วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554
กทม.เสนอแนวทางต่อศปภ.11ข้อ
29ต.ค.54 รายงานข่าวจาก กทม.แจ้งว่า ขณะนี้ กทม.ได้มีหนังสือถึง ศปภ. นำเสนอแนวทางจัดการปัญหาน้ำ 11 ประการ ให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการโดยเร็ว คือ
1.สั่งเปิดปั๊มน้ำกรมชลฯ จุดคลองสิบสามติดคลองหกวา 100% (12 ตัว)
2.สั่งเปิดปั๊มน้ำกรมชลฯ จุดแสนแสบ (หนองจอก) 100% (17 ตัว และเร่งซ่อมอีก 3 ตัวที่ชำรุด)
3.เปิดปั๊มน้ำกรมชลฯ จุดประเวศบุรีรมย์ 100% (20 ตัว)
4.เปิดประตูคลอง 6-21 ประตูระบายน้ำพระอินทร์ เพื่อลดระดับน้ำคลอง 1 ระพีพัฒน์ ที่มุ่งเข้ากลางเมือง
5.เปิดประตูระบายน้ำคลอง 6-21 รังสิต เพื่อลดระดับน้ำคลอง 1 รังสิต ที่มุ่งเข้าเมือง
วอนปิดประตูน้ำคลอง 1 รังสิต
6.ดันท่อลอดถนนชลบุรีสายใหม่ (มอเตอร์เวย์) และถนนบางนา-ตราด เพื่อส่งน้ำออกอ่าวไทย กันน้ำยกระดับสูงเนื่องจากระบายไม่ทัน แต่จะเป็นจุดใดหรือใช้ท่อขนาดใดบ้างนั้น กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำและสำนักการโยธาสำรวจ-ศึกษาร่วมกับคณะกรรมการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ ร่วมพิจารณาและตัดสินใจดำเนินการ
(akecity ข้อ6 ศปภ.ตัดสินใจไม่ทำแล้วครับ)
7.เสริมคันพระราชดำริ กั้นน้ำข้ามแนวคันเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน
8.เปิดประตูคลองหาวาสายล่างช่วงคลอง 6 ขึ้นไป เพื่อลดระดับน้ำในคลองหกวาสายล่างรองรับน้ำจากพื้นที่ชั้นใน
9.ปิดประตูน้ำบานคลอง 1 รังสิต เพื่อลดน้ำเข้ากลางเมือง และเร่งซ่อมประตูที่เสียหาย
10.ปิดบานคลอง 1 ประตูน้ำพระอินทร์ ลดน้ำเข้ากลางเมืองและเร่งซ่อมประตูที่เสียหาย
11.เปิดบานประตูคลองสองจากพหลโยธิน (ซอย 58) เพื่อลดน้ำบนถนนเข้าคลองหกวาสายล่าง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผลการร้องขอของ กทม.ว่าได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้างแล้วหรือไม่ และอย่างไร
ข้อมูลจาก thaiflood.com
วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เปิดใจอธิบดีกรมชลประทานกับข้อหาบริหารน้ำพลาด
หมายเหตุ - จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดและมวลน้ำกำลังทะลักเข้ากรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นเพราะประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลว ซึ่ง"มติชน"ได้สัมภาษณ์นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทานที่รับผิดชอบโดยตรง ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข
"ในเว็บไซต์ในทวิตเตอร์ซัดผมทุกวัน ข้อมูลไม่จริงไม่ถูกต้องก็เอามาพูดกัน การสื่อสารแบบนี้มันเร็วมาก คนยิ่งตื่นตระหนก ก็ไปเชื่อกันหมด"
@ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นปีนี้มาจากสาเหตุอะไร
วิกฤตน้ำปีนี้เกิดจากภัยธรรมชาติเป็นหลัก ประเทศไทยถูกพายุ มรสุมหลายลูกพัดเข้ามามากและมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และตกซ้ำกันตลอดเวลา ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีปัญหา เพราะปริมาณน้ำที่สะสมไว้มีจำนวนมหาศาล ทำให้ลำน้ำรับน้ำไว้ไม่ได้ น้ำจะแผ่กระจายเข้าไปในทุ่ง หรือเรียกว่าน้ำทุ่ง ทำให้เกิดปัญหาอย่างมากในขณะนี้ ส่วนการบริหารจัดการน้ำท่า หรือน้ำที่ไหลผ่านตามแม่น้ำ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาคนไม่เข้าใจเรื่องน้ำท่ากับน้ำทุ่ง เข้าใจผิดว่ากรมชลประทานให้ข้อมูลผิดพลาด ซึ่งเรื่องน้ำท่าที่กรมชลฯระบุว่าจะผ่าน กทม.ไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามที่เราทำนายไว้ทั้งหมด บางคนไม่เข้าใจว่ากรมชลฯออกมาบอกว่าน้ำมวลใหญ่ไหลผ่านไปแล้ว ทำไมยังมีน้ำท่วมอีก ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นน้ำคนละส่วน มวลน้ำที่เรากำลังสู้กันอยู่ทุกวันนี้คือน้ำทุ่ง
ปีนี้เราเจอศึกสองด้าน ทั้งน้ำทุ่ง น้ำท่า ซึ่งน้ำทุ่งมีปัญหามาก ปริมาณน้ำมากถึง 1.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเท่ากับจำนวนน้ำที่เก็บไว้ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์10เขื่อน และเวลาน้ำไหลมาไม่ได้มาเร็ว แต่ไหลแผ่มาเรื่อยๆ คำนวณทิศทางการไหลไม่ค่อยได้ ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการแก้ปัญหาของกรมชลฯคือ เราต้องคอยตัดยอดน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อให้ปริมาณน้ำน้อยลง ผันออกไปลงเจ้าพระยาบ้าง ไปตามลำน้ำต่างๆ บ้าง
@ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต้นเหตุของปัญหามาจากการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของกรมชลฯ ที่ไม่ยอมพร่องน้ำออก ก่อนที่พายุจะเข้า ทำให้น้ำในเขื่อนมีมากเกินไป และปล่อยออกมามากเกินไป
(ถอนหายใจยาว) ผมไม่อยากจะมาเถียงเรื่องนี้ แต่ขอท้าว่าคนออกมาพูดเรื่องนี้ ขอให้ช่วยออกมาบอกหน่อยว่า อีก 1-2 เดือนข้างหน้าที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ช่วยมาทำนายฝนให้ที ว่ามันจะตกเท่าไร ตกตรงไหน เราต้องเก็บน้ำไว้เท่าไร เพราะมาพูดตอนนี้ จะพูดอะไรก็ได้
@จริงหรือไม่ที่กรมชลฯมัวแต่ห่วงว่าจะไม่มีน้ำใช้ช่วงแล้ง เลยไม่พร่องน้ำในเขื่อนออกมา
ไม่จริงหรอก (ลากเสียงยาว) เพราะเราดูแลและระบายน้ำในเขื่อนให้เหมาะสมอยู่ตลอดแล้ว แต่มาพูดตอนนี้ ใครก็พูดได้ ถ้าเก่งนัก อยากจะขอท้าให้ช่วยมาทำนาย แต่อย่ามาบอกแบบกรมอุตุนิยมวิทยานะว่า จะตกแบบกระจาย 4-5 จังหวัด
@ เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะคำนวณพลาด เรื่องการพร่องน้ำและการปล่อยน้ำในเขื่อน
เรามองและให้ความสำคัญเรื่องการพร่องน้ำอยู่แล้ว แต่ปีนี้น้ำมามากเกิน เมื่อน้ำเข้ามามากมันก็ล้น เพราะกรมอุตุฯก็บอกไม่ได้ว่าน้ำจะมาบริเวณไหน กรมอุตุฯยังไม่กล้าฟันธงเลย เพราะไม่มีใครที่สามารถทำนายหรือคาดการณ์อะไรได้ตรงทั้งหมด
เราต้องยอมรับกันว่าปีนี้ฝนมาก และน้ำที่ปล่อยออกมาก็ไม่ได้ปล่อยโดยไม่ดูอะไรเลย เราดูหมด เราจะเก็บน้ำไว้ในเขื่อนต่อไปก็ได้ เมื่อเขื่อนเต็มศักยภาพที่จะเก็บน้ำแล้ว ก็ต้องปล่อยออกมา เพราะถ้าเก็บไว้แล้วเขื่อนพัง ปัญหาจะไม่ยิ่งมากไปกว่านี้หรือŽ
@มีเสียงวิจารณ์เรื่องความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ของกรมชลฯ
ยอมรับว่ามีปัญหานี้เหมือนกัน แต่ปัญหาหลักไม่ได้มาจากกรมชลฯ เพราะเราเตรียมไว้หมดแล้วว่า จะผันน้ำไปทางไหนบ้าง จะตัดยอดน้ำอย่างไร แต่ปัญหาที่เจอคือ การให้ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่น้ำจะไหลผ่าน ขาดการประสานงานที่ดีกับชาวบ้าน ซึ่งไม่เข้าใจการทำงานของกรมชลฯ ทำให้การดำเนินงานมีปัญหา
@กรมชลฯกำลังแก้ตัวอยู่หรือไม่
(พูดเสียงดัง) เราไม่เคยแก้ตัว แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น บางพื้นที่เราเอารถแบ๊กโฮเข้าไป ก็ถูกยึดกุญแจไป บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ใส่เสื้อกรมชลฯเข้าไปไม่ได้เลย เราเลยทำงานตามแผนไม่ได้ โดยเฉพาะการปิดคลองข้าวเม่า น้ำก็เลยทะลักเข้าไปท่วมพื้นที่ต่างๆ จนเกิดความเสียหายแบบที่เห็นอยู่ ซึ่งยอมรับว่าปัญหาหลักของกรมชลฯคือ เราประสานงานทำความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชนไม่ได้ แต่ตอนนี้มีหลายพื้นที่ที่ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว
นอกจากนี้ การบริหารงานของกรมชลฯก็มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะการขาดแคลนเครื่องมือในการบริหารน้ำ เขื่อนสำคัญหลายแห่งมีการศึกษาไว้แล้ว แต่สร้างไม่ได้ เครื่องมือธรรมชาติที่มีอยู่คือคูคลองต่างๆ ก็ตื้นเขินหมดแล้ว
@ปีหน้าจะเกิดปัญหาแบบนี้อีกหรือไม่
ในความคิดผม ไม่ว่าจะเกิดปีหน้าหรือปีไหนอีก ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นกว่าปีนี้อีก ถ้าไม่หยุดสิ่งที่มนุษย์ทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดป่าไม้ การเข้าไปกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลผ่านไม่ได้ การขยายตัวของชุมชนเมือง ที่ขยายเข้าไปขวางทางน้ำ ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ว่ายังไงมันก็ท่วม
ลองขึ้นเครื่องบินไปดูได้เลย ตอนนี้บริเวณรังสิต สิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำมีมากแค่ไหน เพราะเราไม่รู้จักอยู่กับธรรมชาติ ที่ลุ่มต้องไม่ไปอยู่ ต้องไปอยู่ในที่ดอน หรืออย่างพื้นที่ทางน้ำผ่าน (ฟลัดเวย์) เราเคยมี และเป็นที่ที่จะให้น้ำไหลผ่านไปทางทิศตะวันออก เดี๋ยวนี้บ้านจัดสรรขึ้นเต็มไปหมด ทางเดินของน้ำก็ไปไม่ได้ ถ้าหยุดการกระทำแบบนี้ไม่ได้ นับวันปัญหาจะรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรีบทำ บุกรุกคูคลองต้องจัดการ ฝั่งเมืองต้องคุมให้อยู่
@หลายฝ่ายเรียกร้องให้กรมชลฯรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ขอถามหน่อยว่า สาเหตุของปัญหาที่พูดไปทั้งหมด อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลฯหรือไม่ คนที่ไปทำลายธรรมชาติ ทำลายคูคลอง การที่ผังเมืองคุมไม่อยู่ เป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานไหน ที่บอกว่า จะมีการตั้งกระทรวงน้ำ ถามว่าเวลามาที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เห็นหน่วยงานไหนที่เข้ามาดูแลเรื่องน้ำบ้างหรือเปล่านอกจากกรมชลฯ
นี่ผมไม่ได้ว่าใครนะ เวลาเรื่องทฤษฎีก็พูดกันไปเรื่อย แต่เวลาภาคปฏิบัติต้องลงมือทำงาน คุณเห็นใครบ้างละ และเวลาถูกด่าใครที่ถูกด่า ผมไม่ได้พูดแบบน้อยใจนะ แต่อยากให้เห็นข้อเท็จจริง แล้วจะมาพูดเรื่องกระทรวงน้ำตอนนี้ไม่มีประโยชน์ แทนที่จะมาช่วยกันและมาดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
ทุกครั้งเวลามีปัญหาคนจะมุ่งไปที่เขื่อนว่ามีปัญหารับไม่ได้ แต่ไม่ได้ดูองค์ประกอบเรื่องป่าไม้ถูกทำลาย สิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำเลย ถ้าวันนี้เราไม่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ประชาชนจะมาผิดทางหมด เราต้องช่วยพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เขาเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาระยะยาวในอนาคต
การที่กรมชลฯถูกด่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราถูกด่ามาทุกปี เราไม่ได้ว่าอะไร แต่เรื่องนี้ถ้าปล่อยให้เกิดมากขึ้นทุกปี ปัญหาจะยิ่งแก้ไขได้ยาก อย่างตรงสุวรรณภูมิ ถ้าไม่หยุด มีบ้านจัดสรรลงไปอีก ปัญหาจะต้องหนักกว่านี้อีก
@นายกฯทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
โดยรวมถือว่าโอเค ทุกวันนี้เรื่องน้ำ ท่านรู้หมดแล้วว่ามันจะไปทางไหน จะต้องทำอะไร ถือว่าเก่งในเรื่องการเรียนรู้งานใหม่ เพราะท่านมาจากสายธุรกิจ ไม่มีประสบการณ์เรื่องน้ำโดยตรง แต่ต้องระวังรอบข้าง เดี๋ยวคนโน้นมาพูดแบบนี้ คนนี้มาพูดแบบนั้น เลยทำให้ข้อมูลบางเรื่องอาจไขว้เขวได้
@หลังจากน้ำลดแล้วรัฐบาลจะกู้เงินหลายแสนล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมถาวร
ก็ดี แต่ต้องทำโครงการใหญ่ๆ อย่าทำแบบเบี้ยหัวแตก การทำโครงการใหญ่ที่ผ่านมาต้องใช้เวลามาก ขั้นตอนมากกว่าจะเปิดโครงการได้ ถ้าจะให้งานเดินหน้าเร็ว รัฐบาลต้องยกเว้นขั้นตอนเหล่านี้ จะได้เริ่มก่อสร้างได้ไว
งานแหล่งน้ำไม่เหมือนปลูกสร้างตึก ที่แค่เขียนแบบเสร็จก็ทำได้เลย แต่แหล่งน้ำผลกระทบเยอะ กฎหมายที่คุมอยู่ก็เยอะ เพราะฉะนั้นต้องวางแผนก่อนอย่างน้อย 3 ปี กว่าจะพร้อมทุกอย่าง
@มีคนเริ่มพูดกันว่า หลังน้ำลด กรมชลประทานจะต้องรับผิดชอบความผิดพลาด
(หยุดคิด) ก็คิดอยู่เหมือนกัน เพราะพฤติกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันต้องหาแพะ ในเว็บไซต์ในทวิตเตอร์ซัดผมทุกวัน ข้อมูลไม่จริงไม่ถูกต้องก็เอามาพูดกัน และการสื่อสารแบบนี้ มันเร็วมาก คนยิ่งตื่นตระหนก ก็ไปเชื่อกันหมด โดยไม่มีการกลั่นกรองอะไรก่อน และเรื่องแบบนี้ เขาทำกันเป็นทีม จะให้ไปตอบโต้คืน คนของเราก็ไม่ชำนาญ คนก็เลยเขวกันไปหมด
ก็ลองดู...ก็สู้ไป ถ้าอะไรจะเกิดมันก็ห้ามไม่ได้ แต่เราก็ทำงานแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชนให้เต็มที่ที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะเป็นหน้าที่ของเรา
ทีมเศรษฐกิจมติชน (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2554)
------------
คุณผู้อ่านครับ อยากให้ย้อนไปดูบทความของผม ซึ่งเป็นคลิปสัมภาษณ์อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกรายการทางvoicetv ประกอบด้วยครับ
คลิกที่นี่
และผมอยากจะบอกหลายๆคน ให้รู้ด้วยว่า กรมชลประทานไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมนะครับ เชิญไปอ่านที่บทความเรื่อง สึนามิน้ำจืด54 ต่างจากน้ำท่วมปี38อย่างไร
คลิกที่นี่
ซึ่งบทความนี้จะมีคลิปเจาะข่าวเด่น กับสรยุทธ ได้สัมภาษณ์อธิบดีกรมชลประทาน ช่วงรับมือพายุนกเต็น ด้วย
วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เจาะความล้มเหลวของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
17ต.ค.54 ข่าวค่ำทีวีไทย ทีวีสาธารณะ เป็นช่องที่ทำการรายงานข่าวน้ำท่วมอย่างเป็นกลางที่สุด กล้าวิจารณ์ความผิดพลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)
-------------------------------
ขอแถมด้วย
เปลวสีเงิน ชี้จุดอ่อนการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ผมว่า นอกจากเหลวแล้วยังชักเลอะไปใหญ่นะครับ ถึงเวลาต้องคิดกันแล้วว่า..มันคุ้มมั้ย ที่จะปล่อยให้รัฐบาลใช้แค่คำว่า "ขอโทษครับ..เสียใจค่ะ" ลบล้างความผิดพลาดโดยสุจริตในการบริหารวิกฤติน้ำครั้งแล้ว-ครั้งเล่า จนความผิดพลาดนั้นสร้างความวิบัติซ้ำๆ ซากๆ ให้กับชีวิตและทรัพย์สินทั้งรัฐ-ทั้งราษฎร์มหาศาล จำไว้...ไม่มีใครหวังให้รัฐบาลเสกน้ำให้แห้ง แค่หวังให้บริหาร-จัดการปัญหาให้เป็นระบบ เพื่อสูญเสียให้น้อยที่สุดเท่านั้น
ก็เห็นกันแล้ว "วิกฤติน้ำ" น่ะว่ายาก แต่ควบคุมง่ายกว่า "วิกฤติมนุษย์" ยามตื่นภัย ประเทศชาติหนึ่งๆ จะไปได้ขนาดไหน เขาก็ดูกันที่ "ทรัพยากรมนุษย์" ชาตินั้นๆ ในยามบ้านเมืองมีภัย หรือยามสังคมมี "วิกฤติชาติ" ที่ต้องฟันฝ่าร่วมกัน!
กับของเราที่เห็น รัฐบาลไม่สามารถควบคุมฝูงชนให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามได้ ยามแตกตื่น ชาวบ้านทำความเข้าใจกับคำว่า "ส่วนตัว-ส่วนรวม" ไม่ได้ ดังนั้น ที่เราเห็นในหลายๆ จุด เรารักษาไว้ได้ ถ้ายอมสละส่วนตนเพื่อส่วนรวม แต่นี่..กลับต้องพินาศไปด้วยกัน
เพราะข้าจม เอ็งก็ต้องจมด้วย!
ความแตกตื่นเอาตัวรอด มันเป็นสัญชาตญาณมนุษย์ แต่ผมเวทนาการจัดการปัญหามวลชนของยิ่งลักษณ์ การทำอย่างที่ ศปภ.ทำ คือให้ใครซักคนที่มีปากและพูดได้ ไปนั่งหน้าจอแล้วบอก...ขอความกรุณาด้วยครับ..ขอความร่วมมือด้วยครับ
อย่ารื้อ..อย่าปิด หรืออย่าเปิด ประตู-พนัง-กระสอบกั้นน้ำ!
โถ...ถ้าเป็นตัวเองล่ะ แค่คำขอร้อง..จะเชื่อมั้ย เลิกรื้อกระสอบ ยอมให้น้ำไหลบ่าไปทางบ้านตัวเองมั้ย ซึ่งก็ต้องเข้าใจจะประณามคนส่วนนั้นเขาก็ไม่ได้ เพราะยามตื่นภัย เกาหลังสั่งไม่หยุด-ไม่ฟังหรอก มันต้องทุบหลังพลั่ก จึงฟัง-จึงหยุด
นั่นคือการควบคุมฝูงชน ขณะนี้ "คำขอร้อง" ไม่เป็นผล มันถึงขั้นต้องใช้ "คำสั่งเด็ดขาด" จึงเป็นผล!
มีแต่คำสั่งที่เด็ดขาดเท่านั้นที่จะ "หยุด" ความแตกตื่น ความสับสนอลหม่านของฝูงชนชนิดเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้งได้ แล้วนำ "ระเบียบ-วินัย" เข้าควบคุม จากนั้นนำคน-นำเครื่องมือเข้าปฏิบัติการกับปัญหานั้นๆ ให้ "เฉียบขาด" ตามแผนปฏิบัติ
ที่เขาให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เพราะอย่างนี้ ไม่เข้าใจแล้วยังจีบปากพูด...เราสู้กับน้ำ ไม่ได้สู้กับคน...เชื่อไปซี คุณพวกกุนซือหลังม่านน่ะ มันกลัวว่าถ้าให้ทหารทำ ทหารจะได้หน้า-ได้ตา ส่วนรัฐบาลได้แต่บาร์บี้ มันก็เท่านั้นแหละ!
ไหนว่า "มวลน้ำก้อนใหญ่" ไหลลงทะเลไปหมดแล้วไง แล้วมวลน้ำก้อนน้อยของยิ่งลักษณ์ก้อนไหนล่ะ ที่ไหลทะลักเข้าทลาย "นวนคร" จมไปอีกวานนี้ (๑๗ ต.ค.๕๔) ขืนสะเปรอะในการออกข่าว สลับกับคำ..ขอโทษครับ..เสียใจค่ะอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ชาว กทม.มีสิทธิ์จมน้ำคาบ้านขณะนอนหลับ เพราะเชื่อคำที่รัฐบาลบอก "กทม.เราเอาอยู่"!
ตอนนี้คนกรุงเทพฯ คงไม่หวังอะไรมาก นอกจากหวังให้รอดได้ไปจอง "รถคันแรก-บ้านหลังแรก" เท่านั้นแหละ!!
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เปิดใจอธิบดีกรมชลประทาน กรณีน้ำท่วม54!!
ไปดูอธิบดีกรมชลปะทาน อธิบายว่า น้ำท่วมเพราะอะไร บริหารจัดการผิดพลาดหรือไม่??
น้ำเข้าน้ำออกมากเท่าไหร่ พวกที่เอาแต่ด่ากรมชลประทาน ควรฟังเหตุผลก่อนครับ
และควรดูให้จบคลิป เพราะถ้าดูไม่จบ เดี๋ยวจะฟังไมได้ศัพท์จับไปกระเดียด
ที่ประเทศไทยเราแตกแยก เพราะชอบฟังเขามา โดยไม่ดูข้อมูลตัวเลข และข้อเท็จจริง
พวกคิดชั่วพยายามอ้างว่า อำมาตย์ปล่อยน้ำทำลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ผมอยากจะบอกทุกคนว่า เจตนาของพวกนี้ ไม่ได้ต้องการด่ากรมชลฯจริงหรอก แต่พวกนี้หวังสูงกว่านั้น
ทำไมผมถึงบอกเช่นนี้? เพราะในช่วงน้ำท่วมเรื่อยมา ในหลวงท่านทรงตรวจระดับน้ำของเขื่อนสำคัญทุกวัน โดยกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องรายงานในหลวงทุกวัน
การใส่ร้ายเรื่องอำมาตย์ปล่อยน้ำท่วมเพื่อทำลายรัฐบาล มันคือเจตนาที่เลว ขอทุกท่านอย่าหลงเชื่อครับ
เรื่องเขื่อนผมฟันธงว่าไม่ผิดพลาด แต่ประตูระบายน้ำตามแม่น้ำลำคลองต่างๆอาจมีความผิดพลาดครับ เพราะมันกระทบคนในพื้นที่ตรงนั้น เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยกับคนคัดค้าน ทำให้บริหารจัดการเรื่องเปิดประตูน้ำยากมาก !!
--------------------------
เปิดภารกิจ “กรมชลประทาน” ในภาวะน้ำท่วม54
รายการ Intelligence
ปีนี้น้ำท่วมหนักที่สุดทั้งลาว เวียตนาม เขมร โดนหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีทั้งนั้น
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวครับ
-------------------------
ดูความยากลำบากของการเปิดประตูระบายน้ำ
เพราะชาวบ้านทะเลาะกับชาวนา กรมชลฯไม่อยากระบายน้ำจนน้ำท่วมนา เพราะข้าวกำลังจะเก็บเกี่ยว แต่ชาวบ้านก็น้ำท่วมหนัก ทำมาหากินไม่ได้เช่นกัน
ชาวลำลูกกา ทะเลาะกับชาวองครักษ์เรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ
---------------------------
ก่อนจะจบ ผมขอนำอีกมุมมองนึงของนักวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องน้ำท่วม ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าบทความนี้ถูกหรือผิด เพียงแต่อยากนำเสนอในอีกมุมมองครับ
น้ำท่วม...เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว?
Fri, 2011-09-23 02:11
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
adis@nida.ac.th
21 กันยายน 2554
ใครว่าคนไทยเป็นคนใจกว้าง มีความโอบอ้อมอารี เอื่อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ผมว่า...พูดผิดพูดใหม่ได้นะครับ เพราะกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่จังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ไล่ลงมาจนถึงจังหวัดในภาคกลาง เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาฯลฯ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายและความเห็นแก่ตัวของคนไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้
ตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนจากสังคมของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขไปเป็นสังคมของความเห็นแก่ตัวอย่างสมบูรณ์ คนที่มีเงินหรือมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าก็สามารถเอาเปรียบคนยากคนจนได้(อย่างหน้าชื่นตาบาน) ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้นะครับ
ตัวอย่างที่หนึ่ง การปล่อยปะละเลยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในภาคเหนือเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจหรือผู้ที่มีอิทธิพลทั้งหลายไม่เคยสนใจเลยว่า การทำธุรกิจที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบนั้นได้นำมาสู่การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่ทำหน้าที่เป็นต้นน้ำสำคัญของประเทศ พื้นที่ต้นน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่ชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝนและคลายน้ำที่อุ้มไว้ในฤดูแล้ง เมื่อนักธุรกิจไทยเลือกที่จะรุกรานพื้นที่ป่าไม้เพื่อปลูกข้าวโพดทั้งที่รู้ว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศและเป็นต้นตอของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของประเทศไทย ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายและความเห็นแก่ตัวของกลุ่มทุนเหล่านี้ทั้งสิ้น หลังจากที่นักธุรกิจค้าข้าวโพดได้กอบโกยผลประโยชน์จากการทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นที่พอใจแล้วก็แสดงความใจแคบโดยการทิ้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้คนยากคนจนในชนบทในภาคกลาง
ตัวอย่างที่สอง น้ำเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถบริหารจัดการอย่างง่ายๆ ไม่งั้นคนเขาไม่เสียเวลาห้าปีแปดปีเพื่อร่ำเรียนวิชาชลศาสตร์หรือวิศวกรน้ำหรอกครับ แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันกลับอาศัยความมักง่ายโดยการมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดของตน เช่น การสร้างทำนบกั้นน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ในจังหวัดของตนเอง แต่เคยคิดหรือไม่ว่าน้ำจำนวนนั้นจะถูกผลักออกไปท่วมจังหวัดอื่นๆ ถัดไปอย่างไรบ้าง ดังนั้น การป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ดำเนินกันมาแบบว่าพื้นที่ใดมีเงินมากก็สร้างเขื่อนให้สูงกว่าเพื่อผลักน้ำให้ไปท่วมพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่นแทน ถ้าคนไทยยังแก้ปัญหากันแบบนี้ ผมก็คิดว่าเป็นการทำงานที่เห็นแก่ตัวสิ้นดี และเป็นการแก้ปัญหาแบบมักง่าย
ตัวอย่างที่สาม การพัฒนาตัวเมืองต่างๆ ผู้คนหวังแต่จะกอบโกยประโยชน์ใส่ตนเองโดยไม่แยแสต่อส่วนรวม ในการพัฒนาเมืองพบว่า ทางไหลของน้ำเดิม เช่น ลำคลอง ลำห้วย ลำธารต่างๆ ที่เป็นทางระบายน้ำในฤดูฝนก็ถูกถมไปหมดเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กอบโกยเงินโดยการถมทางน้ำสาธารณะเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรร เจ้าหน้าที่ของรัฐพอได้รับเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาแล้วก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ สร้างถนนต่างๆ ก็ยกระดับให้สูงซะจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ พื้นที่เขตธุรกิจหรือเขตอุตสาหกรรมก็สร้างทำนบกันน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตนโดยให้คนยากคนจนในพื้นที่เกษตรกรรมต้องรับชะตากรรมกับปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากแทน การขยายตัวของพื้นที่เมืองในลักษณะเช่นนี้นอกจากไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วช่างสะท้อนความด้อยพัฒนาคนอีกด้วย
ตัวอย่างที่สี่ เกิดเป็นคนกรุงเทพนี้ช่างวิเศษเสียจริงๆ กี่ปีต่อกี่ปีที่ประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมากมาย ทรัพย์สมบัติของชาวบ้านที่ซื้อหามาด้วยเงินทองที่แสนจะหายากก็ถูกน้ำพัดพาอันตรธานไปหมด แต่คนกรุงเทพยังคงใช้ชีวิตปกติ ว่างจากงานก็ช้อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำท่วมเลย การที่คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ มีเอกสิทธิ์และมีสตางค์มากพอทีจะสร้างแนวกันน้ำสองริมฝั่งแม่น้ำและปิดประตูกันน้ำทุกจุดเพื่อ ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าเขตกรุงเทพฯ เมื่อน้ำจำนวนนี้ไม่สามารถไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพได้ มันก็ต้องไหลไปท่วมพื้นที่ข้างเคียงแทน อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างเห็นแก่ตัวก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรแล้วครับ ถามว่า...คนรวยในกรุงเทพฯเคยมีจิตใจที่คิดจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อนำเงินรายได้ของชาวกรุงเทพฯไปชดเชยประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงที่ต้องอยู่ใต้น้ำแทนคนกรุงเทพหรือไม่...ไม่เคยและไม่คิดจะทำด้วย อย่างนี้ไม่เรียกว่าเอาเปรียบ ใจแคบ เห็นแก่ตัวก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรแล้ว
นอกจากจะมีเล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบพื้นที่รอบๆ แล้ว คนกรุงเทพฯ ก็ยังยกภาระการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดไปให้รัฐบาลกลางแทน อย่าลืมนะครับว่าเงินของรัฐบาลที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยน้ำท่วมก็คือเงินของประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง เมื่อรัฐบาลนำเงินจำนวนนี้มาจ่ายเป็นค่าชดเชยน้ำท่วมเสียแล้ว เงินที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้กับประชาชนในชนบทในอนาคต ก็ต้องถูกตัดทอนลงไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนกรุงเทพฯ ไม่ยอมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่โยนภาระทั้งหมดให้คนจนในชนบทที่ต้องใช้เงินของตัวเองมาชดเชยให้ตัวเองจากปัญหาน้ำท่วม การทำแบบนี้เป็นวิธีการทางการคลังสาธารณะที่แยบยลมาก ผมเองไม่คิดเลยว่าคนไทยด้วยกันจะกล้าทำกันขนาดนี้
สรุปความได้ว่า การบริหารจัดการน้ำท่วมของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน ใครมีเงินมากกว่า มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า เช่น ชาวกรุงเทพมหานคร หรือคนในเขตเมืองใหญ่ๆ ก็ใช้อิทธิพลของตัวเองสร้างสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรงกว่าเพื่อผลักน้ำให้ไปท่วมพื้นที่รอบนอกแทน ทำให้พื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้วต้องอยู่ใต้น้ำนานขึ้นและ/หรือเผชิญกับระดับน้ำที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น การกระทำอย่างนี้ไม่เรียกว่าเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว มักง่ายก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้วครับ.
ป้ายกำกับ:
อธิบดีกรมชลประทาน น้ำท่วม2554 ชี้แจง เขื่อน
วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ความสัมพันธ์เชิงลึกของสิงคโปร์กับนักการเมืองไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในบทความของคุณเปลวสีเงิน ที่น่าสนใจอย่างมาก เนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเชิงลึกระหว่างสิงคโปร์กับนักการเมืองไทย
(หลายคนลอกบทความคุณเปลวสีเงินไปใช้ส่งฟอร์เวิร์ดเมล์กัน แต่กลับไม่ให้เครดิตว่า ผู้เล่าเรื่องคือคุณเปลวสีเงิน)
เนื้อหามีดังนี้
V
V
เมื่อวานผม(เปลวสีเงิน) ได้มีโอกาสเสวนากับ CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งจากสิงคโปร์ มีเรื่องน่าสนใจมาเล่าแชร์ให้ฟังครับ เป็นสามชั่วโมงของการสนทนาที่ได้ความรู้มาครับ
๑.เขาบอกว่า อายุขัยของกรุงเทพฯ นั้น จากการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาของสิงคโปร์ เขาบอกว่ามีอายุอีกราว ๆ ๑๙ ปี (เขาใช้คำว่า Life span of Bangkok City) ถ้าไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น!!
๒.หลากหลายเรื่องราว ที่เราเห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการเมืองในประเทศเรานั้น จริง ๆ แล้วเป็นฉากละครฉากหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชม (คนไทย) นั้นเชื่อไปอย่างนั้นเอง เช่น การทำเหมือนเป็นศัตรูกันของนักการเมือง แต่แท้จริงแล้วทะเลาะกันบังหน้าเพื่อผลประโยชน์ ฮั้วกันลับหลัง
หลายๆอย่างที่เราเห็นนั้น รัฐบาลของเขามีส่วนอยู่ด้วย เชื่อไหมครับว่า เงินของทักษิณที่โอนไปเกาะเคย์แมนนั้น รัฐบาลสิงคโปร์เป็นคนฟอกเงินให้ และจัดการส่งไปให้
(ใหม่เมืองเอก ขอเสริมความเห็นในข้อ2ว่า เรื่องพรรคการเมืองฮั้วกันแต่แกล้งเป็นศัตรูกัน เรื่องนี้สนธิลิ้มฯได้เคยพูดก่อนใครเลย)
๓.เขาบอกว่าไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล สุดท้ายเข้าสู่วงจรโกงกินอยู่ดีแน่นอน เพราะผลประโยชน์และเงินสกปรกจะถูก Offer มาโดยรัฐบาลของเขาเอง รวมถึงนักธุรกิจใหญ่ๆ จากหลายชาติ โดยเฉพาะสิงคโปร์
ฉะนั้นอย่าไปหวังเลยว่าสีเหลือง สีแดง อะไรทั้งหลาย เขาบอกว่าหนีไม่พ้นหรอก ต่อให้ใครขาวสะอาดมาแค่ไหน สุดท้ายก็ทนเงินก้อนโตที่ถูกยัดให้ปิดปากไม่ไหว
๔.เมื่อ ๒๐ ปีก่อน รัฐบาลไทยเคยเชิญรัฐบาลสิงคโปร์นำผู้เชี่ยวชาญมาเพื่อทำการวิเคราะห์ว่า ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาผังเมืองและการขนส่งคมนาคม ผลสรุปคือแก้ไม่ได้ เพราะผังเมืองผิดแต่แรกแล้ว เขาแนะนำให้ย้ายเมืองหลวง หรือไม่ก็ขยายออกรอบนอกไปไกลๆ แล้วตั้งผังเมืองใหม่
จากวันนั้นจนวันนี้ ก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด ผิดกับรัฐบาลของสิงคโปร์ที่จัดทำการวางผังและปรับปรุงตลอดเวลาใหม่ ควบคุมแม้กระทั่งการกระจายตัวของชนชาติต่างๆ ไม่ให้กระจุกตัวเพื่อสร้างสังคมเฉพาะใหม่ๆ ขึ้นมา รวมไปถึงมีการสร้างเขื่อน กำแพงรอบ และประตูกั้นน้ำ เพื่อป้องกันปัญหา Global warming และน้ำทะเลสูงขึ้นจนท่วมเมืองสิงคโปร์
๕.คนไทยนั้นเป็นสังคม idol กล่าวคือ เชิดชู บูชา คนที่เด่นดังโดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี (ไม่ว่าอยู่ข้างไหนก็ตาม)
ฉะนั้น การชนะใจคนไทยนั้นง่ายมาก จากเหตุนี้การเข้ายึดประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยากเลย สำหรับคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ
พ้น ๑๙ ปี น้ำทะเลจะหนุน จนทำให้เกิดการท่วมถาวรในบางพื้นที่ จนสุดท้ายอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ทั้งหลายที่เคยลงทุนไปโดยรัฐบาลจะใช้ไม่ได้ เสียเงินลงทุนไปเปล่าๆ เขาบอกว่า ถ้ายังทะเลาะกันไม่เลิกแบบนี้ ก็เตรียมขายที่ดินใน กทม.ทั้งหมดได้เลย
๖.พอเริ่ม AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะเริ่ม ๒๕๕๘-เปลว) เมื่อไหร่ คนไทยรากหญ้าจะเป็นกลุ่มแรกที่ซวยที่สุด ตามมาด้วยตระกูล SMEs ทั้งหลาย
๗.เขาบอกว่า อย่าได้คิดว่าคนที่ดูดีภายนอก (พวกนายกฯ) จะไม่ทำเรื่องสกปรก คนส่วนมากไม่รู้แค่นั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น นายกฯ ของสิงคโปร์เอง ลีกวนยู ที่สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ทั้งหลายแก่สิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์พัฒนามาจนมีวันนี้ เบื้องหลังแล้วนั้น เขาจับคนยัดข้อหาเข้าคุกมากมายโดยที่ไม่มีความผิดอันใด แม้แต่เพื่อนเขาเอง เขาก็ทำมาแล้ว จุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการเสถียรภาพของการปกครอง บางครั้งคนที่ยิ่งใหญ่ มันก็จำเป็นต้องทำเรื่องเลว ๆ บ้าง นายกฯ ของไทยกี่คนต่อกี่คนก็เช่นกัน ไม่มีข้อยกเว้น
๘.จุดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยนั้น จริงๆ แล้วดีมากๆ ในแง่ของที่ตั้งและการเชื่อมต่อ แต่เขาสงสัยว่าทำไมรัฐบาลไทยมัวแต่ทำอะไรอยู่ ถ้าวางโครงสร้างพื้นฐาน และวางกำหนดทิศทางประเทศให้เป็น Center of Asean Distribution ให้ดี ประเทศไทยเราป่านนี้คงจะเจริญไปไกลแล้ว
๙.ทั้งไทยและมาเลเซีย รวมถึงเวียดนาม มีปัญหาเดียวกันคือ การรับเงินสกปรกใต้โต๊ะ การจะเป็นเจ้าของสัมปทานอะไรบางอย่าง หรือธุรกิจอะไรที่จะผูกขาดบางอย่าง เช่น กลุ่มพลังงาน หรือเหมืองแร่ธาตุสำคัญอะไรทั้งหลาย ทำได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ เพราะคนไทย "ซื้อ" กันได้!
๑๐.เขาแนะนำให้รัฐบาลหาทางเปลี่ยนโครงสร้างของค่านิยมและความคิดของประชากรไทยที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ไม่อย่างนั้นเราก็จะอยู่แค่นี้ คนที่รวยจะยิ่งรวย คนที่จนจะยิ่งจน และสุดท้าย โครงสร้างของชนชั้นทางสังคมจะกลายเป็น M society กล่าวคือ
M ไหล่ซ้ายแทนคนรวย
M ไหล่ขวาแทนคนจน
แปลว่า คนชนชั้นกลางจะหายไปหรือเหลือน้อยลงไปมาก อนาคตจะกลายเป็นเหลือแค่คนจน และข้ามไปคนรวยเลย
๑๑.เขาบอกว่าคนไทยเป็นสังคมที่แปลก คือเป็นสังคม "รู้ทั้งรู้" คือทุกคนรู้ดีว่าอะไรคือปัญหา และทุกคนรู้ดีว่าจะแก้ยังไง และทุกคนก็รู้ดีว่าจะไปทางไหน แต่ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้ แต่ก็เหมือนจะไม่ทำอะไรเลย!
จบ "เขาเล่าว่า" เท่านี้
http://www.thaipost.net/news/011011/45888
วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เหนือ วรเจตน์ นิติราษฎร์ ยังมี ทวีเกียรติ นิติธรรม!!
คุณผู้อ่านครับ บทความต่อไปนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ลองค่อยๆอ่าน แล้วคุณจะได้รับความรื่นรมย์ในปัญญา ว่านักกฏหมายที่เปี่ยมด้วยเหตุผลเจตนาเพื่อส่วนรวม อธิบายความชัดเจนเต็มเปี่ยมด้วยเหตุผล เหนือนักวิชาการรับใช้ทรราชมากแค่ไหนครับ
v
v
รศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ "นิติราษฎร์อย่าปรับกม.เข้ากับคน"
ข้อเสนอของ กลุ่มคณาจารย์รุ่นใหม่นาม “คณะนิติราษฎร์”จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ที่จุดพลุเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค ยกเลิกคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คตส. ชงเรื่อง ไม่ว่า คดีทุจริตที่ดินรัชดาที่ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี รวมถึงคดีความอื่นๆ ของคตส.ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ ถูกจับตามองว่าเป็นการทำเพื่อหวังล้างผิดให้พ.ต.ท.ทักษิณ และหากปฏิบัติได้จริงจะทำให้สังคมกลับมาปรองดอง สมานฉันท์ และสร้างสำนึกหยุดการปฏิวัติได้หรือไม่ หรือจะเกิดความโกลาหลขึ้นอีกรอบ รศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับทีมงานปฏิรูป ไว้น่าสนใจดังนี้
@คิดอย่างไรกับข้อเสนอของกลุ่มคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ธรรมศาสตร์ ที่เสนอให้ลบล้างกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 19 กันยา 2549
ผมมองว่า มันไม่มีอะไรที่น่าสนใจเพราะคำแถลงการณ์ของเขาที่ว่า ประกาศให้รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ใช้ไม่ได้หรือ ประกาศให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือ เรื่องอะไร ถามว่า เขาจะให้ใครประกาศ ผมเคยเห็นสำนวนแบบนี้ สำหรับประกาศของคณะปฏิวัติเท่านั้นเอง ฉะนั้น แถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ จึงไม่ชอบด้วยทางกฎหมายใดๆ ผมบอกได้ว่า นักกฎหมายในธรรมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจประกาศนิติราษฎร์ เพราะมันก็เหมือนกับว่า ตัวเองก็สนับสนุนเผด็จการนั่นแหละ คือ อยากให้มีประกาศต่างๆขึ้นมา แม้แต่ในข้อสุดท้ายที่เขาบอกว่า คณะนิติราษฎร์เสนอไปเพื่อให้จัดทำในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็ถือว่า ข้อเสนอไม่มีฐานทางกฎหมายเลย เสียดายที่คนลงชื่อเป็นนักกฎหมายมหาชนทั้งนั้น จบบ้าง ไม่จบบ้างก็แล้วแต่
ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า อ.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้เหตุผลทางกฎหมายมากกว่า โดยมองว่า จะถอยหลังลบล้างความผิดไปถึงไหน และหลักการก็ควรดูว่า ทำไมถึงมีการปฏิวัติ สำหรับผม การปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราถอยหลังดูการปฏิวัติ มันมีการดำเนินการกับคนที่ทุจริตหรือไม่ และถ้าไม่มีการทุจริตตั้งแต่แรก เงื่อนไขการปฏิวัติก็คงไม่เกิด เพราะมันมีการแทรกแซงองค์กรอิสระตลอดเวลา ซึ่งการปฏิวัติก็เป็นการนำตัวคนผิดมาลงโทษ ผมก็ไม่เห็นว่า ทำไมคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ถอยหลังไปแค่ 19 กันยา 2549
ส่วนที่คณะนิติราษฎร์ ยกเรื่องรัฐบาลวิชี่ของฝรั่งเศส หรือ ฮิตเลอร์ ผมว่า มันคนละปัญหากัน และถ้าว่าจริงๆ แล้ว รัฐบาลวิชี่ หรือ ฮิตเลอร์ก็ได้มาโดยระบบรัฐสภา ผมจึงอยากถามว่า ถ้าคุณเคารพระบบรัฐสภา ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ คุณต้องยอมรับรัฐบาลฮิตเลอร์ และรัฐบาลวิชี่ เพราะเขาได้มาจากระบบรัฐสภา และก็ถูกต้องตามกฎหมายทั้งคู่ แต่ความที่เขาเป็นเผด็จการจึงทำให้ต่างชาติเข้ามาย่ำยีประเทศเขา ฉะนั้นการที่ต่างชาติเข้ามามันก็เหมือนการปฏิวัติอย่างหนึ่งนั่นแหละ ดังนั้น ที่อ้างเรื่องวิชี่หรือฮิตเลอร์ก็ไม่น่าจะตรง และผมก็ประหลาดใจว่า นักเรียนไทยของคณะนิติราษฎร์ไปเรียนต่างประเทศมาแค่ 1-2 ปี แต่กลับไปรู้มาก ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์กับวิชี่ซึ่งเป็นยุคสมัยสงครามโลก ทั้งที่ของไทยเองก็เทียบได้ยุคจอมพลป. ที่เราเองก็เข้ากับญี่ปุ่น พอเวลาเราแพ้ เราก็ประกาศสงครามให้เป็นโมฆะ อย่างว่า เขาคงยังไม่เกิดหรือเรียนตรงนี้จึงไปยกย่องฝรั่งมากเกินไป
ส่วนอีกประเด็นที่คณะนิติราษฎร์ มองเหมือนกับว่า เป็นผลพวงของต้นไม้ที่มีพิษ ผลไม้ที่เกิดมาจึงมีพิษตาม แต่เราก็ไม่เคยตั้งคำถามว่า แล้วต้นไม้พิษมันเกิดมาจากไหน ในเมื่อแต่เดิมมันไม่ได้มีอะไร แล้วอยู่ต้นไม้พิษก็เกิดขึ้น ซึ่งในทางกลับกัน สังคมที่เรากำลังดีๆ อยู่ก็ไม่รู้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ จะกลายเป็นต้นไม้พิษเองหรือไม่ ที่จะปล่อยผลพวงที่เป็นพิษต่อๆ มา ฉะนั้นต่อให้คุณร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาจากนี้ก็ถือว่าเป็นผลพวงจากต้นไม้พิษเหมือนกัน
รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เกิดจากต้นไม้มีพิษ ผมถือว่า มันมีฉบับเดียวในประเทศไทยคือ ปี 2517 สมัยนั้นเกิด 14 ตุลา 2516 พอเกิดตอนนั้น ไม่มีรัฐบาล รัฐสภา เสร็จแล้วก็เกิดสภาสนามม้า มีการเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนล้วนๆ แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 ถ้าจะถอยหลังไปจริงๆ ฝ่ายนิติราษฎร์ศึกษากฎหมายไทยซักหน่อย ก็จะรู้ว่า ปี 2517 ก็มีรัฐธรรมนูญที่ดี ถ้าคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นก็น่าเอาฉบับนั้นมาใช้
ผมจึงบอกว่า ความคิดของนิติราษฎร์น่าจะเป็นความคิดของคนหนึ่งเท่านั้นเองซึ่งอาจรู้มาก แต่ไม่มีประสบการณ์ในการเมืองบ้านตัวเองมากนัก ดังนั้น ถ้าเขาจะเคลื่อนไหวต่อโดยไม่ใช้ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเป็นเรื่องดี ไม่งั้นคนอื่นก็เดือดร้อนเหมือนกัน ผมก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าเขาไม่มีธรรมศาสตร์สนับสนุน เขาจะอยู่ได้หรือไม่
@หลักการลบล้างความผิดของการรัฐประหาร 19 กันยา ควรจะมีหรือไม่ โดยอ้างว่า ทุกอย่างจะได้กลับไปนับหนึ่ง ไม่มีความขัดแย้ง
มันเป็นไปไม่ได้หรอกโดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง ของที่มันแตกร้าว เราก็ต้องทำหน้าที่ประสานต่อไป ไม่ใช่กลับไปย้อนอีกที เพราะมันย้อนไปไม่ได้ เราควรจะมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรต่อเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น เพราะถ้าถอยไปก่อนปฏิวัติจะเห็นว่า มีความขัดแย้งมาก่อน ฉะนั้นการถอยหลังไป มันไม่ช่วยให้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ มันต้องประสานรอยร้าวไปข้างหน้า ฉะนั้น ข้อเสนอนี้ไม่มีประโยชน์ มันเหมือนกับการใช้กฎหมายย้อนหลัง
@ย้อนหลังในความหมายอาจารย์คืออะไร แค่ไหน
ผมก็ไม่เข้าใจว่า เขาเสนอย้อนหลังเพื่ออะไร อาจจะเป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ซึ่งคนไทยไหนก็ตามก็ไม่เห็นด้วย รวมทั้งผม แต่การย้อนหลังเพื่อรื้อถอนสิ่งเหล่านี้มันทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพราะการปฏิวัติก็เกิดจากความขัดแย้ง ถ้าถอยไปจริงความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นอีก สู้เรามองไปข้างหน้าว่า อย่าให้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น
@แล้วถ้าต้องย้อนจริง ควรย้อนถึงเมื่อไร 2475 หรือไม่
การที่บอกว่าจะย้อนแค่รัฐประหาร 2549 ก็ไม่รู้เอาหลักอะไร เลือกย้อนอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าจะย้อนก็ต้องย้อนให้สุด อันนี้วิจารณญาณจึงไม่แจ่มชัด เอาล่ะแล้วถ้าย้อนไปถึง 2549 แล้วการที่จะเลือกเอาไอ้นี่ไม่เอาไอ้นั่น แล้วใครจะเป็นคนตัดสินว่า เฉพาะคดีนี้เอาด้วย คดีนั้นไม่เอา แล้วปัญหาที่ผมอยากถาม นิติราษฎร์ ตรงๆ ว่า คุณคิดถึง วิธีการที่จะเอาคนทุจริตเข้ามาลงโทษยังไงบ้าง เพราะปัญหาสำคัญที่เกิดการปฏิวัติ ก็คือ การทุจริตคอรัปชั่นที่องค์กรอิสระทั้งหลายซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการกับคนเหล่านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกานักการเมือง ศาลปกครอง ก็ล้วนตั้งจากรัฐธรรมนูญ2540 และเกิดในยุคคุณทักษิณด้วย ปัญหาคือ ศาลเหล่านี้ใช้ไม่ได้เพราะถูกแทรกแซง ดังนั้น คุณต้องตอบคำถามให้ได้ว่า คุณจะทำอย่างไรถึงจะทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลขณะนั้น แล้วขอถามย้อน ถ้าไม่มีการรัฐประหารตอนนั้น แล้วเราจะเอาคนเหล่านี้เข้ามาลงโทษหรือเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร
ถ้าสังเกตดูว่า การรัฐประหารอันที่แล้วคือ เอาคนที่สงสัยว่า คอรัปชั่นตามข้อกล่าวหาทั้งหลายมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แล้วก็อยู่ภายใต้ระบบของผู้พิพากษาอาชีพด้วย นิติราษฎร์ไม่เคยตอบคำถามว่า จะเอาคนที่คอรัปชั่นมาลงโทษได้อย่างไร ขณะที่สำนวนการสอบสวนก็ทำตรงไปตรงมา แล้ววันนี้ก็จะไปรื้อฟื้นอีก ผมก็หาไม่ได้ว่า ต้นไม้ที่มีพิษ มันผิดจากตรงไหนแล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น วันนี้ เราต้องช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรเมื่อผลพวงมันออกมาถึงจะทำให้ผลไม้ที่เป็นพิษ กลายเป็นต้นไม้ที่ดีขึ้นมาได้ ไม่ใช่ไปถอยหลังอย่างนี้ เพราะไม่งั้นก็จะถอยหลังไม่มีที่สิ้นสุด มันก็เหมือนกับว่า คุณพยายามลบประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อลบแล้ว ปัจจุบันก็ไม่มี อนาคตก็ไม่เหลือ
ว่าไปแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าเห็นว่า รัฐธรรมนูญ2550 เลว รัฐบาลนี้ก็ต้องยกเลิกไปด้วย สิ่งที่ผมอยากเสนอกลุ่มนิติราษฎร์ ก็คือ คุณอย่าปรับกฎหมายให้เข้ากับคน มันควรจะเอาคนปรับเข้ากับกฎหมาย คือ กฎหมายมีแล้ว คุณก็ใช้กฎหมายที่มีปัจจุบันทำไปและทุกคนก็เป็นไปตามระบบทุกอย่าง รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ รัฐธรรมนูญ2550 จะดีไม่ดีอย่างไร ก็ได้คนเหล่านี้มา ก็ไม่เห็นต่างกันเท่าไร แล้วถ้าเราย้อนหลังก็ได้รัฐบาลเหล่านี้แหละ ฉะนั้น ถ้าคุณมองสังคมไทยเป็น คุณก็จะรู้ว่า ตัวกฎหมายที่มันวุ่นวายอย่างนี้ เพราะเวลาคนทำอย่างหนึ่ง คุณก็แก้กฎหมายตามคน พรรคไทยรักไทยตั้งแต่แรกๆก็ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ถึงขั้นถูกยุบพรรคเป็น 1-2 ครั้ง แทนที่จะเลิกซื้อสิทธิ์ขายเสียง กลับแก้กฎหมายให้ไม่มีการยุบพรรคมันก็เท่ากับเป็นการแก้กฎหมายให้เข้ากับพฤติกรรมคน ไม่ใช่ปรับพฤติกรรมคนให้เข้ากับกฎหมายเพื่อจะได้อยู่ด้วยกันได้ ฉะนั้นข้อเสนอของอาจารย์วรเจตน์เป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ใช่นำคนให้เข้ากับกฎหมาย
@นิติราษฎร์พยายามชี้แจงว่า คุณทักษิณต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบแบบกระบวนการปกติ
ก็นี่ไง พอหลังรัฐประหาร เขาก็ใช้รูปแบบเดียวกับที่มีอยู่เดิมแบบปกติทำได้ แต่มันก็ต้องถามกลับว่า กระบวนการปกติก่อนที่จะมีการรัฐประหารก็ทำไม่ได้ ตำรวจไม่จับ อย่างว่าแต่คุณทักษิณเลย กำนันเป๊าะ ตำรวจก็ยังไม่จับเลย การเรียกตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ไม่มีใครทำ แสดงว่า กระบวนการปกติมันใช้ไม่ได้ คุณพูดได้โดยหลักการว่า ให้เป็นไปตามกระบวนการปกติ แต่ว่าก่อนปฏิวัติ เขาก็มีกระบวนการปกติของเขา แต่เอาตัวเข้าสู่กระบวนการนั้นไม่ได้ เพราะถูกแทรกแซง อย่างคุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรองก็ยังไม่ถูกจับเลยตามกระบวนการปกติ คนที่เผาเมือง นำม็อบบอกให้ทำโน้นทำนี่ ยังไม่ถูกจับเลย นี่คือ กระบวนการปกติ ถามว่า แล้วจะรอให้ขาดอายุความไหม
@ถ้ามองแบบเข้าใจนิติราษฎร์ว่า เขาต้องการสร้างจิตสำนึกไม่ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะถ้ารัฐประหารต่อไปก็ควรโดนลงโทษ ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
มองอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ขอเอาคำอาจารย์วรเจตน์มาพูดว่า ให้ดำเนินการไปตามกระบวนการและกฎหมายก็มีไว้แล้วว่า ผู้ใดกบฎล้มล้างก็ทำได้ แต่ถามว่า คุณทำได้ไหม ฉะนั้นคำตอบก็มีอยู่แล้วว่า ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่เขาพูดหรือเสนอมามันก็กลับเข้าสู่ตัวเองหมดว่าทำไม่ได้ เพราะกระบวนการมันไม่ได้เข้มแข็ง มันต้องค่อยๆไปของมันแบบนี้
@การร่างรัฐธรรมนูญในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะมีแนวโน้มว่า น่าจะใส่เรื่องการยกเลิกลบล้างความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับ 19 ก.ย. คดีความพ.ต.ท.ทักษิณ เงินที่ศาลฎีกายึดในคดีทักษิณร่ำรวยผิดปกติ 4.6 หมื่นล้านบาท คดีความคตส.
ผมว่าจะเกิดกลียุค เพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาก่อนนั้น ก็เพราะการโกงของเขาถึงได้เกิดอันนี้ขึ้นมา ถ้ามีการล้างอันนี้ด้วยการถอยหลังมันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีกรอบ การถอยหลังมันคือ ความขัดแย้งทั้งสิ้น ตอนนี้มันสงบแล้ว ถ้าเดินหน้าต่อก็เดินบนทางสงบไปตามระบบ แต่ถ้าถอยก็เท่ากับว่า กลุ่มนี้ประสงค์จะเกิดความขัดแย้งใช่ไหม โดยย้อนกลับไปสู่ยุคที่มีความขัดแย้ง และตอนนี้ฝ่ายที่เขาต่อสู้ก็ตีตื้น ได้คืนหมดแล้ว ได้เป็นรัฐบาลกลับมาแล้ว ดังนั้น ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากจะช่วยเหลือคนๆ เดียว ที่ยังไม่ได้ คำตอบก็คือ เพื่อช่วยคุณทักษิณ เพราะคนอื่นเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนเท่าไร แกนนำเสื้อแดงเขาก็ยอมรับ ไม่ได้ถูกจับ ศาลก็ให้ประกัน ให้สิทธิเต็มที่ ฉะนั้นการต่อสู้ทั้งหมดก็คือ เพื่อแก้ไขให้คนๆเดียว คือ คุณทักษิณ อย่างเรื่องพาสปอร์ตที่รมว.ต่างประเทศคิดจะคืนให้คุณทักษิณ ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรมาพูดเพราะถ้าคนไหนถูกศาลสั่งจำคุก เขาก็ยังให้พาสปอร์ตไม่ได้ แล้วจะไปคิดคืนได้อย่างไร มันข้ามช็อตเกิน
เรื่องอภัยโทษก็เหมือนกัน กฎหมายเขียนไว้ชัดว่าผู้ที่เข้าเงื่อนไขคือ ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด หรือ ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องคือ พ่อ แม่ ลูก เมีย ที่ขอได้ แต่เขาไม่ขอ ก็ไม่เข้าเงื่อนไข แต่เขาต้องการให้เอากฎหมายปรับให้เข้ากับเขา นี่คือ เขียนกฎหมายเพื่อให้เข้ากับคนๆเดียว ทำไมคนอื่นเขาขอกันหมด เลยตัวคุณคนเดียวที่ไม่ขอ ผมก็แปลกใจทำไมคุณไม่ขอ เขาคงคิดว่า ถ้าเขาขอแล้วจะเสียเหลี่ยมทั้งๆที่ศาลตัดสินแล้ว
@หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า รัฐบาลพยายามช่วยเหลือคุณทักษิณแก้ผิดเป็นถูกเป็นเช่นนั้นไหม
มันก็เป็นอย่างนั้น....ความจริงคุณทักษิณมีเงินเป็นหมื่นล้าน ถ้าเขาคิดอยากทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ก็ทำได้มากมาย แต่ก็กลับทำประโยชน์ให้กับตัวเองและผมก็เชื่อเลย เวลาไปเจรจาเรื่องน้ำมันในนามรัฐบาลหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่า แกต้องมีบริษัทหรือหุ้นน้ำมัน เหมือนที่เราเห็นในพม่าแล้ว แล้วเรื่องแค่นี้เอง ขออภัยโทษทำไมเขาถึงยื่นไม่ได้ให้คนอื่นยื่นแทน ทีนี้ถ้าเราไปแก้กฎหมายเพื่อคนๆ เดียว นิติราษฎร์ก็เข้าทางจะมาแก้ตัวอย่างไร เพราะทุกคนก็ได้ประโยชน์หมดแล้ว
@ถ้ามองเจตนาของนิติราษฎร์ก็เข้าทางพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างนั้นหรือ แต่ถ้ามองแง่ดี อาจไม่ได้ตั้งใจ
แต่จังหวะคุณเป็นแบบนี้แล้วมีคนเตือนแล้ว และยังขืนทำต่อ ผมก็ถือว่า นี่ตั้งใจแล้ว ผมอยากบอกหลักอันหนึ่งที่เราเข้าใจผิดกัน ผมถามคุณนะว่า คนที่ทำชั่วโดยรู้ว่าชั่ว กับ คนที่ทำชั่วโดยไม่รู้ว่า สิ่งนั้นชั่ว คนไหนควรจะถูกลงโทษหนักกว่ากัน เรามักจะตอบกันว่า คนแรก แต่ที่จริงต้องเป็นคนที่สอง เพราะคนที่สองมันทำความเสียหายกับบ้านเมืองมากกว่า คนแรกมันยังรู้ดีรู้ชั่ว แต่คนเรามันยังไม่รู้เลย มันก็ทำไปเรื่อย ฉะนั้นไอ้นี่มันต้องร้ายแรงมากกว่า
@การเมืองปีหน้า คิดว่าจะวุ่นวายหรือไม่
คงไม่ แต่มันจะอึมครืม เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมันสอนอะไรเราพอควร อย่างตอนนี้หลายคนรอดูว่า แล้วไงต่อ แล้วผมเชื่อว่า ในฝ่ายแดงก็มีหลายส่วน ถ้าตอบแทนบุญคุณกันไม่ครบมันก็จะเกิดเรื่องได้ และการที่เขาเคยเสี้ยมสอนอะไรเอาไว้ในช่วงที่ผ่านมา มันก็จะกลับมาทิ่มแทงตัวเอง ผมมองว่า เขาอาจจะทะเลาะกันเอง
http://www.thaireform.in.th/component/flexicontent/item/6490-2011-09-29-10-04-15.html
แนะนำอ่าน นิติราษฎร์ แก้ไข เพื่อแก้แค้น!!
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)