วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความเข้าใจเรื่องพระอาบัติขณะบิณฑบาตร





ผมเองก็เคยมีอคติกับพฤติกรรมพระหลายรูปที่ผมเคยได้พบเห็นในขณะบิณฑบาตร เนื่องจากบางครั้งด้วยความรู้น้อยในทางบทบัญญัติในพระวินัย ที่ผมอาจไม่เข้าใจลึกซึ้งพอ

แต่เมือได้มีโอกาสพบบทความของ พระชิตงฺกโร ภิกฺขุ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ทำให้มุมมองหลายๆอย่างที่ผมเคยมีได้เปลี่ยนไป เลยอยากขอนำบทความดีๆนี้มาช่วยนำเสนอ เผื่อจะได้เป็นการเผยแพร่ความเข้าใจเรื่องการบิณฑบาตรของพระได้สู่ผู้อ่านเพิ่มขึ้นอีกทางครับ



วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11188 มติชนรายวัน

กรณีการต้องอาบัติของภิกษุสงฆ์ และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องขณะบิณฑบาต

สืบเนื่องมาจากบทความบนคอลัมน์ประจำของ คุณวสิษฐ เดชกุญชร ที่ลงตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2551 หน้า 6 ในมติชนรายวัน ในหัวข้อที่ชื่อว่า "เรื่องของคนห่มผ้าเหลือง" ซึ่งนำเสนอถึงพฤติกรรมบางประการขณะออกรับบิณฑบาตที่ไม่เหมาะสมของภิกษุสงฆ์


กล่าวคือมีการรับปัจจัย (เงิน) ลงในบาตร อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงการถวายปัจจัยของพระเถระผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งแด่ภิกษุสงฆ์ ในงานทำบุญวันเกิดตามภาพข่าวที่อ้างถึงมติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าเป็นลักษณะของการประพฤติผิดพระวินัยและต้องอาบัติชื่อนิสสัคคิยปาจิตตีย์กันทั้งหมดทั้งผู้ให้และผู้รับ


อีกทั้งยังชี้นำประเด็นดังกล่าวว่า อาจลุกลามขยายใหญ่โตจนทำให้บ้านเมืองขาดที่พึ่งทางใจไร้ศีลธรรม หากปล่อยไว้ในพฤติกรรมดังกล่าวถึงขนาดที่อาจทำให้ลูกหลานเยาวชนไทยกลายเป็น เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์เดรัจฉาน ได้เลยทีเดียว

ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า การกล่าวหานั้นดูจะทำได้ง่ายกว่าการชี้แจงแถลงไขเป็นไหนๆ ทั้งยังดูสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่ากำลังหาเหตุผลทั้งหลาย เพื่อมาใช้อธิบายถึงพฤติกรรมของพวกพ้องอันจะนำไปสู่ความชอบธรรมในการก้าวล่วงพระวินัยเป็นประเด็นๆ ไป ไว้ดังนี้

ประการแรก ต่อข้อสังเกตที่คุณวสิษฐ เดชกุญชร ให้คำจำกัดความบุคคลที่ได้พบเห็นที่มีพฤติกรรมในการออกรับบิณฑบาตและให้คำจำกัดความบุคคลเหล่านั้นว่า "คนห่มผ้าเหลือง" นั้นโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในทางพระพุทธศาสนามีคำที่มีความหมายดีๆ กว่านี้ ที่ใช้เรียกบุคคลดังกล่าวว่า "ภิกษุ" หรือ ภิกษุ ซึ่งแปลตามพระบาลีว่า ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภายในวัฏฏสงสาร ดังจะเห็นได้จากคำเรียกขานของพระพุทธองค์ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" ในพระไตรปิฎกอยู่เนืองๆ

ซึ่งสถานภาพแห่งความเป็นภิกษุดังกล่าวนี้ได้มาจากการที่มีกุลบุตรอายุครบ 20 ปีขึ้นไป มีความประสงค์จะเข้ามาถือบวชในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์โดยผ่านพิธีอุปสมบท (การรับเข้าหมู่) มาอย่างถูกต้องตามหลัก สังฆกรรม ซึ่งหลังจากนั้นท่านจะให้หาเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจาร (การเที่ยวไปเพื่อขอ) ด้วยภาชนะ คือ บาตร เอาไว้ใส่อาหารต่างๆ ที่มีผู้นำมาใส่ลงไปโดยเรียกอาการอย่างนี้ว่า "บิณฑบาต" (การตกลงแห่งก้อนข้าว)

ซึ่งสถานภาพแห่งความเป็นภิกษุนี้ในทางพระวินัยนั้นถือว่าจะสิ้นสุดลงทันทีใน สอง กรณี ดังนี้ คือ

1.ภิกษุรูปนั้นหมดความประสงค์ที่จะดำรงอยู่ในเพศภาวะแห่งความเป็นภิกษุและได้กล่าวคำลาสิกขาเป็นคำรบ 3 แก่ผู้รู้ความ

2.ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติ (ถึงอาการแห่งการล่วงพระวินัย) ร้ายแรง อย่างใดอย่างหนึ่ง สี่ กรณี ที่เรียกว่า ปาราชิก คือ เสพเมถุน, ลักของเขา, ฆ่ามนุษย์, อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

ส่วนในประเด็นที่มีการเรียกขานภิกษุว่า "พระ" ตามอย่างที่เราคุ้นชินกันอยู่นั้นสันนิษฐานว่า คำๆ นี้มาจากคำบาลีว่า "วร" (อ่านว่า วะ-ระ) ซึ่งแปลว่า ดีเลิศ ประเสริฐ และงามพร้อม ซึ่งจากความหมายนี้บ่งชี้ถึงระดับแห่งคุณภาพที่มากกว่าคำว่า "ภิกษุ" อยู่มากทีเดียว

กล่าวคือ ภิกษุใดที่ยังมีความประพฤติไม่เรียบร้อย อาจเรียกได้ว่ายังไม่เป็น พระ แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ได้ขาดจากความเป็นภิกษุไปแล้วแต่อย่างใด


ซึ่งถ้าสังเกตจากมุมมองของคุณวสิษฐ ถึงกรณีที่เห็นบุคคลห่มผ้าเหลืองเหล่านั้นแล้วอาจเกิดความรู้สึกว่าขาดจากความเป็นภิกษุไปแล้วด้วยนั้น เพียงเพราะอากัปกิริยาที่ดูจะขัดหูขัดตาขณะรับบิณฑบาต จึงเป็นการเห็นที่น่าจะไม่ถูกต้องนัก

เพราะหากบุคคลดังกล่าวผ่านพิธีอุปสมบทมาอย่างถูกต้องก็ควรจะ เรียกว่า "ภิกษุผู้ไม่สำรวม" ดูจะเป็นโทษน้อยกว่า(ซึ่งต่อจากนี้ไปผู้เขียนจะใช้คำว่า "ภิกษุ" แทนคำว่า "คนห่มผ้าเหลือง" ของคุณวสิษฐ ได้อย่างสบายใจเสียที)

ประการที่สอง ต่อกรณีที่คุณวสิษฐ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะอาการของภิกษุที่เห็นในปัจจุบันขณะรับบิณฑบาตว่ามีการให้พรกับญาติโยมทั้งยังให้อย่างผิดๆ ถูกๆ อีกด้วย ซึ่งต่างจากพระแต่ก่อน ในความรู้สึกของคุณวสิษฐ ที่กลับไปให้ที่วัดนั้น

ข้อเท็จจริงประการนี้ที่ผู้เขียนประสบมาก็คือ ในกรณีวัดในต่างจังหวัดที่มีการฉันพร้อมกันเป็นหมู่คณะในโรงฉัน และมีการออกรับบิณฑบาตในคราวเดียวกันเป็นขบวนยาว ๆ ของภิกษุสงฆ์ ก็มักจะไม่มีการให้พรขณะบิณฑบาต อย่างที่คุณวสิษฐว่า และชาวบ้านก็มักไม่สนใจที่จะรับพรจากภิกษุสงฆ์ดังกล่าวด้วย (คงไม่ต้องบอกนะว่าเพราะอะไร)

แต่ในกรณีที่มีการออกรับบิณฑบาตแบบเดี่ยวๆ หรือขบวนภิกษุมีจำนวนน้อยๆ (ไม่เกิน 3 รูป) และหากต้องโคจรบิณฑบาตเข้าไปในละแวกบ้านที่ทิ้งระยะห่างพอสมควร การให้พรของภิกษุสงฆ์ดูจะสร้างความอิ่มอกอิ่มใจให้กับญาติโยมอยู่ไม่น้อยแต่ถ้าไม่ให้พรเลยญาติโยมก็ไม่ว่าอะไรเพียงแต่ยกมือไหว้อย่างเหงาๆ เท่านั้นเองส่วนกรณีพฤติกรรมอย่างอื่น เช่น การรับบิณฑบาตจนเกินพอดีของภิกษุสงฆ์ จนต้องมีการถ่ายเทอาหารที่ญาติโยมนำมาใส่ลงในบาตรออกสู่รถเข็นหรือภาชนะอยู่เนืองๆ จนดูคล้ายกับการจ่ายตลาดและอาจแสดงถึงความโลภไม่รู้จักพอต่อผู้พอเห็น

ในการรับอาหารจากญาติโยมของบรรดาพระภิกษุอย่างที่คุณวสิษฐเห็น ซึ่งในประเด็นนี้ ภิกษุผู้ไม่สำรวม อย่างผู้เขียนก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าถึงพฤติกรรมดังกล่าวอีกเช่นเดียวกัน

จึงขอชี้แจงแต่เพียงสั้นๆ ว่า ถ้าจะให้ภิกษุรับอาหารแต่พอเต็มบาตรแล้วกลับวัดเลย ด้วยเกรงข้อครหา ดังกล่าว สภาพวัดต่างๆ ในประเทศไทยในปัจจุบันที่มีสถานะเป็นแหล่งอนุเคราะห์ในด้านอาหารกับผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนสัตว์ต่างๆ ที่มีผู้คนนำมาปล่อยไว้ให้เป็นภาระกับวัดในการเลี้ยงดู เช่น หมาและแมวนั้นจะมีอะไรเหลือให้กินกันอย่างอิ่มหมีพีมันเช่นทุกวันนี้หรือ?

ประการที่สาม ต่อข้อสังเกตที่คุณวสิษฐ กล่าวโจษอาบัติ ต่อเหล่าบรรดาภิกษุสงฆ์ว่าต้องอาบัติชื่อ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงกรณีการรับปัจจัย (เงิน) ขณะรับบิณฑบาตและในกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น

ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันอย่างถูกต้องถ่องแท้กันเสียเลย จึงใคร่จะอัญเชิญพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ถึงพระวินัยข้อนี้ตามความหมายแห่งพระบาลีดังนี้ว่า

"อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดี ทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"

ซึ่งนัยแห่งการวินิจฉัยของพระอรรถกถาจารย์โบราณท่านชี้ไว้ว่า แม้ภิกษุไม่รับ ไม่จับ ไม่ต้อง มีลูกศิษย์ (ไวยาวัจกร) รับให้เสร็จสรรพ แต่เกิดยินดีในเงินและทองนั้นก็ไม่พ้นจากอาบัติข้อนี้ ซึ่งทองเงินที่ได้มานั้นชื่อว่าเป็น "นิสสัคคิยวัตถุ" จำต้องสละจึงจะปลงอาบัติตก

ส่วนภิกษุผู้ต้องชื่อว่าเป็น "ปาจิตตีย์" ซึ่งแปลว่า "การละเมิดอันยังความดีให้ตกล่วง" (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉ. ประมวลศัพท์) อนึ่ง อาบัติกลุ่มนี้เป็น อจิตตกะ คือ ภิกษุไม่รู้แล้วรับเข้าก็เป็นอาบัติ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่าหากมีใครเอาเงินสักบาทหนึ่งแอบหรือแนบติดไปกับอาหารที่ใส่บิณฑบาต ภิกษุผู้นั้นไม่รู้รับเข้าก็เป็นอาบัติ

ซึ่งจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้จะพบว่า การรับบิณฑบาตของภิกษุในปัจจุบันนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการต้องอาบัติข้อนี้ได้ง่ายมาก ทั้งนี้ เนื่องมาจากค่านิยมการนำปัจจัยซึ่งบางครั้งแนบใส่มากับอาหารของญาติโยมด้วยคาดการณ์ว่า ตนเองหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้มีเงินมีทองใช้ในชาติหน้าภพหน้า ด้วยความคิดที่ว่าการทำบุญใส่บาตรอย่างไรมักจะได้อย่างนั้นตอบแทน

เหมือนอย่างที่มีค่านิยมการนำขวดน้ำมาใส่บาตร ซึ่งภิกษุสามเณรก็ไม่อยากขัดศรัทธา อีกทั้งอาจถูกมองว่าเรื่องมาก หากบอกปฏิเสธไปซึ่งในกรณีนี้บางสำนักก็รักษาพระวินัยข้อนี้เอาไว้ได้อย่างเข้มแข็งน่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในหลายๆ สำนักกลับมองเรื่องการต้องอาบัติในข้อนี้เป็นเรื่องธรรมดา

อีกทั้งญาติโยมก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรนักกับการที่อยากจะถวายปัจจัยให้แก่ภิกษุสามเณรไว้ใช้สอยอะไรเล็กๆ น้อย ๆ บ้างเพราะรู้สึกเห็นอกเห็นใจอยู่ไม่น้อยในการเป็นผู้ออกจากเรือนมาอยู่ในวัด ทั้งยังต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อศึกษาเล่าเรียนและซื้อหาตำรับตำรา

แม้จะรู้ว่าวิธีการได้มาแห่งปัจจัยนั้นมันผิด แต่เมื่อติดตามไปดูถึงทิศทางการนำปัจจัยไปใช้สอย ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และการเผยแผ่พระศาสนาก็มักจะอนุโมทนากันถ้วนหน้า

และในกรณีที่คุณวสิษฐ กล่าวโจษอาบัติข้อนี้ต่อพระเถระรูปหนึ่งซึ่งขอเอ่ยนามไว้ให้รู้กันเลยว่าคือ พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) หรือ หลวงพ่อคูณ นั่นเอง ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนก็เห็นภาพดังกล่าว (ภาพข่าวฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2551 น.14 มติชน) แต่ไม่มีอะไรจะพูดมากนักอันเนื่องมาจากกิริยาอาการของท่านดังกล่าว เพราะในทางพระพุทธศาสนาเรานั้นมีศัพท์ ๆ หนึ่งที่ใช้อธิบายถึงพฤติกรรมดังกล่าวของท่านได้ดีทีเดียว คำ ๆ นั้นคือ ปาปมุตฺต แปลว่า ผู้พ้นแล้วจากบาป

อธิบายตามนัยแห่งบาลีว่า "คนบางคนเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก คนผู้นั้น แม้จะพูดจะว่า หรือ พูดคำที่ไม่ควรพูดบางคำ ตลอดจนพฤติกรรมบางอย่างก็ไม่มีใครว่า ถือสา คนทั้งหลายเขายกให้ไม่เป็นบาป เรียก บาปมุต ก็ว่า" (พจนานุกรม มคธ - ไทย พันตรี ป. หลงสมบุญ)

หรือถ้าฟังคำนี้แล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้นผู้เขียนก็ใคร่จะขอร้องให้ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้ลองไปสอบถามหาสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นระดับประถมไปจนถึงมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ตลอดจนสถานพยาบาล ตั้งแต่สถานีอนามัยไปจนถึงโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดนครราชสีมา ดูว่ามีที่ไหนบ้างที่ไม่เคยได้รับเงินบริจาคที่ผ่านมือของพระเถระท่านนี้ แล้วลองมาชั่งน้ำหนักดูเมื่อเทียบกับความผิดฐานละเมิดพระวินัย ในกรณีดังกล่าวของท่านซึ่งผู้เขียนก็จะไม่ขอก้าวล่วงต่อคำวินิจฉัยอันจะเกิดจากท่านทั้งหลายในข้อนี้

ไหน ๆ เมื่อเขียนมาแล้วก็ขอเขียนเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยว่า อันที่จริงสถานภาพของภิกษุสงฆ์นั้น จะว่าไปแล้วก็มีอะไรหลาย ๆ อย่าง คล้ายคลึงกันกับอาชีพตำรวจ ในฐานะผู้รักษากฎหมาย แม้ว่าจะละเลยในเรื่องของการพิทักษ์สันติราษฎร์อยู่บ้างในบางครั้ง ภิกษุสงฆ์เองก็เช่นเดียวกันที่มักจะเป็นผู้รักษาพระธรรมวินัย โดยลืมปฏิบัติตามธรรมวินัยบ้างในบางกรณีเช่นกัน

ซึ่งต่อข้อสังเกตนี้ผู้เขียนก็ใคร่ขอหยิบยกมาให้คุณวสิษฐ เดชกุญชร ลองมาพิจารณาเป็นกรณีศึกษาไว้บ้าง ถ้าหากได้มีโอกาสอ่านบทความชิ้นนี้ในฐานะที่ท่านเองก็เคยเป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาก่อน ซึ่งบ่อยครั้งผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสเห็นการแสดง มายากล ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรบางโรงพักทำการเสกแบงก์ร้อยให้หายไป เหลือไว้แต่ใบขับขี่ยื่นกลับมาให้คนขับรถในการเรียกขอตรวจดูใบอนุญาตอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับเหล่าบรรดาภิกษุสงฆ์ในหลาย ๆ วัดที่ไม่พยายามจับปัจจัยให้ญาติโยมเห็น (ต่อหน้า) ในที่สาธารณะและข้อที่น่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่งซึ่งก็คือแม้ว่าพฤติกรรมบางประการในทางที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีให้เห็นอยู่บ้างตามสื่อต่าง ๆ เช่น เรื่องเก็บส่วย รีดไถ อุ้มฆ่า หรือฆาตกรรมผู้บังคับบัญชา ฯลฯ

แต่เวลาประชาชนประสบปัญหาที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็มักที่จะร้องหาเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้ก่อน

เช่นเดียวกันกับภิกษุสงฆ์ซึ่ง แม้ว่าจะมีข่าวที่เสื่อมเสียในทางที่ไม่ดี เช่น ดื่มสุรา มั่วสีกา เคล้านารี ไปจนถึงต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ฯลฯ ก็ยังมีประชาชนร้องหาเวลาจะประกอบพิธีเป็น พิธีตายกันอยู่แทบจะทุกครั้ง

ด้วยเหตุดังนี้แล้วผู้เขียนจึงคิดว่าในฐานะที่เรา (ตำรวจ และภิกษุสงฆ์) มีอะไรในหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันดังกล่าว คุณวสิษฐ เดชกุญชร ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวแทนแห่งสัญลักษณ์ในความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จะไม่ลองหันหน้ามาสมานฉันท์กับวงการภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันดูบ้างหรือ เผื่อจะได้เป็นต้นแบบที่ดีให้กับกลุ่ม ก๊วนต่างๆ ในสังคมที่ไม่ถูกกันและกำลังเข้าห้ำหั่นจะได้หันหน้าเข้าหากันบ้างอย่างในเวลานี้ไม่ดีกว่าหรือ?

ฉะนั้น จากพฤติกรรมที่คุณวสิษฐ เดชกุญชร หยิบยกขึ้นมาเป็นข้อวิจารณ์ ผู้เขียนก็ได้พยายามใช้สติปัญญาอันน้อยนิด คิดหาคำอธิบายมาให้ได้พิจารณากันแทบจะทุกข้อกล่าวหาแล้ว เลยทำให้คิดหาข้อสรุปได้อย่างเก๋ๆ ต่อกรณีนี้ว่า

เมื่อใดก็ตามที่สังคมให้ความสำคัญกับ คุณภาพเชิงความงาม มากกว่า คุณภาพเชิงความดี หรือ เชิงปัญญาแล้ว ก็อาจจะทำให้แนวคิด หรือมุมมองแบบคุณวสิษฐ เดชกุญชร (คือการชอบตั้งข้อสังเกต แต่ไม่ชอบอธิบายถึงปรากฏการณ์) แพร่หลายได้ง่ายยิ่งนัก

ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานเขียนของนักวิพากษ์สังคมมืออาชีพอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ขออภัยที่ต้องเอ่ยนาม) ขึ้นมาในทันที

เพราะถึงแม้ว่าท่านจะหยิบยกประเด็นใดๆ ขึ้นมาพูดอย่างรุนแรง แต่ก็มักจะมีคำอธิบายดีๆ แฝงมาอย่างตรงๆ เสมอ (อย่าง พุทธศาสนาในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย, นิธิ เอียวศรีวงศ์) มากกว่าที่จะหยิบยกประเด็นขึ้นมาตีแรง ๆ แล้วหายกลับเข้าไปในบ้านเฉย ๆ เลยเป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องมาลำบากตรากตรำในการชักนำแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายอย่าง พะเรอเกวียนตามอย่างที่เขียนมาข้างต้น

เพื่ออย่างน้อยจะได้ชี้นำให้ท่านทั้งหลายเปิดใจรับฟังถึงเงื่อนไขและปัจจัยแห่งการไม่สามารถประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยได้อย่างสมบูรณ์ของเหล่าบรรดาภิกษุ - สามเณรทั้งหลายตามความเป็นจริงในปัจจุบันทั้งยังเป็นการขอโอกาสต่อสังคมที่จะได้ เมตตา อุปถัมภ์ค้ำจุนเหล่าภิกษุหนุ่ม - สามเณรน้อยทั้งหลาย อย่างสบายใจต่อไป

เพื่อที่จะได้เติบโต และงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา ประหนึ่งดอกบัวที่จะได้มีโอกาสเบ่งบานในกาลข้างหน้า แม้ว่าจะมาจากโคลนตม ทั้งยังจมอยู่ในท่ามกลางเปลวเพลิงแห่งสังคมในด้านต่างๆ อย่างทุกวันนี้กันได้บ้าง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก มติชนออนไลน์

หากคุณผู้อ่านได้อ่านบทความนี้จาก ท่านชิตงฺกโร ภิกฺขุ จากวัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน โดยละเอียดในแต่ละกรณีแล้ว ต้องยอมรับว่า น่าเป็นเรื่องที่ดีที่พุทธศาสนาได้มีพระที่มีความรู้ดีอีกรูปหนึ่ง ทำให้ผมเองก็รู้สึกดีๆขึ้นมากด้วยในความเข้าใจแบบมีอคติกับพระได้ลดลงครับ
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก