วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เปิดใจอธิบดีกรมชลประทานกับข้อหาบริหารน้ำพลาด





หมายเหตุ - จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดและมวลน้ำกำลังทะลักเข้ากรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นเพราะประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลว ซึ่ง"มติชน"ได้สัมภาษณ์นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทานที่รับผิดชอบโดยตรง ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข


"ในเว็บไซต์ในทวิตเตอร์ซัดผมทุกวัน ข้อมูลไม่จริงไม่ถูกต้องก็เอามาพูดกัน การสื่อสารแบบนี้มันเร็วมาก คนยิ่งตื่นตระหนก ก็ไปเชื่อกันหมด"


@ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นปีนี้มาจากสาเหตุอะไร
วิกฤตน้ำปีนี้เกิดจากภัยธรรมชาติเป็นหลัก ประเทศไทยถูกพายุ มรสุมหลายลูกพัดเข้ามามากและมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และตกซ้ำกันตลอดเวลา ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีปัญหา เพราะปริมาณน้ำที่สะสมไว้มีจำนวนมหาศาล ทำให้ลำน้ำรับน้ำไว้ไม่ได้ น้ำจะแผ่กระจายเข้าไปในทุ่ง หรือเรียกว่าน้ำทุ่ง ทำให้เกิดปัญหาอย่างมากในขณะนี้ ส่วนการบริหารจัดการน้ำท่า หรือน้ำที่ไหลผ่านตามแม่น้ำ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาคนไม่เข้าใจเรื่องน้ำท่ากับน้ำทุ่ง เข้าใจผิดว่ากรมชลประทานให้ข้อมูลผิดพลาด ซึ่งเรื่องน้ำท่าที่กรมชลฯระบุว่าจะผ่าน กทม.ไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามที่เราทำนายไว้ทั้งหมด บางคนไม่เข้าใจว่ากรมชลฯออกมาบอกว่าน้ำมวลใหญ่ไหลผ่านไปแล้ว ทำไมยังมีน้ำท่วมอีก ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นน้ำคนละส่วน มวลน้ำที่เรากำลังสู้กันอยู่ทุกวันนี้คือน้ำทุ่ง

ปีนี้เราเจอศึกสองด้าน ทั้งน้ำทุ่ง น้ำท่า ซึ่งน้ำทุ่งมีปัญหามาก ปริมาณน้ำมากถึง 1.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเท่ากับจำนวนน้ำที่เก็บไว้ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์10เขื่อน และเวลาน้ำไหลมาไม่ได้มาเร็ว แต่ไหลแผ่มาเรื่อยๆ คำนวณทิศทางการไหลไม่ค่อยได้ ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการแก้ปัญหาของกรมชลฯคือ เราต้องคอยตัดยอดน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อให้ปริมาณน้ำน้อยลง ผันออกไปลงเจ้าพระยาบ้าง ไปตามลำน้ำต่างๆ บ้าง

@ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต้นเหตุของปัญหามาจากการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของกรมชลฯ ที่ไม่ยอมพร่องน้ำออก ก่อนที่พายุจะเข้า ทำให้น้ำในเขื่อนมีมากเกินไป และปล่อยออกมามากเกินไป

(ถอนหายใจยาว) ผมไม่อยากจะมาเถียงเรื่องนี้ แต่ขอท้าว่าคนออกมาพูดเรื่องนี้ ขอให้ช่วยออกมาบอกหน่อยว่า อีก 1-2 เดือนข้างหน้าที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ช่วยมาทำนายฝนให้ที ว่ามันจะตกเท่าไร ตกตรงไหน เราต้องเก็บน้ำไว้เท่าไร เพราะมาพูดตอนนี้ จะพูดอะไรก็ได้

@จริงหรือไม่ที่กรมชลฯมัวแต่ห่วงว่าจะไม่มีน้ำใช้ช่วงแล้ง เลยไม่พร่องน้ำในเขื่อนออกมา
ไม่จริงหรอก (ลากเสียงยาว) เพราะเราดูแลและระบายน้ำในเขื่อนให้เหมาะสมอยู่ตลอดแล้ว แต่มาพูดตอนนี้ ใครก็พูดได้ ถ้าเก่งนัก อยากจะขอท้าให้ช่วยมาทำนาย แต่อย่ามาบอกแบบกรมอุตุนิยมวิทยานะว่า จะตกแบบกระจาย 4-5 จังหวัด

@ เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะคำนวณพลาด เรื่องการพร่องน้ำและการปล่อยน้ำในเขื่อน
เรามองและให้ความสำคัญเรื่องการพร่องน้ำอยู่แล้ว แต่ปีนี้น้ำมามากเกิน เมื่อน้ำเข้ามามากมันก็ล้น เพราะกรมอุตุฯก็บอกไม่ได้ว่าน้ำจะมาบริเวณไหน กรมอุตุฯยังไม่กล้าฟันธงเลย เพราะไม่มีใครที่สามารถทำนายหรือคาดการณ์อะไรได้ตรงทั้งหมด

เราต้องยอมรับกันว่าปีนี้ฝนมาก และน้ำที่ปล่อยออกมาก็ไม่ได้ปล่อยโดยไม่ดูอะไรเลย เราดูหมด เราจะเก็บน้ำไว้ในเขื่อนต่อไปก็ได้ เมื่อเขื่อนเต็มศักยภาพที่จะเก็บน้ำแล้ว ก็ต้องปล่อยออกมา เพราะถ้าเก็บไว้แล้วเขื่อนพัง ปัญหาจะไม่ยิ่งมากไปกว่านี้หรือŽ

@มีเสียงวิจารณ์เรื่องความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ของกรมชลฯ
ยอมรับว่ามีปัญหานี้เหมือนกัน แต่ปัญหาหลักไม่ได้มาจากกรมชลฯ เพราะเราเตรียมไว้หมดแล้วว่า จะผันน้ำไปทางไหนบ้าง จะตัดยอดน้ำอย่างไร แต่ปัญหาที่เจอคือ การให้ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่น้ำจะไหลผ่าน ขาดการประสานงานที่ดีกับชาวบ้าน ซึ่งไม่เข้าใจการทำงานของกรมชลฯ ทำให้การดำเนินงานมีปัญหา

@กรมชลฯกำลังแก้ตัวอยู่หรือไม่
(พูดเสียงดัง) เราไม่เคยแก้ตัว แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น บางพื้นที่เราเอารถแบ๊กโฮเข้าไป ก็ถูกยึดกุญแจไป บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ใส่เสื้อกรมชลฯเข้าไปไม่ได้เลย เราเลยทำงานตามแผนไม่ได้ โดยเฉพาะการปิดคลองข้าวเม่า น้ำก็เลยทะลักเข้าไปท่วมพื้นที่ต่างๆ จนเกิดความเสียหายแบบที่เห็นอยู่ ซึ่งยอมรับว่าปัญหาหลักของกรมชลฯคือ เราประสานงานทำความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชนไม่ได้ แต่ตอนนี้มีหลายพื้นที่ที่ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว

นอกจากนี้ การบริหารงานของกรมชลฯก็มีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะการขาดแคลนเครื่องมือในการบริหารน้ำ เขื่อนสำคัญหลายแห่งมีการศึกษาไว้แล้ว แต่สร้างไม่ได้ เครื่องมือธรรมชาติที่มีอยู่คือคูคลองต่างๆ ก็ตื้นเขินหมดแล้ว

@ปีหน้าจะเกิดปัญหาแบบนี้อีกหรือไม่
ในความคิดผม ไม่ว่าจะเกิดปีหน้าหรือปีไหนอีก ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นกว่าปีนี้อีก ถ้าไม่หยุดสิ่งที่มนุษย์ทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดป่าไม้ การเข้าไปกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลผ่านไม่ได้ การขยายตัวของชุมชนเมือง ที่ขยายเข้าไปขวางทางน้ำ ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ว่ายังไงมันก็ท่วม

ลองขึ้นเครื่องบินไปดูได้เลย ตอนนี้บริเวณรังสิต สิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำมีมากแค่ไหน เพราะเราไม่รู้จักอยู่กับธรรมชาติ ที่ลุ่มต้องไม่ไปอยู่ ต้องไปอยู่ในที่ดอน หรืออย่างพื้นที่ทางน้ำผ่าน (ฟลัดเวย์) เราเคยมี และเป็นที่ที่จะให้น้ำไหลผ่านไปทางทิศตะวันออก เดี๋ยวนี้บ้านจัดสรรขึ้นเต็มไปหมด ทางเดินของน้ำก็ไปไม่ได้ ถ้าหยุดการกระทำแบบนี้ไม่ได้ นับวันปัญหาจะรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรีบทำ บุกรุกคูคลองต้องจัดการ ฝั่งเมืองต้องคุมให้อยู่

@หลายฝ่ายเรียกร้องให้กรมชลฯรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ขอถามหน่อยว่า สาเหตุของปัญหาที่พูดไปทั้งหมด อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลฯหรือไม่ คนที่ไปทำลายธรรมชาติ ทำลายคูคลอง การที่ผังเมืองคุมไม่อยู่ เป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานไหน ที่บอกว่า จะมีการตั้งกระทรวงน้ำ ถามว่าเวลามาที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เห็นหน่วยงานไหนที่เข้ามาดูแลเรื่องน้ำบ้างหรือเปล่านอกจากกรมชลฯ

นี่ผมไม่ได้ว่าใครนะ เวลาเรื่องทฤษฎีก็พูดกันไปเรื่อย แต่เวลาภาคปฏิบัติต้องลงมือทำงาน คุณเห็นใครบ้างละ และเวลาถูกด่าใครที่ถูกด่า ผมไม่ได้พูดแบบน้อยใจนะ แต่อยากให้เห็นข้อเท็จจริง แล้วจะมาพูดเรื่องกระทรวงน้ำตอนนี้ไม่มีประโยชน์ แทนที่จะมาช่วยกันและมาดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร

ทุกครั้งเวลามีปัญหาคนจะมุ่งไปที่เขื่อนว่ามีปัญหารับไม่ได้ แต่ไม่ได้ดูองค์ประกอบเรื่องป่าไม้ถูกทำลาย สิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำเลย ถ้าวันนี้เราไม่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ประชาชนจะมาผิดทางหมด เราต้องช่วยพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เขาเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาระยะยาวในอนาคต

การที่กรมชลฯถูกด่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราถูกด่ามาทุกปี เราไม่ได้ว่าอะไร แต่เรื่องนี้ถ้าปล่อยให้เกิดมากขึ้นทุกปี ปัญหาจะยิ่งแก้ไขได้ยาก อย่างตรงสุวรรณภูมิ ถ้าไม่หยุด มีบ้านจัดสรรลงไปอีก ปัญหาจะต้องหนักกว่านี้อีก

@นายกฯทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
โดยรวมถือว่าโอเค ทุกวันนี้เรื่องน้ำ ท่านรู้หมดแล้วว่ามันจะไปทางไหน จะต้องทำอะไร ถือว่าเก่งในเรื่องการเรียนรู้งานใหม่ เพราะท่านมาจากสายธุรกิจ ไม่มีประสบการณ์เรื่องน้ำโดยตรง แต่ต้องระวังรอบข้าง เดี๋ยวคนโน้นมาพูดแบบนี้ คนนี้มาพูดแบบนั้น เลยทำให้ข้อมูลบางเรื่องอาจไขว้เขวได้

@หลังจากน้ำลดแล้วรัฐบาลจะกู้เงินหลายแสนล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมถาวร
ก็ดี แต่ต้องทำโครงการใหญ่ๆ อย่าทำแบบเบี้ยหัวแตก การทำโครงการใหญ่ที่ผ่านมาต้องใช้เวลามาก ขั้นตอนมากกว่าจะเปิดโครงการได้ ถ้าจะให้งานเดินหน้าเร็ว รัฐบาลต้องยกเว้นขั้นตอนเหล่านี้ จะได้เริ่มก่อสร้างได้ไว
งานแหล่งน้ำไม่เหมือนปลูกสร้างตึก ที่แค่เขียนแบบเสร็จก็ทำได้เลย แต่แหล่งน้ำผลกระทบเยอะ กฎหมายที่คุมอยู่ก็เยอะ เพราะฉะนั้นต้องวางแผนก่อนอย่างน้อย 3 ปี กว่าจะพร้อมทุกอย่าง

@มีคนเริ่มพูดกันว่า หลังน้ำลด กรมชลประทานจะต้องรับผิดชอบความผิดพลาด
(หยุดคิด) ก็คิดอยู่เหมือนกัน เพราะพฤติกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันต้องหาแพะ ในเว็บไซต์ในทวิตเตอร์ซัดผมทุกวัน ข้อมูลไม่จริงไม่ถูกต้องก็เอามาพูดกัน และการสื่อสารแบบนี้ มันเร็วมาก คนยิ่งตื่นตระหนก ก็ไปเชื่อกันหมด โดยไม่มีการกลั่นกรองอะไรก่อน และเรื่องแบบนี้ เขาทำกันเป็นทีม จะให้ไปตอบโต้คืน คนของเราก็ไม่ชำนาญ คนก็เลยเขวกันไปหมด

ก็ลองดู...ก็สู้ไป ถ้าอะไรจะเกิดมันก็ห้ามไม่ได้ แต่เราก็ทำงานแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชนให้เต็มที่ที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะเป็นหน้าที่ของเรา

ทีมเศรษฐกิจมติชน (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2554)


------------


คุณผู้อ่านครับ อยากให้ย้อนไปดูบทความของผม ซึ่งเป็นคลิปสัมภาษณ์อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกรายการทางvoicetv ประกอบด้วยครับ

คลิกที่นี่


และผมอยากจะบอกหลายๆคน ให้รู้ด้วยว่า กรมชลประทานไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมนะครับ เชิญไปอ่านที่บทความเรื่อง สึนามิน้ำจืด54 ต่างจากน้ำท่วมปี38อย่างไร

คลิกที่นี่

ซึ่งบทความนี้จะมีคลิปเจาะข่าวเด่น กับสรยุทธ ได้สัมภาษณ์อธิบดีกรมชลประทาน ช่วงรับมือพายุนกเต็น ด้วย


2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 ตุลาคม 2554 เวลา 10:53

    อ่านแล้วก็เข้าใจท่านมากขึ้นค่ะ แต่โดยหน้าที่แล้ว หากท่านได้มองล่วงหน้าถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อันจะกระทบถึงงานในความรับผิดชอบ รวมทั้งแนวทางป้องกันหรือแก้ไข นำเสนอตามขั้นตอนไว้ก่อน ก็น่าจะเป็นการทำงานที่ดีกว่านี้นะคะ

    ตอบลบ
  2. เห็นใจ และเข้าใจเลยคะ ขอให้กำลังใจ ท่านทำเต็มความสามารถ เท่าที่ศักยภาพมี

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก