วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้ลูกฆ่าพ่อแม่ !!







โดย พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์


สำหรับคุณแม่ทั้งหลาย ยาวหน่อยแต่ดีมากกกกก

Emotional abuse การทำร้ายกันทางอารมณ์ หรือ การทำร้ายกันทางจิตวิญญาณ
เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ทุกคนควรหันมาใส่ใจ..
___________________

มีข่าวลูกฆ่าพ่อแม่และพี่น้องตนเองในช่วงเวลาใกล้ๆกันถึง 2 ครอบครัว มีคนถามมากว่าเพราะอะไร

หมอจึงลองหาข้อมูลทางต่างประเทศดูว่า เขาเก็บสถิติไว้อย่างไรบ้าง เด็กเหล่านี้ถูกเลี้ยงมาอย่างไร คำตอบที่ได้ไม่ชัดเจน เคสไม่มากพอที่จะได้ข้อสรุปออกมา และจริงๆบริบทของบ้านเราก็ต่างจากต่างประเทศมาก

แต่มีคำหนึ่งที่สะกิดใจหมอ บ้านเราน่าจะมีมากแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไร นั่นคือ “Emotional abuse” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัยของครอบครัวที่มีเด็กฆ่าพ่อแม่......

คนส่วนใหญ่รู้จัก Physical abuse เพราะเป็นการทำร้ายร่างกายที่มองเห็นบาดแผลได้ชัดเจน

แต่ Emotional abuse นั้นไม่สามารถมองเห็นแผลและยังไม่มีวิธีการใดๆที่จะนำมาวัดว่าในขณะนี้บ้านนี้มีการทำร้ายจิตใจกันในระดับที่เกินไปแล้ว...
_________

Emotional abuse มักแสดงออกมาทางคำพูด (Verbal abuse) มีหลายการแสดงออก แต่ขอยกตัวอย่างที่เข้าได้กับบริบทบ้านเรามากที่สุด คือ
การต่อว่าให้อาย การตำหนิให้รู้สึกเจ็บปวด เจ็บแค้น ชิงชัง รู้สึกด้อยค่า

เช่น ด่าว่า “มีแต่ความคิดโง่ๆ” “เคยคิดอะไรทันคนมั๊ย” “ทำอะไรไม่เคยได้เรื่อง” “มีสมองคิดหรือเปล่า” “เด็กอมมือยังเก่งกว่า” “คิดเป็นแต่เรื่องห่วยๆ” “มีแต่ผลาญเงิน” “ดูชาวบ้านเขาทำอะไร ทำให้เหมือนเขาหน่อย” “โตเป็นควายแล้วยังต้อง มาจ้ำจี้ จ้ำไชอยู่อีก”

หรือเปรียบเทียบพี่น้อง“รับผิดชอบให้เหมือนน้องเป็นมั๊ย” “อายเขาบ้างมั๊ย” “เกิดมาก็มีแต่ทำเรื่องเสื่อมเสียชื่อเสียงตระกูล”

หลายคนไม่เข้าใจว่าคนเป็นพ่อแม่ทำไมถึงว่าลูกได้เจ็บปวดขนาดนั้น จริงๆแล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากด่าลูกเลย.....

ในวัยเล็กๆ ความน่ารักทำให้พ่อแม่มองข้ามความผิดของเด็ก เมื่อเริ่มเติบโต ความน่ารักสดใสเริ่มลดน้อย ความคาดหวังของพ่อแม่เข้ามาแทนที่

ยิ่งโตพ่อแม่ก็ยิ่งคาดหวังสูงวัยเรียนคาดหวังให้รับผิดชอบการเรียน เมื่อเรียนจบคาดหวังให้มีงานทำ หากลูกทำไม่ได้ พ่อแม่ไม่สามารถมองข้ามและให้อภัยแบบเด็กๆได้แล้ว พ่อแม่เองก็มีความรู้สึก ความโกรธ ที่ลูกไม่เป็นดังหวัง ทำให้มีอารมณ์ ดุด่า ต่อว่าลูก วันแล้ววันเล่า ปัญหาเดิมๆไม่ถูกแก้ไข ความโหดร้ายของคำพูดก็แรงขึ้นๆ.....

ความผิดหวังของพ่อแม่นั่นเองที่ทำให้เราต้องดุด่าลูก บ่อยครั้งที่หมอเจอพ่อแม่ด่าว่าลูก มันก็ไม่ใช่การคาดหวังที่เกินจริงอะไร เป็นการคาดหวังโดยทั่วๆไปด้วยซ้ำ เช่น รับผิดชอบการเรียน และชีวิตประจำวัน

แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า พ่อแม่ไม่มีทักษะในการฝึกให้ลูกรู้จักรับผิดชอบ! (พ่อแม่จึงต้องผิดหวังบ่อยๆ)

เมื่อมองเห็นว่าอะไรจะจูงใจลูกให้รับผิดชอบขึ้นมาได้บ้างก็จะยึดเอาสิ่งนั้นมาล่อ ล่อให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบ ของล่อเป็นได้ตั้งแต่หุ่นยนต์ ตุ๊กตา ไอแพด ไปเที่ยว ขนม เสื้อผ้าราคาแพง หรือบางบ้านใช้เงินมาเป็นตัวล่อเลย

เมื่อมันเป็นทางเดียวที่ลูกจะลุกขึ้นมาสนใจการเรียน ทำอะไรดีๆ พ่อแม่ก็ยึดติดวิธีนี้ทันที ทำจนโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังล่อลูกอยู่ สิ่งของก็จะมีมูลค่ามากขึ้นๆ เช่น รถยนต์ คอนโดฯ ตัวพ่อแม่นั้นไม่มีความหมายอะไรในสายตาลูกเลย นอกจากเป็นเครื่องผลิตแบงค์ !

การใช้สิ่งของล่อลูกให้เรียนหนังสือ หรือทำอะไรดีๆ ไม่ใช่การปลูกฝังเด็กให้อยากเรียน มีความมุมานะและรับผิดชอบจริง เป็นแค่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้มีงานเกิดขึ้น ให้ลูกมีตัวตนในห้องเรียนและมีคะแนนสอบผ่านไปในแต่ละเทอมเท่านั้น.....

----------------------------

พ่อแม่ที่ไม่ทักษะการเลี้ยงลูกนอกจากใช้สิ่งของล่อลูกแล้ว ก็มักใช้อารมณ์นำในการเลี้ยงลูก หมอไม่ได้หมายถึงใช้อารมณ์โกรธลูกตลอดเวลา

แต่หมอหมายถึง การใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการเลี้ยงลูก ไม่มีสติ ไม่มีกฎกติกาชัดเจน ไม่มีความสม่ำเสมอ หากพ่อแม่อารมณ์ดีก็ยอม หากอารมณ์เสียก็ดุด่า เวลาพ่อแม่รู้สึกผิดที่ตีลูกด่าลูกก็จะยอมลูก ซื้อของให้ลูก มีความขึ้นๆลงๆของอารมณ์ในบ้านอยู่เกือบตลอดเวลา

พ่อแม่ที่ด่าว่าลูกให้เจ็บปวดใจ อาจเข้าใจผิดว่านี่คือการสอนลูก แม้ว่าจะมีคำอธิบายอยู่ในประโยคนั้น เช่น  “ถ้าขี้เกียจมันก็ต้องสอบตก อายเขามั๊ย ครั้งที่แล้วก็ตก รู้จักปรับปรุงบ้างมั๊ย ทำตัวแบบนี้ยังจะหวังว่าจะสอบผ่านอีก”

ลองนึกภาพว่าหากพ่อแม่ตวาดลูกด้วยประโยคนี้ ลูกจะมองเห็นความตั้งใจดีของพ่อแม่ได้อย่างไร นอกจากรู้สึกเจ็บปวด อาย โกรธ แค้น

นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ไม่มีทักษะการเลี้ยงลูก มักจะโทษลูก มองว่าเป็นความผิดของลู “ฉันต้องอายคนอื่นเขาก็เพราะว่า แกทำตัวแบบนี้” “ทำไมแกถึงหาแต่เรื่องปวดหัวมาให้”

พ่อแม่ที่อ้างถึงตัวเองบ่อยๆ หรือทวงบุญคุณลูก อาจเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีที่จะควบคุมลูกได้ เช่น “ซื้อของให้ตั้งเยอะตั้งแยะ ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง รู้จักคิดซะบ้าง ทำตัวให้มันเป็นผู้เป็นคน รู้จักรับผิดชอบหน่อย ให้คุ้มค่าเงินที่พ่อแม่หามาให้บ้าง”

พ่อแม่กลุ่มนี้หากมีปฏิสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นกับลูกอยู่ มีการแสดงออกของความรัก โอบกอด ตบบ่าฯ หมอยังรู้สึกเบาใจบ้าง แต่หากไม่มีเลย หมอสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์ที่แข็งกระด้างของคนในครอบครัว และมีเพียงวัตถุเงินทองเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์เท่านั้น อันนี้แหละที่น่าเป็นห่วง….

หลายครั้งเลยที่หมอพบว่า ตัวพ่อแม่เองอาจจะต้องได้รับการดูแลด้านจิตใจ บางคนที่ด่าว่าลูกบ่อยๆ หงุดหงิดง่ายใช้อารมณ์เลี้ยงลูก อาจมีโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นร่วมอยู่ด้วย เมื่อรักษาโรคนั้นๆก็สามารถคุมอารมณ์และพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น

-----------------------

และหลายครั้งอีกเช่นกันที่ลูกเองก็อาจมีปัญหาทางจิตใจ เมื่อพบแพทย์รักษาแล้วก็ดีขึ้น

โดยสรุปหมอวิเคราะห์ว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุสิ่งของ มีความห่างเหิน ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์แบบชื่นมื่น อยู่ร่วมชายคากันก็เหมือนแค่คนรู้จัก แต่ไม่สนิทกัน

พ่อแม่ไม่เคยปลูกฝังให้ลูกมีวุฒิภาวะสมวัย (โตแต่ตัว การคิดและตัดสินใจเป็นแบบเด็กๆ) ร่วมกับมีการใช้อารมณ์นำในการเลี้ยงลูก เมื่อลูกโตก็ยังควบคุมลูกด้วยวัตถุสิ่งของและใช้อารมณ์อยู่ พยายามเข้าไปควบคุมและก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของลูกมาโดยตลอดจนลูกอึดอัด ผสมกับความเจ็บปวดใจ โกรธแค้น ที่สะสมมายาวนาน จนมองไม่เห็นว่าท่านทั้งสองเป็นพ่อแม่ ประกอบกับความไม่มีวุฒิภาวะจึงทำให้มีการตัดสินใจแบบชั่ววูบ ขาดวิจารณญาณ...

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์เพียงรูปแบบเดียว ที่ไม่สามารถอธิบายได้ทุกเคส ยังมีอีกหลายปัจจัยมากกว่านี้ เพียงแต่หมอรู้สึกว่า ความน่ากลัวของอารมณ์คนเรานั้น ประมาณไม่ได้......

ในครอบครัวที่ดูปกติสุขทั่วไป ไม่ได้มีความรุนแรงทำร้ายร่างกาย (Physical abuse) ให้เห็น ดูเหมือนครอบครัวเราๆท่านๆทั่วๆไป ที่ทุกคนล้วนยังมีอารมณ์ดุ ว่า ตวาดลูกกันเป็นปกติ อะไรตรงไหนจะเป็นตัวชี้วัด....

ทุกคนตกใจและเศร้าเสียใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนั้น แต่หากเราจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ขอให้ผลบุญที่ได้นี้ไปสู่ครอบครัวทั้งสอง
______________

เราเรียนรู้ที่จะไม่ใช้อารมณ์ (Emotional abuse) และแน่นอนไม่ควรมี Physical abuse ด้วย

เราเรียนรู้ที่จะฝึกลูกให้รับผิดชอบและมีวุฒิภาวะสมวัย เพื่อให้ลูกมีวิจารณญาณที่ดี

เราเรียนรู้ว่าจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นกันในครอบครัวทั้งพ่อแม่และลูก อย่าห่างเหินกัน

เราต้องเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูก เพื่อไม่ใช้อารมณ์

เราต้องเรียนรู้เทคนิคการปลูกฝังให้ลูกรับผิดชอบ อย่าใช้สิ่งของ เงินทองล่อลูก เพราะนั่นยิ่งทำให้ชีวิตในบ้านมีแต่ความแข็งกระด้าง...

หากเราไม่รู้ หรือทำไม่ได้ ขอให้ปรึกษาผู้รู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง...

“อย่าหวังการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์ หากเรายังคงวิธีการเดิมอยู่”

Cr: แชร์จากพญ.เสาวภา พรจินดารักษ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก