วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รสนา แฉกลโกงแก๊สngvของปตท.เอาเปรียบ!!

V

V


เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ปตท. แปรรูปจากของรัฐ100%มาเป็นในรูปบริษัทกึ่งเอกชน ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น มีกลวิธีขูดรีดคนไทยมากมายจากบริษัทปตท.แห่งนี้

สโลแกนปตท.ยุคนี้คือ ปตท.บริษัืทคนไทยเพื่อขูดรีดคนไทย


------------------------------------

ส.ว.แฉเล่ห์โกง ปตท.ผสมก๊าซขยะ 18% ฟันกำไร “เอ็นจีวี” จี้หาต่อมธรรมาภิบาล


“ส.ว.รสนา” ปูดงบลดโลกร้อน 3.4 หมื่นล้าน อาจมีการใช้ผิดทางสวนยุทธศาสตร์รัฐบาล แฉเล่ห์โกง ปตท.ผสม คาร์บอนไดออกไซด์ ในก๊าซ “NGV” ถึง 18% สูงกว่ามาตรฐาน 6 เท่า ขณะที่มาตรฐานและถังก๊าซก็รองรับได้แค่ 3% โดยมีไอ้โม่งแอบขายคาร์บอนไดออกไซด์ กก.ละ 5 บาท ให้ปั๊มก๊าซเพื่อผสมเอ็นจีวี ถือเป็นการโกงผู้บริโภคที่ได้ใช้ก๊าซจริงแค่ 82% โดยฟันกำไรจากก๊าซขยะ พร้อมจี้ต่อมธรรมาภิบาลผู้บริหาร

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทีวีไทย วานนี้ โดยระบุว่า ขณะนี้มีการกระทำการสวนทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะใช้เงิน 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อลดโลกร้อน กำจัดก๊าซขยะ แต่ปรากฏว่า ทางกระทรวงพลังงานได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี ให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 18% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานตลาดโลกถึง 6 เท่า โดยประเทศอื่นๆ กำหนดให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 3% และถังก๊าซที่นำเข้ามาเป็นมาตรฐานคาร์บอนไดออกไซด์ 3% ไม่รู้ว่าถังจะผุพังก่อนเวลาหรือเปล่า

น.ส.รสนา กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ปตท.มีปั๊มก๊าซ 30 แห่งตามแนวท่อก๊าซ เพื่อเอาก๊าซที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ 1-2% มาเติมคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 18% และมีการขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กิโลกรัมละ 5 บาทให้กับปั๊มก๊าซ ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริโภคไม่รู้เรื่องเลยว่าก๊าซเอ็นจีวีที่ซื้อมา 100% ได้ก๊าซมาแค่ 82% อีก 18% เป็นก๊าซขยะ

“เรื่องนี้ผู้บริโภคต้องฟ้องกระทรวงพลังงาน ต้องถามกระทรวงพลังงาน และผู้บริหาร ปตท.ว่ากำกับดูแลอย่างไร จึงไม่เกิดธรรมาภิบาลที่แท้จริง”

**แฉซื้อคาร์ฟูร์ผ่องถ่ายกำไรเลี่ยงภาษี

ส่วนสาเหตุที่ ปตท.ต้องการประมูลซื้อคาร์ฟูร์ น.ส.รสนา มองว่า เนื่องจากต้องการผ่องถ่ายกำไรไปจับกิจการอื่น เพื่อลดการเสียภาษี โดยไปลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่ง ปตท.คงมองเห็นอนาคตในอีก 10-20 ปี ธุรกิจน้ำมันจะไม่สามารถเพิ่มกำไรได้มากขึ้น ดูจากปริมาณการใช้น้ำมันลดลงจากวันละ 124 ล้านลิตร เหลือวันละ 109 ล้านลิตร และมีแนวโน้มจะลดลง ต่อไปจะใช้พลังงานอื่นเพิ่มขึ้นใช้น้ำมันน้อยลง เช่น เน้นพลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน การใช้พลังงานฟอสซิลจะถดถอยลง ปตท.ก็อยากข้ามไปทำธุรกิจอื่น

ส่วนสถานะของ ปตท.นั้น น.ส.รสนา กล่าวว่า "ปตท.อยู่ในฐานะกึ่งๆ เป็นนกมีหูหนูมีปีก เวลาขายเชื้อเพลิงให้ กฟผ.ราคาแพงกว่าที่ขายให้บริษัทลูก ก็บอกว่าเพราะ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องผูกขาดการขายให้ กฟผ.พอบอกว่า ทำไมไม่ลดราคาให้ผู้บริโภค ปตท.ก็อ้างว่า เพราะเป็นมหาชน ซึ่ง ปตท.อาศัยประโยชน์จากความเป็นบริษัทมหาชน กับการเป็นรัฐวิสาหกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหลายอย่างมีการผูกขาด ขณะนี้ ปตท.มีหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งจาก 6 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกันถึง 85% ส่งผลให้กลไกการแข่งขันในเรื่องพลังงงาน เป็นกลไกตลาดเทียม ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ และถ้าปตท.ขยายไปทำธุรกิจอื่น อาจจะใช้พลังอำนาจที่ผูกขาด ไปทำให้เกิดปัญหาแก่ภาคส่วนธุรกิจค้าปลีกได้"

ส่วนผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับ น.ส.รสนา กล่าวว่า "จากการที่มีกลไกตลาดเทียม เนื่องจากราคาน้ำมันไม่มีการแข่งขัน จากเดิมที่ผูกขาดโดยรัฐ เป็นการผ่องถ่ายการผูกขาดไปเป็นรัฐร่วมมือกับเอกชน ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันน้อยลง แต่ส่วนต่างกำไรถ่างได้กว้างขึ้น ซึ่งปตท.ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตอนนี้ปตท.อยากก้าวไปสู่ธุรกิจสายอื่น ในเรื่องสาธาณูปโภคพื้นฐานรัฐควรจะเข้ามาดูเรื่องนี้มากขึ้น"

“ตอนแปรรูป ปตท.ประเมินทรัพย์สินคิดจากมูลค่าตามบัญชี แต่พอมีประเด็นท่อก๊าซ เมื่อหมดอายุแล้วต้องตัดค่าเสื่อมไปหมด แต่ ปตท.เอาไปประเมินมูลค่าใหม่โดยใช้ตามราคาตลาด และมาขึ้นราคากับผู้บริโภค คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็อนุญาตให้ ปตท.ขึ้นค่าผ่านท่ออีก 2 บาท โดยใน 6 ปีที่ผ่านมาเสียค่าผ่านท่อไปถึง 1.37 แสนล้านบาท ทำให้ต้นทุนหลายอย่างแพงขึ้น ความจริงถ้าตัดค่าเสื่อมหมดราคาควรจะลดลง แต่ไปขึ้นราคาใหม่ ซึ่งท่อก๊าซชุดนี้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าทรัพย์สินที่ได้มาต้องคืน ตนอยากจะถามกระทรวงการคลังเมื่อไรจะทวงคืน กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินตรงนี้แต่ไม่ทวงคืน ขณะนี้กรรมาธิการอยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องนี้ ถามกระทู้ไปก็ไม่สนใจ หรืออาจจะกลัวว่าถ้าดึงทรัพย์สินนี้ออกมาจะทำให้หุ้นตกหรือเปล่า”

นางรสนา กล่าวว่า "ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตอบในการอภิปรายเรื่องงบประมาณ กรณีความขัดแย้งในผลประโยชน์ นายกฯ ระบุว่า 1.ต่อไปนี้ข้าราชการที่ไปนั่งในคณะกรรมการของธุรกิจพลังงาน โบนัสครึ่งหนึ่งจะเอาเข้าหลวง เรื่องนี้ก็ต้องต้องถามนายกฯ ว่าทำไมเอาแค่ครึ่งเดียวไม่เอาทั้งหมด และนายกฯ ยังบอกว่า 2.ราคาแอลพีจี เราผลิตพอใช้ในประเทศ ในส่วนของภาคครัวเรือนจะไม่ขึ้นราคา แต่ถ้าหากต้องนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีก็ให้ไปจ่ายค่าส่วนต่างตรงนั้นเอาเอง ตนก็อยากจะถามนายกว่าจะเริ่มเมื่อไร เพราะขณะนี้ เราเอาเงินกองทุนน้ำมันชดเชยให้ปตท.มาตลอด ในปี 2551 ชดเชยไป 8 พันล้านบาท ในปี 2552 ชดเชยไป 5-6 พันล้านบาท ชดเชยทุกปี นายกฯพูดแบบนี้ ก็ต้องยุติการที่ต้องจ่ายตรงนี้"

นางรสนา กล่าวต่อว่า "มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ คุณสมบัติมาตรฐานข้าราชการระดับสูงที่จะไปอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ปกติตอนนี้จะให้อยู่ได้คนละไม่เกิน 3 บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ปตท.มีบริษัทลูกมากกว่า 30-40 บริษัท มี 6 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีปัญหาก็คือ ปตท.จะส่งข้าราชการไปนั่งในบริษัทลูกที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพราะ ปตท.ถือหุ้นไม่ถึง 50% ทำให้ตรวจสอบไม่ได้"

ตาม พ.ร.บ.ปปช.ระบุชัดเจน ว่า ห้ามข้าราชการในหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลไปนั่งในฐานะกรรมการบริษัทที่ตัวเองกำกับดูแล แต่ปรากฏว่า มีการแก้เงื่อนไขเหล่านี้โดยไม่สัมพันธ์กับ พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช.ซึ่งขณะนี้กรรมาธิการจะติดตามตรวจสอบเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ตอบอะไร ก็หวังว่านายกฯ กับ รมว.คลัง จะตอบเรื่องนี้

นอกจากนี้ น.ส.รสนา กล่าวว่า "จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มูลค่าของราคาปิโตรเลียมเมื่อเทียบกับค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ แสดงให้เห็นว่า รัฐได้ปล่อยให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดและหมดได้ ถูกขายไปในราคาที่ถูกมาก จากมูลค่าขาย 2.6 ล้านล้านบาท แต่ได้ค่าภาคหลวง 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 12.54% ได้ภาษีมาอีก 4 แสนล้านบาท รวมกันแล้วรัฐมีรายได้ 28.87% ในทรัพยากร 100% รัฐได้ไม่ถึง 30% ขณะที่ทรัพยากรเหล่านี้จะหมดไป ราคาจะต้องสูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทน้ำมันถึงรวย แต่รัฐได้น้อย กำไรเหล่านี้ แทนที่เขาอยากเสียภาษีให้ได้ถึง 50% ก็เอาไปผ่องถ่ายสร้างธุรกิจใหม่ของเขาขึ้นมา"

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านตลาดทุน กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทีวีไทย ระบุว่า ขณะนี้บริษัท ปตท.มีสองสถานะ คือ เป็นทั้งบริษัทมหาชน และเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากมีรัฐถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งหลายประเทศก็มีบริษัทน้ำมันจดทะเบียนในตลาดหุ้นเหมือนกัน ซึ่งธุรกิจการส่งก๊าซผ่านท่อและใช้ก๊าซไปผลิตไฟฟ้าเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ ก็มีเหตุผลที่จะผูกขาด แต่ถ้าให้ทำแบบเอกชนไปเลยก็ไม่มีอะไรควบคุม

กรณีการประมูลซื้อคาร์ฟูร์นั้น ในแง่ธุรกิจ ปตท.มีร้านจิฟฟี่ในปั๊มเจ็ท การประมูลซื้อคาร์ฟูร์ก็มีเหตุผลในการต่อยอดธุรกิจ แต่ที่นายกรัฐมนตรีไม่อยากให้ไปประมูล เพราะจะทำให้รัฐไปแข่งกับเอกชนหรือเปล่า คือ มอง ปตท.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถึงแม้ ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่รัฐยังถือหุ้นเกิน 51% ถ้ารัฐตั้งใจกำกับเพื่อประโยชน์สาธารณะถ้ารัฐไม่อยากให้ประมูลก็เห็นด้วย เพราะ ปตท.มีอำนาจในธุรกิจผูกขาด จะเอากำไรที่ได้จากธุรกิจผูกขาดมากีดกันคู่แข่ง อาจเข้าข่ายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ ปตท.อยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ก็จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ จึงเป็นห่วงว่าถ้าไปประมูลกิจการธุรกิจไม่ผูกขาดแล้วชนะขึ้นมา จะใช้อำนาจผูกขาดที่ตัวเองมีอยู่บีบคู่แข่ง

“เรื่องนี้อยากให้ช่วยจับตามมองการแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ที่กระทรวงพาณิชย์เคยจะยกร่างแก้ไข เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้กลับไปพิจารณาใหม่ เพราะยังไม่ชัดเจนเรื่องนิยาม ถ้ามีการแก้ไขนิยาม ให้ขยายไปสู่รัฐวิสาหกิจที่เข้าทำธุรกิจที่แข่งขันกับเอกชน จะทำให้สบายใจขึ้นได้มาก เวลาที่มีบริษัทใหญ่ๆ อย่าง ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปประมูลกิจการในลักษณะนี้ ก็จะไม่สามารถใช้อำนาจผูกขาดเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองได้เปรียบคู่แข่ง”

น.ส.สฤณี กล่าวเสริมว่า "ขณะนี้ ในปตท.มีปัญหา 2 ระดับ คือ ในแง่กรรมการบริษัท ปตท.มีประธานกรรมการบริษัทที่มาจาก รองปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนในฐานะประธานบริษัท มีผลประโยชน์ที่ได้จากบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เทียบกับรายได้จากราชการ คงชัดเจนว่าอะไรมากกว่ากัน อย่างในประเทศฝรั่งเศส จะไม่ให้คนมีอำนาจกำหนดนโยบายไปนั่งในคณะกรรมการบริษัทที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนั้น โดยจะตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของรัฐบาล แล้วส่งตัวแทนเข้าไปนั่งตามรัฐวิสาหกิจต่างๆ เงินที่ได้เป็นค่าตอบแทนก็ไม่ได้ เพราะถือเป็นการไปทำหน้าที่ เรียกว่า นอมินีไดเร็คเตอร์ แต่ของไทยเรายังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้

อีกปัญหาคือ ระดับคณะกรรมการบริหาร ปตท.เป็นบริษัทใหญ่ มีบริษัทลูก บริษัทร่วมมากมาย และมี 5-6 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปตท.จะส่งซีอีโอ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) ไปเป็นกรรมการในบริษัทลูก บริษัทร่วมต่างๆ ซึ่งต้องถือว่าไปในหน้าที่ แต่ได้รับค่าตอบแทนซ้ำซ้อน ถ้าดูอย่างบริษัท เชลล์ เอสโซ่ ที่มีธรรมาภิบาลดี เขาจะไม่ทำ เพราะถือว่าต้องไปในหน้าที่อยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ต้องพูดถึงหลักธรรมาภิบาลด้วยซ้ำ โดยธรรมชาติเป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นจะต้องไม่อยากจ่ายเงินซ้ำซ้อน เรื่องนี้ต้องถามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือกระทรวงการคลัง ว่าทำไมหละหลวมให้เกิดกรณีแบบนี้ ทำไมปล่อยให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนมานานขนาดนี้"

**เบรก ปตท.ขยายเพดานราคาขายเอ็นจีวี

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วานนี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติยังไม่ขยายเพดานสูงสุดราคาจำหน่ายปลีกก๊าซเอ็นจีวี จากกำหนดไว้ 10.34 บาทต่อกิโลกรัม จากที่ ปตท.เสนอขอขยายเพดานราคา เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่ม

ทั้งนี้ พบว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายแห่งได้ขอเก็บภาษีท้องถิ่นเอ็นจีวี ในอัตรากิโลกรัมละ 10 สตางค์ และต้นทุนค่าขนส่งเอ็นจีวี ขยับขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลมีต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่ 0.50 - กว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม โดย กบง.มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาต้นทุนค่าขนส่งให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงกลับมารายงานอีกครั้ง

ส่วนกรณีการเก็บภาษีท้องถิ่นของจังหวัดใดมีผลทำให้อัตราเพดานขยับสูงขึ้นกว่าเพดานที่กำหนด ก็ค่อยมาดู และขออนุมัติปรับเพดานเป็นรายจังหวัด

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กบง.ได้เห็นชอบให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยการตรึงราคาพลังงานตามนโยบายรัฐบาลที่ขยายระยะเวลาการตรึงราคาแอลพีจี เอ็นจีวี และค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) จากเดิมสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2553 เป็นสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554

โดยในส่วนของแอลพีจี กองทุนจะเข้าไปรับภาระชดเชยส่วนต่างการนำเข้าที่จะประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวม 13,224 ล้านบาท ชดเชยต้นทุนเอ็นจีวีในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม เดือนละ 300-400 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,800-2700 ล้านบาท และในส่วนของการตรึงค่าเอฟทีนั้น ทาง กฟผ.จะเป็นผู้รับภาระไปก่อนจะอยู่ที่ประมาณ 5,996 ล้านบาท

ข้อมูลข่าวจาก http://astv.mobi/AYjlKTo

.
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก