วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มุมมองต่าง รัฐบาลเพิ่มวันหยุดยาวยิ่งฉุดเศรษฐกิจไทยตก






เกริ่น

สมัยตอนผมเด็ก ๆ วันสงกรานต์จะมีวันหยุดแค่เพียงวันเดียวคือ วันที่ 13 เมษายนเท่านั้น ไม่เคยมีรัฐบาลในยุคนั้นประกาศให้มีวันหยุดเพิ่ม

แต่ต่อมา ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นสมัยรัฐบาลชาติชาย ที่มองเห็นว่า วันสงกรานต์เป็นวันสำคัญของคนไทยที่จะได้เดินทางกลับไปหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง จึงประกาศให้มีวันหยุดในช่วงสงกรานต์เพิ่มมากขึั้น คือเพิ่มวันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัวเข้าไปอีก เพื่อให้คนไทยที่มาทำงานต่างถิ่นมีเวลาเดินทางได้สะดวกและยาวนานขึ้น

และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สงกรานต์ก็เลยเป็นวันหยุดยาวโดยจะพ่วงเสาร์อาทิตย์เข้าไปด้วย แถมการเล่นน้ำสงกรานต์ก็กลายเป็นมหกรรมเล่นน้ำทั่วประเทศที่หนักหน่วงขึ้นและเสื่อมมากขึ้น

หลายครั้งที่วันหยุดสงกรานต์เป็นช่วงกลางสัปดาห์ แล้วอาจเจอวันศุกร์ที่ต้องกลับมาทำงาน หลายรัฐบาลก็มักประกาศให้หยุดยาวต่อเสาร์อาทิตย์ไปเลย โดยอ้างว่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย กระตุ้นการใช้จ่ายของผู้คน กระตุ้นเศษฐกิจ

ทีนี้ผมได้เจอข้อเขียนของอาจารย์พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ กูรูเรื่องรถยนต์ ในเว็บข่าวคมชัดลึก โดยอาจารย์พัฒนเดชได้มีมุมมองที่แตกต่างว่า การที่มีวันหยุดยาวน่าจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้ตกมากกว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลองอ่านกันดูก่อนครับ แล้วผมจะสรุปปิดท้าย



-------------------------

วันหยุด...ฉุดเศรษฐกิจไทย

โดย พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ

ดูท่าจะเป็นประเพณีของรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลไปเสียแล้ว สำหรับการประกาศให้วันทำงานที่อยู่ระหว่างวันหยุดที่เรียกกันว่า “วันฟันหลอ” เป็นวันหยุดต่อเนื่องเพิ่มไปจากวันหยุดตามเทศกาลหรือวันหยุดราชการต่างๆ โดยหลักปฏิบัติดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ครั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ประชาชน

ก่อนหน้านั้นไม่ว่าวันหยุดในเทศกาลใด ๆ จะมีกี่วัน และจะมีวันทำงานคั่นกลางหรือไม่ก็ตาม การประกาศวันหยุดอย่างเป็นทางการจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับวันหยุดของธนาคาร ซึ่งกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่มีการหยุดต่อเนื่องอย่างเป็นทางการเกินกว่าจำนวน 4 วัน ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลายด้วย

ในขณะที่ภาครัฐคิดว่า การประกาศให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นคือการให้ของขวัญแก่ประชาชน

แต่ในขณะเดียวกันวันหยุดยาวกลับสร้างเสียหายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจก็มีไม่น้อย เช่น ภาคการผลิตที่ไม่สามารถหยุดทำงานได้ก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานเท่ากับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หรือบางหน่วยการผลิตอาจจะถึงขั้นขาดแรงงานที่จำเป็นต้องทำงานไป

เงินทองที่หวังว่าจะสะพัดตามแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศก็เปลี่ยนไป เพราะคนไทยยุคสมัยนี้นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศกันมากขึ้น ยิ่งมีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวันจำนวนคนที่เดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว นั่นย่อมหมายถึง เงินจำนวนมากต้องไหลออกไปยังต่างประเทศ

สิ่งสำคัญที่สุดในการมีวันหยุดยาวต่อเนื่องโดยไม่จำเป็น คือเป็นการเพาะนิสัยให้คนไทยขาดวินัย, ความอดทน และความรับผิดชอบต่อการทำงาน เพราะเท่าที่ผ่านมาทุกเทศกาลที่มีการประกาศวันหยุดพิเศษเพิ่มให้ของทุกปี คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังหยุดทำงานหรือหยุดทำมาค้าขาย มากขึ้นไปกว่าวันหยุดที่ได้รับจากการประกาศนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพอิสระเช่น ผู้ค้าขายรายเล็กรายน้อยหรือผู้รับจ้างทำงานรายวัน

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวันหยุดตามประกาศต่อเนื่องกันนานถึง 5 วัน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า มีคนหยุดงานล่วงหน้าหนึ่งถึงสองวัน ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่คับคั่งเต็มไปด้วยรถยนต์บนเส้นทาง และอีกจำนวนมากที่หยุดต่อเนื่องในวันทำงานอีก 2 วัน เพื่อไปบรรจบกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ต่อไป ทำให้กลายเป็นมีวันหยุดไม่ต้องทำงานยาวถึง 9 วัน โดยสังเกตได้จากสภาพการจราจรในกรุงเทพ ฯ และจำนวนรถยนต์ที่วิ่งกันบนท้องถนนทั้งในกรุงเทพ ฯ และบนเส้นทางที่ทอดตัวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ

การใช้ชีวิตที่ชอบวันหยุดยาวนานมากขึ้น และมีรายจ่ายทางการเงินมากขึ้นเช่นนี้ ทำให้ภาคการผลิตหลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว เพราะมีความมั่นคงมากกว่าที่จะพึ่งพาแรงงานไทยด้วยกัน

และธุรกิจที่ทำการค้าอย่างมีระบบมีวันหยุดงานและวันทำงานชัดเจน สามารถสร้างกำไรและขยายสาขาเติบโตทิ้งห่างการค้าแบบอิสระในรูปแบบไทย ๆ ไปไกลมากขึ้น

จนท้ายที่สุดคนไทยในอนาคตคงยากที่จะแข่งขันกับธุรกิจการค้าเต็มรูปแบบ หรือไม่อาจจะแข่งขันแย่งตำแหน่งงานในตลาดแรงงานได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยครับ


--------------------

akecity สรุปท้ายบทความ

คือ รัฐบาลหลายรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวยาวมากขึ้น หวังกระจายรายได้สู่ภูมิภาค แต่ในมุมกลับกัน ก็เป็นการบ่มเพาะให้คนไทยขี้เกียจทำงานมากขึ้นไปด้วย คือ ชอบแต่จะหยุดยาว ชอบเที่ยวมากกว่าชอบทำงาน แต่รายได้ของคนไทยชอบเที่ยวนั้นกลับเป็นผู้ประกอบการต้องเป็นผู้แบกภาระ

อย่างหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่า โรงรับจำนำทั่วประเทศคึกคักทันที เพราะผู้คนคงเที่ยวจนเงินหมด ก็เลยต้องนำข้าวของมาจำนำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากเน้นเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญมาเป็นอันดับแรก เงินจะหมดก่อนสิ้นเดือนก็ไม่สน ขอกูเที่ยวให้สะใจในช่วงเทศกาลให้เต็มที่ไว้ก่อน

หรืออย่างกรณีที่มีคนไทยที่พอมีฐานะดีหน่อย ชอบไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งทำให้เงินตราต้องรั่วไหลออกนอกนั้น ผมเสนอว่า รัฐบาลไทยควรเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเทศกาลหยุดยาวด้วย เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

คือแต่เดิมทุก ๆ รัฐบาลจะยึดถือว่า หยุดยาวแค่ไหนก็ต้องไม่เกิน 4 วัน เพราะเห็นใจผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างเหมือนเดิม แต่กลับไม่ได้ปริมาณงาน หรือต้องจ่ายเงินพิเศษให้ลูกจ้างที่มาทำงานในวันหยุด  ซึ่งมันทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็เป็นผลให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

และเมื่อสินค้าไทยต้องแพงขึ้นโดยไม่จำเป็นจากเทศกาลหยุดยาวแบบนี้ ก็ทำให้การแข่งขันของสินค้าไทยที่จะส่งออกไปต่างประเทศก็แย่ลง จึงเป็นผลพลอยให้ภาคส่งออกไทยติดลบมากขึ้น คือถ้ารัฐบาลโง่ ๆ ก็จะคิดไม่ถึงในเรื่องนี้ แต่คนทำธุรกิจจะรู้ซึ้งดีถึงประเด็นนี้

ส่วนภาพที่เห็นว่าเงินสะพัดในช่วงท่องเที่ยวในเทศกาลนั้น มันก็ใช่ครับ เพราะทำให้เกิดการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค แต่ในอีกส่วนหนึ่งกลับเป็นการทำลายภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับอย่างไหนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า

เพราะคนไทยจำนวนมากตอนนี้กลายเป็นคนจำพวก ไม่ชอบทำงานหนัก ชอบเลือกงาน แต่กลับอยากได้ค่าแรงสูง ๆ สุดท้ายมันก็กระทบภาคเศรษฐกิจไทยในที่สุด แล้วผู้ที่เข้ามาแทรกในจุดนี้ ก็คือ แรงงานต่างด้าว นั้นเอง

เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทรกในภาคการผลิตของไทยมากขึ้น แต่ถ้าวันใดที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยน้อยลง เพราะประเทศเขาก็พัฒนาขึ้นต้องการแรงงานมากขึ้น วันนั้นเศรษฐกิจไทยจะยิ่งทรุดหนักกว่านี้แน่นอน เพราะแรงงานไทยส่วนใหญ่สันดานขี้เกียจไปแล้ว

ฉะนั้นที่ทุกวันนี้เห็นเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยโต นักลงทุนต่างชาติเริ่มหาแหล่งผลิตในประเทศอื่น ๆ แทนประเทศไทย ก็เพราะเขาเบื่อคนไทยขี้เกียจ ชอบเที่ยวยาว ๆ นี่แหละครับ ที่เป็นสาเหตุหนึง

ทุกอย่างมีเหรียญ 2 ด้านเสมอ การหยุดยาวบางครั้งบางคราวก็มีข้อดีมาก แต่ถ้าหยุดยาวบ่อยไปมากไป มันก็อาจเป็นข้อเสียได้

เศรษฐกิจจะโตได้ต้องเกิดจากภาคการผลิตขับเคลื่อนได้ดี หากภาคการผลิตแย่ สุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อภาครวมของเศรษฐกิจประเทศแน่นอน

ยิ่งถ้ามองในแง่ร้าย วันหยุดยาวก็คือ เทศกาลเพิ่มอุบัติเหตุและเพิ่มคนตาย ครับ จริงไหม ?

------------------

หมายเหตุ

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้คัดค้านวันหยุดยาว แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ที่รัฐบาลชอบประกาศวันหยุดเพิ่มขึ้น ที่ถูกต้องคือ วันหยุดมีเท่าไหร่ก็ควรมีเท่านั้น

ที่สำคัญกรณีวันหยุดชดเชย ผมว่า ถ้าเลิกได้ก็จะดี แต่อาจจะอนุโลมให้เฉพาะโรงเรียนหยุดในวันหยุดชดเชยได้ก็พอ ส่วนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและบริษัทห้างร้านจะหยุดยาวอะไรนักหนา เศรษฐกิจหยุดชะงักกันพอดี

ส่วนบทความนี้ผมเขียนในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน ที่รัฐบาล คสช. ประกาศให้วันจันทร์ที่ 4 พ.ค. 2558 เป็นวันหยุดพิเศษเพิ่มขึ้นอีก

คลิกอ่าน ค่าแรงแพงแต่คุณภาพต่ำ ระวังตกงานเพราะหุ่นยนต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก