วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กรณ์ แจงสรรพากรละเว้นภาษีโอ๊ค-เอม




"กรณ์" แจงผ่านเฟซบุ๊ค หลังกรมสรรพากรเว้นเก็บภาษี "โอ๊ค-เอม"

เรื่องการคืนภาษีโอ๊ค-เอม ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ผมขอเรียนอธิบายเป็นข้อๆไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยต่างๆในแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจนะครับ

1. การซื้อขายหุ้น ‘ชินคอร์ป’ ที่เป็นปัญหานั้นเนื่องมาจากการที่ผู้ขาย (บริษัท Ample Rich Investment Limited ซื่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นเจ้าของ) ได้ขายให้ผู้ซื้อ (โอ๊ค-เอม) ในราคาหุ้นละ 1 บาท สามวันก่อนที่จะมีการขายต่อให้เทมาเสคจากสิงคโปร์ โดยที่มูลค่าหุ้นจริงในตลาดขณะนั้น ราคาอยู่ที่หุ้นละ 49 บาท

2. กรมสรรพากรในชั้นแรกได้ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีว่าโอ๊ค-เอม มีภาระภาษี โดยมิได้เกิดจากกรณีที่ขายให้เทมาเซค แต่เป็นรายได้ที่ได้จากการรับซื้อหุ้นมาจากการตกลงกัน นอก ตลาดหลักทรัพย์ ในราคา 1 บาทเมื่อเทียบกับราคาตลาดที่ 49 บาท ส่วนต่าง 48 บาท ตามกฎหมายนั้นถือเป็นรายได้

3. ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า หุ้นดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นของโอ๊ค-เอม แต่เจ้าของตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและให้ถือว่าเป็นการกระทำ "นิติกรรมอำพราง" (คำพิพากษาลงวันที่ 26 กพ. 2553)

4. เมื่อศาลพิพากษาว่า กรณีนี้ถือว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" ตัวผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นมีความเห็นขัดแย้งกับกรมสรรพากร โดยผมเห็นว่าเราควรจะตามไปเก็บภาษีจากเจ้าของบัญชีตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในขณะที่เบื้องต้นกรมสรรพากร มีความเห็นว่า กรณีนี้ควรถือว่า เป็น "โมฆะ" ทั้งหมดเพราะศาลได้ชี้ชัดแล้วว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" ดังนั้นจึงไม่ควรไปตามเก็บภาษีจากใครอีก

5. สิ่งที่ผมบอกกับกรมสรรพากรคือ การขายหุ้นจาก Ample Rich กลับมาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ (โดยมี โอ๊คเอมเป็นตัวแทน) นั้น เป็นการขายระหว่าง "บริษัท" กับ "ตัวบุคคล" ซึ่งถึงแม้ว่าบุคคลคนนั้นเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท การซื้อขายก็ยังมีผลอยู่ดี และถ้าจะถือว่าความเกี่ยวข้องต่างๆกับ "นิติกรรมอำพราง" จะต้องเป็น "โมฆะ" ทั้งหมด “การซื้อขายหุ้นให้เทมาเสค” จากบัญชีนั้นก็จะต้องเป็น "โมฆะ" ไปด้วย แต่นี่การซื้อขายหุ้นดังกล่าวก็เป็นไปอย่างเสร็จสมบูรณ์ทุกประการ ผู้ซื้อได้หุ้น ผู้ขายได้เงิน และเป็นการซื้อขาย "นอกตลาดหลักทรัพย์" ซึ่งมีกฎระบุชัดเจนว่า จะต้องมีการจัดเก็บภาษี

6. ถ้ากรมสรรพากรจะไม่เรียกเก็บภาษีจากกรณีนี้ โดยอ้างว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" นั้น ก็จะต้องตอบคำถามด้วยว่า เหตุใดกรณีนี้จึงเป็น "โมฆะ" เฉพาะในส่วนของเรื่องการ "จัดเก็บภาษี" ในขณะที่ การ "ซื้อขายหุ้น"ให้เทมาเสคในกรณีนี้ ไม่ได้เป็น "โมฆะ" ไปด้วย

ในส่วนคำถามที่มีต่อตัวผมว่า ช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้บ้าง ก็ขอเรียนว่า เมื่อความเห็นของผมและทางกรมสรรพากรไม่ตรงกัน กรมสรรพากรจึงต้องพิจารณาหาข้อเท็จจริงและคดีก็ยังอยู่ในอายุความ แต่ทางกรมสรรพากรก็ต้องระวังไม่ให้มีการถ่วงเวลาจนหมดอายุความ มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจติดคุกติดตะรางกันได้

สำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายกับเรื่องนี้ และอยากให้เลิกรากันไปเสียที ผมก็ต้องเรียนว่าเงินภาษีที่เราจะจัดเก็บได้จากกรณีนี้เป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และข้อสำคัญคือ มันจะเป็นการไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี

เมื่อมองจากการทำงานที่ผ่านมาของกรมสรรพากรอันเป็นที่ขึ้นชื่อในการเก็บภาษีขนาดที่พูดกันว่า มีการไปนั่งเฝ้านับชามก๋วยเตี๋ยวเพื่อจะคำนวณภาษีที่จะจัดเก็บจากร้านนั้น แล้วนี่คือภาษีของประชาชนที่ควรจะจัดเก็บได้มูลค่าเป็น "หมื่นล้านบาท" กรมสรรพากรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ถ้างดเว้นการจัดเก็บภาษีในกรณีหุ้นชินคอร์ปนี้ ก็จะต้องมีคำถามอย่างแน่นอนว่าเหตุผลของกรมสรรพากรในการที่จะงดเว้นการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นเหตุผลที่เหมาะสมและถูกต้องหรือไม่


-------------------------

ตัวอย่างบางความคิดเห็นจากผู้อ่านคนอื่น ๆ ที่ได้อ่านที่คุณกรณ์โพส ที่น่าสนใจ ดังนี้

"ถ้าเก็บตามหน้าที่ ได้เงินเยอะเกินเป้า จะได้ไม่ต้องไปรีดไถ นั่งเฝ้านับชามให้เจ้าของร้​านเครียด ประสาทเสีย มันเกินไปจริงๆ รังแกได้แต่ประชาชนที่ไม่มี​อิทธิพล เกลียดจังกรมคันไถ"

" แล้วควรจะเป็นยังไงต่อไปครั​บ เช่น ต้องปล่อยให้คืน ไม่สามารถยับยั้งได้ หรือต้องฟ้องสรรพากรแล้วให้​คนพวกนั้นรับผิดชอบแทน หรือทำอะไรได้บ้างครับ สงสัยครับ เพราะดูเหมือนว่าจะหมดหนทาง​ขัดขวางเลยครับ อย่างนี้กระบวนการยุติธรรมก็ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือมาก​ขึ้นไปอีก ขัดกับกระแสรับสั่งของในหลว​งเลยครับ..... ปชป.มีนักกฎหมายเยอะมากไม่ส​ามารถจะทำให้ความผิดกลับเป็​นความผิดอย่างที่ควรจะเป็นไ​ด้เลยเหรอครับ....."

"อยากเรียนถามว่า ใครมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเจ้​าหน้าที่กรมสรรพากรข้อหาละเ​ว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้บ้า​ง ประชาชนทั่วไปอยากฟ้องแต่ไม่มีข้อมูลความรู้เพียงพอ มีใครเปนตัวแทนได้บ้างหรือร​่วมลงชื่อกันอย่างไร พึ่งสภาทนายความได้ไหม ไม่อยากร่วมมือกันโกงแบบหน้​าด้านๆ อย่างนี้"

"ถ้าเอาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วมีการขายหุ้นให้เท​มาเสกโดยไม่มีการอายัดหุ้น ต้องถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแล้ว ดังนั้นสรุปว่าพานทองแท้ต้อ​งเสียภาษี ไม่เป็นนิติกรรมอำพราง"

"พรุ่งนี้ผมจะไปทำ "นิติกรรมอำพราง" บ้างจะได้ไม่ต้องเสียภาษี มิน่าเราจ่ายมาตลอด เพราะเราทำแต่นิติกรรม ปกตินี่เอง แนะนำให้คนไทยทุกคนทำเวอร์ชั่นอำพรางครับ tax free สรรพากรก็ไม่ต้องเหนื่อยด้ว​ย โมฆะทุกอย่าง..."

-------------------------


และคำถามที่น่าสนใจที่สุดคือ

"ผมไม่เห็นด้วยกับคุณกรณ์อย่​างยิ่งที่บอกว่า โดยผมเห็นว่าเราควรจะตามไป​เก็บภาษีจากเจ้าของบัญชีตัว​จริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"


และคุณกรณ์ได้ตอบคำถามนี้อย่างน่าสนใจว่า

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากครับ ก็ในเมื่อเจ้าของหุ้นตัวจริ​งคือทักษิณ แล้วทักษิณให้ลูกชายและลูกส​าวถือแทน ก็ควรต้องเก็บภาษีจากสองคนนี้แทน ไม่ใช่บอกว่าในเมื่อไม่ใช่เ​จ้าของหุ้นตัวจริงก็เลยเลี่​ยงภาษีได้ ให้ไปตามเก็บกับเจ้าของตัวจ​ริงๆ ทั้งๆ ที่เงินจำนวนมากของเจ้าของตัวจริงอยู่ที่ ๒ คนนี้

ลูกชายและลูกสาวของทักษิณได้เงินจำนวนมากจากการขายหุ้น​ดังกล่าว แต่กลับบอกว่า ในเมื่อเป็นการถือแทน (นิติกรรมอำพราง) จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการเสียภาษีจากเงินที่ตัวเองได้ อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง

ถามว่า คนที่ถือหุ้นแทนสามารถทำนิติกรรม (โอนหรือขายหุ้นนั้น) อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไ​ม่???

การที่สองคนนี้ถือหุ้นแทนทั​กษิณแล้วขายให้เทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ได้อย่างถูกต้​องตามกฏหมาย ก็แสดงว่า สองคนนี้ที่ถือหุ้นแทนทักษิ​ณก็เป็นเจ้าของตัวจริงด้วยเ​หมือนกันจึงต้องเสียภาษีตาม​กฏหมาย (แม้จะถือแทน แต่ได้เงินจากก​ารขายหุ้นและสามารถใช้จ่ายเ​งินนั้นได้ถูกต้องตามกฏหมาย​ แล้วจะไม่ต้องเสียภาษีได้อย่างไร)

สรุปความว่า จะเรียกว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" หรือไม่ก็ตาม แต่เงินภาษีที่สองคนนี้เสีย​ก็ต้องถือเป็นเงินของทักษิณ​เหมือนกัน เพราะเห็นได้ชัดว่ามันกระเป๋าเดียวกัน

---------------------------

อัพเดทล่าสุด

เมื่อคดีเก็บภาษีขายหุ้นชินฯ กำลังจะหมดอายุความสิ้นเดือนมีนาคม 2560 (ประเด็นวันหมดอายุความยังมีข้อโต้แย้ง) คุณกรณ์ได้โพสเฟสบุ้ค ในวันที่ 15 มี.ค. 2560 ตามนี้


ภาษีชิน - จะเก็บได้จริงหรือไม่?

ก่อนอื่นขอลำดับขั้นตอนสำคัญจากอดีตสู่วันนี้

๑. กรมสรรพากรออกหมายเรียกและประเมินภาษี นายพานทองแท้- พินทองทา (๓ สิงหา ๕๐)
๒. พาน/พิน ไม่ยอมจ่าย ยื่นฟ้องสรรพากร (๑๑ ธันวา ๕๒)
๓. ศาลฎีกาพิพากษายึดทรัพย์นายทักษิณ วินิจฉัยว่า พาน/พิน เพียง 'ถือแทน' (๒๖ กุมภา ๕๓)
๔. ศาลภาษีกลางพิพากษาถอนการประเมินภาษี พาน/พิน โดยอ้างการวินิจฉัยศาลฎีกาฯ(๒๙ ธันวา ๕๓)
๕. สำนักงานอัยการสูงสุดแนะนำสรรพากรไม่ให้อุทธรณ์
๖. กรมสรรพากรเห็นด้วยว่าไม่ควรอุทธรณ์ (๑๗ มีนา ๕๔)
๗. กระทรวงคลังรับทราบการไม่อุทธรณ์ แต่เสนอให้กรมสรรพากรดำเนินการประเมินภาษีจาก 'บุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง' (๒ พฤษภา ๕๔)
๘. นายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภาฯ (๙ พฤษภา ๕๔)
๙. นายกฯ ยิ่งลักษณ์รับตำแหน่ง (๕ สิงหา ๕๔)
๑๐. อธิบดีสรรพากรสั่งให้ยุติการเก็บภาษี โดยอ้างว่าเป็นการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์จึงได้รับการยกเว้นภาษี (๒ มีนา ๕๕)
๑๑. หมดอายุความการออกหมายใหม่ (๓๑ มีนา ๕๕)

จากการลำดับเหตุการณ์จะเห็นว่า ในปี ๒๕๕๔ กระทรวงการคลังยอมรับการใช้อำนาจไม่อุทธรณ์โดยอธิบดีกรมสรรพากรภายใต้เงื่อนไขว่า เมื่อไม่เก็บภาษีจากนอมินีก็ให้ไปเก็บจากเจ้าของบัญชีตัวจริง

แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลในปี ๒๕๕๕ อธิบดีไม่ได้ทำเช่นนั้น และในภายหลังยังอ้างว่า ที่เก็บไม่ได้เพราะเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งๆที่การประเมินภาษีแต่เดิมนั้น เป็นการประเมินจากการที่คุณทักษิณใช้ลูกๆเป็นนอมินีซื้อหุ้น (นอกตลาดหลักทรัพย์) จาก Ample Rich ในราคา ๑ บาท ซึ่งตํ่ากว่ามูลค่าที่แท้จริงถึง ๔๘ บาท จึงเท่ากับมีกำไรที่ต้องเสียภาษีทันที ซึ่งหลังจากนั้นที่ไปขายให้สิงค์โปร์ 'ในตลาดหลักทรัพย์' นั้นไม่ใช่ประเด็น

ที่น่าเสียดายคือ ในวันที่อธิบดีสรรพากรสั่งยุติเรื่อง (ขั้นตอนที่ ๑๐) ทำไม สตง. หรือกระทรวงการคลังเองถึงไม่ได้ทักท้วง ทั้งๆ ที่คำสั่งของอธิบดีนั้นขัดกับข้อสังเกตโดยกระทรวงคลังเองก่อนหน้านั้นว่ากรมสรรพากรควรต้องเก็บภาษีจากเจ้าของบัญชีจริง (ขั้นตอนที่ ๗)

หากทักท้วงแต่ตอนนั้น ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องอายุความการออกหมายเรียกเก็บภาษีดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ (ในช่วงนั้นผมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและได้ยื่นเรื่องร้องเรียนในประเด็นนี้ต่อกระทรวงการคลังให้ดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงที่กำหนดไว้ในอาทิตย์สุดท้ายที่ผมอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี)

ต่อคำถามว่าสุดท้ายรัฐจะเก็บภาษีนี้ได้หรือไม่นั้น ?

ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยที่กรมสรรพากรในยุคปัจจุบันได้พูดไว้ว่า อายุความในการเรียกเก็บภาษีนั้นหมดไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๕

แต่วันนี้มีการตีความด้วยช่อง 'กฎหมายนอมินี' ว่าการที่เคยเรียกเก็บจากพานทองแท้-พินทองทา ก็เสมือนเป็นการเรียกเก็บจากทักษิณ ไม่ต้องเรียกใหม่ ตามตรรกะผมว่าถูกต้อง และหวังว่าตามหลักกฎหมายจะถูกต้องด้วย แต่ผมเข้าใจว่ากรมสรรพากรไม่เคยใช้กฎหมายแนวนี้มาก่อน ทั้งหมดจึงคงต้องจบที่ศาล

เรื่องนี้แต่แรกก็เป็นที่เข้าใจกันว่าต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งเสียภาษี ซึ่งกรมสรรพากรมีโอกาสจะทำให้เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาได้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ แต่แล้วก็ไม่ทำ ซึ่งจากวันนี้ทั้งหมดก็ต้องไปสู้กันในชั้นศาลอีกรอบ ผลจะออกมาอย่างไรต้องติดตาม

คลิกอ่าน การโกงระดับพื้นฐานของทักษิณ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก