วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ไขข้อข้องใจหลังการประมูลคลื่น 4G ไทย
โดย นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
ในที่สุดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ก็สิ้นสุดลงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 18 ย่างเข้าสู่เช้าวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ผลการประมูลเหนือความคาดหมายทั้งในเรื่องราคาชนะประมูล และผู้ชนะการประมูล และมีคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในระหว่างการประมูล
ตลอดจนมีข้อสงสัยหลังสิ้นสุดการประมูลว่า ทั้งสี่รายจะมีอนาคตเป็นเช่นไร เราลองมาหาคำอธิบายต่อข้อสงสัยดังกล่าว ตามนี้
1. ทำไมผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ย่านอื่นอยู่แล้ว จึงยังร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz
ตอบ ในปัจจุบันและอนาคตบริการหลักบนโทรศัพท์เคลื่อนที่คือบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือ (ต่างจากเดิมซึ่งเน้นเพียงการโทรออกรับสาย) ความเร็วของบริการนี้จึงขึ้นกับปริมาณคลื่นที่ใช้งาน อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถนำคลื่นย่านต่างๆ มาผสมผสานให้บริการได้อย่างลงตัว เราจึงมักจะเห็นผู้ให้บริการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกแถบย่าน เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำบริการนั่นเอง
2. ทำไมราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ถึงแพงกว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz
ตอบ เพราะคลื่นความถี่ 900 MHz มีคุณสมบัติเดินทางได้ไกลกว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz การตั้งเสาสถานี 1 ต้น จึงครอบคลุมพื้นที่เทียบเท่ากับเสาสถานีของคลื่นความถี่ 1800 MHz ประมาณ 3 ต้น ทำให้ใช้งบประมาณในการขยายโครงข่ายต่ำกว่าในพื้นที่ให้บริการขนาดเดียวกัน ราคาคลื่นความถี่ 900 MHz เฉลี่ยต่อหน่วยทั่วโลกจึงสูงกว่าราคาคลื่นความถี่ 1800 MHz ประมาณ 2 เท่าตัว
3. ทำไมราคาคลื่นชุดที่หนึ่งถึงถูกกว่าคลื่นชุดที่สอง ทั้งที่เป็นคลื่นความถี่ 900 MHz เหมือนกัน
ตอบ คลื่นชุดที่หนึ่งเป็นแถบที่ติดกับคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ซึ่งค่ายดีแทคเปิดให้บริการ 3G อยู่ ทำให้อาจเกิดปัญหาสัญญาณรบกวนกันได้ ในอดีตจึงมีการกันคลื่นไว้ประมาณ 3.5 MHz เพื่อเป็นพื้นที่กันชนหรือการ์ดแบนด์ (guard band) ทำให้เหลือคลื่นความถี่ 900 MHz สำหรับให้บริการเพียง 17.5 MHz
แต่ในการประมูลครั้งนี้ กสทช. ลดขนาดการ์ดแบนด์ลงอีก 2.5 MHz เพื่อนำมารวมกับคลื่นที่หมดสัมปทานจนสามารถเพิ่มปริมาณคลื่นในการประมูลเป็น 20 MHz ในทางเทคนิคผู้ชนะการประมูลชุดที่หนึ่งนั้นจึงอาจต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์จัดการปัญหาสัญญาณรบกวนเพิ่ม ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้อาจสูงถึงประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่คลื่นชุดที่สองไม่ประสบปัญหานี้ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม
ข้อมูลนี้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมค่ายเอไอเอส (ผู้แพ้การประมูลชุดที่สอง) ถึงไม่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ทั้งที่เสนอราคาสูงกว่าค่ายแจส (ผู้ชนะการประมูลชุดที่สอง) เพราะหากต้องการกลับมาชนะคลื่นชุดที่หนึ่ง ค่ายเอไอเอสต้องเตรียมงบประมาณเพื่อจัดการปัญหาการรบกวนเพิ่มอีกนับพันล้านบาทอยู่ดี จึงยอมหยุดการเสนอราคาลงที่คลื่นชุดที่สอง
4. ราคาชนะประมูลครั้งนี้สูงที่สุดในโลกหรือไม่
ตอบ ราคาชนะประมูลครั้งนี้เหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย จนมีข้อสงสัยว่าเป็นราคาที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ หรือไม่
จากรายงานการศึกษาของ ITU เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ในการจัดประมูลครั้งนี้ พบว่า เมื่อทำการรวบรวมผลการประมูลในประเทศต่างๆ (ซึ่งอาจไม่ครบทุกประเทศ จึงไม่สามารถยืนยันเป็นสถิติโลกได้) พบว่าราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ประมูลสูงสุดในอดีต คือ การประมูลที่ฮ่องกงเมื่อ พ.ศ.2554 มีราคาคลื่นเฉลี่ยต่อหน่วยที่ประมาณ 64 บาทต่อเมกะเฮิรต์ซต่อประชากร ส่วนราคาชนะประมูลของไทยอยู่ที่ประมาณ 57 บาทต่อเมกะเฮิรต์ซต่อประชากร
จะเห็นได้ว่าราคาของไทยยังต่ำกว่า แต่นี่เป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ตัวเลขดิบ หากมีการปรับมูลค่าที่แท้จริงของค่าเงินตามหลักการความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parity) แล้ว ราคาคลื่นเฉลี่ยของฮ่องกงจะเทียบได้เพียงประมาณ 51 บาทต่อเมกะเฮิรต์ต่อประชากร ซึ่งจะพบว่าราคาของไทยสูงกว่า ทั้งที่ตลาดโทรคมนาคมฮ่องกงมีอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าประเทศไทยมาก
5. จำนวนรอบการประมูลครั้งนี้มากที่สุดในโลกหรือไม่
ตอบ การประมูลครั้งนี้มีการเสนอราคาถึง 198 รอบ ซึ่งนานกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านมา จนหลายคนสงสัยว่าเป็นการประมูลมาราธอนที่สุดในโลกหรือไม่ จากข้อเท็จจริงเราจะพบว่าการประมูลหลักร้อยรอบเป็นเรื่องปกติของการประมูลคลื่นความถี่ในต่างประเทศ ในปี 2551 แคนาดามีการประมูลคลื่นนานเกือบสองเดือน สิ้นสุดที่ 331 รอบอย่างไรก็ตามโดยทั่วไป การประมูลคลื่นความถี่ในต่างประเทศมิได้นำผู้เข้าร่วมประมูลมาเก็บตัวเหมือนในบ้านเรา
6. ทำไมราคาชนะประมูลจึงสูง
ตอบ ราคาชนะประมูลที่สูงสะท้อนถึงความต้องการชนะที่สูงเช่นกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการสูงขนาดนี้ มีหลายด้าน ได้แก่
ปัจจัยด้านเทคนิค: คลื่นความถี่ 900 MHz ประหยัดงบประมาณการขยายโครงข่าย และที่สำคัญประเทศไทยมีคลื่นย่านนี้เหลือสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 20 MHz ที่นำมาจัดประมูลครั้งนี้เท่านั้น ไม่มีคลื่นเหลืออีกแล้ว
ในขณะที่ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือเยอรมนี มีการประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ในปริมาณมากกว่าไทย เมื่อเป็นสินค้าที่ขาดแคลนและมีความต้องการสูง จึงไม่น่าแปลกใจว่าราคาจะสูงไปด้วย
ปัจจัยด้านส่วนแบ่งการตลาด: มีผู้ให้บริการรายใหม่ต้องการแจ้งเกิดในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายเก่าบางรายจำเป็นต้องได้คลื่นความถี่ซึ่งเคยถือครองตามสัมปทานเดิมเพื่อไม่ให้คุณภาพบริการลดต่ำลง ในขณะที่บางรายต้องการคลื่นความถี่เพื่อลดความเสี่ยงของการสิ้นสุดสัมปทานในอนาคต และที่สำคัญบางรายต้องการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดโดยเพิ่มปริมาณคลื่นที่ถือครอง ซึ่งในขณะเดียวกันก็เท่ากับการแย่งชิงคลื่นเดิมมาจากมือของคู่แข่ง จนอาจส่งผลให้คู่แข่งบางรายต้องออกจากตลาดไปในอนาคต
ปัจจัยด้านการแบ่งงวดชำระเงิน: ในการประมูลคลื่นความถี่อื่น กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะชำระเงินงวดแรก 50% ของราคาที่ชนะ และงวดที่สองและสามงวดละ 25% ยิ่งประมูลในราคาที่สูงขึ้นก็ยิ่งต้องหาเงินมาชำระงวดแรกเพิ่มขึ้น
แต่ในการประมูลครั้งล่าสุดนี้ กสทช. กำหนดให้ชำระงวดแรกประมาณ 8,000 ล้านบาท และงวดที่สองและสามงวดละประมาณ 4,000 ส่วนที่เหลือทั้งหมดจึงนำมาชำระในงวดที่สี่ ทำให้การเพิ่มราคาประมูลอย่างต่อเนื่องไม่มีผลต่อภาระทางการเงินในสามงวดแรก การแบ่งงวดการชำระเงินแบบนี้ หากสามารถนำคลื่นที่ชนะประมูลไปสร้างรายได้ในสี่ปีแรก แล้วนำรายได้ดังกล่าวมาชำระในงวดสุดท้าย ก็จะไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้และดอกเบี้ยในระยะสั้น
7. ผู้ชนะการประมูลจะเบี้ยวหนี้ได้ไหม หากกิจการไม่ประสบความสำเร็จ
ตอบ จากการแบ่งงวดชำระเงินที่กล่าวมาแล้ว พบว่าผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่างวดในแต่ละงวดในอัตราส่วนประมาณ 10 : 5 : 5 : 80 กล่าวคือชำระงวดสุดท้ายเกือบร้อยละ 80 ของราคาชนะการประมูล มีข้อสงสัยว่า หากธุรกิจไม่รอดก็สามารถเบี้ยวหนี้ก้อนโตได้ โดยแท้จริงแล้ว กสทช. กำหนดให้ชำระงวดแรกประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ต้องวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับยอดเงินในงวดที่เหลือทั้งหมดในคราวเดียวกันด้วย ดังนั้นหากมีการไม่ชำระค่างวดในงวดใดก็ตาม กสทช. สามารถดำเนินการตามกฎหมายเพื่อยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ได้รับมอบตั้งแต่แรก
8. ราคาชนะประมูลที่สูงจะทำให้บริการ 4G แพงขึ้นหรือไม่
ตอบ การประมูลคลื่นความถี่เปรียบเสมือนการเซ้งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ ไม่ว่าเราเซ้งปั๊มน้ำมันมาแพงเพียงใด เราก็ต้องขายน้ำมันในราคาลิตรละไม่เกินราคาของปั๊มคู่แข่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนมาเติมน้ำมันกับปั๊มเรา การผลักภาระค่าเซ้งจึงเป็นเรื่องยาก
ในขณะเดียวกัน แม้กลุ่มเอไอเอสและดีแทคจะไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ แต่ก็มีบริการ 4G เช่นกัน หากผู้ชนะการประมูลหวังจะแย่งส่วนแบ่งการตลาด ก็ไม่สามารถขายแพงกว่า 4G ในปัจจุบันได้อย่างแน่นอน
9. แล้วอะไรที่อาจจะกระทบผู้บริโภค
ตอบ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าบริการเฉลี่ยที่ต้องลดต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยในปัจจุบัน แต่เป็นไปได้ว่า หากผู้ชนะการประมูลเน้นการประคับประคองผลประกอบการ จะพบการลดค่าบริการอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กน้อย และหากผู้ชนะการประมูลขาดแคลนงบประมาณในการขยายโครงข่าย ก็จะกระทบต่ออัตราการครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ อย่างไรก็ตาม กสทช. มีหน้าที่ต้องติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้าน และหากจำเป็นอาจต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ
10. อนาคตการแข่งขันในตลาดมือถือ หลังการประมูลของแต่ละรายจะเป็นเช่นใด
ตอบ สำหรับค่ายเอไอเอสและค่ายดีแทค แม้จะไม่ชนะการประมูล แต่ระดับราคาที่ยืนหยัดสู้ในการประมูลที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาททั้งสองค่าย สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสองค่ายสู้เต็มที่และไม่ได้ส่งสัญญาณแม้แต่น้อยว่าจะถอนตัวออกจากตลาดมือถือเมืองไทย โดยแต่ละค่ายเองยังมีคลื่นความถี่ย่านอื่นที่จะให้บริการได้อยู่
ในปัจจุบันทั้งสองเอไอเอสและดีแทคมิได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์คับขันแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อรักษาคุณภาพบริการและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้
สำหรับค่ายทรูนั้น การมุ่งมั่นเอาจริงเพื่อชนะการประมูลทั้งคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHz แสดงให้เห็นถึงความต้องการก้าวสู่อันดับ 1 ของตลาดมือถือในไทย เพราะการครอบครองคลื่นหลายย่านความถี่ในปริมาณมากจะเป็นผลดีต่อคุณภาพบริการและความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ
ในส่วนน้องใหม่ในตลาดมือถือคือค่ายแจส ซึ่งเดิมมีบริการบรอดแบนด์แบบมีสายและบริการไวไฟอยู่แล้ว การเพิ่มบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือจะทำให้สามารถบริการลูกค้าบรอดแบนด์ได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น และแม้ว่าราคาคลื่นที่แจสเคาะนั้นนับว่าสูงเกินไปสำหรับรายใหม่ที่จะทำกำไร เพราะเป็นระดับราคาของรายเก่ารายใหญ่ แต่ก็คาดการณ์ว่าJasคงจะหาพันธมิตรทางธุรกิจกับค่ายมือถือเดิมที่ไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนส่วนอื่นในการเข้าสู่ตลาดมือถือ จึงต้องจับตาว่าค่ายมือถือที่ครอบครองคลื่นความถี่ปริมาณน้อยกว่าค่ายอื่นน่าจะมีโอกาสที่จะเป็นพันธมิตรที่ผลประโยชน์ลงตัวมากที่สุดใช่หรือไม่
ทั้งนี้ การที่มีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้น น่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่การแข่งขันในตลาดมือถือของสามค่ายใหญ่อยู่ในสภาพตกตะกอนมาหลายปี
11. การประมูลครั้งนี้ทำให้ กสทช. มีรายได้มหาศาล
กสทช. มีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล แต่รายได้จากการประมูลทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน มิใช่รายได้ของ กสทช. แม้แต่บาทเดียว การใช้จ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของทางรัฐบาล ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในทุกภารกิจโดยไม่มีข้อจำกัด
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็อยากให้รัฐบาลจัดสรรเงินบางส่วนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทอล ซึ่งจะส่งเสริมให้ตลาดมือถือและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเติบโตได้อย่างต่อเนื่องด้วย
ส่วน กสทช. เองมิได้เสร็จสิ้นภารกิจเพียงการจัดประมูล แต่ยังมีหน้าที่หลังจากการประมูล ตั้งแต่การออกใบอนุญาต การกำกับดูแลการประกอบกิจการ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม
และหากเกิดสถานการณ์ในภายหลังว่า การประมูลในครั้งนี้นำไปสู่การผูกขาดในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้ให้บริการรายใดหรือหลายราย กสทช. ก็ต้องมีมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาการผูกขาดจากผู้มีอำนาจเหนือตลาดรายนั้น ๆ
ที่มา http://astv.mobi/Ae49hp7
คลิกอ่าน บทเรียนประมูล 4G ไทย
วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558
แก้วสรร สอนมวย วีรพัฒน์ พร้อมแนะทางรอดยิ่งลักษณ์
บังเอิญได้เจอบทควมที่อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เขียนหักล้างความเห็นของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระแต่ปาก แต่ความจริงไม่อิสระตามที่ชอบอวดอ้าง ในกรณีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ซึ่งนายวีรพัฒน์ อ้างว่า ยิ่งลักษณ์ อยู่ในระดับกำกับนโยบายของรัฐ จะมาเอาผิดและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ไม่ได้
ก่อนอื่นดูความเห็นของนายวีรพัฒน์ก่อนครับ
“เรื่องคดีจำนำข้าว...ต้องถามนายวิษณุ เครืองาม ว่า อะไรคือเรื่องตามนโยบาย และอะไรคือการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะให้ตัวนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยตัวเองทุกเรื่องมันเป็นไปไม่ได้ จะให้ลงไปชั่งน้ำหนักข้าวด้วยอย่างนั้นหรือ และอะไรคือการปล่อยปละละเลยให้เสียหาย ต้องขีดเส้นให้ได้ว่าอะไรคือการกำกับดูแลเชิงนโยบายและอะไรคือการปฏิบัติจริง
การบอกว่าประมาทเลินเล่อร้ายแรงนั้น เท่าที่ดูคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ลงมือปฏิบัติเองทั้งนั้น หากมีการทุจริตจริงก็ต้องเอาผิดกับคนปฏิบัติที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่นายกฯ ที่กำกับดูแลเชิงนโยบาย ต้องระวังขีดเส้นกันให้ดี ไม่เช่นนั้นคนที่เป็นนายกฯ จะถูกเอาผิดได้ทุกเรื่อง..."
วีรพัฒน์ ปรียวงศ์ ...20 พฤศจิกายน 2558
-------------------
เฉียบคม !! อ. แก้วสรร สอนมวย วีรพัฒน์ ละอ่อนนักกฎหมายหางแดง
คดีจำนำข้าวนี้ในส่วนคดีอาญานั้น ผมก็เห็นตรงกับคุณวีรพัฒน์ว่า ป.ป.ช.และอัยการไปเอาผิดจะให้คุณยิ่งลักษณ์ติดคุกร่วมกับคุณบุญทรงได้อย่างไร มีหลักฐานมัดแน่นว่าเธอสมคบด้วยรู้เห็นด้วยกับเขาที่ตรงไหน นอกจากโผล่หน้าให้สัมภาษณ์ทำหน้าตาฉลาดเหมือนรู้เรื่องด้วยเท่านั้นเอง
แต่พอมาถึงคดีแพ่งที่ภาระความเสียหายจะมาตกที่ภาษีประชาชนหลายแสนล้านบาทนั้น ผมกับเพื่อนในกลุ่ม “ไทยสปริง” เห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
ผมก็เลยระดมรายชื่อเสนอให้ท่านนายกฯ ลงมือเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง พอท่านนายกฯ ท่านเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของท่านจริง และลงมือตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิด ท่านก็โดนป้ายร้ายมาตลอดว่า กลั่นแกล้งเขา และต่อไปนี้จะไม่มีใครกล้าช่วยชาวนาอีก มาถึงคำวิพากษ์ของคุณวีรพัฒน์ข้างต้นนี้ก็หนักขึ้นไปอีกว่า คดีนี้นอกจากจะทำให้ชาวนาซวยแล้ว ก็ยังจะทำให้นายกฯ ในอนาคตซวยหนักถูกเอาผิดได้ทุกเรื่องอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่นายกฯ เป็นแค่ “ผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย ” เท่านั้น
ผมฟังแล้วเห็นว่าท่านวีรพัฒน์ตีขลุมง่ายไปหน่อยและไม่ใช้กฎหมายสมตามวิชาชีพ จึงขอทัดทานในทำนองถาม-ตอบบ้าง ดังต่อไปนี้
“การกระทำในทางรัฐบาล” กับ “การกระทำในทางปกครอง”
ถาม พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ถือรัฐมนตรีเป็น “เจ้าหน้าที่” ด้วยหรือ
ตอบ รัฐมนตรีทุกชนิด ทั้งนายกฯ, รองนายกฯ, รัฐมนตรีว่าการ, รัฐมนตรีช่วย ทุกตำแหน่ง ถือเป็นรัฐมนตรีและเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น แต่คนพวกนี้จะรับผิดก็ต่อเมื่อกระทำการในทางปกครองแล้วเสียหายต่อราชการเท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำในทางรัฐบาลจะไม่มีกฎหมายเอาผิดได้
ถาม อะไรคือ “การกระทำในทางรัฐบาล”
ตอบ มันเป็นการกระทำด้วยความชอบธรรมทางการเมือง ตามบทบาทที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การที่ ครม.ยิ่งลักษณ์มีมติกำหนดโครงการรับจำนำข้าวทั่วประเทศทุกเมล็ดในราคาสูงลิ่ว เกวียนละ 15,000 บาทนั้น การมีมติตรงนี้เป็นการกระทำทางรัฐบาล ไม่มีใครเอาผิด ครม.ได้ทั้งสิ้น
ถาม แล้วหมายความว่า เมื่อนโยบายนี้ผ่านสภาแล้ว รัฐบาลก็ทำได้ทุกอย่าง แม้จะเห็นความชิบหายอยู่ซึ่งหน้าก็หยุดไม่ได้อย่างนั้นหรือ?
ตอบ คำถามนี้คุณถามโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องใครทุจริตใช่ไหม?
ตอบ ครับ..ผมสมมุติเลยว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่าใครทุจริตอะไรหรือไม่ที่ตรงไหน แต่ในส่วนความชิบหายขาดทุนยับเยินนั้นเธอรู้ดีตลอดมา เมื่อผ่านฤดูการผลิตไป 1 ปี ทั้ง ป.ป.ช. ทั้ง สตง. ทั้งสมาคมค้าข้าวต่างก็พากันเตือนตรงถึงตัวนายกฯ เตือนกันระงมไปหมดว่าต้องเลิก หรือไม่ก็ต้องลดราคาจำนำลง แต่เธอก็ไม่ยอมหยุด !
ผมถามตรงนี้เลยว่า ความดื้อรั้นไม่ยอมหยุดทั้ง ๆ ที่เห็นความเสียหายบานปลายตลอดเวลาอยู่ตรงหน้าอย่างนี้ นายกฯ ที่ชื่อยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในความเสียหายนี้หรือไม่ ?
ถาม คุณวีรพัฒน์เขาว่าอย่างไรล่ะครับในปัญหาที่คุณเจาะจงแล้วอย่างนี้
ตอบ เขาบอกว่าต้องขีดเส้นให้ชัดเจนว่าอะไรคือการปล่อยปละละเลยของผู้กำกับดูแลทางนโยบาย?
ถาม คุณวีรพัฒน์ตอบอย่างนี้มันมั่วจริง ๆ เพราะอำนาจนายกรัฐมนตรีคืออำนาจ "บังคับบัญชา” ส่วนราชการทั้งหมด ไม่ใช่แค่ "กำกับดูแล” อย่างที่เขาว่า
นายกฯ ได้นโยบายจากสภาแล้วจะทำหน้าตายว่า ตนมีหน้าที่แค่กำกับดูแลนโยบาย แล้วปล่อยให้รัฐมนตรีพาณิชย์ และเจ้าหน้าที่อื่นทำชิบหายอะไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้ ตำแหน่งนายกฯ ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างในราชการบริหาร คุณวีรพัฒน์ต้องดูกฎหมายปกครอง ไม่ใช่ดูแค่รัฐธรรมนูญ แล้วมั่วออกมาอย่างนี้ ความรับผิดชอบตามกฎหมายปกครองของนายกฯในโครงการรับจำนำข้าว
ถาม นายกฯ ที่ชื่อยิ่งลักษณ์ มีอำนาจหน้าที่ใดบ้างในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว
ตอบ อำนาจแรกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คืออำนาจบังคับบัญชาทุกส่วนราชการในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจเหมือนกับเป็น ผบ.หน่วยทหารเลย ที่หน่วยของตนทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ผบ.หน่วยก็ต้องรับผิดชอบหมด นายกฯ ก็เหมือนกัน เมื่อต้องรับผิดชอบหมดก็ต้องสั่งได้หมด หมดทุกส่วนราชการทุกระดับ และหมดทุกเรื่องและทุกเวลา
นายกฯ นอนดูทีวี เห็นเจ้าหน้าที่อุทยานไล่รื้อรีสอร์ตที่รุกอุทยานตอนกลางดึกจนแขกเหรื่อที่เข้าพักเดือดร้อนยืนหนาวสั่นอยู่กลางป่า อย่างนี้นายกฯ วิทยุสั่งโดยพลันให้หยุดแล้วให้รื้อตอนเช้าก็ได้ สั่งได้ทั้งนั้น ไม่ว่าผิดนโยบาย ผิดกฎหมาย เสียหายราชการ ใช้อำนาจไม่เหมาะสม ก็สั่งได้ทั้งสิ้น ไม่ได้กำกับแต่เพียงนโยบายอย่างที่คุณวีรพัฒน์พูดเลย
เรื่องจำนำข้าวก็เหมือนกัน นอกจากอำนาจบังคับบัญชาทุกปัญหาทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการแล้ว ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจโดยเฉพาะเจาะจงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวด้วย มีหน้าที่กำหนดและติดตามผลในโครงการตลอดเวลา อำนาจนี้แม้เธอจะให้รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทน แต่ความรับผิดชอบก็ยังติดอยู่กับตำแหน่งนายกฯ อยู่เหมือนเดิม ทำให้เธอต้องรู้เห็นติดตาม และต้องได้รับรายงานอยู่ตลอดเวลาด้วย
ถาม นั่นคือ "ความรับผิดชอบ” แล้ว “ความรับผิด” ล่ะครับ เกิดเสียหายอะไรที่ไหนในราชการ นายกฯ ต้องรับผิดชอบด้วยทุกเรื่องเลยหรือ
ตอบ ไม่ใช่รับผิดไปหมดอย่างนั้น มันต้องมีปัญหาในส่วนราชการเกิดขึ้นก่อนแล้วนายกฯ รู้หรือควรได้รู้ แล้วละเว้นหน้าที่ไม่ระงับยับยั้ง โดยมีความรับผิดอยู่ในจิตใจคือจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่แยแส ทั้งๆ ที่เห็นความเสียหายอยู่ตรงหน้า ปล่อยละเลยจนเกิดความเสียหายแก่ราชการ ตรงนี้จึงจะครบองค์ประกอบเกิดเป็นความรับผิดทางแพ่งของ “เจ้าหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ในความเสียหายนั้น
ถาม มีโทษทางอาญาด้วยไหม?
ตอบ ถ้ามีเจตนาทุจริต ก็โดนอาญาด้วย
ถาม โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีปัญหาอะไรไม่ถูกต้องบ้าง
ตอบ ข้อแรกที่สำคัญที่สุด คือความชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน แค่เช็คลิสต์ตัวแรกนี้เธอก็ตายแล้ว
ถาม เช็คลิสต์อะไร
ตอบ เช่นโครงการนี้มีมติ ครม.กำหนดวงเงินจำนำไว้ที่ 2 แสนล้านบาท หมายถึงว่าจำนำไปได้เรื่อย ๆ พอรวมยอดถึงสองแสนล้านบาทต้องหยุด !!
หยุดเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายข้าวต้องประเมินก่อนว่าควรทำต่อไปไหม ถ้าเห็นควรก็เสนอมาขอวงเงินรับจำนำเพิ่มอีก แต่ยิ่งลักษณ์กลับไม่ทำอย่างนั้นเลย
ถาม เขาทำอย่างไร
ตอบ เขาบอกว่าวงเงินนี้คือวงเงินแบบบัญชีเดินสะพัด เช่น รับจำนำมาแล้ว 1.9 แสนล้าน เหลือวงเงินอีก 1 หมื่นล้าน แต่พอขายข้าวเอาเงินเข้ามาได้ 4 หมื่นล้าน เขาก็กลับเอารายรับก้อนนี้มาบวก อ้างว่ายังมีวงเงินเหลืออีก 5 หมื่นล้าน แล้วก็รับจำนำต่อไปเรื่อย ๆ ทำอย่างนี้จนวงเงินรับจำนำทั้งหมดบานปลายไปเป็น 8 แสนล้าน แทนที่จะเป็น 2 แสนล้านตามที่ ครม.กำหนดไว้
นี่คือความผิดพลาดในวิธีปฏิบัติราชการอย่างชัดเจนที่คนชื่อยิ่งลักษณ์ต้องรู้ดี และต้องรับผิดชอบทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวว่า ทำไมถึงตุกติกไม่แยแสต่อระเบียบแบบแผน จนบ้านเมืองเกิดความเสียหายบานปลายได้ถึงขนาดนี้
จำนำข้าวเขาทำกันเป็นวงเงินเป็นคราวๆ ไป ทำแล้วก็ประเมินผลในตลาดว่า ราคาข้าวขยับขึ้นหรือไม่ จำเป็นต้องแทรกแซงต่อไปอีกหรือเปล่า วงเงินที่ให้มันไม่ใช่วงเงินกู้ มันไม่เหมือนธุรกิจโรงสีที่เปิดบัญชีเดินสะพัดขอวงเงินกู้จากธนาคารซื้อข้าวมาขายข้าวไปอยู่ทุกวัน นั่นมันคือธุรกิจค้าข้าวไม่ใช่ประกันราคาข้าว เข้าใจไหม ที่อธิบายมานี่มันยากเกินสติปัญญาไปหรือเปล่าไม่ทราบ?
ถาม แต่ในที่สุด พอปีที่สามเขาก็ลดราคารับจำนำเหลือ 12,000 และแยกแยะตามคุณภาพข้าวไม่ใช่หรือ?
ตอบ แล้วก่อนหน้านั้นทำไมไม่ทำ ทำไมไม่เห็น แล้วทำไมทำได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ตรงกับคำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงและนโยบายที่แถลงต่อสภาเลย ทั้งหมดนี้มันพันมันมัดคุณยิ่งลักษณ์ตลอดมาว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานนโยบายข้าวทำไมคุณไม่ยอมเลิกไม่ยอมปรับแก้ จนบ้านเมืองเสียหายยับเยินอย่างนี้ คุณจะให้พี่ชายที่คิดที่สั่งอยู่ข้างหลังรับผิดชอบแทนคุณไม่ได้ กฎหมายไม่รับรู้หรอกครับว่า นายกฯ ตัวจริงคือใคร
นี่คือคำถามถึงความรับผิดตามกฎหมายปกครอง ที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องตอบในฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เข้าใจไหมคุณวีรพัฒน์ คุณจะให้นักการเมืองมีอำนาจมากแต่ความรับผิดชอบน้อยไม่ได้ มันผิดหลักจัดราชการ นี่หรือคือระบบผู้แทนที่คุณและคณะเรียกร้องกันนักหนา? ผลของการกระทำนอกวัตถุประสงค์แห่งรัฐ
ถาม เห็นฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์เขาถามกันตลอดว่า การประกันราคาข้าวสมัยอภิสิทธิ์ และการรับจำนำข้าวของทักษิณ 1 ก็ขาดทุนเหมือนกัน แล้วทำไมไม่เห็นต้องมีใครชดใช้อะไรเลย
ตอบ สองโครงการนั้นเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์ของรัฐ มุ่งที่การพยุงราคาข้าวในตลาดจริง ๆ ทำตามแผนตามข้อมูลเฉพาะฤดูกาลจริงๆ ทำแล้วก็หยุดไม่ยืดเยื้อ รับจำนำแล้วขายได้เงินคืนน้อยกว่ารายจ่ายก็เป็นเรื่องธรรมดา ต้องถือเป็น “ค่าใช้จ่าย” ของราชการ ไม่ใช่ “ความเสียหาย” ที่ใครต้องรับผิด
ถาม แล้วทำไมโครงการของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถึงต้องถือเป็น "ความเสียหาย”
ตอบ เพราะโครงการนี้มันไม่ใช่การพยุงราคาในตลาด การไปกำหนดราคารับจำนำทุกเมล็ดทุกแห่ง ทุกเวลาในราคา 15,000 ต่อเกวียนอย่างนี้ ราคามันสูงลิ่วเกินตลาดมาก มากจนไม่มีใครมาไถ่ถอนจำนำเอาข้าวไปขายด้วยตนเอง ตัวจริงของโครงการนี้คือการให้รัฐเข้ามาผูกขาดซื้อข้าวทุกเมล็ดนั่นเอง
นี่คือโครงการที่นอกเหนือแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญไทยอย่างชัดเจน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจยับยั้ง แต่เมื่อเกิดความเสียหายคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อคุณกล้าก้าวล้ำเส้นคุณก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ อย่าไปบิดเบือนลากใครเข้ามาเทียบเคียงอย่างนี้ เรื่องจริงที่ยังไม่มีใครพูด?
ถาม ผมไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมคุณทักษิณถึงกล้าผลักดันให้รัฐบาลเพื่อไทยรับซื้อข้าวทั้งประเทศในราคาสูงลิ่วอย่างนี้ เขาไม่มองเห็นปัญหาความยากลำบากในการระบายข้าวบ้างเลยหรือ ข้าวค้างโกดังเป็น 10 ล้านตัน เน่าเสียไปทุกวัน เสียค่าฝากข้าวเดือนละเป็น 1,000 ล้านเลยนะครับ จะเร่งปล่อยขายราคาถูกก็ไม่ได้ เพราะจะพลอยทำลายราคาข้าวใหม่ไปด้วย นี่คือความจนตรอกถึงขนาดที่นายกฯ ตู่ต้องใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายมาคุ้มครองการระบายข้าวอย่างที่เห็นกัน
ตอบ ผมก็สงสัยเหมือนคุณเช่นกันว่า พ่อค้าอย่างคุณทักษิณไม่มีทางคิดด้วน ๆ ตัน ๆ อย่างนี้แน่ๆ แต่พอถอยมามองไกล ๆ แล้วผมก็พอเห็นคำตอบอยู่ว่า มันน่าจะเป็นเรื่องผิดแผน แผนมันพลิกจนไม่อาจเอาข้าวไปแลกกับรถไฟแลกกับเขื่อนของจีนได้เหมือนเช่นที่เคยคิดไว้ พอผิดแผนแล้วก็เลยชิบหายมาจนทุกวันนี้
ถาม จริงด้วยครับ นโยบายเลือกตั้งเพื่อไทยตอนเลือกตั้ง 53 ก็มีนโยบายเชื่อมรถไฟกับจีน และการรับจำนำข้าว 15,000 เคียงคู่กันมาตลอด
ตอบ แต่พอได้เป็นรัฐบาลเรื่องเชื่อมทางรถไฟจากจีนก็หายไป ผมเข้าใจว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว พวกคุณทักษิณเขายอมเอาไทยห่างจากจีนตามแรงบีบของสหรัฐอเมริกา นี่น่าจะเป็นสาเหตุหลัก ทำให้อเมริกามันถึงคอยเสือกเรา คอยหนุนช่วยชินวัตรอยู่จนทุกวันนี้
ถาม งั้นเอาข้าวไปแลกเขื่อนกับฟลัดเวย์ได้ไหม?
ตอบ เขาก็พยายามสร้างโครงการเหมาเบ็ดเสร็จทั้งประเทศแล้วเหมือนกัน แต่ก็ไปไม่รอดอีก ทั้งหมดนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นที่มาแท้จริงของความล้มเหลวในโครงการซื้อข้าวทั้งประเทศของคุณทักษิณ
แนะทางรอดยิ่งลักษณ์
ถาม คุณยิ่งลักษณ์สารภาพความจริงข้อนี้ให้พ้นผิดได้ไหม?
ตอบ มันมีแต่จะมัดให้เธอผิดหนักขึ้นไปอีก ทางที่ดีคุณทักษิณควรจะบอกให้รัฐบาลอเมริกาหรือยุโรปมาเหมารับซื้อข้าวเน่าคาโกดังทั้งประเทศไทยในราคาทุนเลยจะดีกว่า มูลคดีจะได้หายไปเพราะไม่มีความเสียหายใดๆ ต่อไปอีกแล้ว
ทำอย่างนี้มันน่าจะเนียนกว่า โง่น้อยกว่าการเชิญคุณยิ่งลักษณ์ไปคุยเรื่องเมืองไทยกับใครในรัฐสภายุโรปมากมายนัก ว่าง ๆ สนช.ไทยคนไหนก็ได้ ช่วยแต่งหนังสือเชิญประธานรัฐสภายุโรป มาคุยเรื่องมาตรฐานของยุโรปในการดูแลผู้อพยพซีเรียก็ดีนะครับ คุยกับ สนช.ผู้สนใจแค่สองสามคนที่ใต้ถุนสโมสรรัฐสภาก็ได้ ผู้อพยพพวกนี้เขาน่าสงสารจริงๆ ทำไมเราจะเสือกบ้างไม่ได้.
หมายเหตุ:ชื่อบทความเดิม "คดีค่าเสียหายจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์:ปัญหาความรับผิดชอบของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" เขียนโดยนายแก้วสรร อติโพธิ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 27พฤศจิกายน 2558
คลิกอ่าน สถานการณ์แหลจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
ป้ายกำกับ:
แก้วสรร วีรพัฒน์ ยิ่่งลักษณ์ จำนำข้าว สอนมวย
วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558
นศ.ปริญญาเอกวิจัยพันธุ์ข้าวโพดในแคนาดา เตือนสติไทยเรื่องพืชจีเอ็มโอ
เกริ่น
เมื่อผมได้อ่านบทความของคุณ Chutinan Jaroenchai ที่ได้เขียนลงเฟสบุ๊คของเธอ เพื่อเตือนสติหน่วยงานราชการไทย เตือนสตินักวิชาการไทย ที่กำลังคิดสนับสนุนการทดลองพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยแล้ว
ถือเป็นข้อเขียนที่ดีมาก ๆ และเข้าใจถึงหัวอกของผู้เขียนที่อยู่แดนไกล แต่หัวใจยังเป็นห่วงบ้านเกิด จนต้องเขียนบทความที่ยาวมากอย่างอดทน เพื่ออธิบายความให้คนไทยได้รู้ข้อมูลเรื่องจีเอ็มโออีกด้านจากนักวิจัยพันธุ์ข้าวโพดอย่างเธอโดยตรง
ผมอยากให้คุณผู้อ่าน กรุณาเสียสละเวลาอันมีค่าสักนิด ช่วยอ่านบทความนี้ให้จบจนถึงบรรทัดสุดท้าย เพื่อถือเป็นการขอบคุณและให้กำลังใจคุณ Chutinan Jaroenchai ที่อุตส่าห์เขียนบทความนี้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของเธอครับ
http://imgur.com/DKKmj3K
---------------
5 ธันวาคม เวลา 13:00 น.
บอกก่อนว่าบทความนี้ยาวมาก ถ้าท่านสนใจประเด็นพืชจีเอ็มโอ ขอความกรุณาอ่านจนจบ ก่อนกระทำการอื่นใด เช่นกดไลค์หรือแสดงความคิดเห็นหรือแชร์ค่ะ ขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
ตอนนี้เรื่องจีเอ็มโอค่อนข้างจะฮอตในเมืองไทย ก็เลยถือโอกาสนี้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเน้นที่ข้าวโพด จะเปรียบเทียบระหว่างบริบทของอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมอเมริกาและแคนาดาและก็เมืองไทยค่ะ
ถามว่าทำไมถึงเป็นข้าวโพด ?
ก็เพราะว่าข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอันดับหนึ่งของอเมริกาและเป็นพืชที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ (หรือว่าบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตร) ยักษ์ใหญ่ของโลกแข่งขันกันปรับปรุงพันธุ์กันอย่างเอาเป็นเอาตายนั่นเองค่ะ และก็อีกอย่างหนึ่งข้าวโพดเป็นพืชที่ดิฉันกำลังทำงานวิจัยอยู่
ถามว่า ดิฉันเป็นใครถึงกล้าเขียนเรื่องนี้
ตอบว่า ดิฉันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดในแคนาดาค่ะ
ถามว่า เรียนที่แคนาดาแล้วทำไมถึงกล้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับอเมริกา ก็เพราะว่าระบบการเกษตรที่แคนาดาและอเมริกานั้นไม่แตกต่างกัน และดิฉันก็มีประสบการณ์ในการปลูกข้าวโพดจริงที่นี่มาสามปีแล้ว ก็เลยพอมีความคิดเห็นในเรื่องนี้บ้าง สำหรับบทความนี้จะไม่มีประเด็นเรื่องสุขภาพเพราะดิฉันไม่มีความรู้ ขอเข้าเรื่องเลยละกันค่ะ
พันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกที่นี่ (อเมริกาและแคนาดา) เป็นพันธุ์ลูกผสมเดี่ยว (F1) ทั้งหมด เอฟวันเริ่มปลูกมาตั้งแต่ช่วงปลาย 1960s ก่อนหน้านั้นเป็นพันธุ์ลูกผสมดับเบิ้ลครอส (1930s – 1960s) และก่อนหน้านั้นเป็นพันธุ์ผสมเปิด (ก่อน 1930s) ซึ่งพันธุ์ผสมเปิดนี่เองที่เป็นพันธุ์ที่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเคยปลูก
แต่เนื่องจากนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดในอเมริกาในช่วงต้น 1900s ได้ค้นพบความดีเด่นของลูกผสม (heterosis) ดังนั้นสายพันธุ์ที่ปลูกเชิงการค้าจึงถูกเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเมืองไทยเราก็ได้นำความรู้ด้านนี้มาใช้ พันธุ์ข้าวโพดบ้านเราตอนนี้ก็เลยเป็นเอฟวันเหมือนที่นี่
ถ้าบ้านเราจะถามว่า แล้วทำไมเกษตรกรเก็บเมล็ดจากต้นที่เป็นพันธุ์จากบริษัทไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปไม่ได้ ?
เพราะบริษัทเอาเปรียบเกษตรกร หรือ ก็ขอตอบว่าจริง ๆ แล้วบริษัทใช้หลักวิชาการมาเป็นจุดขาย เมล็ดพันธุ์ชนิดเอฟวันให้ผลผลิตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเมล็ดพันธุ์แบบอื่น ถ้าท่านเก็บเมล็ดจากเอฟวันจะได้พันธุ์ที่เป็นเอฟทู (F2) ผลผลิตที่ได้ก็จะสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิดแต่จะต่ำกว่าเอฟวันค่ะ อันนี้เป็นไปตามหลักพันธุศาสตร์
ถามว่า ทำไมเมล็ดพันธุ์แพงจังเลย
ถ้าท่านศึกษาทางด้านปรับปรุงพันธุ์พืชเหมือนดิฉัน ท่านจะไม่บ่นเรื่องค่าเมล็ดพันธุ์แพงเลยค่ะ โปรแกรมปรับปรุงพันธุ์พืชของแต่ละบริษัท หรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก ต้นทุนเหล่านี้มาจากระยะเวลาที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ นับสิบปีค่ะกว่าจะได้พันธุ์มาให้เกษตรกรปลูก (ถ้าใช้วิธีมาตรฐาน)
ต้นทุนมาจากค่าแรงนักปรับปรุงพันธุ์ เทคนิเชียนหรือคนงานที่ทำงานในแปลง ต้นทุนจากโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้บริหารจัดการโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ โปรแกรมที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล (แพงมากค่ะ) ต้นทุนจากอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลที่ใช้เช่น ค่าอุปกรณ์จีพีเอส ค่ารถไถ รถปลูก รถพ่นสารเคมี รถพ่นปุ๋ย รถเก็บเกี่ยว ต้นทุนจากการจัดการเมล็ดพันธุ์ จากการทดสอบพันธุ์ในหลายๆ สถานที่ และอื่นๆ ค่ะ
ดังนั้นการที่บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงนี่สมเหตุสมผลแล้วค่ะ ยิ่งถ้าใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่นการตัดแต่งยีน หรือการใช้โดรนในโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ด้วยนี่ เพิ่มต้นทุนไปอีกเยอะเลยค่ะ อย่างปีนี้ที่แล็บที่ดิฉันอยู่ได้เริ่มทำงานวิจัยโดยใช้โดรน เซ็นเซอร์บางตัวที่ติดกับกล้องถ่ายภาพที่ใช้กับโดรนตัวนึงราคาเทียบเป็นเงินไทยแล้วสูงกว่าสองแสนบาทค่ะ ซอฟแวร์ที่ใช้จัดการข้อมูลในโดรนราคาต่อปีนี่ก็สูงกว่าสองแสนห้าหมื่นบาทค่ะ นี่แค่ยกตัวอย่างย่อ ๆ ไม่รวมค่าโดรนหรือเซนเซอร์ตัวอื่น ๆ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ อีกจิปาถะ ดังนั้นต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์จึงสูงค่ะ
แล้วจีเอ็มโอมาได้ยังไง ?
มะเขือเทศเป็นพืชชนิดแรกที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมในปี 1982 แต่ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย (หรือแม้กระทั่งคาโนล่า) เป็นพืชจีเอ็มกลุ่มแรกที่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ โดยมีการขายเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์ในปี 1996 ทั้งในอเมริกาและแคนาดา (แคนาดาปลูกฝ้ายไม่ได้ค่ะ แต่หมายถึงว่าพืชจีเอ็มถูกปล่อยสู่เกษตรกรในปีเดียวกันทั้งในอเมริกาและแคนาดา) ซึ่งลักษณะที่ได้รับการตัดแต่งคือ การต้านทานยาปราบศัตรูพืช (ยกตัวอย่างเช่นไกลโฟเสท) และการต้านทานแมลงที่เราเรียกว่าพืชบีที (Bt crops) วิธีการตัดแต่งคือใส่ยีนที่ต้องการให้เข้าไปอยู่อย่างถาวรในพืชค่ะ
ในอเมริกา ข้อมูลปี 2013 ระบุว่า 85% และ 76% ของพื้นที่การปลูกข้าวโพดในอเมริกาเป็นการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอที่ต้านทานไกลโฟเสทและข้าวโพดบีทีตามลำดับ ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงเปอร์เซนต์การยอมรับข้าวโพดจีเอ็มโอของเกษตรกรในอเมริกาที่สูงมาก ซึ่งหมายความว่าข้าวโพดจีเอ็มโอสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอเมริกันมากกว่าข้าวโพดที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ
และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายถึงกล้าลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยด้านจีเอ็มโอเป็นจำนวนเงินมหาศาล จากข้อมูลนี้การปลูกพืชจีเอ็มนี่น่าจะสร้างกำไรให้เกษตรกรได้ดี
แต่ถ้ามองในแง่อื่นยกตัวอย่างเช่น ด้านสิ่งแวดล้อมก็มีผลด้านลบเกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือ มีรายงานการพบแมลงศัตรูพืชหลายชนิดที่ต้านทานพืชบีที และรายงานการพบวัชพืช 14 ชนิดที่ต้านทานไกลโฟเสท เกษตรกรจึงต้องใช้ Best management practices (BMPs) ในการควบคุมวัชพืช
นั่นคือภายในระยะเวลาแค่เกือบยี่สิบปีนับตั้งแต่มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ มีวัชพืชดื้อต่อไกลโฟเสทแล้วถึง 14 ชนิด ท่านว่ามากมั้ย ดิฉันว่ามากนะ จริงอยู่ถ้าท่านจะบอกว่าโดยธรรมชาติแล้วสิ่งมีชีวิตก็มีการวิวัฒนาการตัวเองให้อยู่รอด ซึ่งก็คือวัชพืชมีการดื้อต่อยาปราบศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ อยู่แล้ว
แต่ท่านกล้าปฏิเสธไหมว่า พืชจีเอ็มโอที่ต้านทานไกลโฟเสทไม่ได้ช่วยเร่งอัตราการดื้อไกลโฟเสทในระดับที่สูงมาก ดิฉันว่าท่านไม่กล้านะ
การที่เราใช้เฉพาะสารเคมีใดสารเคมีหนึ่งในการกำจัดศัตรูพืชเป็นระยะเวลานาน ๆ นั้นเป็นการเร่งการวิวัฒนาการการดื้อยาของวัชพืชค่ะ
ข้าวโพดที่ปลูกในอเมริกาส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ หมายถึงว่าเป็นข้าวโพดที่ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ทานโดยตรง ซึ่งเมล็ดหรือทั้งต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้ถูกนำไปใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือใช้เมล็ดเพื่อผลิตเอธานอล หรือผลิตคอร์นซิรัป ซึ่งเป็นสารตั้งต้นให้ความหวานในผลิตภัณฑ์อาหารแทบจะทุกประเภท
ดังนั้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่อาหารที่คนที่นี่ทานจะต้องเกี่ยวข้องกับข้าวโพดจีเอ็ม
อเมริกามีปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลง การตัดแต่งทางพันธุกรรมจึงช่วยเกษตรกรอเมริกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งเกษตรกรแต่ละรายปลูกพืชครั้งละเป็นพันเอเคอร์ ดังนั้น การลดภาระการฉีดพ่นสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของเกษตรกรอเมริกัน พืชที่ต้านทานไกลโฟเสทและพืชบีทีจึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรที่นี่
**รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรอเมริกันเกิดจากการสูญเสียผลผลิตที่ลดลงจากการทำลายหรือผลของศัตรูพืชทั้งที่เป็นวัชพืชหรือโรคหรือแมลงทั้งหลาย
หมายความว่า การตัดแต่งพันธุกรรมช่วยลดความสูญเสียนี้ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชแต่ประการใด เพราะไม่มียีนเด่นที่ควบคุมผลผลิตพืช จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีนักวิจัยท่านใดสามารถระบุยีนเด่นนี้ได้ (ก็เพราะว่ามันไม่มี) จึงไม่สามารถตัดแต่งยีนเพิ่มผลผลิตเข้าไปในพืชได้
ดังนั้นท่านทั้งหลายกรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า ยีนที่ได้รับการตัดแต่งจะเพิ่มผลผลิตพืชโดยตรง ซึ่งไม่ถูกต้อง
ที่ถูกต้องก็คือ ยีนที่ได้รับการตัดแต่งจะมีผลกับศัตรูพืชเช่นวัชพืชหรือโรคหรือแมลงเป็นต้น ถ้าท่านปลูกพืชต้านทานไกลโฟเสทท่านก็ต้องฉีดพ่นไกลโฟเสทเท่านั้น วัชพืชจะตายแต่ไม่กระทบกับพืชของท่าน
เนื่องจากปัญหาเรื่องการดื้อยาของพืชหรือโรคหรือศัตรูพืชที่เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นนำในอเมริกาจึงได้เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับอาร์เอ็นเอไอ (RNAi) โดยหวังว่า อาร์เอนเอขนาดเล็กที่ใส่เข้าไปในพืชจะไปขัดขวางการสร้างโปรตีนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของศัตรูพืชเหล่านั้น ทำให้ศัตรูพืชเหล่านั้นตาย
ซึ่งโดยความหมายแล้ว อาร์เอ็นเอไอ ก็คือเป็นอีกประเภทหนึ่งของจีเอ็มโอ ที่ใช้หลักการทำงานแตกต่างจากการสร้างพืชต้านทานไกลโฟเสทหรือพืชบีทีที่เราทราบกัน เทคโนโลยีนี้ดิฉันมองว่าน่ากลัวกว่าการตัดแต่งพันธุกรรมแบบปกติอีกค่ะ
ในอเมริกาพืชเด่นที่เป็นจีเอ็มโอ คือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย สำหรับข้าวนั้นอเมริกาก็ปลูกเหมือนเมืองไทย แต่ข้าวที่ปลูกในอเมริกาไม่ใช่ข้าวจีเอ็มเนื่องจากประเทศลูกค้าของอเมริกาไม่รับซื้อข้าวจีเอ็มโอ (ข้อมูลนี้ดิฉันได้รับการยืนยันโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกข้าวในรัฐมิซซูรี่ในอเมริกา ดิฉันไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากอ้างอิงคำพูดของ ดร. ท่านนี้)
นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่ได้ทำงานกับข้าวค่ะ (ก็บริษัทเหล่านี้สนใจเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย) แต่เป็นบริษัทเฉพาะบริษัทอื่นที่ทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอเมริกา สำหรับฝ้ายที่ปลูกในอเมริกาบางที่ก็ต้องได้รับการฉีดพ่นสารเคมีในปริมาณและความถี่ที่มาก ซึ่งก็เกิดจากการดื้อยาของแมลงศัตรูฝ้ายเอง (ข้อมูลจากการเยี่ยมชมไร่ฝ้ายในรัฐมิซซูรี่เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ของดิฉันเอง)
ดังนั้นขอถามท่าน ๆ ทั้งหลายว่า เมืองไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องปลูกพืชจีเอ็ม เมืองไทยมีศัตรูของพืชอะไรที่รุนแรงถึงขนาดจำเป็นต้องใช้จีเอ็ม ?
อันนี้ดิฉันสงสัยมาก เหตุผลที่ดิฉันเห็น ๆ ก็คือท่านบอกว่าอยากใช้จีเอ็มเพราะว่าเราล้าหลังประเทศอื่น ๆ ทำไมท่านไม่คิดว่าประเทศอื่นเค้ามีภูมิต้านทานน้อยกว่าเรา
การที่เรามีความสามารถในการยืนหยัดไม่ใช้จีเอ็มมาได้จนถึงทุกวันนี้นี่คือความภูมิใจของคนไทยนะ
จริงอยู่นักวิจัยไทยอาจจะอยากทำงานวิจัยด้านนี้ ขอถามนักวิจัยหน่อยว่าท่านอยากสร้างพืชอะไรให้เป็นพืชจีเอ็มโอ เมื่อท่านสร้างพืชนั้นได้และเผยแพร่พันธุ์ให้เกษตรกรแล้วผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรจะขายให้กับใคร ในเมื่อจุดประสงค์คือไม่ได้ปลูกเพื่อทานเอง แต่คือเพื่อการค้า
จริง ๆ แล้วหน้าที่นี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิจัยด้วยซ้ำ แต่เป็นหน้าที่ของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งหลาย แล้วบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติที่มีในไทยก็ไม่ได้ทำงานกับข้าวแต่เป็นข้าวโพด
ดังนั้นหลัก ๆ เลยที่เราต้องมองว่าจะได้รับผลจากการปลูกจีเอ็มโอ ก็คือการปลูกข้าวโพด ท่านอยากปลูกข้าวโพดแข่งกับอเมริกาหรืออย่างไร ท่านฝันอยู่หรือเปล่าคะ หรือท่านคิดว่าบริษัทจะเอายีนต้านทานไกลโฟเสทมาใส่ในข้าว ก็อย่างที่เพิ่งถามท่านไป แล้วท่านจะขายข้าวจีเอ็มให้ใครในเมื่อขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกายังไม่ทำงานกับข้าวเลย กลับกลายเป็นบริษัทอื่นแทนซึ่งก็ไม่ทำข้าวจีเอ็มโออีกเพราะส่งออกไม่ได้ ท่านต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคข้าวคือมนุษย์ แต่ผู้บริโภคข้าวโพดคือสัตว์ค่ะ (เราไม่พูดถึงข้าวโพดหวานที่เป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์นะ)
ดิฉันไม่คิดว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะลงทุนด้านการวิจัยพืชจีเอ็มที่ไม่ใช่พืชที่ปลูกในอเมริกา สาเหตุเพราะต้องลงทุนมหาศาล ถ้าตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นมีเฉพาะเกษตรกรในไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเขตร้อนเหมือนกันก็ไม่น่าจะคุ้มกับการลงทุนของบริษัทค่ะ บริษัทเค้ามีเทคโนโลยีจีเอ็มโอสำหรับพืชในอเมริกาคือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย ดิฉันมองว่าบริษัทคงจะเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้กับพืชพวกนี้ในเมืองไทย คงไม่เริ่มทำกับพืชชนิดอื่นที่ไม่มีในอเมริกา ดิฉันอาจจะผิดก็ได้แต่นี่คือสิ่งที่ดิฉันเชื่อ ดังนั้นการที่เรามุ่งประเด็นไปยังข้าวโพดน่ะถูกแล้ว เพราะเราปลูกข้าวโพดมากกว่าถั่วเหลืองและฝ้าย
เมื่อมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการจัดการเรื่องผลผลิต ถ้าท่านจะส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ ท่านต้องมั่นใจว่าผลผลิตล็อตนั้นไม่มีการปนเปื้อนจีเอ็ม ถ้าถูกตรวจพบว่าปนเปื้อนแม้เพียงนิดเดียวนี่จะถูกปฏิเสธจากลูกค้าทันที
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างคาร์กิล ในรัฐอิลลินอย ที่ดิฉันไปเยี่ยมชมเมื่อเดือนกันยายนปีนี้เล่าว่า ถ้าเรือบรรทุกเมล็ดพืชเช่น ข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของเมล็ดพืชที่เป็นจีเอ็มโอแม้เพียงนิดเดียว เรือบรรทุกลำนั้นจะถูกปฏิเสธทันที ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทเป็นอย่างมาก บริษัทจึงต้องคลีนแล้วคลีนอีกเพื่อให้แน่ใจว่าเรือบรรทุกสะอาดที่สุดก่อนบรรจุเมล็ดที่ไม่ใช่จีเอ็ม
ดิฉันเห็นโปสเตอร์ในเฟซบุ๊คที่เผยแพร่โดย หน่วยงานด้านงานวิจัยที่มีจำนวนนักวิจัยจบปริญญาเอกต่อตารางเมตรที่สูงที่สุดในประเทศไทย บอกว่าพืชจีเอ็มโอกับพืชไม่ใช่จีเอ็มโออยู่ร่วมกันได้ กล่าวคือสามารถควบคุมละอองเกสรของพืชจีเอ็มไม่ให้ปนเปื้อนกับที่ไม่ใช่พืชจีเอ็มได้ (ท่านน่าจะหมายถึงเฉพาะข้าวโพด) โดยการปลูกพืชคนละเวลาเอย ปลูกโดยเว้นระยะห่างเอย หรืออะไรเอย
(จริงๆ ดิฉันตลกโปสเตอร์นี้มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากหน่วยงานเช่นท่าน ในทางปฏิบัติจริงไม่ได้ง่ายเหมือนเขียนโปสเตอร์ค่ะ ท่านเคยปลูกพืชในเชิงการค้าบ้างหรือไม่)
http://imgur.com/ThKIK5o
โอเค สมมติว่า ถ้าท่านป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนระหว่างพืชจีเอ็มโอและที่ไม่ใช่จีเอ็มโอได้ แล้วท่านจะบริหารจัดการอย่างไรหลังจากท่านได้ผลผลิตแล้ว หรือท่านคิดว่าเอาให้มีจีเอ็มให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาคิดเรื่องการบริหารจัดการ ดิฉันไม่คิดแบบท่านนะ
ท่านต้องแยกโรงงานรับซื้อเมล็ดหรือไม่ ? หมายถึงว่าโรงงานนี้รับเฉพาะเมล็ดจีเอ็ม โรงงานนี้รับเฉพาะเมล็ดไม่ใช่จีเอ็ม หรือว่าจะเป็นโรงงานเดียวกัน แต่แยกส่วนกันในโรงงาน รถบรรทุกที่ขนส่งจีเอ็มกับไม่ใช่จีเอ็มต้องเป็นคันเดียวกันหรือไม่ ? รถเก็บเกี่ยวต้องแยกคันกันหรือไม่ แล้วเกษตรกรล่ะต้องได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องพืชจีเอ็มขนาดไหน ? ท่านอย่าลืมว่าเกษตรกรนี่สำคัญที่สุดนะคะ เกษตรกรต้องมีความรู้พอที่จะรับมือกับเทคโนโลยีพวกนี้ได้
สิ่งที่ดิฉันเกรงก็คือ ถ้าบ้านเราใช้จีเอ็มโอแล้วจะไปเร่งอัตราการต้านทานต่อพืชจีเอ็มให้กับโรคหรือแมลงหรือวัชพืช จากที่ปัญหาน้อยจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ จากที่เคยส่งออกผลผลิตได้ง่าย ๆ ก็จะกลายเป็นได้ยากขึ้น หรือแม้กระทั่งการจำกัดจำนวนชนิดพืชที่ส่งออก
ต้นทุนของเกษตรกรที่สูงขึ้นจากการปลูกจีเอ็มโอจะคุ้มกับผลผลิตที่สูงขึ้นจริงหรือ การใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มนี่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแน่นอนค่ะ หมายถึงว่าราคาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยเท่าตัว ก็บริษัทลงทุนมหาศาลนี่ หรือท่านจะบอกว่ามันหักล้างกับการใช้ยาปราบศัตรูพืชคือไกลโฟเสทที่น้อยลง ทำให้เกษตรกรมีกำไรที่มากขึ้น อย่างที่ดิฉันบอก ถ้าท่านคิดในระยะสั้นคือช่วงปีแรก ๆ ของการปลูกอาจจะจริง แต่ถ้าระยะยาวล่ะ นี่คือดิฉันสงสัยนะ
ท่านทราบความแตกต่างอัตราการดื้อต่อสารเคมีของพืชในเขตร้อนอย่างในบ้านเราและพืชในเขตอบอุ่นอย่างอเมริกามากแค่ไหน ท่านมีงานวิจัยในเขตร้อนรองรับมากแค่ไหนคะ ท่านทราบได้อย่างไรว่าอัตราเร็วมันเท่ากัน การใช้งานจริงในทางเกษตรไม่สามารถใช้ผลงานวิจัยจากในแล็บหรือในกรีนเฮ้าส์มารองรับนะคะ ท่านน่าจะทราบดี ถ้าเกิดดื้อไกลโฟเสทขึ้นมาก็แค่รอบริษัทแม่ในอเมริกาพัฒนาสารเคมีชนิดใหม่หรือจีเอ็มตัวใหม่ขึ้นมากระนั้นหรือ ท่านคงตอบว่าใช่ แล้วเราจะเริ่มใช้มันไปทำไมถ้าต้องพึ่งเค้าอย่างนี้ตลอดไป ดังนั้นดิฉันขอถามให้คิดหน่อยว่าถ้ามีการปลูกจีเอ็มโอจริง เกษตรกรคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงแน่หรือ หรือว่าใครที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ??
ถ้าเทียบกับความเสี่ยงทางทรัพยากรธรรมชาติแล้วมันคุ้มหรือคะ บ้านเราเป็นเมืองร้อน ความหลากหลายทางธรรมชาตินี่อเมริกาเทียบกับบ้านเราไม่ได้นะคะ บ้านเค้าโดยสภาพพื้นที่นี่เหมาะกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ถ้าท่านไปเห็นสภาพรัฐในมิสเวสต์ซึ่งเป็นรัฐเกษตรกรรมหลักของอเมริกาอย่างที่ดิฉันเห็นมา 7 รัฐในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่านจะทราบว่าโดยสภาพพื้นที่แล้วเค้าปลูกพืชได้ไม่หลากหลายอย่างบ้านเรา เค้าถึงต้องปลูกเฉพาะพืชบางตัว รัฐบาลกลางของอเมริกาถึงขนาดมีฟาร์มบิลเพื่อสนับสนุนเกษตรกรอเมริกันให้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง แล้วท่านว่าอย่างนี้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์จะได้ประโยชน์ขนาดไหนคะ
ท่านทราบมั้ยว่าจริง ๆ แล้วปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ของไทยคืออะไร คือไคลเมทเชนจ์ คือปัญหาโลกร้อน ท่านสังเกตมั้ยว่าเมืองไทยแล้งขึ้นทุกปี ๆ ซึ่งดิฉันก็ขอทายว่าจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในขณะที่แคนาดาได้รับผลประโยชน์จากโลกร้อน เพราะพืชได้รับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและยาวนานขึ้นทำให้พืชให้ผลผลิตที่สูงขึ้น
แต่เกษตรกรไทยกลับได้ผลลบจากโลกร้อน น้ำมีไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ฝนตกในระยะเวลาที่สั้นลง ดังนั้นท่านควรจะสนใจหาแนวทางจัดการกับปัญหาโลกร้อนในไทย ไม่ใช่พยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับพืชจีเอ็มในยุครัฐบาลทหาร หรือท่านคิดว่ามียีนที่ช่วยให้ทนแล้งได้จริง ท่านต้องเข้าใจสรีรวิทยาของพืชไร่ให้ดี (crop physiology, not plant physiology) เมื่อการขาดน้ำถึงระดับ ๆ หนึ่ง ต่อให้ยีนทุกชนิดที่มีในพืชนั้นทำงานก็ช่วยพืชสร้างผลผลิตไม่ได้ค่ะ
ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของข้าวโพดในแต่ละประเทศเกิดจาก genetic improvement และการบริการจัดการด้านการปลูกในสัดส่วนประมาณห้าสิบต่อห้าสิบ การบริหารจัดการด้านการปลูก ก็เช่นการพ่นยา การใส่ปุ๋ย เป็นต้น สำหรับ genetic improvement นี่ทำให้พืชทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง (stress) ได้มากขึ้น กล่าวคือ พืชทนทานต่อความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นได้ ถึงแม้ผลผลิตต่อต้นจะลดลงแต่สุดท้ายจำนวนต้นต่อหน่วยพื้นที่จะหักล้างทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้นท่านปรับปรุงพันธุ์โดยเน้นวิธีมาตรฐานน่ะถูกแล้วค่ะ
สำหรับประเด็นเรื่องการฟ้องร้องกรณีที่บริษัทฟ้องร้องเกษตรกรว่าลักลอบเก็บเมล็ดของพืชจีเอ็มไว้ปลูกในฤดูกาลหน้านั้น เหตุการณ์ฟ้องร้องนี้มีเกิดขึ้นบ้างและเข้าใจว่าบริษัทชนะในทุกคดี เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้ขายเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรต้องเซ็นต์สัญญากับบริษัทก่อนปลูกว่าจะไม่เก็บเมล็ดที่ได้ในฤดูกาลนี้ไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งเท่านั้น
หากบริษัทพบว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีจีเอ็มโอเป็นจำนวนมากที่เกษตรกรปลูกไม่ได้มาจากการซื้อจากบริษัท บริษัทจะดำเนินการฟ้องร้องเกษตรกรทันที น่าเป็นห่วงเกษตรกรไทยในเรื่องการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ คือหมายถึงว่าเกษตรกรต้องรับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างถ้าไม่ทำตามสัญญานั้น
จริง ๆ แล้วงานด้านการเกษตรขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเป็นสำคัญนอกเหนือจากการมีพันธุกรรมที่ดี อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นกับบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ว่าแทนที่จะลงทุนด้านจีเอ็มเป็นหมื่นๆ ล้านเหรียญ ทำไมไม่ทำงานวิจัยเรื่องการปลูก cover crops ซึ่งก็คืองานทาง cropping systems ซึ่งดิฉันเห็นด้วย งานที่บริษัททั้งหลายทำอยู่นี่ดูจะสวนทางกับธรรมชาติค่ะ ประชาชนอย่างเรา ๆ หรือเกษตรกรไม่มีสิทธิ์เลือกซักเท่าไหร่ มีบริษัทหรือนักวิจัยเป็นผู้ชี้นำทุกอย่าง แต่เพราะระดับความรู้หรือการเข้าถึงความรู้ที่ไม่เท่ากันทำให้เราหลงไปกับการชักนำของนักวิจัยและบริษัท
จริงๆ ดิฉันไม่มีปัญหาเรื่องการรับประทานพืชจีเอ็มโอ เพราะทราบว่าตัวเองก็ทานอยู่ทุกวันที่นี่ แต่ถ้าจะให้ปลูกในเมืองไทย ดิฉันไม่อยากให้ปลูกค่ะ ถ้าท่านปลูกแล้วท่านไม่มีวันย้อนกลับหลังหันได้เลย
ก็หวังว่าบทความนี้จะสื่อถึงท่าน ๆ ได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตามใคร เราไม่จำเป็นต้องกลัวที่ใครจะว่าเราล้าหลังด้านเทคโนโลยี เพราะเค้าไม่มีทรัพยากรธรรมชาติแบบเราเค้าถึงต้องพึ่งเทคโนโลยี เรื่องนี้มองเฉพาะในแง่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ค่ะ
ปิดท้าย ดิฉันไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ ทั้งสิ้นกับการเขียนบทความนี้ จริง ๆ นี่ดิฉันเสี่ยงต่อการถูกหมั่นไส้ของฝ่ายที่สนับสนุนให้มีจีเอ็มโอในไทยนะ แต่ตรองดูแล้ว ในฐานะคนไทยที่รักผืนแผ่นดินไทย เขียนดีกว่าไม่เขียนค่ะ ดิฉันใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเขียนบทความนี้ (ก็ต้องถือว่าโชคดีที่ดิฉันหาเวลาได้) ถ้าท่านอ่านจนจบแล้วอยากแชร์ ดิฉันอนุญาตค่ะ
Chutinan Jaroenchai
--------------
รูปด้านล่างนี้ไม่เกี่ยวกับบทความข้างบน
ภาพ จาก 9gag ซึ่งแม้จะดูขำ ๆ แต่เป็นเรื่องจริงหรือเท็จ เขาก็ไม่บอกไว้ ดูเล่น ๆ ไว้แล้วกันครับ
แต่การที่ 9gag นำเสนอ ก็ไม่ได้แปลว่า จะเป็นเรื่องทำล้อเลียนเสมอไปนะครับ เรื่องจริงที่ 9gag เอามาโพสต่อเพื่อฮาก็มีเยอะแยะ
ภาพนกไม่ชอบกินจีเอ็มโอ จาก 9gag
http://9gag.com/gag/axNQjz1/birds-wont-eat-gmo-corn
คลิกอ่าน แตกประเด็นต่อจากอาจารย์เจษฎา กรณีมะละกอไทยถูกญี่ปุ้นตีกลับ
คลิกอ่าน ควรจะเชื่อ อาจารย์เจษฎา เรื่องพืชจีเอ็มโอหรือไม่
วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558
โด่ง อรรถชัย ถอนหงอก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2558 โด่ง อรรถชัย อนันตเมฆ อดีตดาราดัง แต่ตอนนี้ผันตัวไปเป็นพวกเสื้อแดงเต็มตัว ได้โพสเฟสบุ๊ควิจารณ์นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกนนำล้มเจ้าตัวเห้ ที่ตอนนี้หางจุดตูดหนีไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส
แล้วก็มีเสื้อแดงคนนึงเอาเนื้อหาโพสนี้ของโด่ง อรรถชัย ไปแปะไว้ที่เฟสบุ๊คของสมศักดิ์ เจียม
ผมก็เลยมีโอกาสได้อ่าน อ่านไปก็ขำไป แต่พอผ่านไปอีกวันนึง ปรากฏว่า สมศักดิ์ เจียม ได้ลบโพสดังกล่าวออกจากเฟสบุ๊คตัวเองไปแล้ว
สงสัยหงอกเจียมคงเจ็บแสบจนทนเห็นโพสนั้นต่อไปไม่ไหว เลยต้องลบทิ้ง
ผมก็เลยต้องไปหาโพสดังกล่าวจากเฟสบุ๊คของ อรรถชัย อนันตเมฆ เอามาให้คุณผุ้อ่านได้อ่านเอาฮากันครับ
http://imgur.com/R7KLg6O
ลองมาดูความเห็นเสื้อแดงที่เฟสของโด่ง อรรถชัย กันบ้าง
http://imgur.com/a/dW5rP
ที่อ่านมาทั้งหมด ผมชอบที่โด๋ง มันเขียนว่า "คงไม่ต้องให้ใคร พยุงแกข้ามแดน กันทุลักทุเล แล้วไปฝรั่งเศส ถ้าไม่ช่วยกัน... วันนี้แกคงหมดสิทธิวิจารณ์ใครไปแล้ว"
สรุปง่าย ๆ ว่า โด่ง มันกำลังบอกว่า หงอกเจียมกำลังเนรคุณคนเสื้อแดงที่อุตส่าห์ช่วยอุ้มหงอกเจียมหนีข้ามประเทศ จนยังมีชีวิตได้วิจารณ์คนอื่นในวันนี้ 5555 !!!
คลิกอ่าน พลเอกอุดมเดช ควรแสดงสปิริตลาออกหรือไม่
ป้ายกำกับ:
โด่ง อรรถชัย สมศักดิ์ เจียม ถอนหงอก เสื้อแดง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)