพลงแตรเพลงไซเยส์ทำความเคารพธงชาติของตน

ในเวลานั้นคนไทยและคนเมืองตราดทั้งหลายในที่นั้น ต่างพากันร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ ด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจในการถูกช่วงชิงและบังคับให้ยินยอมเสียดินแดน และการดูถูกดูแคลนของฝรั่งเศสที่เอาทหารญวนที่เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแถวเหมือนเยาะเย้ย กับทั้งการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ข่มขู่ข่มขวัญโดยไม่ยอมให้เสาธงได้ว่างธงเลยแม้เเต่เสี้ยววินาที

เมื่อสิ้นสุดขบวนการขั้นตอนของการมอบดินแดนแล้ว แล้วพระยามหาอำมาตย์ก็พร้อมด้วยข้าราชการประจำเมืองตราดและเกาะกงบางคน คือพระยาพิพิธพิสัยสุนทรการ พระจรูญภาระการ และนายวาศผู้พิพากษาศาลจังหวัดประจันตคีรีเขตต์ที่ได้ย้ายครอบครัวจากเกาะกง ก็พากันออกจากจังหวัดตราดโดยเรือรบหลวงมกุฎราชกุมารกลับเข้าสู่กรุงเทพฯทันที

เป็นอันจบสิ้นสถานภาพความเป็นพื้นที่ของชาติไทยแต่บัดนั้น !!

แต่ด้วยพระราชอุตสาหะพยายามอย่างที่สุด ประกอบกับพระปรีชาสามารถอันปราดเปรื่องของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเจรจาและการดำเนินวิเทโศบายทางการทูตทุกวิถีทาง ทำให้ฝรั่งเศสยอมลงนามในหนังสือสัญญาคืนเมืองตราดให้กับไทยใน วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2449 แต่กระนั้นก็ยังเตะถ่วงการคืนดินแดนอย่างเป็นทางการออกไปเรื่อยๆ

จนวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสจึงได้ยินยอมทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการ นับว่าจังหวัดตราดต้องสูญเสียอิสรภาพตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลาถึง 2 ปี 6 เดือน 7 วัน

แต่การได้เมืองตราดกลับคืนมานั้น ก็มิใช่ว่าจะได้กลับคืนมาเปล่าๆ เพราะเล่ห์กลอุบาย อุบาทว์แห่งชาติฝรั่งเศสในครั้งนั้น ได้วางกุศโลบายให้ไทยต้องยิมยอมแลกเปลี่ยนพื้นที่ของตราดกับอีก 3 เมือง คือฝ่ายไทยต้องยอมเสียดินแดนคือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสเป็นการแลกเปลี่ยน

ในระหว่างการฝ่าฟันเหตุการณ์วิกฤติอันใหญ่หลวงต่างๆ เหล่านั้น ทำให้ในบางครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงบังเกิดความท้อถอยพระราชหฤทัย ทรงเกรงว่าประชาราษฎรจะเปรียบพระองค์กับกษัตริย์อยุธยา ที่ไม่สามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ และได้ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความบีบคั้นพระราชหฤทัยอย่างเหลือประมาณ จนถึงกับทรงมีพระราชประสงค์จะไม่ดำรงพระชนม์ชีพ

ในฐานะที่เดือนนี้เป็นเดือนตุลาคม อันเป็นเดือนแห่งวาระวันสวรรคตแห่งพระองค์ท่าน ผมจึงขออัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 มาให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ จะได้รับรู้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาลทุกพระองค์นั้น ทรงห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองมากเพียงใด...

เจ็บนานหนักอกผู้ บริรักษ์ ปวงเฮย
คิดใคร่ลาหาญหัก ปลดเปลื้อง
ความเหนื่อยแห่งสูจัก พลันสร่าง
ดูจักสู่ภพเบื้อง หน้านั้นพลันเขษม

เป็นฝีสามยอดแล้ว ยังร่าย ส่านอ
ปวดเจ็บใครจักหมาย เชื่อได้
ใช่เป็นแต่ส่วนกาย เศียรกลัด กลุ้มแฮ
ใครต่อเป็นจึงผู้ นั่นนั้นเห็นจริง

ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง บาทา อยู่เฮย
จึงบอาจลีลา คล่องได้
เชิญผู้ที่เมตตา แก่สัตว์ ปวงแฮ
ชักตะปูนี้ให้ ส่งข้าอันขยม

ชีวิตมนุษย์นี้ เปลี่ยนแปลง จริงนอ
ทุกข์และสุขพลิกแพลง มากครั้ง
โบราณท่านจึงแสดง เป็นเยี่ยง อย่างนา
ชั่วนับเจ็ดทีทั้ง เจ็ดข้างฝ่ายดี

เป็นเด็กมีสุขคล้าย ดิรฉาน
รู้สุขรู้ทุกข์หาญ ขลาดด้วย
ละอย่างละอย่างพาล หย่อนเพราะ เผลอแฮ
คล้ายกับผู้จวนม้วย ชีพสิ้นสติสูญ

ฉันไปปะเด็กห้า หกคน
โกนเกศนุ่งขาวยล เคลิบเคลิ้ม
ถามเขาว่าเป็นคน เชิญเครื่อง
ไปที่หอศพเริ้ม ริกเร้าเหงาใจ

กล้วยเผาเหลืองแก่ก้ำ เกินพระ ลักษณ์นา
แรกก็ออกอร่อยจะ ใคร่กล้ำ
นานวันยิ่งเครอะคระ กลืนยาก
ทนจ่อซ่อมจิ้มจ้ำ แดกสิ้นสุดใบ

เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ มะนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตต์มิสบาย ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง อุระรัดและอัตรา

กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บละเว้นฤว่างวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้ ก็บพบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดและเลยสูญ ฯ

บทความโดยอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ 

ไทยรัฐออนไลน์

-------------------------

สิ้นสุดการรบ รศ.112 แต่ไม่สิ้นการเยียวยา

ฝรั่งเศสใช้อำนาจบาตรใหญ่ บังคับให้สยามชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายบุกรุก กระนั้นสยามก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องกัดฟันจ่ายเงินชดใช้ด้วยหยาดน้ำตาแห่งความขมขื่น

ฝรั่งเศสยื่นเงื่อนไขให้สยามถอนทหารสยามที่ตั้งมั่นอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน และให้จ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ โดยชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เพื่อเป็นค่าสินไหมค่าปรับสงคราม และยังให้รัฐบาลสยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง ว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่

เพื่อรักษาเอกราช ชีวิตและเลือดเนื้อประชาชนไว้ แม้สยามจะดำเนินการทูตเพื่อยืดเวลามาได้กว่า 2 เดือน ก็ต้องยอมสงบศึกกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436

ปัญหาต้องแก้ไขต่อมาคือ เงินค่าสินไหมสยามจะเอาจากไหนมาชดใช้ แค่เงินสยามยังพอทำเนา แต่ฝรั่งเศสใช้วิธีพาลให้ชดใช้ด้วยเงินเหรียญเท่านั้น

โชคดีที่สยามมีบุญเก่าอยู่ เพราะสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้ค้าขายกับต่างชาติ และมีเงินเหรียญเก็บไว้

การทำมาค้าขายกับนานาชาตินั้น สยามใช้เงินเหรียญเม็กซิโก หรือเงินเหรียญนก เป็นสื่อกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีรับสั่งด้วยว่า ให้เก็บเงินเหรียญเม็กซิโกใส่ถุงแดงไว้เป็นเงินทุนสำรอง

เรื่องนี้มีวรรณกรรมกระซิบด้วยว่า มีเจ้านายบางองค์กราบทูลถามรัชกาลที่ 3 ว่า จะเก็บเอาไว้ทำการสิ่งใด รัชกาลที่ 3 มีพระราชดำรัสตอบเป็นทีเล่นทีจริงว่า จะเก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง

เงินถุงแดงทั้งหมดมี 3 หมื่นชั่ง เทียบกับเงินฟรังก์แล้วได้ประมาณ 2,400,000 ฟรังก์ ยังขาดอยู่อีก 600,000 ฟรังก์ จะเอาจากที่ใด กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก

แต่ด้วยพระบารมี รัชกาลที่ 5 ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์และรวบรวมเงินจาก พระบรมวงศานุวงศ์จนได้ครบจำนวน

บทความจาก เงินถุงแดงกู้แผ่นดิน ไทยรัฐ


-----------------------------



“เงินถุงแดง” เป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิศริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

นอกจากจะถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถใช้ในการแผ่นดินแล้ว ทรงเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้จากการค้าส่วนพระองค์ไว้เป็นจำนวนมากโดยเก็บใส่ "ถุงผ้าสีแดง" ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “เงินพระคลังข้างที่” คำว่า “พระคลังข้างที่” ทรงพระราชทานเป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขันในเวลาต่อมา

เงินในถุงแดงที่ทรงสะสมนี้ประมาณ 4 หมื่นชั่งเศษ โดยก่อนเสด็จสวรรคตได้มีพระดำรัสสั่งเสียมอบเงินถุงแดงนี้ไว้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง แต่ได้ทรงขอไว้สำหรับปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเสีย 1 หมื่นชั่ง ซึ่งภายหลังก็จริงดังพระราชดำรัส

เมื่อถึงเวลาต้องไถ่บ้านไถ่เมืองกับฝรั่งเศสในสมัย รศ 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยเราต้องใช้เงิน 3 หมื่นชั่งเศษของพระนั่งเกล้าฯ ไถ่บ้านไถ่เมือง ซึ่งเวลานั้นก็ประมาณ สองล้านห้า-สองล้านหก ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย

ในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศามหาโกษาธิบดี ได้กล่าวถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่สำคัญเมื่อใกล้สวรรคตพระราชทานแก่ขุนนาง ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าฯ ไว้ว่า

"การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใยได้หมด อาลัยแต่วัดวา สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทำนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายในราชการแผ่นดินมีอยู่ 40,000 ชั่งนี้ ขอสัก 10,000 ชั่งเถิดให้ไว้บำรุงวัดวาที่ยังค้างอยู่"

จากพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงถึงพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของรัชกาลที่ 3 ทรงเห็นภัยคุกคามเอกราชสยามจากชาติตะวันตกในยุคนั้น ทรงห่วงใยบ้านเมืองและวัดวาอารามที่ทรงสร้างขึ้นไว้ให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 3

มีข้อสังเกตว่าในคติจีนมีความเชื่อว่า ถุงผ้าสีแดงสามารถขับไล่ภยันตรายและสิ่งชั่วร้ายได้ และสื่อความหมายอันเป็นมงคล และความโชคดี

สันนิษฐานว่าการเก็บเงินใส่ถุงผ้าสีแดง อาจได้รับอิทธิพลจากคติจีนดังกล่าว ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างเฟื่องฟู จึงน่าจะสัมพันธ์กับการนำเงินใส่ซองสีแดงมอบให้ลูกหลานในเทศกาลหรืองานมงคลของจีน อันแสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ความสุขสวัสดิมงคลและความโชคดีด้วยเช่นกัน




ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ สื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและใช้ในระบบเศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างประเทศ จึงน่าจะเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเงินต่างประเทศ เช่น เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปีของอินเดีย เป็นต้น เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่ในเมืองไทยแล้ว แม้ว่าสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าของไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นเงินพดด้วงก็ตาม

สันนิษฐานว่าเงินใน ถุงแดงน่าจะเป็นเงินต่างประเทศที่ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น ดังเช่น เหรียญรูปนกของเม็กซิโก ซึ่งใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่หลายชาติให้การยอมรับในสมัยนั้น

เหรียญนกเม็กซิโก มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีย์กางปีกปากคาบอสรพิษ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียก "เหรียญนก"

นอกจากนี้จากข้อสันนิษฐานที่เชื่อว่าเหรียญนกเม็กซิโกเป็นเหรียญเงินในถุงแดง เนื่องจากเหรียญนกเม็กซิกันที่พบเป็นรูปพิมพ์ มีความพิเศษที่พิมพ์กำกับปี ค.ศ.1821-1921 (พ.ศ.2364-2464) ไว้ว่าเป็นที่ระลึกเมื่อครบรอบหนึ่งศตวรรษที่นำออกใช้ เหรียญดังกล่าวน่าจะเป็นเหรียญเงินที่ใช้ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) สอดคล้องกับหลักฐานเอกสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเงินค่าปรับสงครามของไทยที่ชำระด้วยเหรียญเม็กซิกัน 

ในเอกสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเงินเม็กซิกันที่บรรทุกมาใส่เรือมาจากสยามในเหตุการณ์ ร.ศ.112 มีน้ำหนักประมาณ 23 ตัน

ที่มา http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25197/

-----------------------------

ใหม่เมืองเอก สรุป

ไม่เพียงแต่ต้องเสียดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสแล้ว ยุคของพระองค์ยังต้องสูญเสียดินแดนทางใต้และบางส่วนทางตะวันตกให้อังกฤษอีก

ทุกข์จากการเสียแผ่นดินในช่วงที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ที่ไม่อาจรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานไทยได้

ต้องยอมตัดแผ่นดินบางส่วนเพื่อรักษาแผ่นดินไทยส่วนใหญ่และรักษาเอกราชของชาติไทยเอาไว้

นี่แหละครับ ทุกข์ที่สุดของรัชกาลที่ 5

ลายพระราชหัตถเลขาของในหลวง ร.5
"ฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่า..ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น" ......สยามินทร์ (ร.๕)

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผมเลยไม่เคยเชียร์ทีมฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ และทีมชาติฝรั่งเศสเลย ครับ

เกี่ยวมะ ?






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก