วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?






พอดีผมเห็นบทความอยู่ 2 บทความจาก 2แหล่ง ที่น่าสนใจ น่าอ่านไว้ประดับสมอง

------------------------------

แรก เริ่มภาษาอังกฤษ

สยามเริ่มติดต่อกับพวกฝรั่ง ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อชาวตะวันตกส่งทูตเข้ามาในสมัย ร. 2 และ ร. 3 ไม่เคยมีบันทึกว่าคนไทยพูดภาษาฝรั่งได้ จึงต้องใช้ล่าม

โรม บุนนาค

โรม บุนนาค เขียนไว้ในหนังสือเรื่องเก่า เล่าสนุก เล่ม 3 (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) ว่า แต่ล่ามที่เป็นคนมลายู ก็ไม่ค่อยรู้ภาษาลึกซึ้งนัก แปลอังกฤษเป็นมลายู แล้วก็แปลมลายูเป็นไทย การสื่อสารจึงคลาดเคลื่อนไปมาก

เหตุการณ์โลกภายนอกเป็นอย่างไร คนไทยก็ไม่มีโอกาสรู้ ต้องฟังจากคนจีน อินเดียและมลายูที่เดินทางไปมา...ซึ่งก็ไม่ชัดเจน คนไทยจึงเหมือนอยู่แต่ในโลกใบเก่า ในขณะที่อังกฤษยึดสิงคโปร์ไว้แล้ว

เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะทรงผนวชจำพรรษาอยู่ที่วัดวัดราชาธิวาส ทรงมีความใกล้ชิดกับ สังฆราช ยวง หรือ บับติสต์ ปาลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส เจ้าอธิการวัดคอนเซบซิออง หรือวัดบ้านเขมร ซึ่งอยู่ติดกัน ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเป็นประจำ

(เจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ทรงเห็นว่าฝรั่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในย่านนี้ สยามจำเป็น ต้องเกี่ยวข้อง การรู้ภาษาอังกฤษ จะทำให้เข้าใจกันและกันได้ จึงโปรดให้เปิดการเรียนภาษาอังกฤษ ขึ้นที่วัดบวรฯ

นับเป็นการเรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกของกรุงสยาม

หมอหัสกัน นพ.เจสซี คาสแวล มิชชันนารีอเมริกัน ครูสอนภาษาอังกฤษ บันทึกในไดอารี วันที่ 1 ก.ค. พ.ศ. 2388 ว่า

“วันนี้เริ่มสอนภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าสอนตั้งแต่ 09.00-10.00 น.ในชั้นเรียนมี 15 คน หนึ่งในสามเป็นพระสงฆ์ ที่เหลือเป็นชาวบ้านธรรมดา นักเรียนรุ่นนี้ นอกจากเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือเจ้าฟ้าใหญ่แล้ว ยังมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือเจ้าฟ้าน้อย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปกรณ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร)

(เจ้าฟ้าน้อย ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว )

ส่วนสามัญชน มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็น หลวง และนายสิทธิ์ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)

(ช่วง บุนนาค ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5)

หมอบรัดเลย์ บันทึกไว้เมื่อ 1 มิ.ย. 2389 ว่า

“เย็นวันนี้ ฉันกำลังนั่งเรียนภาษาไทย อยู่ในห้อง ได้ยินเสียงฝรั่งร้องทักจากระเบียงหน้าบ้าน อยากรู้ว่าคนอังกฤษที่ไหน ลุกขึ้นไปดูก็เห็นชายหนุ่มรูปร่างสันทัดผิวคล้ำ แต่งชุดนายทหารเรืออังกฤษใหม่เอี่ยม ห้อยกระบี่ด้ามทอง ยืนท่าทางผึ่งผาย ฉันเดินเข้าไปหา จึงจำได้ว่า ที่แท้คือเจ้าฟ้าน้อย

เรียนภาษาอังกฤษได้ 1 ปี เจ้าฟ้าน้อยรับสั่งภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่คนอเมริกันยังฟังไม่ออกว่า เป็นคนไทยหรืออังกฤษ แสดงว่าท่านแตกฉานได้เร็วมาก

เจ้าฟ้าน้อยยังทรงสั่งตำราปืนใหญ่มาศึกษา ทางแปลออกมาให้คนอื่นได้อ่านเล่มหนึ่ง และทรงนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ขึ้นเองอีกเล่มหนึ่ง ทรงต่อเรือกลไฟ กับดัดแปลงเรือธรรมดาเป็นเรือรบอีกหลายลำ

ความรู้ในเรื่องปืนใหญ่ จึงทรงคัดค้านการตัดถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งแต่แรกวางแนวตรงเข้าหาพระบรมมหาราชวัง ว่าจะเป็นแนวให้ปืนใหญ่ (ข้าศึก) เล็งได้สะดวก เป็นผลให้ถนนเจริญกรุงต้องเบี่ยงแนวออกไปไม่ตรงในบางจุด

ความรู้ที่ได้จากฝรั่ง ทำให้ทรงชื่นชมวัฒน-ธรรมตะวันตกมาก ในวังทรงใช้ช้อนส้อมแบบฝรั่ง ทรงพิมพ์นามบัตร ซึ่งถือเป็นนามบัตรใบแรกของเมืองไทย ไว้ว่า “Second King of Siam”


ปธน.จอร์ช วอชิงตัน ปธน.คนแรกของสหรัฐอเมริกา

เจ้าฟ้าน้อยทรงชื่นชม ยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา จนประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน รู้และส่งรูปและกระจกแผ่นใหญ่มาถวาย ทรงตั้งพระนามพระโอรส พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ให้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ว่า ยอร์ช วอชิงตัน

(พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ซึงต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งรัตนโกสินทร์)


กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จพระราชดำเนินทางชล-มาร์คผ่านหน้าพระราชวังเดิม ที่ประทับเจ้าฟ้าน้อย ทอดพระเนตรเห็นธงที่ชักไว้หน้าวัง ตามแบบอย่างตะวันตก ก็ทรงรับสั่งเสียดสีขึ้นว่า

“นั่นเจ้าฟ้าน้อย เอาผ้าขี้ริ้วขึ้นมาตากไว้ทำไม”

โรม บุนนาค เขียนว่า ในการสอนภาษาอังกฤษที่วัดบวร ครั้งนั้น หมอหัสกัน (นพ.คาสแวล) ไม่ยอมรับค่าจ้างสอน กลับทูลขอเปิดสอนศาสนาคริสต์ ในวัดบวรฯแทน ซึ่งเจ้าฟ้ามงกุฎ ก็ประทานอนุญาต

นี่คือความใจกว้างของเจ้าฟ้าชาวพุทธไม่ถือศาสนาอื่นเป็นคู่แข่งที่จะต้องกีดกัน ทั้งยังเป็นการท้าพิสูจน์ความศรัทธาของชาวพุทธด้วยกัน.


O บาราย O

เครดิต ไทยรัฐออนไลน์

-----------------------------------

ล่ามหลวงคนสำคัญ ต้นรัตนโกสินทร์



หม่อมราโชทัย

ถ้าเอ่ยถึงคำว่า ล่าม ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แปลคำพูดจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งโดยทันที คงมีหลายคนที่ชื่นชมและอีกหลายคนอาจรู้สึกยิ่งไปกว่านั้นคืออยากเป็นล่ามเสียเอง

วันนี้จึงขอเสนอเรื่องของ ล่ามหลวง ผู้มีบทบาทสำคัญประจำคณะทูตไทยที่ไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษครั้งแรกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้นั้นคือหม่อมราชวงศ์กระต่าย เรียนภาษาอังกฤษอิศรางกูร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม หม่อมราโชทัย

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บันทึกไว้ว่า หม่อมราโชทัยเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นโอรสกรมหมื่นเทวานุรักษ์ (หม่อมเจ้าชะอุ่ม) ในวัยเด็กหม่อมราชวงศ์กระต่ายได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมัยที่ทรงผนวชอยู่

ขณะเดียวกันก็สนใจเรียนภาษาอังกฤษตามพระราชนิยมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ จนใช้การได้ดีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ในภายหลังเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมราโชทัย

ใน พ.ศ. ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะส่งคณะทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ จึงทรงแต่งตั้งพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูตหัวหน้าคณะ พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยร่วมเดินทางไปกับคณะทูตในตำแหน่งล่ามหลวง

ความรู้ภาษาอังกฤษของหม่อมราโชทัยในตำแหน่งล่ามหลวง นับว่าได้ทำประโยชน์ให้แก่กิจการทูตของไทยเป็นอย่างยิ่ง มิใช่เพียงคนไทยเท่านั้นที่ประทับใจในความสามารถด้านภาษาอังกฤษของหม่อมราโชทัย

แม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษก็ทรงสนพระทัย ถึงกับมีรับสั่งถามหม่อมราโชทัยว่า เรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ใด 

หลังจากเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษใน พ.ศ. ๒๔๐๑ หม่อมราโชทัยได้ทูลเกล้าถวายจดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปลอนดอนแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาก็ได้แต่งบทกวีเรื่องนิราศลอนดอนขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง และได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๐ ขณะมีอายุ ๔๘ ปี จึงได้ถึงแก่อนิจกรรม.

เครดิต http://pvconnect.com


คลิกอ่าน นิราศลอนดอน โดย หม่อมราโชทัย


---------------------


คลิกอ่าน พระนามบัตรแรก 2 กษัตริย์คู่ พระนามบัตรแรกแห่งสยาม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก