วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิเคราะห์ ทำไม ศาลฎีกาฯฟันธง "ทักษิณ"ซุกหุ้นชินคอร์ป?

.
.
.

วิเคราะห์คำพิพากษายึดทรัพย์ ตอบโจทย์ ทำไม ศาลฎีกาฯฟันธง "ทักษิณ"ซุกหุ้นชินคอร์ป

โดยประสงค ์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติให้นำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์กว่า 46,000 ล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาพิจารณาเพราะมีคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนไว้หลายคดี

ในจำนวนคดีเหล่านี้ มีคดีที่กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 1 สมัย และ ส.ส. 2 สมัย รวม 13 ครั้ง สามารถเอาผิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทุกครั้งและมีประเด็นปัญหาเรื่องอายุความหรือไม่

เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดว่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อ จงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือเมื่อครบกำหนดต้องยื่นแสดงแต่ไม่ยื่น และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

ดังนั้น การจงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จในช่วงปี 2544-2549 จึงมีอายุความ 5 ปี โอกาสที่จะเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องนี้จึงน่าทำได้เฉพาะการยื่นพ้นจากตำแหน่งนายกฯเมื่อกันยายนปี 2549 และกันยายน 2550 เพียง 2 ครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นว่า ศาลฎีกาฯใช้เหตุผลอะไรในการวินิจฉัยด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นหรือ"ซุกหุ้น"บริษัทชินคอร์ปจำนวน 1,419 ล้านหุ้น " จึงขอนำคำพิพากษาดังกล่าวมาวิเคราะห์เห็นประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ประเด็นแรก การโอนหุ้นระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานไปยังบุตรและเครือญาติซึ่งรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ตามแบบ 246-2 ไม่ใช่หลักฐานแสดงการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้น

การพิจารณาว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน มีพฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน กับนายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่ 1.มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ป 2. การโอนหุ้นระหว่างกัน และ3.การถือครองหุ้นตั้งแต่มีการโอนจนขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็ก เป็นสำคัญ

ประเด็นที่สอง การซื้อหุ้นเพิ่มทุน การโอนหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานให้แก่ บุตรและเครือญาติ ใช้เงินของคุณหญิงพจมานซื้อ และไม่มีการจ่ายเงินกันจริง แต่ผู้รับโอนหุ้นออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นประกันหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวและอ้างว่า ทยอยชำระหนี้จากเงินปันผลหุ้นซึ่งบริษัทเริ่มจ่ายเงินปันผลตั้งแต่ปี 2546(งดจ่ายมาตั้งแต่ปี 2540) ซึ่งแต่ละกรณีพิรุธที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1.กรณีนายบรรณพจน์ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ป เมื่อปี 2542 จำนวน 6.8 ล้านหุ้นเศษ ราคาหุ้นละ 15 บาท เป็นเงิน 102 ล้านบาทเศษ โดยอ้างว่า ยืมเงินเงินจากคุณหญิงพจมาน ทั้งๆที่นายบรรณพจน์มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นายบรณณพจน์ออกให้ระบุว่า "ไม่มีดอกเบี้ยกลับทำให้เห็นเป็นพิรุธ"

นอกจากนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 ก่อนที่นางพจมานจะได้"คุณหญิง" เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2542 แต่กลับใช้คำว่าสั่งจ่าย"คุณหญิงพจนมาน"
ข้ออ้างที่ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินหายฉบับเดิมหาย จึงออกฉบับใหม่เมื่อปลายปี 2543 นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะ ตั๋วสัญญาใช้เงินมีหลายฉบับ แต่กลับหายไปเกิดข้อพิรุธฉบับเดียว

คุณหญิงพจมานโอนหุ้นชินคอร์ปจำนวน 26.8 ล้านหุ้นให้อีกเมื่อวันที่ 1 กันายน 2543 มูลค่า 268 ล้านบาทเศษ ขณะที่นายบรณรพจน์ มีทรัพย์สินอาจจะถึง 1,000 ล้านบาท กลับออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 268.2 ล้านบาท ให้โดยไม่มีดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงินที่อ้างว่า ชำระหนี้เงินยืมไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน

2.กรณีนายพานทองแท้ รับโอนหุ้นชินคอร์ป ในราคาพาร์ 10 บาทจากพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน30,900,000 หุ้น และ 42,475,000 หุ้น รวม 73,395,000 หุ้น โดยนายพานทองแท้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ๆว้เป็นประกัน ซึ่งจำนวนหุ้นที่รับโอนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24.99 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

เห็นได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน จะโอนหุ้นให้มากกว่านี้ จะทำให้นายพานทองแท้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 ขึ้นไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 247 บัญญัติ ให้ถือว่า เป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะกำหนดให้จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ออฟเฟอร์)ก็ได้

เชื่อว่า ด้วยเหตุนี้บุคคลทั้งสองจึงต้องโอนหุ้นที่เหลืออีก 2 ล้านหุ้น และ 26.8หุ้น ตามลำดับ ให้แก่บุคคลใกล้ชิดที่ตนไว้วางใจ คือน.ส.ยิ่งลักษณ์และนายบรรณพจน์

นอกจากหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่ายังโอนหุ้นและใบสำคัยแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นบริษัทต่างๆให้ โดยนายพานทองแท้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 4,621,590,000 บาทไว้ให้ โดยไม่มีดอกเบี้ย
3.กรณีน.ส.พิณทองทา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545 นายพานทองแท้ได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 367 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 1 บาท ให้โดยใช้เงินที่อ้างว่า ได้รับในโอกาสวันเกิดจากผู้คุณหญิงพจมานชำระให้แก่นายพานทองแท้

นอกจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2546 นายพานทองแท้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้อีกจำนวน 73 ล้านหุ้น โดยใช้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทชินคอร์ป จ่ายให้นายพานทองแท้

น.ส.พิณทองทา ยังใช้เงินปันผลที่รับมา 485,829,800 บาท ไปจ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 5 บริษัท ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ขายให้แก่บริษัทวินมาร์ค จำกัด คืนมาจากบริษัทวินมาร์ค จำกัดซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่า เป็นการถือหุ้นไว้แทนพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน

4.กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เบิกความว่า ขอซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ล้านหุ้น(มูลค่า 20 ล้านบาท) เพื่อเก็บไว้เป็นทุนในอนาคต โดยซื้อตามกำลังเงินที่มีอยู่ แต่ กลับออกตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เช่นเดียวกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าได้รับเงินปันผลรวม 6 งวด เป็นเงิน 97,200,000 บาท เเงินปันผลงวดแรกจำนวน 9 ล้านบาท ชำระหนี้ให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณหาทั้งหมด งวดที่ 2 จำนวน13.5 ล้าน บาท สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ แต่เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คผิด จึงแก้ไขไปจาก 13.5 ล้านบาท เป็น 11ล้านบาท

เงินปันผลที่เหลืออีก 2.5 ล้านบาท จ่ายเช็คให้น.ส.พิณทองทา เป็นการคืนเงินที่ฝากซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ

ส่วนเงินปันผลงวดที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สั่งจ่ายเช็ครวม 44 ฉบับ เป็นการสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีของตน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2.1 ล้านบาท

เช็คอีก 42 ฉบับ เป็นเช็คเบิกจ่ายเบิกเงินสด รวม 68 ล้านบาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 ล้านบาท ซื้อทองคำแท่ง 13 ล้านบาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ 11 ล้านบาท ซื้อเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านบาท และสำรองไว้ที่บ้าน 8 ล้านบาท

แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง 68 ล้านบาท มาแสดง ข้ออ้างจึงรับฟังไม่ได้

5.กรณีบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้น 32,920,000 หุ้นให้บริษัทแอมเพิลริชฯ โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของคุณหญิงพจมานชำระแทนบริษัท และเปิดบัญชีที่ธนาคารยูบีเอส เอจี ที่ประเทศสิงคโปร์ บัญชีเลขที่ 119449 โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้มีอำนาจเบิกถอนแต่ผู้เดียวคือ "ดร.ที (T) ชินวัตร"

บริษัทแอมเพิลริช ได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ป ในปี 2546 ปี 2547 และงวดแรกของปี 2548 ในเดือนเมษายน 2548 รวม 5 งวด รวมเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ จึงมีอำนาจเบิกถอนเงินของบริษัทแอมเพิลริชแต่ผู้เดียว

นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริช เพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในในบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชในเดือนมิถุนายน 2548 เป็นตนเอง โดยพ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่นายาพนทองแท้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทต่อมาอีกถึง 4 ปี

ประกอบกับราคาที่อ้างว่าซื้อขายกัน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลให้ผู้ซื้อได้ไปซื้อหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ถึง 32,920,000 หุ้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง

ประเด็นที่สาม นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทชินคอร์ป แต่กลับไม่มีบทบาทใดๆในการกำหนดทิศทางการลงทุนของบริษัทเลย

ตามรายงานประจำปี 2544-2549 ปรากฏว่าบริษัทชินคอร์ปมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการซึ่งการจัดโครงสร้างการถือหุ้น การซื้อหุ้นเพิ่ม และการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ย่อมไม่ใช่การตัดสินใจของกรรมการ ซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในความเสี่ยงนั้นด้วย

นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทามิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดว่า ได้ร่วมบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ป ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนมาก

การที่บุคคลทั้งสอง มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ของบริษัทชินคอร์ปปีละครั้ง ไม่เป็นข้อสนับสนุนว่า ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์

ประเด็นที่สี่ การขายหุ้นให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง โดยนายบรรณพจน์ เบิกความว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2548 ตัวแทนของกลุ่มเทมาเส็กมาติดต่อขอซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากกลุ่มชินวัตร และดามาพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

นายบรรณพจน์ตัดสินใจจะขาย จึงแจ้งให้นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ทราบ และแจ้งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบ เมื่อกลางเดือนมกราคม 2549

เหตุที่นายบรรณพจน์ ต้องการจะขายหุ้น เพราะอายุมากแล้ว และการบริหารงานบริษัทชินคอร์ปต่อไปจะลำบาก เพราะจะต้องลงทุนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี เกือบแสนล้านบาทนั้น

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ตามเอกสารสรุปการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป ปรากฏว่า กลุ่มดามาพงศ์มีถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่ร้อยละ 13.77 หากกลุ่มเทมาเส็กต้องการซื้อหุ้นเพื่อจะมีอำนาจจัดการ บริษัทก็น่าที่จะต้องติดต่อซื้อจากกลุ่มชินวัตร ซึ่งนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาถือหุ้นอยู่รวมกันถึงร้อยละ 35.44

การลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานประจำปีของบริษัทชินคอร์ป ว่า บริษัทเอไอเอส เห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีการพัฒนาไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3จี ซึ่งบริษัทเอไอเอสมีความสนใจและความพร้อม ทั้งในด้านเงินลงทุน!และเทคโนโลยี!

ข้ออ้างในการขายหุ้นของบุคคลทั้งสี่จึงรับฟังไม่ได้

ทั้งในข้อเท็จจริงเรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนี้ พ.ต.ท.ทักษฺณได้ยืนยันไว้ในเอกสารท้ายคำร้องพิสูจน์ทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง"ขายหุ้นชินคอร์ป ไม่ได้ขายชาติ ไม่ได้ขายดาวเทียม" ว่า ในส่วนของบริษัทชินคอร์ป มีการเตรียมการขายหุ้น และการเจรจาขายหุ้นต่อเนื่องมานานนับปีและมีกลุ่มผู้สนใจเสนอซื้อหลายราย ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขายในวันที่ 23 มกราคม 2549

เป็นพิรุธว่าผู้ที่เจรจาและตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่นายบรรณ
พจน์
"
"
ข้อมูลจากมติชนออนไลน์
.
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก