วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอยู่อย่างจน






พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหราเป็นพระต้องจน



ความตอนหนึ่งในหนังสือพระของประชาชน ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์น้อมถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในงานฉลองพระชันษา ๙๖ ปี วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ หน้า ๑๙๑ ได้กล่าวถึง วัตรปฏิบัติประการหนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่สมควรนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้พระภิกษุสามเณร ตลอดจนพุทธศาสนิกชนในการดำรงตนอย่างเรียบง่าย นั่นคือ “ความเป็นผู้สันโดษ”

ข้อความในหนังสือได้กล่าวไว้ว่า

“เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดำรงชีวิตด้วยการกินอยู่ง่าย ทรงมักน้อย อดทน เป็นพระผู้สันโดษ และไม่ยึดติดพิธีรีตอง การดำเนินชีวิตของพระองค์เป็นไปอย่างพอเหมาะแก่ความเป็นสมณะ ที่เรียกว่า สมณสารูป

แม้จะทรงดำรงสมณศักดิ์อยู่ในฐานะประมุขของสงฆ์ก็ตาม ที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร มีดำรัสแก่ภิกษุสามเณรในวัดอยู่เสมอว่า ‘พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา เป็นพระต้องจน’

กระทั่งจีวรนุ่งห่มก็ทรงใช้สอยอย่างธรรมดาเรียบง่าย โปรดใช้จีวรที่ซักย้อมเป็นประจำมากกว่าของใหม่ ทั้งยังโปรดที่จะซักและเย็บชุนด้วยพระองค์เองด้วย

ทรงรับสั่งในหมู่พระเณรและศิษย์ใกล้ชิดเสมอๆ ว่า ให้ใช้สอยข้าวของอย่างประหยัด โดยทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นเป็นแบบอย่าง ไม่ทรงนิยมสะสมข้าวของ และมักแจกจ่ายออกไปตามโอกาสอันควร

เช่น ในวันมหาปวารณาออกพรรษา คราวหนึ่งมีผู้ประสงค์จะถวายรถยนต์สำหรับทรงใช้สอยเวลาเสด็จไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทรงมีรับสั่งตอบว่า ‘ไม่รู้จะไปเก็บไว้ที่ไหน’ หมายความว่าไม่ทรงรับถวาย

และทุกครั้งเวลาเสด็จไปร่วมงานบุญงานกุศลที่วัดไหน เมื่อมีผู้ถวายปัจจัย พระองค์จะไม่ทรงรับไว้เอง จะประทานคืนโดยรับสั่งว่า ‘ขอร่วมทำบุญด้วย’

พระคุณธรรมเหล่านี้นำชีวิตของพระองค์ให้ดำเนินสู่เส้นทางของความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคหรือทรงพบกับความผิดหวังต่าง ๆ

แต่ด้วยพระคุณธรรมที่มีมีอยู่ประจำพระองค์ก็ทรงฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายมาได้โดยตลอด ชีวิตของพระองค์จึงเป็นตัวอย่างอันดีงามสมควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ ความตอนหนึ่งในหนังสือพระผู้สำรวมพร้อม ซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา ๙๙ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ หน้า ๑๒๐-๑๒๑ ได้กล่าวไว้ว่า

“พระภิกษุในวัดบวรนิเวศวิหารที่ถวายการปรนนิบัติดูแลเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เล่าว่า แม้จนเมื่อทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งศาสนจักรแล้ว ที่บรรทมในตำหนักที่ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ยังคงเป็นเพียงเก้าอี้สปริงตัวเก่า ซึ่งสั้นเกินกว่าที่จะใช้นอนได้ จึงต้องใช้ตั่งต่อทางปลายเพื่อวางพระบาท ถัดจากด้านปลายพระบาทไปก็เป็นโต๊ะเล็ก ๆ อีกตัว ตั้งพัดลมเก่า ๆ ซึ่ง ‘เปิดทีก็หมุนแก็กๆ ๆ’

แม้แต่อาสนะผืนเก่าที่พระมารดา คือ ‘นางน้อย’ เคยเย็บถวายแต่เมื่อครั้งยังเป็นมหาเปรียญหนุ่ม ๆ พระองค์ก็ใช้เรื่อยมา จนเมื่อขาดเปื่อยไป ก็ยังนำไปรองไว้ใต้อาสนะผืนใหม่ และเมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว อาสนะผืนเก่าที่พระมารดาเย็บให้ก็ยังโปรดให้วางไว้ใต้อาสนะที่ประทับเป็นการแสดงกตัญญุตาสนองคุณเช่นที่เคยทรงถือปฏิบัติมา ได้ยินมาว่าครั้งหนึ่งเคยมีเด็กจะหยิบไปทิ้งเพราะเห็นเป็นผ้าเก่าๆ ขาดๆ แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีรับสั่งว่า ‘นั่นของโยมแม่ เอาไว้ที่เดิม’

...ครั้งหนึ่งหลังจากทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ไม่นานนักศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งมากราบทูลว่า ‘ขณะนี้วัด (ชื่อวัด) ที่เมืองกาญจน์ฯ กำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเกือบจะเสร็จแล้วยังขาดเงินอีกราว ๗-๘ แสนบาท อยากจะกราบทูลใต้ฝ่าพระบาทเสด็จไปโปรดสักครั้ง สะพานจะได้เสร็จเร็วๆ ไม่ทราบว่าใต้ฝ่าพระบาทจะพอมีเวลาเสด็จได้หรือไม่ กระหม่อม’

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตรัสตอบว่า ‘เวลาน่ะพอมี แต่เงินตั้งแสนจะเอาที่ไหน เพราะพระไม่มีอาชีพการงาน ไม่มีรายได้เหมือนชาวบ้าน แล้วแต่เขาจะให้’…”

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงทรงเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ที่เราท่านทั้งหลายควรยึดถือเป็นแบบอย่างอย่างในการดำรงตน


ทศพนธ์ นรทัศน์ ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกันรายงาน

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์

คลิกอ่าน ญาณสังวร มีความหมายอย่างไร






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก