วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พระนามบัตร 2 กษัตริย์คู่ พระนามบัตรแรกแห่งสยาม







ต่อเนื่องจาก บทความเรื่อง คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เมื่อไหร่

ในบทความนั้น ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่เรื่องนึง คือ การกล่าวถึงว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิมพ์นามบัตรใช้ครั้งแรกในกรุงสยาม หรือเป็นนามบัตรแรกของคนไทย

ซึ่งชาวตะวันตก เรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ว่า The Second King of Siam

ผมเลยอยากจะเห็นว่า พระนามบัตรของสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีลักษณะเป็นอย่างไร ก็ได้พบเจอตามบทความนี้ครับ

--------------------------

พระปิ่นเกล้า อ่าน เขียน เรียน“ฝรั่ง”

สุจิตต์ วงศ์เทศ มติชนรายวัน 7 มกราคม 2554



สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระปิ่นเกล้า อ่าน เขียน เรียน“ฝรั่ง” รู้เท่าทันตะวันตก

เป็นชื่อกิจกรรมของกรมศิลปากร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2554 จัดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งแต่เช้า

ครั้นตอนบ่ายมีเสวนาและดนตรีฝรั่งในโรงละครแห่งชาติ(โรงเล็ก) กับตอนเย็นมีดนตรีไทยพร้อมการแสดงบริเวณลานอนุสาวรีย์พระปิ่นเกล้าฯที่หน้าโรงละครแห่งชาติ เข้าชมฟรี มีสูจิบัตรแจก

ส. พลายน้อย อ้างถึง ส. ธรรมยศ เขียนไว้ในหนังสือพระเจ้ากรุงสยามว่า รัชกาลที่ 4 กับพระปิ่นเกล้าเมื่อทรงพระเยาว์ทรงลงเรือข้ามฟากไปบ้านหมอบรัดเลย์ (อยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ใกล้ป้อมวิไชยประสิทธิ์ วัดอรุณฯ) เป็นกิจวัตรประจำ เพื่อเรียนหนังสือและตอบโต้ปัญหากันด้วยภาษาอังกฤษ และครูภาษาอังกฤษมีอีกหลายคน

(มีรายละเอียดในหนังสือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า ของ ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2545 หน้า 45-55)

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระปิ่นเกล้า คุยกันเองเป็นส่วนพระองค์ โดยทรงอักษร “ฝรั่ง” แต่สะกดเป็นคำไทย เช่น

“Xan ock pai chack wang Hluang wan sau ram kham nung wela bai sam mong—”

ถอดคำไทยได้ความว่า “ฉันออกไปจากวังหลวงวันเสาร์ แรมค่ำหนึ่ง เวลาบ่ายสามโมง—”

พระราชหัตถเลขาชุดนี้มีเก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรเคยพิมพ์เผยแพร่ในสูจิบัตรงานพระปิ่นเกล้า เมื่อ 7 มกราคม 2547


ลายเซ็นสมเด็จพระปิ่นเกล้า



ลายเซ็นเป็นภาษาอังกฤษที่ตัวอักษรเอนไปข้างซ้าย หรือโย้หน้า มีผู้อธิบายว่า พระปิ่นเกล้า “ถนัดซ้าย” จึงทรงพระอักษรด้วยพระหัตถ์ซ้าย

พระปิ่นเกล้า อ่าน เขียน เรียน“ฝรั่ง” อย่างรู้เท่าทันตะวันตก แล้วปรับเปลี่ยนตัว “สยาม”เองเป็นตะวันตกเพื่อความทันสมัย และให้รอดจากการล่าอาณานิคมครั้งนั้น แล้วเป็นต้นแบบให้สังคมไทย “เป็นฝรั่ง” สืบมาจนทุกวันนี้

ผู้มีปากชอบตำหนิคนไทยยุคใหม่ว่านิยมฝรั่ง ขอให้ตั้งสติย้อนหลังศึกษา “คนชั้นนำ”ต้นแบบสังคมสยามสมัยพระจอมเกล้ากับพระปิ่นเกล้าให้ถ่องแท้เสียก่อน อย่าสักแต่ด่าทอต่อว่าคนไทยรุ่นใหม่

กระทรวงศึกษาฯควรให้ภาษาอังกฤษในโรงเรียนเป็นภาษาที่สอง จะได้รู้เท่าทันทั้งโลก แล้วเท่ากับต่อยอดจากยุคพระปิ่นเกล้า



พระนามบัตร (บัตรพระปรมาภิไธย) เป็นภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีตราส่วนพระองค์ คือ ตราพระปิ่น, สมอเรือ, และปืนใหญ่ นามบัตรเช่นนี้เป็นของทันสมัยที่ทรงใช้เป็นพระองค์แรก

“ก๊าดของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่ท่านส่งไปให้ดูนั้นประณีตมาก ได้ส่งคืนมาให้นี้แล้ว ลายพระราชหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฉันได้เคยเห็นหลายฉะบับ เขียนตัวโรมันทั้งนั้น แต่เขียนเปนภาษาไทย ลายพระหัตถ์งามมาก”
(จดหมาย 29 กรกฎาคม 2482, จากหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงบันทึกประทานพระยาอนุมานราชธน)


-----------------------


พระนามบัตร รัชกาลที่ 4



รัชกาลที่ ๔


พระนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไม่มีเหลืออยู่ในเมืองไทยเลย เพราะพระองค์ทรงพระราชทานให้ราชฑูตต่างชาติไปเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งได้มีครอบครัวชาวต่างชาติ ได้มอบพระนามบัตรรัชกาลที่ 4 คืนแก่ประเทศไทย

รศ.ดร.อรัญ หาญสืบสาย หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า

""พระนามบัตรไม่เป็นที่ปรากฏว่ามีชาวไทยคนใดเป็นผู้ครอบครองด้วย เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีการค้าขายติดต่อกับชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงโปรดฯให้จัดทำพระนามบัตรของพระองค์ เพื่อมอบให้กับราชฑูตและชาวต่างชาติที่ทรงติดต่อภาระกิจด้วย "

"ภาพพระนามบัตรฉบับนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯได้รับมอบมาจากครอบครัวของนายเรเน่ พรูเดนท์ ดา-กรอน (MR.Rene Prudent Dagron) ช่างภาพและนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ผ่านการประสานงานของ นางฌอง สก็อตต์ (Mrs. Jean Scott ) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ให้ความสนใจและศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และมีโอกาสได้พบเอกสารและจดหมายโต้ตอบระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ นายดา-กรอน ผู้มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพจิ๋วเป็นเครื่องประดับและของสะสมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในกลุ่มราชวงศ์ชั้นสูงในสมัยนั้นซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้ส่งพระนามบัตรแนบไปกับจดหมาย เมื่อปี พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867)

นางฌอง สก็อตต์ จึงเป็นผู้ประสานงานระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และทางครอบครัวดา-กรอน เพื่อมอบสำเนาเอกสารต่างๆ ที่ได้รับนำมาให้กับพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายฯเก็บไว้เพื่อการศึกษาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น" รศ.ดร.อรัญกล่าว


รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งการพิมพ์ไทย โดยภาพพระนามบัตรเป็นภาพเดียวในประเทศไทย


รศ.ดร.อรัญกล่าวว่า "ภาพพระนามบัตรของรัชกาลที่ 4 เป็นการพิมพ์โดยใช้ระบบตัวเรียง (Letter Press) ซึ่งใช้ตัวอักษรหล่อจากโลหะ (ตะกั่ว,ดีบุก,พลวง) เรียงเป็นบล็อกแล้วพิมพ์ลงบนกระดาษแข็ง โดยองค์ประกอบบนพระนามบัตร ประกอบด้วยตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาล และพระนามตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ออกเสียงเป็นภาษาไทย พระนามในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศษ และลาติน อย่างละบรรทัด

เชื่อว่าน่าจะเป็นการจัดพิมพ์ขึ้นที่โรงพิมพ์หลวง (อักษรพิมพการ) โรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทยที่รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นบริเวณวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร"


มติชนออนไลน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก