วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ศักดิ์ศรี (ส่วนตัว) ของ"ฮุน เซน" ที่ชาวเขมรเป็นผู้รับเคราะห์

โดย นงนุช สิงหเดชะ



หากใครคิดว่าฮุน เซน เป็นฝ่ายเป็นต่อ กรณีพิพาทกับไทยเรื่องทักษิณ ชินวัตรแล้ว อาจจะต้องประเมินใหม่

เพราะนับวันพฤติกรรมของ "ฮุน เซน" ยิ่งฟ้องประจานตัวเองออกมาสู่สายตาชาวโลกและอาเซียนทุกขณะ นับจากการจับวิศวกรชาวไทยโดยหาว่าจารกรรมข้อมูลเรื่องเที่ยวบินของทักษิณ ที่ต่อมาหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเขมรกำลังจับมือกับทักษิณเล่นละครเพื่อสร้างภาพให้ทักษิณเป็นฮีโร่ โดยที่เหยื่อรายนี้ไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยหรือไม่

นอกจากนี้การที่ฮุน เซน ออกมาประกาศยกเลิกเงินกู้จากไทยเพื่อนำไปสร้างถนนเพื่อความอยู่ดีของชาวกัมพูชา

พร้อมกับโจมตีรัฐบาลไทย บอกว่าไม่มีความสุขตราบเท่าที่รัฐบาลไทยมีนายกฯชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว ก็ยิ่งทำให้อาเซียนและประชาคมโลกได้เห็นชัดเจนขึ้นว่า

นับวันฮุน เซน ยิ่งทำตัวเป็นคนพาล และไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของชาวเขมร แต่ชอบอ้างศักดิ์ศรีของตัวเองแทน ทั้งที่ศักดิ์ศรีนั้นอาจไม่ได้หมายถึงศักดิ์ศรีของชาวกัมพูชาที่อยากอยู่ดีกินดีก็เป็นได้

การประกาศยกเลิกกู้เงินจากไทย เกิดขึ้นหลังจากฝ่ายไทยยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปี 2544 ว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างสองประเทศ ซึ่งทำขึ้นสมัยทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้เขมรแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เกรงจะทำให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาเพราะทักษิณซึ่งรู้ข้อมูลดี ได้ไปอยู่กับฝ่ายของเขมรแล้ว

การยกเลิกเอ็มโอยูกับเขมรเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กรณีที่เขมรไม่ส่งตัวทักษิณให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนและยังตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโต้ที่สมเหตุผล เพราะหากนายอภิสิทธิ์ไม่ทำอะไรเลย นายอภิสิทธิ์ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกันเพราะจะถูกคนในประเทศตำหนิเอาว่าอ่อนแอไม่ปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศ เนื่องจากนายฮุน เซน ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งผิดมารยาทอย่างร้ายแรง

แต่รัฐบาลไทยได้ย้ำชัดว่าปัญหาพิพาทที่เกิดขึ้นจะไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจหรือต่อปากท้องของประชาชนทั้งสองประเทศ จะไม่มีการปิดชายแดน ปิดการทำมาค้าขายหรืออะไรทั้งนั้น ขณะที่เรื่องเอ็มโอยูยังไม่เป็นรูปธรรม เป็นเพียงเรื่องบนกระดาษที่ยังไม่มีการลงมือปฏิบัติหรือดำเนินโครงการอยู่ ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงยังไม่เกิดขึ้น

แต่สำหรับฮุน เซน แล้ว หลังจากไทยประกาศเลิกเอ็มโอยู ก็พาลด้วยการยกเลิกกู้เงินจากไทยเพื่อสร้างถนน และในวันต่อมา ฮุน เซน ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีความสุขตราบใดที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีและนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยหาว่าทั้งสองคนดูหมิ่นกัมพูชา

เท่านั้นยังไม่พอฮุน เซน ยังจะเรียกนักศึกษาเขมรที่ได้รับทุนจากฝ่ายไทยให้มาศึกษาในมหาวิทยาลัยของไทยกลับประเทศอีกด้วย โดยอ้างเรื่องเดิมคือศักดิ์ศรี

ฮุน เซน ประกาศเลิกกู้เงินจากไท ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน นายอภิสิทธิ์ได้โทรศัพท์ไปถึงฮุน เซน ด้วยตัวเองว่าไทยไม่มีนโยบายจะยกเลิกการให้เงินกู้ดังกล่าวแก่กัมพูชา ซึ่งนายอภิสิทธิ์โทร.ไปตามการประสานงานของผู้ใหญ่คนหนึ่งหลังจากกัมพูชาต้องการให้ฝ่ายไทยยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกเงินกู้ แต่สุดท้ายแล้วฮุน เซน ก็ออกมาประกาศยกเลิกการกู้

จะเห็นว่านายอภิสิทธิ์ได้แสดงความเป็นผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยแคร์ความเป็นอยู่และปากท้องของชาวเขมร

แต่เมื่อฮุน เซน เป็นฝ่ายบอกยกเลิก ชาวเขมรจึงไม่สามารถตำหนิรัฐบาลไทยได้ อย่างที่นายอภิสิทธิ์ได้ย้ำว่า ให้ชาวเขมรโปรดรับทราบว่าการยกเลิกกู้เงินครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลกัมพูชา ไม่ใช่การตัดสินใจของไทย แรงกดดันและภาพลบจึงตกอยู่กับฮุน เซน

ฮุน เซน ไม่เคยสำนึกว่าสิ่งที่ตนเองทำกับรัฐบาลไทยคือการไม่ส่งตัวทักษิณให้ไทยและยังก้าวล่วงศาลของไทย คือการดูถูกศักดิ์ศรีของประเทศอื่น แต่เมื่อถูกตอบโต้บ้างก็หาว่าอีกฝ่ายดูหมิ่น ราวกับว่าศักดิ์ศรีของตัวเองสำคัญกว่าศักดิ์ศรีของประเทศอื่น

ถามว่าทำไมตลอด 10 เดือนที่นายอภิสิทธิ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ความสัมพันธ์ของทั้งไทยและกัมพูชาเป็นไปอย่างไม่มีปัญหามากนักแม้จะไม่จัดว่าชื่นมื่นก็ตาม ฮุน เซน พบปะหารือกับนายอภิสิทธิ์หลายครั้ง นายกษิตก็พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศเขมรนับครั้งไม่ถ้วน เคยไปเยี่ยมคารวะฮุน เซน ก็เห็นว่าฮุน เซน ต้อนรับขับสู้ดี

แต่ทำไมปัญหาเริ่มปะทุขึ้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2552 ที่ฮุน เซน ประกาศว่ายินดีจะต้อนรับทักษิณไปอยู่เขมร พร้อมกับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ถามว่าทำไมตลอด 10 เดือนนั้น ฮุน เซน ทำอะไรอยู่ จึงไม่แสดงท่าทีออกมา ทำไมเพิ่งมาจงใจเปิดศึกกับไทยช่วง 1-2 เดือนมานี้ในลักษณะสอดรับกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายสนับสนุนทักษิณในไทย

ฮุน เซน ไม่มีความสุขเพราะว่ารัฐบาลไทยในปัจจุบันทำตามครรลองของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาในการเจรจาผลประโยชน์กับต่างชาติใช่หรือไม่ จึงทำให้ฮุน เซน หงุดหงิดไม่ทันอกทันใจ ต่างจากยุคทักษิณที่มักใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปเจรจากับฮุน เซน หรือเปล่า

การอ้างเรื่องศักดิ์ศรีของฮุน เซน ในการยกเลิกกู้เงินจากไทยแถมยังจะเรียกนักศึกษาเขมรในไทยกลับนั้น

ฮุน เซน อาจไม่เดือดร้อนเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ เพราะฮุน เซน และชนชั้นปกครองร่ำรวยอยู่แล้ว มีหนทางแสวงประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องได้ง่าย แต่คนที่เดือดร้อนและรับเคราะห์จากศักดิ์ศรี (ส่วนตัว) ของฮุน เซน ก็คือชาวบ้านตาดำๆ ที่ยากจน

เขมรเป็นหนึ่งในชาติยากจนที่สุดในโลก และมีปัญหาคอร์รัปชั่นสูงติดอันดับของโลก ปัญหาคอร์รัปชั่นทำให้ในปี 2549 ธนาคารโลกยกเลิกการให้เงินกู้ช่วยเหลือแก่กัมพูชา 64 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,112 ล้านบาท) เนื่องจากพบว่ามีการคอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ไม่ตกไปถึงชาวกัมพูชาอย่างแท้จริง ขณะที่บรรดาประเทศผู้บริจาคเงินแก่กัมพูชา (ผู้บริจาครายใหญ่คือญี่ปุ่น) ได้บ่นเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่เสมอ

ที่ผ่านมาฮุน เซน มักทำอวดเก่งปากดี ไม่รับเงินช่วยเหลือจากประเทศอื่นที่กำหนดเงื่อนไขการใช้เงินอย่างเข้มงวดและโปร่งใส โดยไม่สนใจว่าประชาชนของตัวเองจะยากจนเพียงใด การไม่อยากยอมรับเงื่อนไขเรื่องความโปร่งใสก็คงเป็นเพราะฮุน เซน ปฏบัติไม่ได้นั่นเอง

หนทางเดียวที่ฮุน เซน จะนำมาอ้างในการไม่รับความช่วยเหลือจากต่างชาติก็คือการอ้างเรื่องศักดิ์ศรี (ของตัวเอง)
"
"
บทความจาก มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก