วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แก้วสรร สอนมวย วีรพัฒน์ พร้อมแนะทางรอดยิ่งลักษณ์






บังเอิญได้เจอบทควมที่อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เขียนหักล้างความเห็นของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระแต่ปาก แต่ความจริงไม่อิสระตามที่ชอบอวดอ้าง ในกรณีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ซึ่งนายวีรพัฒน์ อ้างว่า ยิ่งลักษณ์ อยู่ในระดับกำกับนโยบายของรัฐ จะมาเอาผิดและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ไม่ได้

ก่อนอื่นดูความเห็นของนายวีรพัฒน์ก่อนครับ

“เรื่องคดีจำนำข้าว...ต้องถามนายวิษณุ เครืองาม ว่า อะไรคือเรื่องตามนโยบาย และอะไรคือการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะให้ตัวนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยตัวเองทุกเรื่องมันเป็นไปไม่ได้ จะให้ลงไปชั่งน้ำหนักข้าวด้วยอย่างนั้นหรือ และอะไรคือการปล่อยปละละเลยให้เสียหาย ต้องขีดเส้นให้ได้ว่าอะไรคือการกำกับดูแลเชิงนโยบายและอะไรคือการปฏิบัติจริง

การบอกว่าประมาทเลินเล่อร้ายแรงนั้น เท่าที่ดูคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ลงมือปฏิบัติเองทั้งนั้น หากมีการทุจริตจริงก็ต้องเอาผิดกับคนปฏิบัติที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่นายกฯ ที่กำกับดูแลเชิงนโยบาย ต้องระวังขีดเส้นกันให้ดี ไม่เช่นนั้นคนที่เป็นนายกฯ จะถูกเอาผิดได้ทุกเรื่อง..."


วีรพัฒน์ ปรียวงศ์ ...20 พฤศจิกายน 2558




-------------------

เฉียบคม !!  อ. แก้วสรร สอนมวย วีรพัฒน์ ละอ่อนนักกฎหมายหางแดง

คดีจำนำข้าวนี้ในส่วนคดีอาญานั้น ผมก็เห็นตรงกับคุณวีรพัฒน์ว่า ป.ป.ช.และอัยการไปเอาผิดจะให้คุณยิ่งลักษณ์ติดคุกร่วมกับคุณบุญทรงได้อย่างไร มีหลักฐานมัดแน่นว่าเธอสมคบด้วยรู้เห็นด้วยกับเขาที่ตรงไหน นอกจากโผล่หน้าให้สัมภาษณ์ทำหน้าตาฉลาดเหมือนรู้เรื่องด้วยเท่านั้นเอง

แต่พอมาถึงคดีแพ่งที่ภาระความเสียหายจะมาตกที่ภาษีประชาชนหลายแสนล้านบาทนั้น ผมกับเพื่อนในกลุ่ม “ไทยสปริง” เห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

ผมก็เลยระดมรายชื่อเสนอให้ท่านนายกฯ ลงมือเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง พอท่านนายกฯ ท่านเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของท่านจริง และลงมือตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิด ท่านก็โดนป้ายร้ายมาตลอดว่า กลั่นแกล้งเขา และต่อไปนี้จะไม่มีใครกล้าช่วยชาวนาอีก มาถึงคำวิพากษ์ของคุณวีรพัฒน์ข้างต้นนี้ก็หนักขึ้นไปอีกว่า คดีนี้นอกจากจะทำให้ชาวนาซวยแล้ว ก็ยังจะทำให้นายกฯ ในอนาคตซวยหนักถูกเอาผิดได้ทุกเรื่องอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่นายกฯ เป็นแค่ “ผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย ” เท่านั้น

ผมฟังแล้วเห็นว่าท่านวีรพัฒน์ตีขลุมง่ายไปหน่อยและไม่ใช้กฎหมายสมตามวิชาชีพ จึงขอทัดทานในทำนองถาม-ตอบบ้าง ดังต่อไปนี้


“การกระทำในทางรัฐบาล” กับ “การกระทำในทางปกครอง”

ถาม พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ถือรัฐมนตรีเป็น “เจ้าหน้าที่” ด้วยหรือ

ตอบ รัฐมนตรีทุกชนิด ทั้งนายกฯ, รองนายกฯ, รัฐมนตรีว่าการ, รัฐมนตรีช่วย ทุกตำแหน่ง ถือเป็นรัฐมนตรีและเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น แต่คนพวกนี้จะรับผิดก็ต่อเมื่อกระทำการในทางปกครองแล้วเสียหายต่อราชการเท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำในทางรัฐบาลจะไม่มีกฎหมายเอาผิดได้



ถาม อะไรคือ “การกระทำในทางรัฐบาล”

ตอบ มันเป็นการกระทำด้วยความชอบธรรมทางการเมือง ตามบทบาทที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การที่ ครม.ยิ่งลักษณ์มีมติกำหนดโครงการรับจำนำข้าวทั่วประเทศทุกเมล็ดในราคาสูงลิ่ว เกวียนละ 15,000 บาทนั้น การมีมติตรงนี้เป็นการกระทำทางรัฐบาล ไม่มีใครเอาผิด ครม.ได้ทั้งสิ้น



ถาม แล้วหมายความว่า เมื่อนโยบายนี้ผ่านสภาแล้ว รัฐบาลก็ทำได้ทุกอย่าง แม้จะเห็นความชิบหายอยู่ซึ่งหน้าก็หยุดไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

ตอบ คำถามนี้คุณถามโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องใครทุจริตใช่ไหม?
ตอบ ครับ..ผมสมมุติเลยว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่าใครทุจริตอะไรหรือไม่ที่ตรงไหน แต่ในส่วนความชิบหายขาดทุนยับเยินนั้นเธอรู้ดีตลอดมา เมื่อผ่านฤดูการผลิตไป 1 ปี ทั้ง ป.ป.ช. ทั้ง สตง. ทั้งสมาคมค้าข้าวต่างก็พากันเตือนตรงถึงตัวนายกฯ เตือนกันระงมไปหมดว่าต้องเลิก หรือไม่ก็ต้องลดราคาจำนำลง แต่เธอก็ไม่ยอมหยุด !

ผมถามตรงนี้เลยว่า ความดื้อรั้นไม่ยอมหยุดทั้ง ๆ ที่เห็นความเสียหายบานปลายตลอดเวลาอยู่ตรงหน้าอย่างนี้ นายกฯ ที่ชื่อยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในความเสียหายนี้หรือไม่ ?



ถาม คุณวีรพัฒน์เขาว่าอย่างไรล่ะครับในปัญหาที่คุณเจาะจงแล้วอย่างนี้
ตอบ เขาบอกว่าต้องขีดเส้นให้ชัดเจนว่าอะไรคือการปล่อยปละละเลยของผู้กำกับดูแลทางนโยบาย?


ถาม คุณวีรพัฒน์ตอบอย่างนี้มันมั่วจริง ๆ เพราะอำนาจนายกรัฐมนตรีคืออำนาจ "บังคับบัญชา” ส่วนราชการทั้งหมด ไม่ใช่แค่ "กำกับดูแล” อย่างที่เขาว่า

นายกฯ ได้นโยบายจากสภาแล้วจะทำหน้าตายว่า ตนมีหน้าที่แค่กำกับดูแลนโยบาย แล้วปล่อยให้รัฐมนตรีพาณิชย์ และเจ้าหน้าที่อื่นทำชิบหายอะไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบไม่ได้ ตำแหน่งนายกฯ ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างในราชการบริหาร คุณวีรพัฒน์ต้องดูกฎหมายปกครอง ไม่ใช่ดูแค่รัฐธรรมนูญ แล้วมั่วออกมาอย่างนี้ ความรับผิดชอบตามกฎหมายปกครองของนายกฯในโครงการรับจำนำข้าว



ถาม นายกฯ ที่ชื่อยิ่งลักษณ์ มีอำนาจหน้าที่ใดบ้างในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว

ตอบ อำนาจแรกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คืออำนาจบังคับบัญชาทุกส่วนราชการในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจเหมือนกับเป็น ผบ.หน่วยทหารเลย ที่หน่วยของตนทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ผบ.หน่วยก็ต้องรับผิดชอบหมด นายกฯ ก็เหมือนกัน เมื่อต้องรับผิดชอบหมดก็ต้องสั่งได้หมด หมดทุกส่วนราชการทุกระดับ และหมดทุกเรื่องและทุกเวลา

นายกฯ นอนดูทีวี เห็นเจ้าหน้าที่อุทยานไล่รื้อรีสอร์ตที่รุกอุทยานตอนกลางดึกจนแขกเหรื่อที่เข้าพักเดือดร้อนยืนหนาวสั่นอยู่กลางป่า อย่างนี้นายกฯ วิทยุสั่งโดยพลันให้หยุดแล้วให้รื้อตอนเช้าก็ได้ สั่งได้ทั้งนั้น ไม่ว่าผิดนโยบาย ผิดกฎหมาย เสียหายราชการ ใช้อำนาจไม่เหมาะสม ก็สั่งได้ทั้งสิ้น ไม่ได้กำกับแต่เพียงนโยบายอย่างที่คุณวีรพัฒน์พูดเลย

เรื่องจำนำข้าวก็เหมือนกัน นอกจากอำนาจบังคับบัญชาทุกปัญหาทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการแล้ว ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจโดยเฉพาะเจาะจงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวด้วย มีหน้าที่กำหนดและติดตามผลในโครงการตลอดเวลา อำนาจนี้แม้เธอจะให้รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทน แต่ความรับผิดชอบก็ยังติดอยู่กับตำแหน่งนายกฯ อยู่เหมือนเดิม ทำให้เธอต้องรู้เห็นติดตาม และต้องได้รับรายงานอยู่ตลอดเวลาด้วย



ถาม นั่นคือ "ความรับผิดชอบ” แล้ว “ความรับผิด” ล่ะครับ เกิดเสียหายอะไรที่ไหนในราชการ นายกฯ ต้องรับผิดชอบด้วยทุกเรื่องเลยหรือ

ตอบ ไม่ใช่รับผิดไปหมดอย่างนั้น มันต้องมีปัญหาในส่วนราชการเกิดขึ้นก่อนแล้วนายกฯ รู้หรือควรได้รู้ แล้วละเว้นหน้าที่ไม่ระงับยับยั้ง โดยมีความรับผิดอยู่ในจิตใจคือจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่แยแส ทั้งๆ ที่เห็นความเสียหายอยู่ตรงหน้า ปล่อยละเลยจนเกิดความเสียหายแก่ราชการ ตรงนี้จึงจะครบองค์ประกอบเกิดเป็นความรับผิดทางแพ่งของ “เจ้าหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ในความเสียหายนั้น


ถาม มีโทษทางอาญาด้วยไหม?
ตอบ ถ้ามีเจตนาทุจริต ก็โดนอาญาด้วย


ถาม โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีปัญหาอะไรไม่ถูกต้องบ้าง
ตอบ ข้อแรกที่สำคัญที่สุด คือความชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน แค่เช็คลิสต์ตัวแรกนี้เธอก็ตายแล้ว


ถาม เช็คลิสต์อะไร
ตอบ เช่นโครงการนี้มีมติ ครม.กำหนดวงเงินจำนำไว้ที่ 2 แสนล้านบาท หมายถึงว่าจำนำไปได้เรื่อย ๆ พอรวมยอดถึงสองแสนล้านบาทต้องหยุด !!

หยุดเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายข้าวต้องประเมินก่อนว่าควรทำต่อไปไหม ถ้าเห็นควรก็เสนอมาขอวงเงินรับจำนำเพิ่มอีก แต่ยิ่งลักษณ์กลับไม่ทำอย่างนั้นเลย



ถาม เขาทำอย่างไร

ตอบ เขาบอกว่าวงเงินนี้คือวงเงินแบบบัญชีเดินสะพัด เช่น รับจำนำมาแล้ว 1.9 แสนล้าน เหลือวงเงินอีก 1 หมื่นล้าน แต่พอขายข้าวเอาเงินเข้ามาได้ 4 หมื่นล้าน เขาก็กลับเอารายรับก้อนนี้มาบวก อ้างว่ายังมีวงเงินเหลืออีก 5 หมื่นล้าน แล้วก็รับจำนำต่อไปเรื่อย ๆ ทำอย่างนี้จนวงเงินรับจำนำทั้งหมดบานปลายไปเป็น 8 แสนล้าน แทนที่จะเป็น 2 แสนล้านตามที่ ครม.กำหนดไว้

นี่คือความผิดพลาดในวิธีปฏิบัติราชการอย่างชัดเจนที่คนชื่อยิ่งลักษณ์ต้องรู้ดี และต้องรับผิดชอบทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวว่า ทำไมถึงตุกติกไม่แยแสต่อระเบียบแบบแผน จนบ้านเมืองเกิดความเสียหายบานปลายได้ถึงขนาดนี้

จำนำข้าวเขาทำกันเป็นวงเงินเป็นคราวๆ ไป ทำแล้วก็ประเมินผลในตลาดว่า ราคาข้าวขยับขึ้นหรือไม่ จำเป็นต้องแทรกแซงต่อไปอีกหรือเปล่า วงเงินที่ให้มันไม่ใช่วงเงินกู้ มันไม่เหมือนธุรกิจโรงสีที่เปิดบัญชีเดินสะพัดขอวงเงินกู้จากธนาคารซื้อข้าวมาขายข้าวไปอยู่ทุกวัน นั่นมันคือธุรกิจค้าข้าวไม่ใช่ประกันราคาข้าว เข้าใจไหม ที่อธิบายมานี่มันยากเกินสติปัญญาไปหรือเปล่าไม่ทราบ?



ถาม แต่ในที่สุด พอปีที่สามเขาก็ลดราคารับจำนำเหลือ 12,000 และแยกแยะตามคุณภาพข้าวไม่ใช่หรือ?

ตอบ แล้วก่อนหน้านั้นทำไมไม่ทำ ทำไมไม่เห็น แล้วทำไมทำได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ตรงกับคำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงและนโยบายที่แถลงต่อสภาเลย ทั้งหมดนี้มันพันมันมัดคุณยิ่งลักษณ์ตลอดมาว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานนโยบายข้าวทำไมคุณไม่ยอมเลิกไม่ยอมปรับแก้ จนบ้านเมืองเสียหายยับเยินอย่างนี้ คุณจะให้พี่ชายที่คิดที่สั่งอยู่ข้างหลังรับผิดชอบแทนคุณไม่ได้ กฎหมายไม่รับรู้หรอกครับว่า นายกฯ ตัวจริงคือใคร

นี่คือคำถามถึงความรับผิดตามกฎหมายปกครอง ที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องตอบในฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เข้าใจไหมคุณวีรพัฒน์ คุณจะให้นักการเมืองมีอำนาจมากแต่ความรับผิดชอบน้อยไม่ได้ มันผิดหลักจัดราชการ นี่หรือคือระบบผู้แทนที่คุณและคณะเรียกร้องกันนักหนา? ผลของการกระทำนอกวัตถุประสงค์แห่งรัฐ



ถาม เห็นฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์เขาถามกันตลอดว่า การประกันราคาข้าวสมัยอภิสิทธิ์ และการรับจำนำข้าวของทักษิณ 1 ก็ขาดทุนเหมือนกัน แล้วทำไมไม่เห็นต้องมีใครชดใช้อะไรเลย

ตอบ สองโครงการนั้นเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์ของรัฐ มุ่งที่การพยุงราคาข้าวในตลาดจริง ๆ ทำตามแผนตามข้อมูลเฉพาะฤดูกาลจริงๆ ทำแล้วก็หยุดไม่ยืดเยื้อ รับจำนำแล้วขายได้เงินคืนน้อยกว่ารายจ่ายก็เป็นเรื่องธรรมดา ต้องถือเป็น “ค่าใช้จ่าย” ของราชการ ไม่ใช่ “ความเสียหาย” ที่ใครต้องรับผิด



ถาม แล้วทำไมโครงการของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถึงต้องถือเป็น "ความเสียหาย”

ตอบ เพราะโครงการนี้มันไม่ใช่การพยุงราคาในตลาด การไปกำหนดราคารับจำนำทุกเมล็ดทุกแห่ง ทุกเวลาในราคา 15,000 ต่อเกวียนอย่างนี้ ราคามันสูงลิ่วเกินตลาดมาก มากจนไม่มีใครมาไถ่ถอนจำนำเอาข้าวไปขายด้วยตนเอง ตัวจริงของโครงการนี้คือการให้รัฐเข้ามาผูกขาดซื้อข้าวทุกเมล็ดนั่นเอง

นี่คือโครงการที่นอกเหนือแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญไทยอย่างชัดเจน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจยับยั้ง แต่เมื่อเกิดความเสียหายคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อคุณกล้าก้าวล้ำเส้นคุณก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ อย่าไปบิดเบือนลากใครเข้ามาเทียบเคียงอย่างนี้ เรื่องจริงที่ยังไม่มีใครพูด?



ถาม ผมไม่เข้าใจจริงๆ  ทำไมคุณทักษิณถึงกล้าผลักดันให้รัฐบาลเพื่อไทยรับซื้อข้าวทั้งประเทศในราคาสูงลิ่วอย่างนี้ เขาไม่มองเห็นปัญหาความยากลำบากในการระบายข้าวบ้างเลยหรือ ข้าวค้างโกดังเป็น 10 ล้านตัน เน่าเสียไปทุกวัน เสียค่าฝากข้าวเดือนละเป็น 1,000 ล้านเลยนะครับ จะเร่งปล่อยขายราคาถูกก็ไม่ได้ เพราะจะพลอยทำลายราคาข้าวใหม่ไปด้วย นี่คือความจนตรอกถึงขนาดที่นายกฯ ตู่ต้องใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายมาคุ้มครองการระบายข้าวอย่างที่เห็นกัน

ตอบ ผมก็สงสัยเหมือนคุณเช่นกันว่า พ่อค้าอย่างคุณทักษิณไม่มีทางคิดด้วน ๆ ตัน ๆ อย่างนี้แน่ๆ แต่พอถอยมามองไกล ๆ แล้วผมก็พอเห็นคำตอบอยู่ว่า มันน่าจะเป็นเรื่องผิดแผน แผนมันพลิกจนไม่อาจเอาข้าวไปแลกกับรถไฟแลกกับเขื่อนของจีนได้เหมือนเช่นที่เคยคิดไว้ พอผิดแผนแล้วก็เลยชิบหายมาจนทุกวันนี้



ถาม จริงด้วยครับ นโยบายเลือกตั้งเพื่อไทยตอนเลือกตั้ง 53 ก็มีนโยบายเชื่อมรถไฟกับจีน และการรับจำนำข้าว 15,000 เคียงคู่กันมาตลอด

ตอบ แต่พอได้เป็นรัฐบาลเรื่องเชื่อมทางรถไฟจากจีนก็หายไป ผมเข้าใจว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว พวกคุณทักษิณเขายอมเอาไทยห่างจากจีนตามแรงบีบของสหรัฐอเมริกา นี่น่าจะเป็นสาเหตุหลัก ทำให้อเมริกามันถึงคอยเสือกเรา คอยหนุนช่วยชินวัตรอยู่จนทุกวันนี้



ถาม งั้นเอาข้าวไปแลกเขื่อนกับฟลัดเวย์ได้ไหม?
ตอบ เขาก็พยายามสร้างโครงการเหมาเบ็ดเสร็จทั้งประเทศแล้วเหมือนกัน แต่ก็ไปไม่รอดอีก ทั้งหมดนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นที่มาแท้จริงของความล้มเหลวในโครงการซื้อข้าวทั้งประเทศของคุณทักษิณ


แนะทางรอดยิ่งลักษณ์


ถาม คุณยิ่งลักษณ์สารภาพความจริงข้อนี้ให้พ้นผิดได้ไหม?

ตอบ มันมีแต่จะมัดให้เธอผิดหนักขึ้นไปอีก ทางที่ดีคุณทักษิณควรจะบอกให้รัฐบาลอเมริกาหรือยุโรปมาเหมารับซื้อข้าวเน่าคาโกดังทั้งประเทศไทยในราคาทุนเลยจะดีกว่า มูลคดีจะได้หายไปเพราะไม่มีความเสียหายใดๆ ต่อไปอีกแล้ว
ทำอย่างนี้มันน่าจะเนียนกว่า โง่น้อยกว่าการเชิญคุณยิ่งลักษณ์ไปคุยเรื่องเมืองไทยกับใครในรัฐสภายุโรปมากมายนัก ว่าง ๆ สนช.ไทยคนไหนก็ได้ ช่วยแต่งหนังสือเชิญประธานรัฐสภายุโรป มาคุยเรื่องมาตรฐานของยุโรปในการดูแลผู้อพยพซีเรียก็ดีนะครับ คุยกับ สนช.ผู้สนใจแค่สองสามคนที่ใต้ถุนสโมสรรัฐสภาก็ได้ ผู้อพยพพวกนี้เขาน่าสงสารจริงๆ ทำไมเราจะเสือกบ้างไม่ได้.


หมายเหตุ:ชื่อบทความเดิม "คดีค่าเสียหายจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์:ปัญหาความรับผิดชอบของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" เขียนโดยนายแก้วสรร อติโพธิ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 27พฤศจิกายน 2558


คลิกอ่าน สถานการณ์แหลจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ไม่เปลี่ยนแปลง


2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 ธันวาคม 2558 เวลา 08:18

    ประชาชนควรได้รับรู้ข้อเท็จจริง และเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้ชี้แจงด้วย

    ตอบลบ
  2. ไอ้เด็กเมื่อวานซืน ถือตัวว่าเรียนเก่งทำงานองค์กรใหญ่มาคิดจะข้ามรุ่น ก่อนหน้าก็โดนรองวิษณุซัดเงิบไปที
    ใหม่ๆเหมือนจะกลางๆ แต่หลังๆโดนตกเขียวแน่นอน พร้อมๆกับไอ้จอน วินญาณ

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก