วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

อดีตบก.มติชนวิพากษ์2มาตรฐานของกรมสรรพากร




วันนี้ผมขอนำบทความของอดีตบก.มติชน ผู้ที่ถูกกระแสจากสื่อซื้อได้กดดันให้ลาออกเพราะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายทุนการเมือง

อดีตบก.มติชนได้เขียนบทความที่แสดงถึงสภาวะที่คนชั่วครองเมือง ข้าราชการสรรพากรเลียนักการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ภาษีมูลค่าหมื่นล้านแก่นายทุนการเมือง แต่กลับตามบดขยี้ตามไล่ล่าภาษีจากประชาชนธรรมดามูลค่าแต่สองร้อยกว่าบาท!!

V

V

"ประสงค์" อัดสรรพากรสองมาตรฐาน ไล่ล่าภาษีชาวบ้าน 235 บาท จนถึงฎีกาโดยไม่สนว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร ขณะที่ภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป 1.2 หมื่นล้านบาท ของตระกูลชินวัตร กลับไม่ยอมอุทธรณ์

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีตบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ , หนังสือพิมพ์มติชน และอดีตนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลาออกจากสังกัด “มติชน” ที่เขาทำงานมาอย่างยาวนาน 26 ปี ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็ปไซต์ www.prasong.com เรื่อง "เปิด(ไร้?)มาตรฐานสรรพากร ภาษีแค่ 235 บ. ยื่นอุทธรณ์ แต่ภาษีชินวัตรหมื่นล.อุ้มเฉย?" วิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานของกรมสรรพากร ในการจัดเก็บภาษีที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยมีการยื่นอุทธรณ์กรณีที่ประชาชนคนหนึ่งไม่เสียภาษีจำนวน 235 บาท เปรียบเทียบกับกรณีภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ของตระกูลชินวัตร กลับไม่ยื่นอุทธรณ์ใดๆ ทำให้ถูกมองว่ากรมสรรพากรเอื้อประโยชน์ต่อครอบครัวชินวัตรหรือไม่ โดย มีรายละเอียดดังนี้....


"เปิด(ไร้?)มาตรฐานสรรพากร ภาษีแค่ 235 บ. ยื่นอุทธรณ์ แต่ภาษีชินวัตรหมื่นล.อุ้มเฉย?"

โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

สำหรับนักวิชาการด้านกฎหมายภาษีแล้ว การที่กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ให้นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชนะคดีที่ยื่นฟ้องกรมสรรพากรซึ่งเรียกเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัดหรือชินคอร์ป มูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง

เพราะที่ผ่านมา กรมสรรพากรมักตามไล่ล่าภาษีจากชาวบ้านแบบไม่ลดละไม่ว่าจำนวนเงินจะมากน้อยขนาดไหนก็ต้องสู้กันถึงศาลฎีกา

คดีที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเป็นชาวบ้านที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กรมสรรพากรเห็นว่า ขาดไปเพียง 235 บาท จึงเรียกเก็บ ชาวบ้านไม่ยอมยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอาการกลาง

ปรากฏว่า กรมสรรพากรแพ้ แต่ไม่ยอมยุติคดี ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยไม่สนใจว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายในศาลและของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายมหาศาลเพียงใด

แม้ชนะคดีก็ได้เงินเข้าคลังมาเพียงไม่กี่ร้อยบาท ขณะที่คดีภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปที่มีการประเมินภาษีสูงเกือบ 12,000 ล้านบาท แต่กรมสรรพากรกลับไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นบรรทัดฐานทั้งๆที่ไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน

พฤติกรรมของผู้บริหารกรมสรรพากรทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องการเอื้อประโยชน์ครอบครัวชินวัตรเหมือนที่เคยทำมาแล้วในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

คดีการหลีกเลี่ยงภาษีโอนหุ้นสืบเนื่องจาก นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้นจาก บริษัท แอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่จะขายต่อให้แก่บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ในราคา 49.25 บาท ทำให้ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นละ 48.25 บาท

ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ไต่สวนพบว่า เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี จึงส่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีบุคคลทั้งสอง คนละ 5,675 ล้านบาท บุคคลทั้งสองจึงยื่นฟ้องกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตามศาลภาษีฯวินิจฉัยว่า บุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์(ชินวัตร) เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง การที่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีหุ้นจากบุคคลทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ

ด้านนางจิตรมณี สุวรรณพลู รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรไม่ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากยึดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง จึงต้องคืนเงินสด 200 ล้านบาท และหลักทรัพย์ที่ดินอีก 1,000 ล้านบาท ที่อายัดไว้ คืนให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา มิเช่นนั้นกรมสรรพากรอาจจะถูกฟ้องได้ ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ขอความเห็นจากกระทรวงการคลังแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่

ขณะที่นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการ คตส.กล่าวว่า การไม่ยื่นอุทธรณ์ของกรมสรรพากร ไม่น่าจะถูกต้อง แต่หากไม่ยื่นควรเรียกเก็บภาษีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที หรือหากคิดว่า เรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ต้องอุทธรณ์เก็บภาษีจากบุตร และธิดาทั้ง 2 คนให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความเสียหาย หากเก็บไม่ได้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร จะมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157(อ้างอิงจากเว็บสถานีโทรทัศน์ TPBS วันที่ 8 สิงหาคม 2554)

(อ่าน “ชำแหละการยุติคดีภาษีชินคอร์ป มูลค่าหมื่นหนึ่งพันล้านบาทของชินวัตร” ประกอบ(ดาวน์โหลดได้จากเว็ปไซต์ www.isranews.org))

สำหรับคดีตัวอย่างที่กรมสรรพากรไล่เก็บภาษีชาวบ้านอย่างเอาเป็นเอาตาย(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549) นางศิรินันท์ ศันสนาคม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากรว่าจำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2542 เพิ่มอีก 235.88 บาท เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ที่คำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2545 อีก 88.50 บาท

โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ที่ขอให้เพิกถอน การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยจึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยให้เพิกถอน การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

ให้จำเลย(กรมสรรพากร)ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 300 บาท

จำเลย(กรมสรรพากร)อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า กรณีที่โจทก์แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 เบญจ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) โดยมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วย โจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ หรือไม่

เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการ หักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่า จะเป็นค่านายหน้า เบี้ยประชุม ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึง ประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ดังนี้ จึงหาใช่ว่า กรณีมีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทจะต้องถัวเฉลี่ยกันดังที่จำเลยเข้าใจและยึดเป็นแนวปฏิบัติไม่

เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้เช่นนี้ จึงเท่ากับมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินว่า ควรเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใด อย่างไร ในกรณีที่ผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้ ดังเช่น กรณีที่โจทก์เลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง เพียงประเภทเดียว ไม่ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามสิทธิจากเงินได้ในมาตรา 40 (2) ซึ่งสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีในส่วน เงินได้พึงประเมินของโจทก์ผู้เป็นภริยาตามความในมาตรา 57 ตรี

ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบ แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 200 บาท แทนโจทก์

( ธนพจน์ อารยลักษณ์ – ทองหล่อ โฉมงาม – โนรี จันทร์ทร องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา)

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นชัดว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา มีปัญหาในข้อกฎหมายเช่นเดียวกันจึงควรให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อเป็นบรรทัดฐาน แม้ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะวินิจฉัยว่า บุคคลทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณและพจมานก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากรมาตรา 61 ก็ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีจากบุคคลที่มีชื่ออยู่ในหนังสือสำคัญซึ่งแสดงว่า เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีเงินได้

การที่ผู้บริหารกรมสรรพากรด่วนสรุปไม่ยอมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาทั้งๆที่เป็นเงินกว่า 11,000 ล้านบาท แต่เงินแค่ 235 บาทกลับยื่นอุทธรณ์แบบเอาเป็นเอาตาย ทำให้สงสัยว่า มุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตรหรือไม่?

http://astv.mobi/AR1qaCs

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 กันยายน 2554 เวลา 22:02

    ไว้อาลัยแด่ประเทศไทย

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2 กันยายน 2554 เวลา 06:35

    เพื่อชีวิตครับพี่น้อง อุบาติสัตว์จริงๆ

    ตอบลบ
  3. ใหม่ เมืองเอก:235.88+88.50 บาท/12,000 ล้านบาท มันไม่ต่างกันหรอก เพราะสรรพากร มีหน้าที่อะไรในประเทศนี้มันไม่แน่ชัด เคยได้ยินใครบอก
    (จำไม่ได้)ว่าหน้าที่ของสรรพากรหลักๆ คือ "ขูดเลือดคนจน รับสินบนคนรวย"
    อุแม่เจ้า!เงิน 235.88+88.50 บาท แม่งล่อเขาถึงฎีกา ใครวะที่แม่งเป็น
    อธิบดวย วังเวงชิบหายประเทศไทย

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก