วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในความเห็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ข้อเสนอให้ระบุข้อความว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในร่างรัฐธรรมนูญ มักเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในสังคม และมักจะถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยส่วนตัวผม ใหม่เมืองเอก ได้เขียนแสดงความเห็นไว้แล้วว่า ผมคิดอย่างไรไว้ในบทความเรื่อง ประกาศศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติดีหรือไม่
แต่ในบทความนี้ ผมขอนำบทความของปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์อีกท่านนึง ก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าท่านมีความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างไร ตามนี้ครับ
------------------
จากคอลัมน์ "ซอยสวนพูล" หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 ในช่วงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534
ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ มีข้อเขียนในคอลัมน์ข้างวัด ซึ่งเขียนโดยท่านสร้อยรวงข้าว
ที่ผมเรียกท่านผู้เขียนนี้ว่าท่านสร้อยรวงข้าว ก็เพราะผมสงสัยว่าท่านจะเป็นอุปสัมบัน หรือเรียกกันตื้น ๆ อย่างชาวบ้านว่าเป็นพระ อะไรก็ตามแม้แต่สงสัยว่าเป็นพระ ผมก็ต้องนับถือไว้ก่อน และจะพูดจาถึงก็ต้องใช้ถ้อยคำที่สมควร ท่านสร้อยรวงข้าวได้เขียนไว้ดังต่อไปนี้
"ระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นี้ ได้มีความเคลื่อนไหวขนาดเล็กๆ ของชาวพุทธส่วนหนึ่ง อยากให้มีการระบุข้อความ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ไว้ในรัฐธรรมนูญ"
ครับ คนที่อ่านรัฐธรรมนูญอย่างผิวเผินหรือไม่เคยอ่านเลยก็ดี ย่อมจะปลงใจอยู่ตลอดมาว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างเป็นทางราชการ
ความปลงใจนั้นผิดถนัด
ที่ผมเขียนมานี้ก็เพื่อจะได้บอกความคิดในอีกทางหนึ่งว่า ความปลงใจที่ท่านสร้อยรวงข้าวเห็นว่าผิดถนัดนั้น ความจริงไม่ผิดอะไรเลย เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างถนัด
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ท่านสร้อยรวงข้าวเขียนต่อไปในคอลัมน์ข้างวัด เมื่อวันที่ 6 เดือนนี้นั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของคนที่ไม่รู้จักโลก คนที่ไม่เคยเรียนกฎหมาย และคนที่ไม่เข้าใจในการแปลกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ ว่า ต้องเป็นพระ
ท่านสร้อยรวงข้าว ท่านยังได้อธิบายความคิดของท่านต่อไปว่า
"คำกล่าวที่ว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยนั้น เป็นสามัญสำนึกอันเคยชินของคนไทยเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงนั้น ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยเท่านั้น อะไรที่เป็นโดยพฤตินัยนั้นก็คือ ไม่เป็นโดยนิตินัยคือกฎหมายไม่รับรอง อย่างน้อยก็ไม่รับรองเป็น ลายลักษณ์อักษร การกล่าวว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยจึงเป็นการกล่าวโดยความรู้สึก โดยสามัญสำนึกของคนไทยอย่างที่ว่าแล้ว"
ท่านสร้อยรวงข้าวนั้น ทราบดีว่าองค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรือตามนิตินัยต้องเป็นพุทธมามกะ แล้วจะกล่าวว่าศาสนาพุทธมิใช่ศาสนาประจำชาติของชาติไทยได้อย่างไร
เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งชาติไทย ซึ่งประกอบด้วยคนหลายศาสนา เป็นมุสลิมก็มี เป็นคริสต์ก็มี ตลอดจนเป็นซิกข์ และศาสนาอื่นๆ ไปจนถึงผีสางนางไม้ ซึ่งตามจริงเขาอยู่ดีอยู่แล้วตามขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา
แต่ก็มีพระศาสนาพุทธนี่แหละครับขึ้นไปยุ่งวุ่นวาย ทำท่าเหมือนอย่างกับหมอสอนศาสนา และไปเกลี้ยกล่อมให้เขาหันมานับถือพุทธ เอามาบวชหมู่อุปสมบทหมู่ นัยว่าเขากลายเป็นพุทธไปแล้ว ซึ่งบวชนั้นก็เป็นการบวชชั่วคราว พอเขาสึกแล้วกลับไปบ้านเขา เขาก็ไปเชือดคอไก่เซ่นสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา หรือผีสางนางไม้ต่อไป
ประโยชน์ที่ได้รับนั้นก็คือ พระสงฆ์ไทยในพระพุทธศาสนานั้น ได้รับความรู้สึกว่าท่านเป็นหมอสอนศาสนา หรือมิชชันนารีเป็นครั้งคราวเท่านั้น และที่ท่านต้องการที่จะรู้สึกเช่นนี้ อยากจะเป็นหมอสอนศาสนา ก็เพราะท่านเป็นหมอสอนศาสนา เขาเข้ามาทำอะไรต่ออะไรในเมืองไทยไว้มาก ซึ่งท่านไม่ได้ทำเป็นต้นว่า เปิดโรงเรียน ตั้งโรงพยาบาล และอื่นๆ อีกความรู้สึกเช่นนี้เป็นเหตุที่ทำให้พระไทยอยากเป็นหมอสอนศาสนา
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2521 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประเทศไทย ยังไม่มีใครร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เรียบร้อยให้แทนที่ได้ ผมก็เห็นจะต้องถือทางนั้นไปก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้แน่ชัดว่า
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
ผมเห็นว่า การที่ท่านเขียนรัฐธรรมนูญไว้แบบนี้ ไม่มีเรื่องพฤตินัยหรือนิตินัยอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเขียนกฎหมายอย่างแนบเนียน และอย่างนุ่มนวลเพื่อรักษาน้ำใจของคนไทยทั้งชาติเอาไว้
คนไทยในเมืองไทยนั้น ไม่ได้มีแต่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ หรือคนไทยที่ทำบุญตักบาตรให้ท่านสร้อยรวงข้าวได้กินมาเรื่อย ๆ แต่มีส่วนน้อยซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ตลอดไปจนกระทั่งไหว้เจ้า หรือนับถือผีสางนางไม้ต่างๆ สรุปแล้วก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น แต่นับถือศาสนาต่างกัน
ถ้าหากว่าใครใจโหดเหี้ยมไปเขียนกฎหมายว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของไทย คนเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละห้าของพลเมืองไทยทั้งหมด เขาจะรู้สึกว่าอย่างไร เมื่อเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ และรัฐธรรมนูญมาบัญญัติโดยนิตินัยให้ศาสนาพุทธเป็นกฎหมายประจำชาติแล้ว ศาสนาต่างๆ ที่เขานับถือนั้นเป็นอะไรเล่า และเมื่อเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแล้วตัวเขาเหล่านี้จะพลอยเป็นคนที่อยู่นอกชาติไทย ไม่ใช่คนไทยไปอย่างไปอย่างนั้นหรือ?
การเขียนกฎหมายนั้นต้องระวังน้ำใจคนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมไปถึงคนทั้งชาติ เราจะไปเขียนเอาแต่ใจ โดยเฉพาะใจของผู้ที่ไม่รู้ศาสนานั้น เห็นจะไม่ได้
แต่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2521 นั้นเอง มาตรา 7 ที่ระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกนั้น เป็นการยืนยันอย่างไม่มีที่สงสัยว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างแท้จริงและแน่นอน
แต่ท่านไม่ได้เขียนลงไปในตัวบทกฎหมาย เพราะอยากจะรักษาน้ำใจคนไทยอื่นๆ ที่มิได้นับถือศาสนาพุทธดังที่กล่าวไว้แล้ว
ท่านสร้อยรวงข้าวได้เขียนไว้ในบทความว่า
"เรามักจะพูดถึงความรักชาติกันไปทั่วทุกวงการในขณะที่คำว่าชาตินั้น ออกจะเป็นนามธรรมเหลือเกิน ถ้าจะขอคำจำกัดความว่าชาติคืออะไร ก็คงจะหาผู้ให้คำตอบที่ชัดเจนจนกระทั่งให้ชาติเป็นสิ่งที่สัมผัสได้โดยยาก
ชาติของนักวิชาการนั้น มีความหมายหรูหรา แต่เลื่อนลอยอยู่ในอากาศ สัมผัสได้ยากอย่างยิ่ง
ชาติของทหาร ดูเหมือนจะเป็นรูปร่างขึ้นมาหน่อยคือ มีความหมายว่าเป็นแผ่นดิน ความรักชาติของทหารที่แน่ๆ คือ รักแผ่นดิน ห่วงแผ่นดิน แล้วก็แสดงความรักด้วยการปกป้องคุ้มครองแผ่นดิน ซึ่งมีรูปลักษณะเป็นขวาน ใครจะมาล่วงเกินแม้แต่น้อยไม่ได้เป็นอันขาด
ส่วนสำหรับคนบางกลุ่มหรือบางพรรคนั้น ไม่ทราบว่าเขาเห็นชาติเป็นอะไร เวลาแสดงความรักชาติจึงมีอาการน้ำลายหกด้วย
จนมีการกล่าวว่า "รักชาติจนน้ำลายหก"
ก็เพราะท่านสร้อยรวงข้าว ท่านพูดอย่างนี้แหละครับ ผมจึงตีความเอาเองว่าท่านเป็นพระ เพราะท่านเที่ยวเหมาเอาว่าคนนั้นเขานึกว่าอย่างนี้ คนนี้นึกว่าอย่างนั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจของท่านเองที่ผิด ไม่ตรงต่อความเป็นจริงทั้งสิ้น
ถ้าจะไปถามทหารทุกวันนี้ว่าชาติคืออะไร เขาก็จะตอบท่านว่า ชาติคือคนไทยจำนวน 50 ล้านกว่าคน ที่มาอยู่รวมกันใต้การปกครองอันเดียวกัน และมีโชคชะตาร่วมกัน คนไทยเหล่านั้นมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งแสดงออกซึ่งความเป็นไทย เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้
เมื่อได้พูดกันมาถึงเพียงนี้แล้ว ผมก็อยากจะต้องแสดงความเห็นสักเล็กน้อยว่า เพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ที่ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า ผู้ที่ท่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ท่านรู้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ริษยาลัทธิ เพราะฉะนั้น หากพระมหากษัตริย์ทรงนับถือศาสนาที่ริษยาลัทธิแล้ว เสรีภาพของศาสนาในเมืองไทยเรานี้อาจจะไม่มีก็ได้ เพราะองค์พระประมุขนับถือศาสนาอื่น ที่ส่วนใหญ่เป็นศาสนาที่ริษยาลัทธิ มีความรังเกียจคนที่มิได้นับถือศาสนาเดียวกัน ลองคิดดูเอาเองก็แล้วกันครับ
ความจริงการที่พระมหากษัตริย์ไทยเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกนั้น เนื่องมาจากพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเสร็จพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพิธีพราหมณ์แล้ว พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จฯ เข้าไปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ ที่นั้น จะมีที่ประชุมสงฆ์รออยู่ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ไปถึงแล้ว ก็จะทรงปฏิญาณต่อที่ชุมนุมสงฆ์ว่า พระองค์จะทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตลอดไป คำปฏิญาณนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นภาษาบาลี พระภิกษุสงฆ์ซึ่งชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ก็พร้อมกันรับว่าสาธุ แปลว่า "ดีแล้ว" เป็นอันเสร็จพิธี
โปรดสังเกตว่า องค์พระมหากษัตริย์ไทยทรงปฏิญาณว่า จะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกต่อพระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธ มิได้มีการประชุมบาทหลวงที่ไหน หรือโต๊ะอิหม่ามที่ไหน หรือสมณะในศาสนาอื่นที่ไหนมาร่วมด้วย
แต่ก่อนก็เคยเข้าใจกันว่า การที่ทรงปฏิญาณนั้น หมายความว่าทรงปฏิญาณว่าจะทรงเป็นพุทธอัครศาสนูปถัมภก แต่ความเข้าใจเช่นนั้นก็เปลี่ยนไปตามการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา
เดี๋ยวนี้การปฏิญาณขององค์พระมหากษัตริย์นั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของศาสนาทั้งปวงที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรด้วย
ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเป็นพุทธมามกะแล้ว จะทรงปฏิญาณอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้าหากทรงนับถือศาสนาอื่นแล้ว การที่ไปทรงปฏิญาณเช่นนี้ก็อาจผิดศีลธรรมของเขาเลยก็ได้
ที่ผมเขียนมาวันนี้ อยากจะบอกให้คนที่ยังสงสัยทราบทั่วกันว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะประมุขแห่งชาติไทยทรงเป็นพุทธมามกะ
เมื่อองค์รัฐาธิปัตย์แห่งชาติไทยทรงเป็นพุทธมามกะเสียอย่างหนึ่งแล้ว ศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในชาติไทยก็ได้รับความคุ้มครอง ให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และในการปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ตามศาสนาของแต่ละศาสนาได้เป็นอันดี ไม่มีข้อขัดข้องแต่อย่างไรทั้งสิ้น
ใครก็ตามที่ไปนั่งคิดว่าควรจะประกาศในกฎหมายว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยนั้น ดูออกจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอย่างรุนแรง ไม่คิดถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่คิดถึงศาสนาอื่นเสียเลยจะเอาแต่ของตัวเท่านั้น
ฟังดูเหมือนพระพูดเท่านั้น
คึกฤทธิ์ ปราโมช คอลัมภ์ ซอยสวนพลู
---------------------
ใหม่เมืองเอก สรุป
สิ่งที่คุณชายคึกฤทธิ์ อธิบายก็คือ ถ้าในรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ไว้ใน รธน. อยู่แล้ว
จึงนับว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติชาติโดยอ้อมผ่านทางองค์พระประมุขของชาติแล้วเช่นกัน และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูทุก ๆ ศาสนาในไทยด้วย
เพียงแต่ที่จำเป็นต้องเขียนใน รธน. ไว้อ้อม ๆ แบบนี้ ก็เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจคนไทยด้วยกันที่นับถือต่างศาสนา ไม่ให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ
คลิกอ่าน ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติดีไหม ในมุมมองใหม่เมืองเอก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณที่เผยแพร่ข้อมูล ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ขอแชร์ครับ
ตอบลบบทความของท่านหม่อมเขียนเมื่อปี 2534 แต่มาถึงปี 2559 สภาพสังคมของไทยและของโลกเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน ขอฝากคำถามแก่ท่านทั้งหลายว่า ความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้จะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่?
ตอบลบ