วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

นศ.ปริญญาเอกวิจัยพันธุ์ข้าวโพดในแคนาดา เตือนสติไทยเรื่องพืชจีเอ็มโอ






เกริ่น

เมื่อผมได้อ่านบทความของคุณ Chutinan Jaroenchai ที่ได้เขียนลงเฟสบุ๊คของเธอ เพื่อเตือนสติหน่วยงานราชการไทย เตือนสตินักวิชาการไทย ที่กำลังคิดสนับสนุนการทดลองพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยแล้ว

ถือเป็นข้อเขียนที่ดีมาก ๆ และเข้าใจถึงหัวอกของผู้เขียนที่อยู่แดนไกล แต่หัวใจยังเป็นห่วงบ้านเกิด จนต้องเขียนบทความที่ยาวมากอย่างอดทน เพื่ออธิบายความให้คนไทยได้รู้ข้อมูลเรื่องจีเอ็มโออีกด้านจากนักวิจัยพันธุ์ข้าวโพดอย่างเธอโดยตรง

ผมอยากให้คุณผู้อ่าน กรุณาเสียสละเวลาอันมีค่าสักนิด ช่วยอ่านบทความนี้ให้จบจนถึงบรรทัดสุดท้าย เพื่อถือเป็นการขอบคุณและให้กำลังใจคุณ Chutinan Jaroenchai ที่อุตส่าห์เขียนบทความนี้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของเธอครับ


http://imgur.com/DKKmj3K

---------------

5 ธันวาคม เวลา 13:00 น.

บอกก่อนว่าบทความนี้ยาวมาก ถ้าท่านสนใจประเด็นพืชจีเอ็มโอ ขอความกรุณาอ่านจนจบ ก่อนกระทำการอื่นใด เช่นกดไลค์หรือแสดงความคิดเห็นหรือแชร์ค่ะ ขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

ตอนนี้เรื่องจีเอ็มโอค่อนข้างจะฮอตในเมืองไทย ก็เลยถือโอกาสนี้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเน้นที่ข้าวโพด จะเปรียบเทียบระหว่างบริบทของอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมอเมริกาและแคนาดาและก็เมืองไทยค่ะ

ถามว่าทำไมถึงเป็นข้าวโพด ?

ก็เพราะว่าข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอันดับหนึ่งของอเมริกาและเป็นพืชที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ (หรือว่าบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตร) ยักษ์ใหญ่ของโลกแข่งขันกันปรับปรุงพันธุ์กันอย่างเอาเป็นเอาตายนั่นเองค่ะ  และก็อีกอย่างหนึ่งข้าวโพดเป็นพืชที่ดิฉันกำลังทำงานวิจัยอยู่ 

ถามว่า ดิฉันเป็นใครถึงกล้าเขียนเรื่องนี้ 
ตอบว่า ดิฉันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดในแคนาดาค่ะ 

ถามว่า เรียนที่แคนาดาแล้วทำไมถึงกล้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับอเมริกา ก็เพราะว่าระบบการเกษตรที่แคนาดาและอเมริกานั้นไม่แตกต่างกัน และดิฉันก็มีประสบการณ์ในการปลูกข้าวโพดจริงที่นี่มาสามปีแล้ว ก็เลยพอมีความคิดเห็นในเรื่องนี้บ้าง สำหรับบทความนี้จะไม่มีประเด็นเรื่องสุขภาพเพราะดิฉันไม่มีความรู้ ขอเข้าเรื่องเลยละกันค่ะ

พันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกที่นี่ (อเมริกาและแคนาดา) เป็นพันธุ์ลูกผสมเดี่ยว (F1) ทั้งหมด เอฟวันเริ่มปลูกมาตั้งแต่ช่วงปลาย 1960s ก่อนหน้านั้นเป็นพันธุ์ลูกผสมดับเบิ้ลครอส (1930s – 1960s) และก่อนหน้านั้นเป็นพันธุ์ผสมเปิด (ก่อน 1930s) ซึ่งพันธุ์ผสมเปิดนี่เองที่เป็นพันธุ์ที่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเคยปลูก

แต่เนื่องจากนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดในอเมริกาในช่วงต้น 1900s ได้ค้นพบความดีเด่นของลูกผสม (heterosis) ดังนั้นสายพันธุ์ที่ปลูกเชิงการค้าจึงถูกเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเมืองไทยเราก็ได้นำความรู้ด้านนี้มาใช้ พันธุ์ข้าวโพดบ้านเราตอนนี้ก็เลยเป็นเอฟวันเหมือนที่นี่

ถ้าบ้านเราจะถามว่า แล้วทำไมเกษตรกรเก็บเมล็ดจากต้นที่เป็นพันธุ์จากบริษัทไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปไม่ได้ ?

เพราะบริษัทเอาเปรียบเกษตรกร หรือ ก็ขอตอบว่าจริง ๆ แล้วบริษัทใช้หลักวิชาการมาเป็นจุดขาย เมล็ดพันธุ์ชนิดเอฟวันให้ผลผลิตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเมล็ดพันธุ์แบบอื่น ถ้าท่านเก็บเมล็ดจากเอฟวันจะได้พันธุ์ที่เป็นเอฟทู (F2) ผลผลิตที่ได้ก็จะสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิดแต่จะต่ำกว่าเอฟวันค่ะ อันนี้เป็นไปตามหลักพันธุศาสตร์

ถามว่า ทำไมเมล็ดพันธุ์แพงจังเลย

ถ้าท่านศึกษาทางด้านปรับปรุงพันธุ์พืชเหมือนดิฉัน ท่านจะไม่บ่นเรื่องค่าเมล็ดพันธุ์แพงเลยค่ะ โปรแกรมปรับปรุงพันธุ์พืชของแต่ละบริษัท หรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก ต้นทุนเหล่านี้มาจากระยะเวลาที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ นับสิบปีค่ะกว่าจะได้พันธุ์มาให้เกษตรกรปลูก (ถ้าใช้วิธีมาตรฐาน)

ต้นทุนมาจากค่าแรงนักปรับปรุงพันธุ์ เทคนิเชียนหรือคนงานที่ทำงานในแปลง ต้นทุนจากโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้บริหารจัดการโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ โปรแกรมที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล (แพงมากค่ะ) ต้นทุนจากอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลที่ใช้เช่น ค่าอุปกรณ์จีพีเอส ค่ารถไถ รถปลูก รถพ่นสารเคมี รถพ่นปุ๋ย รถเก็บเกี่ยว ต้นทุนจากการจัดการเมล็ดพันธุ์ จากการทดสอบพันธุ์ในหลายๆ สถานที่ และอื่นๆ ค่ะ

ดังนั้นการที่บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงนี่สมเหตุสมผลแล้วค่ะ ยิ่งถ้าใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่นการตัดแต่งยีน หรือการใช้โดรนในโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์ด้วยนี่ เพิ่มต้นทุนไปอีกเยอะเลยค่ะ อย่างปีนี้ที่แล็บที่ดิฉันอยู่ได้เริ่มทำงานวิจัยโดยใช้โดรน เซ็นเซอร์บางตัวที่ติดกับกล้องถ่ายภาพที่ใช้กับโดรนตัวนึงราคาเทียบเป็นเงินไทยแล้วสูงกว่าสองแสนบาทค่ะ ซอฟแวร์ที่ใช้จัดการข้อมูลในโดรนราคาต่อปีนี่ก็สูงกว่าสองแสนห้าหมื่นบาทค่ะ นี่แค่ยกตัวอย่างย่อ ๆ ไม่รวมค่าโดรนหรือเซนเซอร์ตัวอื่น ๆ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ อีกจิปาถะ ดังนั้นต้นทุนการผลิตเมล็ดพันธุ์จึงสูงค่ะ

แล้วจีเอ็มโอมาได้ยังไง ?

มะเขือเทศเป็นพืชชนิดแรกที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมในปี 1982 แต่ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย (หรือแม้กระทั่งคาโนล่า) เป็นพืชจีเอ็มกลุ่มแรกที่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ โดยมีการขายเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์ในปี 1996 ทั้งในอเมริกาและแคนาดา (แคนาดาปลูกฝ้ายไม่ได้ค่ะ แต่หมายถึงว่าพืชจีเอ็มถูกปล่อยสู่เกษตรกรในปีเดียวกันทั้งในอเมริกาและแคนาดา) ซึ่งลักษณะที่ได้รับการตัดแต่งคือ การต้านทานยาปราบศัตรูพืช (ยกตัวอย่างเช่นไกลโฟเสท) และการต้านทานแมลงที่เราเรียกว่าพืชบีที (Bt crops) วิธีการตัดแต่งคือใส่ยีนที่ต้องการให้เข้าไปอยู่อย่างถาวรในพืชค่ะ

ในอเมริกา ข้อมูลปี 2013 ระบุว่า 85% และ 76% ของพื้นที่การปลูกข้าวโพดในอเมริกาเป็นการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอที่ต้านทานไกลโฟเสทและข้าวโพดบีทีตามลำดับ ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงเปอร์เซนต์การยอมรับข้าวโพดจีเอ็มโอของเกษตรกรในอเมริกาที่สูงมาก ซึ่งหมายความว่าข้าวโพดจีเอ็มโอสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอเมริกันมากกว่าข้าวโพดที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ

และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายถึงกล้าลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยด้านจีเอ็มโอเป็นจำนวนเงินมหาศาล จากข้อมูลนี้การปลูกพืชจีเอ็มนี่น่าจะสร้างกำไรให้เกษตรกรได้ดี

แต่ถ้ามองในแง่อื่นยกตัวอย่างเช่น ด้านสิ่งแวดล้อมก็มีผลด้านลบเกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือ มีรายงานการพบแมลงศัตรูพืชหลายชนิดที่ต้านทานพืชบีที และรายงานการพบวัชพืช 14 ชนิดที่ต้านทานไกลโฟเสท เกษตรกรจึงต้องใช้ Best management practices (BMPs) ในการควบคุมวัชพืช

นั่นคือภายในระยะเวลาแค่เกือบยี่สิบปีนับตั้งแต่มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ มีวัชพืชดื้อต่อไกลโฟเสทแล้วถึง 14 ชนิด ท่านว่ามากมั้ย ดิฉันว่ามากนะ จริงอยู่ถ้าท่านจะบอกว่าโดยธรรมชาติแล้วสิ่งมีชีวิตก็มีการวิวัฒนาการตัวเองให้อยู่รอด ซึ่งก็คือวัชพืชมีการดื้อต่อยาปราบศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ อยู่แล้ว

แต่ท่านกล้าปฏิเสธไหมว่า พืชจีเอ็มโอที่ต้านทานไกลโฟเสทไม่ได้ช่วยเร่งอัตราการดื้อไกลโฟเสทในระดับที่สูงมาก ดิฉันว่าท่านไม่กล้านะ

การที่เราใช้เฉพาะสารเคมีใดสารเคมีหนึ่งในการกำจัดศัตรูพืชเป็นระยะเวลานาน ๆ นั้นเป็นการเร่งการวิวัฒนาการการดื้อยาของวัชพืชค่ะ

ข้าวโพดที่ปลูกในอเมริกาส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ หมายถึงว่าเป็นข้าวโพดที่ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ทานโดยตรง ซึ่งเมล็ดหรือทั้งต้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้ถูกนำไปใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือใช้เมล็ดเพื่อผลิตเอธานอล หรือผลิตคอร์นซิรัป ซึ่งเป็นสารตั้งต้นให้ความหวานในผลิตภัณฑ์อาหารแทบจะทุกประเภท
ดังนั้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่อาหารที่คนที่นี่ทานจะต้องเกี่ยวข้องกับข้าวโพดจีเอ็ม

อเมริกามีปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลง การตัดแต่งทางพันธุกรรมจึงช่วยเกษตรกรอเมริกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งเกษตรกรแต่ละรายปลูกพืชครั้งละเป็นพันเอเคอร์ ดังนั้น การลดภาระการฉีดพ่นสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของเกษตรกรอเมริกัน พืชที่ต้านทานไกลโฟเสทและพืชบีทีจึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรที่นี่

**รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรอเมริกันเกิดจากการสูญเสียผลผลิตที่ลดลงจากการทำลายหรือผลของศัตรูพืชทั้งที่เป็นวัชพืชหรือโรคหรือแมลงทั้งหลาย 

หมายความว่า การตัดแต่งพันธุกรรมช่วยลดความสูญเสียนี้ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชแต่ประการใด เพราะไม่มียีนเด่นที่ควบคุมผลผลิตพืช จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีนักวิจัยท่านใดสามารถระบุยีนเด่นนี้ได้ (ก็เพราะว่ามันไม่มี) จึงไม่สามารถตัดแต่งยีนเพิ่มผลผลิตเข้าไปในพืชได้

ดังนั้นท่านทั้งหลายกรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า ยีนที่ได้รับการตัดแต่งจะเพิ่มผลผลิตพืชโดยตรง ซึ่งไม่ถูกต้อง 

ที่ถูกต้องก็คือ ยีนที่ได้รับการตัดแต่งจะมีผลกับศัตรูพืชเช่นวัชพืชหรือโรคหรือแมลงเป็นต้น ถ้าท่านปลูกพืชต้านทานไกลโฟเสทท่านก็ต้องฉีดพ่นไกลโฟเสทเท่านั้น วัชพืชจะตายแต่ไม่กระทบกับพืชของท่าน

เนื่องจากปัญหาเรื่องการดื้อยาของพืชหรือโรคหรือศัตรูพืชที่เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นนำในอเมริกาจึงได้เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับอาร์เอ็นเอไอ (RNAi) โดยหวังว่า อาร์เอนเอขนาดเล็กที่ใส่เข้าไปในพืชจะไปขัดขวางการสร้างโปรตีนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของศัตรูพืชเหล่านั้น ทำให้ศัตรูพืชเหล่านั้นตาย

ซึ่งโดยความหมายแล้ว อาร์เอ็นเอไอ ก็คือเป็นอีกประเภทหนึ่งของจีเอ็มโอ ที่ใช้หลักการทำงานแตกต่างจากการสร้างพืชต้านทานไกลโฟเสทหรือพืชบีทีที่เราทราบกัน เทคโนโลยีนี้ดิฉันมองว่าน่ากลัวกว่าการตัดแต่งพันธุกรรมแบบปกติอีกค่ะ

ในอเมริกาพืชเด่นที่เป็นจีเอ็มโอ คือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย สำหรับข้าวนั้นอเมริกาก็ปลูกเหมือนเมืองไทย แต่ข้าวที่ปลูกในอเมริกาไม่ใช่ข้าวจีเอ็มเนื่องจากประเทศลูกค้าของอเมริกาไม่รับซื้อข้าวจีเอ็มโอ (ข้อมูลนี้ดิฉันได้รับการยืนยันโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกข้าวในรัฐมิซซูรี่ในอเมริกา ดิฉันไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากอ้างอิงคำพูดของ ดร. ท่านนี้)

นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไม่ได้ทำงานกับข้าวค่ะ (ก็บริษัทเหล่านี้สนใจเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย) แต่เป็นบริษัทเฉพาะบริษัทอื่นที่ทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอเมริกา สำหรับฝ้ายที่ปลูกในอเมริกาบางที่ก็ต้องได้รับการฉีดพ่นสารเคมีในปริมาณและความถี่ที่มาก ซึ่งก็เกิดจากการดื้อยาของแมลงศัตรูฝ้ายเอง (ข้อมูลจากการเยี่ยมชมไร่ฝ้ายในรัฐมิซซูรี่เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ของดิฉันเอง)

ดังนั้นขอถามท่าน ๆ ทั้งหลายว่า เมืองไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องปลูกพืชจีเอ็ม เมืองไทยมีศัตรูของพืชอะไรที่รุนแรงถึงขนาดจำเป็นต้องใช้จีเอ็ม ?

อันนี้ดิฉันสงสัยมาก เหตุผลที่ดิฉันเห็น ๆ ก็คือท่านบอกว่าอยากใช้จีเอ็มเพราะว่าเราล้าหลังประเทศอื่น ๆ ทำไมท่านไม่คิดว่าประเทศอื่นเค้ามีภูมิต้านทานน้อยกว่าเรา 

การที่เรามีความสามารถในการยืนหยัดไม่ใช้จีเอ็มมาได้จนถึงทุกวันนี้นี่คือความภูมิใจของคนไทยนะ


จริงอยู่นักวิจัยไทยอาจจะอยากทำงานวิจัยด้านนี้ ขอถามนักวิจัยหน่อยว่าท่านอยากสร้างพืชอะไรให้เป็นพืชจีเอ็มโอ เมื่อท่านสร้างพืชนั้นได้และเผยแพร่พันธุ์ให้เกษตรกรแล้วผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรจะขายให้กับใคร ในเมื่อจุดประสงค์คือไม่ได้ปลูกเพื่อทานเอง แต่คือเพื่อการค้า 

จริง ๆ แล้วหน้าที่นี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิจัยด้วยซ้ำ แต่เป็นหน้าที่ของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งหลาย แล้วบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติที่มีในไทยก็ไม่ได้ทำงานกับข้าวแต่เป็นข้าวโพด

ดังนั้นหลัก ๆ เลยที่เราต้องมองว่าจะได้รับผลจากการปลูกจีเอ็มโอ ก็คือการปลูกข้าวโพด ท่านอยากปลูกข้าวโพดแข่งกับอเมริกาหรืออย่างไร ท่านฝันอยู่หรือเปล่าคะ หรือท่านคิดว่าบริษัทจะเอายีนต้านทานไกลโฟเสทมาใส่ในข้าว ก็อย่างที่เพิ่งถามท่านไป แล้วท่านจะขายข้าวจีเอ็มให้ใครในเมื่อขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกายังไม่ทำงานกับข้าวเล กลับกลายเป็นบริษัทอื่นแทนซึ่งก็ไม่ทำข้าวจีเอ็มโออีกเพราะส่งออกไม่ได้ ท่านต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคข้าวคือมนุษย์ แต่ผู้บริโภคข้าวโพดคือสัตว์ค่ะ (เราไม่พูดถึงข้าวโพดหวานที่เป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์นะ)

ดิฉันไม่คิดว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะลงทุนด้านการวิจัยพืชจีเอ็มที่ไม่ใช่พืชที่ปลูกในอเมริกา สาเหตุเพราะต้องลงทุนมหาศาล ถ้าตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นมีเฉพาะเกษตรกรในไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเขตร้อนเหมือนกันก็ไม่น่าจะคุ้มกับการลงทุนของบริษัทค่ะ บริษัทเค้ามีเทคโนโลยีจีเอ็มโอสำหรับพืชในอเมริกาคือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย ดิฉันมองว่าบริษัทคงจะเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้กับพืชพวกนี้ในเมืองไทย คงไม่เริ่มทำกับพืชชนิดอื่นที่ไม่มีในอเมริกา ดิฉันอาจจะผิดก็ได้แต่นี่คือสิ่งที่ดิฉันเชื่อ ดังนั้นการที่เรามุ่งประเด็นไปยังข้าวโพดน่ะถูกแล้ว เพราะเราปลูกข้าวโพดมากกว่าถั่วเหลืองและฝ้าย

เมื่อมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการจัดการเรื่องผลผลิต ถ้าท่านจะส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ ท่านต้องมั่นใจว่าผลผลิตล็อตนั้นไม่มีการปนเปื้อนจีเอ็ม ถ้าถูกตรวจพบว่าปนเปื้อนแม้เพียงนิดเดียวนี่จะถูกปฏิเสธจากลูกค้าทันที

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างคาร์กิล ในรัฐอิลลินอย ที่ดิฉันไปเยี่ยมชมเมื่อเดือนกันยายนปีนี้เล่าว่า ถ้าเรือบรรทุกเมล็ดพืชเช่น ข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของเมล็ดพืชที่เป็นจีเอ็มโอแม้เพียงนิดเดียว เรือบรรทุกลำนั้นจะถูกปฏิเสธทันที ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทเป็นอย่างมาก บริษัทจึงต้องคลีนแล้วคลีนอีกเพื่อให้แน่ใจว่าเรือบรรทุกสะอาดที่สุดก่อนบรรจุเมล็ดที่ไม่ใช่จีเอ็ม


ดิฉันเห็นโปสเตอร์ในเฟซบุ๊คที่เผยแพร่โดย หน่วยงานด้านงานวิจัยที่มีจำนวนนักวิจัยจบปริญญาเอกต่อตารางเมตรที่สูงที่สุดในประเทศไทย บอกว่าพืชจีเอ็มโอกับพืชไม่ใช่จีเอ็มโออยู่ร่วมกันได้ กล่าวคือสามารถควบคุมละอองเกสรของพืชจีเอ็มไม่ให้ปนเปื้อนกับที่ไม่ใช่พืชจีเอ็มได้ (ท่านน่าจะหมายถึงเฉพาะข้าวโพด) โดยการปลูกพืชคนละเวลาเอย ปลูกโดยเว้นระยะห่างเอย หรืออะไรเอย

(จริงๆ ดิฉันตลกโปสเตอร์นี้มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากหน่วยงานเช่นท่าน ในทางปฏิบัติจริงไม่ได้ง่ายเหมือนเขียนโปสเตอร์ค่ะ ท่านเคยปลูกพืชในเชิงการค้าบ้างหรือไม่)


http://imgur.com/ThKIK5o

โอเค สมมติว่า ถ้าท่านป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนระหว่างพืชจีเอ็มโอและที่ไม่ใช่จีเอ็มโอได้ แล้วท่านจะบริหารจัดการอย่างไรหลังจากท่านได้ผลผลิตแล้ว หรือท่านคิดว่าเอาให้มีจีเอ็มให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาคิดเรื่องการบริหารจัดการ ดิฉันไม่คิดแบบท่านนะ

ท่านต้องแยกโรงงานรับซื้อเมล็ดหรือไม่ ? หมายถึงว่าโรงงานนี้รับเฉพาะเมล็ดจีเอ็ม โรงงานนี้รับเฉพาะเมล็ดไม่ใช่จีเอ็ม หรือว่าจะเป็นโรงงานเดียวกัน แต่แยกส่วนกันในโรงงาน รถบรรทุกที่ขนส่งจีเอ็มกับไม่ใช่จีเอ็มต้องเป็นคันเดียวกันหรือไม่ ? รถเก็บเกี่ยวต้องแยกคันกันหรือไม่ แล้วเกษตรกรล่ะต้องได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องพืชจีเอ็มขนาดไหน ? ท่านอย่าลืมว่าเกษตรกรนี่สำคัญที่สุดนะคะ เกษตรกรต้องมีความรู้พอที่จะรับมือกับเทคโนโลยีพวกนี้ได้

สิ่งที่ดิฉันเกรงก็คือ ถ้าบ้านเราใช้จีเอ็มโอแล้วจะไปเร่งอัตราการต้านทานต่อพืชจีเอ็มให้กับโรคหรือแมลงหรือวัชพืช จากที่ปัญหาน้อยจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ จากที่เคยส่งออกผลผลิตได้ง่าย ๆ ก็จะกลายเป็นได้ยากขึ้น หรือแม้กระทั่งการจำกัดจำนวนชนิดพืชที่ส่งออก

ต้นทุนของเกษตรกรที่สูงขึ้นจากการปลูกจีเอ็มโอจะคุ้มกับผลผลิตที่สูงขึ้นจริงหรือ  การใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มนี่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแน่นอนค่ะ หมายถึงว่าราคาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยเท่าตัว ก็บริษัทลงทุนมหาศาลนี่ หรือท่านจะบอกว่ามันหักล้างกับการใช้ยาปราบศัตรูพืชคือไกลโฟเสทที่น้อยลง ทำให้เกษตรกรมีกำไรที่มากขึ้น อย่างที่ดิฉันบอก ถ้าท่านคิดในระยะสั้นคือช่วงปีแรก ๆ ของการปลูกอาจจะจริง แต่ถ้าระยะยาวล่ะ นี่คือดิฉันสงสัยนะ

ท่านทราบความแตกต่างอัตราการดื้อต่อสารเคมีของพืชในเขตร้อนอย่างในบ้านเราและพืชในเขตอบอุ่นอย่างอเมริกามากแค่ไหน ท่านมีงานวิจัยในเขตร้อนรองรับมากแค่ไหนคะ ท่านทราบได้อย่างไรว่าอัตราเร็วมันเท่ากัน การใช้งานจริงในทางเกษตรไม่สามารถใช้ผลงานวิจัยจากในแล็บหรือในกรีนเฮ้าส์มารองรับนะคะ ท่านน่าจะทราบดี ถ้าเกิดดื้อไกลโฟเสทขึ้นมาก็แค่รอบริษัทแม่ในอเมริกาพัฒนาสารเคมีชนิดใหม่หรือจีเอ็มตัวใหม่ขึ้นมากระนั้นหรือ ท่านคงตอบว่าใช่ แล้วเราจะเริ่มใช้มันไปทำไมถ้าต้องพึ่งเค้าอย่างนี้ตลอดไป ดังนั้นดิฉันขอถามให้คิดหน่อยว่าถ้ามีการปลูกจีเอ็มโอจริง เกษตรกรคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงแน่หรือ หรือว่าใครที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ??

ถ้าเทียบกับความเสี่ยงทางทรัพยากรธรรมชาติแล้วมันคุ้มหรือคะ บ้านเราเป็นเมืองร้อน ความหลากหลายทางธรรมชาตินี่อเมริกาเทียบกับบ้านเราไม่ได้นะคะ บ้านเค้าโดยสภาพพื้นที่นี่เหมาะกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ถ้าท่านไปเห็นสภาพรัฐในมิสเวสต์ซึ่งเป็นรัฐเกษตรกรรมหลักของอเมริกาอย่างที่ดิฉันเห็นมา 7 รัฐในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่านจะทราบว่าโดยสภาพพื้นที่แล้วเค้าปลูกพืชได้ไม่หลากหลายอย่างบ้านเรา เค้าถึงต้องปลูกเฉพาะพืชบางตัว รัฐบาลกลางของอเมริกาถึงขนาดมีฟาร์มบิลเพื่อสนับสนุนเกษตรกรอเมริกันให้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง แล้วท่านว่าอย่างนี้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์จะได้ประโยชน์ขนาดไหนคะ

ท่านทราบมั้ยว่าจริง ๆ แล้วปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ของไทยคืออะไร คือไคลเมทเชนจ์ คือปัญหาโลกร้อน ท่านสังเกตมั้ยว่าเมืองไทยแล้งขึ้นทุกปี ๆ ซึ่งดิฉันก็ขอทายว่าจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในขณะที่แคนาดาได้รับผลประโยชน์จากโลกร้อน เพราะพืชได้รับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและยาวนานขึ้นทำให้พืชให้ผลผลิตที่สูงขึ้น

แต่เกษตรกรไทยกลับได้ผลลบจากโลกร้อน น้ำมีไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ฝนตกในระยะเวลาที่สั้นลง ดังนั้นท่านควรจะสนใจหาแนวทางจัดการกับปัญหาโลกร้อนในไทย ไม่ใช่พยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับพืชจีเอ็มในยุครัฐบาลทหาร หรือท่านคิดว่ามียีนที่ช่วยให้ทนแล้งได้จริง ท่านต้องเข้าใจสรีรวิทยาของพืชไร่ให้ดี (crop physiology, not plant physiology) เมื่อการขาดน้ำถึงระดับ ๆ หนึ่ง ต่อให้ยีนทุกชนิดที่มีในพืชนั้นทำงานก็ช่วยพืชสร้างผลผลิตไม่ได้ค่ะ

ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของข้าวโพดในแต่ละประเทศเกิดจาก genetic improvement และการบริการจัดการด้านการปลูกในสัดส่วนประมาณห้าสิบต่อห้าสิบ การบริหารจัดการด้านการปลูก ก็เช่นการพ่นยา การใส่ปุ๋ย เป็นต้น สำหรับ genetic improvement นี่ทำให้พืชทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง (stress) ได้มากขึ้น กล่าวคือ พืชทนทานต่อความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นได้ ถึงแม้ผลผลิตต่อต้นจะลดลงแต่สุดท้ายจำนวนต้นต่อหน่วยพื้นที่จะหักล้างทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้นท่านปรับปรุงพันธุ์โดยเน้นวิธีมาตรฐานน่ะถูกแล้วค่ะ

สำหรับประเด็นเรื่องการฟ้องร้องกรณีที่บริษัทฟ้องร้องเกษตรกรว่าลักลอบเก็บเมล็ดของพืชจีเอ็มไว้ปลูกในฤดูกาลหน้านั้น เหตุการณ์ฟ้องร้องนี้มีเกิดขึ้นบ้างและเข้าใจว่าบริษัทชนะในทุกคดี เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรมอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้ขายเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรต้องเซ็นต์สัญญากับบริษัทก่อนปลูกว่าจะไม่เก็บเมล็ดที่ได้ในฤดูกาลนี้ไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งเท่านั้น

หากบริษัทพบว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีจีเอ็มโอเป็นจำนวนมากที่เกษตรกรปลูกไม่ได้มาจากการซื้อจากบริษัท บริษัทจะดำเนินการฟ้องร้องเกษตรกรทันที น่าเป็นห่วงเกษตรกรไทยในเรื่องการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ คือหมายถึงว่าเกษตรกรต้องรับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างถ้าไม่ทำตามสัญญานั้น

จริง ๆ แล้วงานด้านการเกษตรขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเป็นสำคัญนอกเหนือจากการมีพันธุกรรมที่ดี อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นกับบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ว่าแทนที่จะลงทุนด้านจีเอ็มเป็นหมื่นๆ ล้านเหรียญ ทำไมไม่ทำงานวิจัยเรื่องการปลูก cover crops ซึ่งก็คืองานทาง cropping systems ซึ่งดิฉันเห็นด้วย งานที่บริษัททั้งหลายทำอยู่นี่ดูจะสวนทางกับธรรมชาติค่ะ ประชาชนอย่างเรา ๆ หรือเกษตรกรไม่มีสิทธิ์เลือกซักเท่าไหร่ มีบริษัทหรือนักวิจัยเป็นผู้ชี้นำทุกอย่าง แต่เพราะระดับความรู้หรือการเข้าถึงความรู้ที่ไม่เท่ากันทำให้เราหลงไปกับการชักนำของนักวิจัยและบริษัท

จริงๆ ดิฉันไม่มีปัญหาเรื่องการรับประทานพืชจีเอ็มโอ เพราะทราบว่าตัวเองก็ทานอยู่ทุกวันที่นี่ แต่ถ้าจะให้ปลูกในเมืองไทย ดิฉันไม่อยากให้ปลูกค่ะ ถ้าท่านปลูกแล้วท่านไม่มีวันย้อนกลับหลังหันได้เลย

ก็หวังว่าบทความนี้จะสื่อถึงท่าน ๆ ได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตามใคร เราไม่จำเป็นต้องกลัวที่ใครจะว่าเราล้าหลังด้านเทคโนโลยี เพราะเค้าไม่มีทรัพยากรธรรมชาติแบบเราเค้าถึงต้องพึ่งเทคโนโลยี เรื่องนี้มองเฉพาะในแง่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ค่ะ

ปิดท้าย ดิฉันไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ ทั้งสิ้นกับการเขียนบทความนี้ จริง ๆ นี่ดิฉันเสี่ยงต่อการถูกหมั่นไส้ของฝ่ายที่สนับสนุนให้มีจีเอ็มโอในไทยนะ แต่ตรองดูแล้ว ในฐานะคนไทยที่รักผืนแผ่นดินไทย เขียนดีกว่าไม่เขียนค่ะ ดิฉันใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเขียนบทความนี้ (ก็ต้องถือว่าโชคดีที่ดิฉันหาเวลาได้) ถ้าท่านอ่านจนจบแล้วอยากแชร์ ดิฉันอนุญาตค่ะ

Chutinan Jaroenchai

--------------

รูปด้านล่างนี้ไม่เกี่ยวกับบทความข้างบน

ภาพ จาก 9gag ซึ่งแม้จะดูขำ ๆ แต่เป็นเรื่องจริงหรือเท็จ เขาก็ไม่บอกไว้ ดูเล่น ๆ ไว้แล้วกันครับ

แต่การที่ 9gag นำเสนอ ก็ไม่ได้แปลว่า จะเป็นเรื่องทำล้อเลียนเสมอไปนะครับ เรื่องจริงที่ 9gag เอามาโพสต่อเพื่อฮาก็มีเยอะแยะ

ภาพนกไม่ชอบกินจีเอ็มโอ จาก 9gag


http://9gag.com/gag/axNQjz1/birds-wont-eat-gmo-corn

ลิกอ่าน แตกประเด็นต่อจากอาจารย์เจษฎา กรณีมะละกอไทยถูกญี่ปุ้นตีกลับ

ลิกอ่าน ควรจะเชื่อ อาจารย์เจษฎา เรื่องพืชจีเอ็มโอหรือไม่






2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากๆครับ สําหรับความรู้ด้าน GMO ทําให้เข้าใจได้ง่าย เเชร์ครับ

    ตอบลบ
  2. เรื่องดีๆ เรื่องน่ารู้ มากกว่าเรื่องการมีชู้ของดาราเยอะ กรุณาอ่านและทำความเข้าใจ เพราะมันช่างอยู่ใกล้ตัวใกล้ปากเราเหลือเกิน

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก