วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เราไม่ต้องการเขตปกครองพิเศษปัตตานี แต่เราต้องการเอกราช







"ถ้าทุกอย่างสามารถจบลงและนำความสันติสุขสู่พื้นที่นี้ได้ในแนวทางการพัฒนาสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิความเป็นเจ้าของดั้งเดิม สิทธิการเมืองที่ดี เศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่ดีงาม การต่อสู้ด้วยความรุนแรงทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น"


ดินแดนลังกาสุกะ หรือ อาณาจักรปัตตานี

เป็นคำยืนยันจากปากแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนปัตตานี หรือที่ในภาษามลายูเรียกว่า "จูแว" ซึ่งพำนักอยู่ในต่างประเทศ ระหว่างการให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนไทยกระแสหลักเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556 เป็นต้นมา

การให้สัมภาษณ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวนี้อาจจะเป็นครั้งแรกๆ ด้วยซ้ำที่ "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" ซึ่งเคลื่อนไหวด้วยเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้พูดคุยและมีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักของประเทศ

คำกล่าวข้างบนทำให้มีความหวังเล็กๆ ของสันติภาพในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน เพราะความหมายของทุกประโยคชัดเจนว่าความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานมีโอกาสจบลงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ แต่เลือกใช้แนวทางสันติวิธีว่าด้วยการพัฒนาและรับรองสิทธิบางประการแทน

------------------------

"พูดคุย"เปิดทางเลือกมากกว่าเอกราช

แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวซึ่งประกอบด้วยตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น องค์การพูโล และกลุ่มบีไอพีพี ซึ่งมีและกำลังจะมี "ตัวแทน" บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ยืนกรานกับคณะสื่อมวลชนไทยกระแสหลักว่า เป้าหมายสูงสุดของพวกเขายังคงเป็นเอกราช แต่กระบวนการพูดคุยสันติภาพถือเป็นโอกาสของรัฐไทยที่เปิดแนวทางอื่นให้กับกลุ่มเคลื่อนไหว

"เราไม่เคยคุยเรื่องออโตโนมี (เขตปกครองตนเอง หรือเขตปกครองพิเศษ) มาก่อนเลย เมื่อก่อนเราคิดเรื่องเอกราชอย่างเดียว แต่กระบวนการสันติภาพเปิดแนวทางอื่นให้กับเรา ฉะนั้นเราจะพยายามรักษาแนวทางนี้ไว้"

"การระเบิด ยิง ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราชอบ แต่เราไม่มีทางเลือก เราถูกบังคับให้ทำ เพราะถ้าเราพูดแต่ปาก รัฐบาลไทยก็ไม่ทำตาม เราเลยต้องใช้ภาษาอาวุธ แต่เมื่อมีแนวทางพูดคุยสันติภาพ เราจึงเสนอเป็นอีกทางเลือกเพื่อหาทางออก เชื่อว่าทุกคนชอบและเห็นดีด้วยกับแนวทางนี้ เพราะจะไม่ทำให้เกิดความลำบาก เลือดตกยางออก ขอให้มั่นใจว่าถ้าการแก้ปัญหาในแนวทางพูดคุยสันติวิธีนี้สำเร็จ จะทำให้เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ลดลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย" แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวย้ำ และว่า

"การที่พวกเราตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว เพราะไม่เห็นแนวทางใดมากกว่าการได้เอกราช เป็นเวลา 50 ปีมาแล้วที่เรามุ่งสู่เป้าหมายความยุติธรรม เราคิดว่าสิ่งเดียวที่จะทำได้คือได้เอกราช และเราก็สร้างความเข้าใจเหล่านี้ต่ออนุชนคนรุ่นหลัง แต่ถ้ามีแนวทางอื่นเพื่อตอบคำถามและนำไปสู่เป้าหมายเรื่องความยุติธรรมได้ เราก็ยอมรับ"

----------------------

ทวงสิทธิดินแดน-ชนชาติ-การเมือง

สถานภาพของการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นจนถึงขณะนี้หยุดอยู่ที่การพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง แต่การนัดพูดคุยครั้งที่ 4 ถูกเลื่อนออกไป เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องการรับหรือไม่รับข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่กลุ่มบีอาร์เอ็นส่งผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียให้กับรัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.2556 แต่ล่าสุดมีข่าวว่าฝ่ายไทยได้ส่งเอกสารตอบกลับไปแล้ว การพูดคุยครั้งใหม่จึงน่าจะเริ่มขึ้นได้ในเร็ววัน

แต่ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือจะคุยอะไรกันต่อ ซึ่งแกนนำจากทุกกลุ่มเห็นตรงกันว่าคือเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ"

"เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการ หมายถึงแผ่นดิน ประชากร อำนาจ เป็นสิทธิที่เราจะขอเรียกคืน เพราะสยามเอาของเราไป อันนี้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ดินแดนปาตานีปรากฏในหลักฐานตั้งแต่สมัยลังกาสุกะ มีความคงอยู่ และมีมาจนถึงปัจจุบัน"

"ดินแดนแห่งนี้เป็นที่อยู่ของชนชาติมลายูปัตตานี ก่อนหน้านั้นเรียกลังกาสุกะ เป็นไปได้ที่ก่อนหน้านั้นเป็นคนศาสนาอื่น ทั้งฮินดู พุทธ แต่สุดท้ายเป็นอิสลาม ส่วนคนที่อาศัยอยู่ยังเหมือนเดิม คือเป็นคนมลายู เดิมเรียกมลายูลังกาสุกะ มลายูพุทธ ปัจจุบันคือมลายูปัตตานี ศาสนาอิสลาม จะเห็นได้ว่าคนไม่เปลี่ยนแปลง ดินแดนไม่เปลี่ยนแปลง แผ่นดินก็ยังเป็นแผ่นดินเดิม"

"ประการต่อมาคืออำนาจทางการเมือง คนมลายูมีอำนาจปกครองจนถึงปี พ.ศ.2329 ปกครองตนเอง ชี้ชะตากรรมของตนเอง มีเสรีภาพ เอกราช อธิปไตยของตนเอง บางยุคบางสมัยเราได้รับการคุ้มครองจากอำนาจที่เหนือกว่าเรา เช่น สมัยศรีวิชัย สามารถครอบคลุมอำนาจเหนือปัตตานี เหมือนสมัยมัชปาหิ สุโขทัย และอยุธยา แต่ไม่ได้หมายความว่าปัตตานีจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของเขา ในบางช่วงบางสมัยเมื่อเรารู้สึกว่าเราเข้มแข็ง เราก็มีเสรีภาพ มีอิสรภาพ"

"แต่หลังจาก พ.ศ.2329 ชนชาติมลายูปัตตานีเสียอำนาจอธิปไตยของตนเอง หลังจากนั้นเงื่อนไขเรื่องดินแดน ชนชาติของคนมลายูปัตตานีก็หายไป เราขอของเราคืน เราไม่ต้องการของของคนไทย แต่เราต้องการสิทธิในดินแดน สิทธิในการเป็นชนชาติมลายูปัตตานี สิทธิทางการเมือง เป็นสิ่งที่จะกำหนดชะตากรรมของชาวมลายูปัตตานี ซึ่งแขวนไว้ใน 3 ประเด็นข้างต้น (แผ่นดิน เชื้อชาติ อำนาจการปกครอง) และทั้งหมดนี้จะอธิบายรายละเอียดเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของ"

-------------------

อย่าอ่านแต่ประวัติศาสตร์ไทย

คณะสื่อมวลชนไทยถามแย้งว่า ประวัติศาสตร์ของไทยเขียนเอาไว้อีกแบบหนึ่ง จะหาจุดลงตัวอย่างไร

แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวรายหนึ่งตอบว่า คนไทยเองก็เขียนประวัติศาสตร์ของตนเอง ส่วนคนปัตตานีถ่ายทอดประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า ประเด็นคือต้องอ่านประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยคนอื่นด้วย เช่น ชาวดัชต์ จีน หรืออาหรับ ที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับปัตตานีสมัยโบราณ

"เขาเขียนไม่ฝักใฝ่ ไม่เข้าข้าง เราถึงได้รับทราบว่าปัตตานีเป็นอาณาจักร เป็นหนึ่งประเทศ หนึ่งนครรัฐที่มีอิสรภาพ เราเองก็อ่านประวัติศาสตร์ไทย ไทยอ้างว่าดินแดนแห่งนี้เป็นของประเทศไทย แต่เมื่อเรามาเปรียบเทียบกับงานเขียนของโปรตุเกส จีน เนเธอร์แลนด์ อาหรับ มันไม่เป็นเช่นนั้น"

"สิ่งสำคัญที่สุดจึงอยากจะขอว่าลองอ่านงานเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีของคนยุโรปบ้าง หรือแม้แต่เขมรเอง เพราะเขาเขียนไม่ได้เหมือนกับที่ไทยเขียน ถ้าอ่านเฉพาะเวอร์ชั่นที่เป็นของคนไทย ก็จะเข้าใจอย่างที่เป็นอยู่"

--------------------

อ้างถูกรัฐไทยหลอก

แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวจากองค์การพูโล ให้ข้อมูลว่า สมัยที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ได้ไปดูสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษ ค.ศ.1909 (พ.ศ.2452) จากจุดนั้นทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การปกครองของรัฐบาลไทย

"ผมก็เรียนโรงเรียนไทย รู้ภาษาไทย ผมก็รู้สิ่งที่ไทยเขียน แต่นั่นทำให้คนปัตตานีรู้สึกว่าเราถูกหลอก นโยบายสมัย จอมพล ป. (จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี) ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและสูญหายไปของความเป็นมลายู ถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่อไทย หมู่บ้าน ตำบลก็ถูกเปลี่ยนจากภาษามลายูเป็นภาษาไทย"

"ต่อมาในปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) สมัยจอมพลสฤษดิ์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีหลังปี 2500) ยุคต้นๆ เป็นห่วงที่รัฐบาลไทยคิดว่าถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ปัตตานีจะได้เอกราชเหมือนมาเลเซีย เพราะมาเลเซียได้รับเอกราชปี ค.ศ.1957 ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ส่งคนไทยไปอยู่ตามนิคมสร้างตนเองต่างๆ ประมาณ 120,000 คน นี่คือสิ่งที่มองว่ารัฐบาลไทยกำลังทำให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ใช่ดินแดนของมลายู"

------------------

ผู้แทนมลายูถูกข่มขู่-อยู่ไม่ไหว

ขณะที่แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวอีกรายจากบีไอพีพี กล่าวว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475) มีการเลือกผู้แทน นายอดุลย์ ณ สายบุรี เป็นผู้แทนมลายูคนแรก

ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลจอมพล ป. นายอดุลย์ ณ สายบุรี ได้พูดในสภาว่า คนมลายูถูกรังแกโดยข้าราชการไทย ทำให้คนมลายูไม่ต้องการเป็นคนไทย แต่สภาไม่รับความคิดนี้ และถูกทางการไทยเพ่งเล็ง สุดท้ายเขาต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และไปเสียชีวิตในต่างประเทศ

"หลังจากนั้นก็มีคนมลายูอีกหลายคนเป็นผู้แทน แต่ก็ถูกข่มขู่ ถูกฆ่า หลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ รัฐบาลไทยนั้นพูดด้วยเสียงปกติเขาไม่ฟัง ต้องพูดด้วยเสียงปืนและเสียงระเบิดอย่างปัจจุบันถึงจะฟัง เราเล็กกว่า คนน้อยกว่า ก็ต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรง" 

"แต่เมื่อรัฐบาลเปิดทางให้ใช้กระบวนการสันติวิธี เราก็ร่วม เพื่อหยุดสถานการณ์ความไม่สงบโดยไม่ใช้รุนแรง แต่วันนี้ยังไม่มีการตกลงอะไรกัน หากวันหนึ่งข้างหน้าสามารถตกลงร่วมกันได้ และประชาชนรู้สึกพอใจ หลังจากนั้จะไม่มีการยิงกัน ไม่มีการใช้ความรุนแรงอีก"

------------------

หัวใจคือสิทธิกำหนดชะตาตนเอง

คณะสื่อมวลชนไทยกระแสหลักถามต่อว่า เขตปกครองพิเศษคือคำตอบสุดท้ายหรือไม่

แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทุกคนปฏิเสธว่า ยังไม่เคยหารือในรายละเอียดเรื่องนี้ ไม่ว่าจะกับรัฐบาลไทย หรือแม้แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้วยกันเอง เพราะแต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดแนวทางของตนเองที่ไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือถ้ารัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ก็จะคุยกันในรายละเอียดต่อไป

"คำว่า autonomy เราไม่เคยพูดถึง ในเอกสารข้อเรียกร้องเราใช้คำว่า special administrative region แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่า The Right for Self-determination หรือสิทธิในการกำหนดชะตาตนเอง และ autonomy ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่เราไม่เคยพูดถึงรูปแบบ" 

"ส่วน กทม.กับเมืองพัทยาเป็นเพียงตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาว่ามีอยู่ในประเทศไทย แต่ กทม.กับเมืองพัทยาเป็นการจัดการตนเองบนพื้นฐานของเศรษฐกิจ เราไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะเราจะอยู่บนพื้นฐานของการเมืองและประวัติศาสตร์" แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวระบุ

----------------

รับประกันดูแลคนมลายูทุกศาสนา

เขาบอกด้วยว่า เมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ก็จะหาแนวทางที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะมลายูมุสลิม แต่สำหรับทุกคนที่อยู่ในดินแดนแห่งนี้ และนั่นคือการอธิบายความหมายของคำว่า "ปลดปล่อย"

"เราจะปลดปล่อยในสิ่งที่ถูกกระทำ ไม่เฉพาะเรา แต่คนพุทธก็ถูกกระทำด้วย เราจะปลดปล่อยสิ่งนี้ นั่นคือแนวทางที่เราจะกำหนดชะตากรรมของเรา การดูแลคนพุทธ คนเชื้อสายจีน คนอินเดียที่เป็นประชากรดั้งเดิมเป็นสิ่งที่เรารับปาก ต้องมีความเสมอภาคกันทางสิทธิและอำนาจทางการเมืองการปกครองตามกระบวนการประชาธิปไตยระหว่างคนมลายูที่นั่น" 

"สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องศาสนาเท่านั้น จะไม่มีการริบที่ดิน ไล่คนออกจากพื้นที่แน่นอน ที่เป็นห่วงว่าเราจะใช้กฎหมายอิสลามไปทับสิทธิของคนอื่น ขอยันว่าไม่เกี่ยว เพราะกฎหมายอิสลามจะใช้บังคับเฉพาะมุสลิม"


ข้อมูลจาก อิศรานิวส์


----------------------

akecity ขอสรุปว่า

จากที่ได้อ่านมาทั้งหมด แม้ตอนหลังแกนนำโจรใต้คนนี้ พยายามจะเลี่ยงเรื่องแบ่งแยกดินแดน แต่เมื่ออ่านเจตนาจากคำให้สัมภาษณ์จริง ๆ

แต่สุดท้ายก็คือ เป้าหมายสูงสุดก็คือต้องการคืนเอกราชให้รัฐปัตตานี ต้องการแยกตัวจากประเทศไทยนั่นเองครับ

ส่วนเรื่องที่แกนนำโจรใต้คนนี้ให้สัมภาษณ์ เราก็ควรฟังหูไว้หู เพราะเขาย่อมแสดงความเห็นในทางเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมดา

พอดีผมได้เจอเรื่องราวของอาณาจักรลังกาสุกะ ที่เล่ารายละเอียดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดี แต่เนื้อหายาวมาก ถ้าท่านใดสนใจอ่านก็ลองตามไปอ่านตามนี้

คลิกอ่าน ประวัติศาสตร์อาณาจักรลังกาสุกะ หรือนครปัตตานี


คลิกอ่าน แท้จริงแล้ว อาณาจักรปัตตานีคือฝ่ายรุกรานชาวสยามก่อน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก