วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554
เปิดใจอธิบดีกรมชลประทาน กรณีน้ำท่วม54!!
ไปดูอธิบดีกรมชลปะทาน อธิบายว่า น้ำท่วมเพราะอะไร บริหารจัดการผิดพลาดหรือไม่??
น้ำเข้าน้ำออกมากเท่าไหร่ พวกที่เอาแต่ด่ากรมชลประทาน ควรฟังเหตุผลก่อนครับ
และควรดูให้จบคลิป เพราะถ้าดูไม่จบ เดี๋ยวจะฟังไมได้ศัพท์จับไปกระเดียด
ที่ประเทศไทยเราแตกแยก เพราะชอบฟังเขามา โดยไม่ดูข้อมูลตัวเลข และข้อเท็จจริง
พวกคิดชั่วพยายามอ้างว่า อำมาตย์ปล่อยน้ำทำลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ผมอยากจะบอกทุกคนว่า เจตนาของพวกนี้ ไม่ได้ต้องการด่ากรมชลฯจริงหรอก แต่พวกนี้หวังสูงกว่านั้น
ทำไมผมถึงบอกเช่นนี้? เพราะในช่วงน้ำท่วมเรื่อยมา ในหลวงท่านทรงตรวจระดับน้ำของเขื่อนสำคัญทุกวัน โดยกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องรายงานในหลวงทุกวัน
การใส่ร้ายเรื่องอำมาตย์ปล่อยน้ำท่วมเพื่อทำลายรัฐบาล มันคือเจตนาที่เลว ขอทุกท่านอย่าหลงเชื่อครับ
เรื่องเขื่อนผมฟันธงว่าไม่ผิดพลาด แต่ประตูระบายน้ำตามแม่น้ำลำคลองต่างๆอาจมีความผิดพลาดครับ เพราะมันกระทบคนในพื้นที่ตรงนั้น เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยกับคนคัดค้าน ทำให้บริหารจัดการเรื่องเปิดประตูน้ำยากมาก !!
--------------------------
เปิดภารกิจ “กรมชลประทาน” ในภาวะน้ำท่วม54
รายการ Intelligence
ปีนี้น้ำท่วมหนักที่สุดทั้งลาว เวียตนาม เขมร โดนหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีทั้งนั้น
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวครับ
-------------------------
ดูความยากลำบากของการเปิดประตูระบายน้ำ
เพราะชาวบ้านทะเลาะกับชาวนา กรมชลฯไม่อยากระบายน้ำจนน้ำท่วมนา เพราะข้าวกำลังจะเก็บเกี่ยว แต่ชาวบ้านก็น้ำท่วมหนัก ทำมาหากินไม่ได้เช่นกัน
ชาวลำลูกกา ทะเลาะกับชาวองครักษ์เรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ
---------------------------
ก่อนจะจบ ผมขอนำอีกมุมมองนึงของนักวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องน้ำท่วม ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าบทความนี้ถูกหรือผิด เพียงแต่อยากนำเสนอในอีกมุมมองครับ
น้ำท่วม...เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว?
Fri, 2011-09-23 02:11
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
adis@nida.ac.th
21 กันยายน 2554
ใครว่าคนไทยเป็นคนใจกว้าง มีความโอบอ้อมอารี เอื่อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ผมว่า...พูดผิดพูดใหม่ได้นะครับ เพราะกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่จังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ไล่ลงมาจนถึงจังหวัดในภาคกลาง เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาฯลฯ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายและความเห็นแก่ตัวของคนไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้
ตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยได้เปลี่ยนจากสังคมของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขไปเป็นสังคมของความเห็นแก่ตัวอย่างสมบูรณ์ คนที่มีเงินหรือมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าก็สามารถเอาเปรียบคนยากคนจนได้(อย่างหน้าชื่นตาบาน) ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้นะครับ
ตัวอย่างที่หนึ่ง การปล่อยปะละเลยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในภาคเหนือเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจหรือผู้ที่มีอิทธิพลทั้งหลายไม่เคยสนใจเลยว่า การทำธุรกิจที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบนั้นได้นำมาสู่การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่ทำหน้าที่เป็นต้นน้ำสำคัญของประเทศ พื้นที่ต้นน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่ชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝนและคลายน้ำที่อุ้มไว้ในฤดูแล้ง เมื่อนักธุรกิจไทยเลือกที่จะรุกรานพื้นที่ป่าไม้เพื่อปลูกข้าวโพดทั้งที่รู้ว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศและเป็นต้นตอของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของประเทศไทย ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมักง่ายและความเห็นแก่ตัวของกลุ่มทุนเหล่านี้ทั้งสิ้น หลังจากที่นักธุรกิจค้าข้าวโพดได้กอบโกยผลประโยชน์จากการทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นที่พอใจแล้วก็แสดงความใจแคบโดยการทิ้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้คนยากคนจนในชนบทในภาคกลาง
ตัวอย่างที่สอง น้ำเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถบริหารจัดการอย่างง่ายๆ ไม่งั้นคนเขาไม่เสียเวลาห้าปีแปดปีเพื่อร่ำเรียนวิชาชลศาสตร์หรือวิศวกรน้ำหรอกครับ แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันกลับอาศัยความมักง่ายโดยการมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดของตน เช่น การสร้างทำนบกั้นน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ในจังหวัดของตนเอง แต่เคยคิดหรือไม่ว่าน้ำจำนวนนั้นจะถูกผลักออกไปท่วมจังหวัดอื่นๆ ถัดไปอย่างไรบ้าง ดังนั้น การป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ดำเนินกันมาแบบว่าพื้นที่ใดมีเงินมากก็สร้างเขื่อนให้สูงกว่าเพื่อผลักน้ำให้ไปท่วมพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่นแทน ถ้าคนไทยยังแก้ปัญหากันแบบนี้ ผมก็คิดว่าเป็นการทำงานที่เห็นแก่ตัวสิ้นดี และเป็นการแก้ปัญหาแบบมักง่าย
ตัวอย่างที่สาม การพัฒนาตัวเมืองต่างๆ ผู้คนหวังแต่จะกอบโกยประโยชน์ใส่ตนเองโดยไม่แยแสต่อส่วนรวม ในการพัฒนาเมืองพบว่า ทางไหลของน้ำเดิม เช่น ลำคลอง ลำห้วย ลำธารต่างๆ ที่เป็นทางระบายน้ำในฤดูฝนก็ถูกถมไปหมดเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กอบโกยเงินโดยการถมทางน้ำสาธารณะเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรร เจ้าหน้าที่ของรัฐพอได้รับเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาแล้วก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ สร้างถนนต่างๆ ก็ยกระดับให้สูงซะจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ พื้นที่เขตธุรกิจหรือเขตอุตสาหกรรมก็สร้างทำนบกันน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตนโดยให้คนยากคนจนในพื้นที่เกษตรกรรมต้องรับชะตากรรมกับปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากแทน การขยายตัวของพื้นที่เมืองในลักษณะเช่นนี้นอกจากไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วช่างสะท้อนความด้อยพัฒนาคนอีกด้วย
ตัวอย่างที่สี่ เกิดเป็นคนกรุงเทพนี้ช่างวิเศษเสียจริงๆ กี่ปีต่อกี่ปีที่ประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมากมาย ทรัพย์สมบัติของชาวบ้านที่ซื้อหามาด้วยเงินทองที่แสนจะหายากก็ถูกน้ำพัดพาอันตรธานไปหมด แต่คนกรุงเทพยังคงใช้ชีวิตปกติ ว่างจากงานก็ช้อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง ทำสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำท่วมเลย การที่คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ มีเอกสิทธิ์และมีสตางค์มากพอทีจะสร้างแนวกันน้ำสองริมฝั่งแม่น้ำและปิดประตูกันน้ำทุกจุดเพื่อ ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าเขตกรุงเทพฯ เมื่อน้ำจำนวนนี้ไม่สามารถไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพได้ มันก็ต้องไหลไปท่วมพื้นที่ข้างเคียงแทน อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างเห็นแก่ตัวก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรแล้วครับ ถามว่า...คนรวยในกรุงเทพฯเคยมีจิตใจที่คิดจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อนำเงินรายได้ของชาวกรุงเทพฯไปชดเชยประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงที่ต้องอยู่ใต้น้ำแทนคนกรุงเทพหรือไม่...ไม่เคยและไม่คิดจะทำด้วย อย่างนี้ไม่เรียกว่าเอาเปรียบ ใจแคบ เห็นแก่ตัวก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรแล้ว
นอกจากจะมีเล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบพื้นที่รอบๆ แล้ว คนกรุงเทพฯ ก็ยังยกภาระการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดไปให้รัฐบาลกลางแทน อย่าลืมนะครับว่าเงินของรัฐบาลที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยน้ำท่วมก็คือเงินของประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง เมื่อรัฐบาลนำเงินจำนวนนี้มาจ่ายเป็นค่าชดเชยน้ำท่วมเสียแล้ว เงินที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้กับประชาชนในชนบทในอนาคต ก็ต้องถูกตัดทอนลงไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนกรุงเทพฯ ไม่ยอมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่โยนภาระทั้งหมดให้คนจนในชนบทที่ต้องใช้เงินของตัวเองมาชดเชยให้ตัวเองจากปัญหาน้ำท่วม การทำแบบนี้เป็นวิธีการทางการคลังสาธารณะที่แยบยลมาก ผมเองไม่คิดเลยว่าคนไทยด้วยกันจะกล้าทำกันขนาดนี้
สรุปความได้ว่า การบริหารจัดการน้ำท่วมของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน ใครมีเงินมากกว่า มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า เช่น ชาวกรุงเทพมหานคร หรือคนในเขตเมืองใหญ่ๆ ก็ใช้อิทธิพลของตัวเองสร้างสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรงกว่าเพื่อผลักน้ำให้ไปท่วมพื้นที่รอบนอกแทน ทำให้พื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้วต้องอยู่ใต้น้ำนานขึ้นและ/หรือเผชิญกับระดับน้ำที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น การกระทำอย่างนี้ไม่เรียกว่าเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว มักง่ายก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้วครับ.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ผมเห็นด้วยกับตัวอย่างที่สาม ของท่าน รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ.อยุธยา
ตอบลบเพราะปัจจุบันนี้เราสร้างถนน สร้องอาคารบ้านเรือน ปิดกั้นลำรางสาธารณะจนแทบหมดสิ้น และการปิดกั้นประตูน้ำต่างๆ ซึ้งเป็นทางเดินของน้ำจำเป็นต้องเคลื่อนที่ไปที่ๆต่ำกว่า รวมทั้งในปัจจุบันนี้การเดินทางของน้ำตั้งแต่ต้นน้ำเป็นต้นไป ทุกๆจังหวัดบริหารจัดการน้ำ โดยพยายามให้น้ำลงแม่น้ำอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้ปริมาณน้ำฝนทั้งหมดที่ลงมาอยู่ในแม่น้ำ ในที่สุดการปิดกั้นแต่ละจังหวัดก็ต้านพลังน้ำไม่ได้อย่างแน่นนอน
ต่อจากข้อความที่หนึ่งนอกจากนั้นวิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป จากเลือกสวน ไร่นาเป็นหมู่บ้านจัด ใกล้ตัวที่สุด เมืองนนทบุรี ฝรั่งธน บางมด หรือนครชัยศรี สวนส้ม สวนทุเรียน เดิมมีร่องสวนน้ำไหลผ่านได้ง่าย ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนไหญ่เป็นหมู่บ้าน และโรงงานอุตสาหกรรม ลำคลองไม่มีเหลือแล้วครับ ทางเดินของน้ำจำเป็นต้องเดินบนถนน เพราะจะเป็นลำคลองอย่างดี ทั้งนี้จะสรุปรวมพื้นที่ทุกๆจังหวัดด้วย ในอดีตที่ผ่านมา ถนนโดยทั่วไปจะมีลำคลองคู่ขนานไปด้วยแต่ปัจจุบันไม่มี ตรงที่ใดมีลำคลองเราก็ถมให้เป็นถนนเสียสิ้น ขออภัยที่รีบพิมพ์มีเวลาน้อย ต้องนี้น้ำแล้วครับ
ตอบลบ