ศาสนาพุทธสอนให้รวย ?
มีชาวพุทธไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหลักศาสนาพุทธดีพอ บ้างก็ทำบุญหวังร่ำรวยมากเกินไป จนกลายเป็นเหยื่อให้พวกสมีห่มเหลืองบางคนหลอกให้ทำบุญเยอะ ๆ เพื่อซื้อสวรรค์วิมานรอไว้ก่อนเมื่อตายไปแล้วจะได้ไปอยู่
ทำให้มีชาวพุทธจำนวนที่หลงในการทำบุญเลยเข้าใจความหมายของการทำบุญผิดไป กลายเป็นว่า ทำบุญเพราะความโลภหวังโน่นหวังนี่ ทั้ง ๆ ที่
การทำบุญนั้นมีเจตนาเพื่อลดความโลภในจิตใจ
บางคนก็เข้าใจผิดแถม
ตีความผิด ไปอีกว่า เมื่อศาสนาพุทธสอนให้ลดละกิเลสและความโลก ก็เลยตีความผิด ๆ ไปอีกว่า
ศาสนาพุทธนั้นสอนให้คนต้องอยู่อย่างสมถะ จึงห้ามร่ำรวย เพราะความร่ำรวย แปลว่า โลภ ทั้ง ๆ ที่ ชาวพุทธตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่ร่ำรวยมหาศาลก็มีมากมาย
แต่ความจริงพระพุทธเจ้าของเราทรงไม่เคยห้ามฆราวาส อุบาสก และอุบาสิกา ร่ำรวยนะครับ
หลักธรรมในระดับฆราวาส นั้น
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำมาหากินจนร่ำรวยได้ครับ และทรงสอนเหตุแห่งความร่ำรวยไว้ด้วย
คนเราสามารถร่ำรวยได้โดยไม่ต้องโลภ นั่นคือ ดำเนินวิถีชีวิตตามหลักความพอเพียง
ส่วนที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามรวย ทรงสอนให้อยู่อย่างมักน้อยสมถะ อยู่อย่างยากจนทรัพย์สิน นั้น พระพุทธเจ้าทรงหมายถึง เพศบรรพชิต เท่านั้นครับ
นั่นคือ ภิกษุ ต้องอยู่อย่างยากจน
ดังนั้น
หลักดำเนินชีวิตของฆราวาส (บุคคลผู้บริโภคกามในโลก) กับหลักประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ นั้น จึงมีความแตกต่างกันอยู่ ตรงนี้ขอให้เราชาวพุทธต้องหัดแยกแยะ และอย่าสับสน
เหตุเพราะฆราวาสยังต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ การมีฐานะดี ร่ำรวย หาทรัพย์มาโดยสุจริต จึงยังเป็น
สิ่งจำเป็นของบุคคลผู้บริโภคกามในโลกต่อไป
แม้แต่ความหรูหราในสายตาชาวบ้าน ก็ไม่ใช่ข้อห้ามอะไรในการเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ยังมีความอยากหรูหราอยู่
ตัวอย่างเช่น
เครื่องประดับกาย ของ
นางวิสาขา ที่เรียกว่า
มหาลดาปสาธน์ ซึ่งนางวิสาขาเป็นอุบาสิกาคนสำคัญในสมัยพุทธกาล เครื่องประดับกายของเธอก็หรูหราอลังการอย่างมาก ตามที่พระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ว่า ต้องใช้เพชร ทองคำ จำนวนมหาศาล และ
ใช้เวลาสร้างนานถึง 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ
คลิกอ่าน พระไตรปิฎกตอนประวัตินางวิสาขา
ดังนั้น ถ้าคุณเห็นใครที่เขาปฏิบัติธรรมแต่รวยมหาศาล แถมจิตใจของเขาก็ยังติดในความหรูหราร่ำรวยอยู่ ซึ่งความหรูหรานั้นก็อาจเป็นความพอเพียงในระดับมหาเศรษฐี
เราอย่าเพิ่งรีบด่วนไปตัดสินใครว่า
เขาพอเพียงหรือไม่พอเพียง โดยทันทีนะครับ
เพราะความพอเพียงของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน ความพอเพียงของเศรษฐีย่อมไม่เท่ากับความพอเพียงของคนจน
ดังนั้นเราต้องพิจารณาเรื่องรายได้ของเขาด้วยว่า เขาใช้จ่ายสมกับฐานะเขาหรือไม่ เขาหาทรัพย์นั้นมาโดยสุจริตหรือไม่
หากผู้ใดหาทรัพย์นั้นมาโดยสุจริตจนร่ำรวย มีความเป็นอยู่สุขสบายกว่าเรา เราก็ควรมุทิตาจิต กับเขานะครับ อย่าลืม
ตัวอย่างหนังสือในท้องตลาดเกี่ยวกับความรวยตามหลักพุทธศาสนา
เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนออกผนวช ทรงร่ำรวยไหม ?
ทำไมพระพุทธเจ้า สมัยทรงเป็นฆราวาสต้องร่ำรวย ?
ฝากให้คิดเล่น ๆ ครับ
--------------------
ความจน - ความรวยในพระพุทธศาสนา
ที่มา เว็บบ้านธัมมะ
หนึ่งในความยากลำบากที่น่ากลัวที่สุดในการดำเนินชีวิตของคนในระหว่างที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดก็คือ
ความยากจน
เพราะว่าความยากจนเป็นสิ่งที่
บีบคั้น ให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างขึ้นในโลก ความยากจนเป็นความลำบากทั้งกายและใจอย่างแสนสาหัสที่เกิดจากการไม่มีทรัพย์
บางคนถูกความยากจน
บีบคั้น อย่างหนัก เพื่อให้ได้ทรัพย์มาใช้เลี้ยงชีวิตของตนและคนในครอบครัวให้ผ่านไปในแต่ละมื้อ แม้ต้องยอมตนเป็นคนรับใช้ผู้อื่นก็ยินยอม
คนจนต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกายและน้ำตาจากความเจ็บช้ำน้ำใจเพื่อแลกกับปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีวิต บางคนยอมเสี่ยงชีวิตทำงานหนักทั้งที่ยังป่วย บางคนยอมขายอวัยวะเพื่อแลกกับเงินมาซื้อข้าวกิน
ชีวิตของคนจนจึงเป็นชีวิตที่ต้องทนกับความร้อนและความหนาวของสภาพดินฟ้าอากาศให้ได้ ทนความยากลำบากให้ได้ ถ้าทนไม่ได้บางคนถึงกับต้องอดตาย นี่คือสภาพของคนจนที่ไม่มีวันบรรยายได้หมดสิ้น พอ ๆ กับเสียงร่ำไห้ของคนยากจน ที่ไม่เคยเว้นวรรคแม้แต่นาทีเดียวในโลกนี้
ด้วยเหตุนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ทรงปรารถนาให้ใครเกิดมาเป็นคนยากจน พระพุทธองค์ทรงต้องการให้มนุษย์รื้อผังความจนออกไปจากชีวิตให้หมดสิ้น และทรงชี้โทษของความจนไว้ต่าง ๆ นานา รวมทั้งทรงพรรณนาถึงคุณของการแก้ปัญหาความจนอย่างถูกหลักวิชาไว้มากมาย ซึ่งหากกล่าวโดยย่อมี ๓ ประการดังนี้
๑. พระพุทธองค์ทรงตำหนิความยากจนไว้ใน
“อิณสูตร”
๒. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า
ความยากจนบีบคั้นให้มนุษย์ทำความชั่วได้ง่าย
๓. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า
ความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย
โดยสามารถอธิบายรายละเอียดแต่ละหัวข้อได้ดังนี้
๑. พระพุทธองค์ทรงตำหนิความยากจนไว้ใน “อิณสูตร”
ในเรื่องการสร้างตัวสร้างฐานะของชาวพุทธนั้น
พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามชาวพุทธร่ำรวย
ในทางตรงข้าม
พระพุทธองค์ทรงห้าม ชาวพุทธยอมแพ้ต่อความยากจน โดยถึงกับทรงแจกแจงความทุกข์ของคนจนอย่างหมดเปลือก เพื่อให้ชาวพุทธเห็นโทษภัยของความยากจน ใครอยู่ในวัยที่กำลังสร้างตัวสร้างฐานะจะได้ไม่เกียจคร้าน
ส่วนผู้ที่ตั้งหลักฐานได้แล้วจะได้ไม่ประมาทในการสร้างบุญ ดังปรากฏอยู่ใน
อิณสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงความจนไว้ว่า
“ความเป็นคนจนเป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก” และทรงอธิบายไว้ดังนี้
-
ความจนเป็นทุกข์ของคนในโลกที่ยังครองเรือนอยู่
-
คนจนเข็ญใจยากไร้ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก
-
ครั้นกู้หนี้แล้วก็ย่อมต้องใช้ดอกเบี้ยแม้การต้องใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลก
-
คนจนเข็ญใจยากไร้ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การถูกตามทวงหนี้ ก็เป็นทุกข์ในโลก
-
คนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวงแล้วยังไม่มีให้ พวกเจ้าหนี้ก็เลยติดตามแม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ในโลก
-
คนจนเข็ญใจยากไร้ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันจะให้ พวกเจ้าหน้าที่ก็จับเขามาจองจำเสียแล้ว แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลก
การที่พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้ เพราะต้องการเตือนสติให้ชาวพุทธทั้งหลาย
“ไม่ประมาท” ในการดำเนินชีวิต คือ
- ให้กลัวความยากจน
- ให้ตั้งใจกำจัดความยากจนอย่างถูกวิธี
- ให้ป้องกันความยากจนข้ามภพข้ามชาติ
เพราะฉะนั้น เมื่อชาวพุทธมีสติระลึกนึกถึงอันตรายของความยากจนอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ประมาทเอาแต่ขยันหาทรัพย์อย่างเดียว
แต่
“ต้องสร้างตัวสร้างฐานะเป็นจนกระทั่งรวยทรัพย์ และขยันทำบุญเป็นจนกระทั่งบรรลุธรรม” ใครก็ตามที่ดำเนินตามหลักวิชานี้ ย่อมได้หลักประกันว่า นับแต่นี้ไป ตราบใดยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ถือกำเนิดในวัฏสงสาร แม้ยังไม่อาจกำจัดกิเลส จนกระทั่งบรรลุธรรมเข้าพระนิพพาน แต่ก็จะไม่ตกระกำลำบาก ไม่ต้องพบกับความยากจนอีกต่อไปอย่างแน่นอน
๒. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า
ความยากจน บีบคั้นให้มนุษย์ทำความชั่วได้ง่าย
ชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้ปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงแต่เพราะความยากจนจึงทำให้มีชีวิตลำเค็ญเกิดความขัดสนในการแสวงหาปัจจัย ๔ ความหิวและความกลัวตายจึงบีบคั้นให้จิตใจตกอยู่ในอำนาจความชั่วได้ง่าย เป็นเหตุให้แสวงหาทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี แม้ต้องปล้น จี้ ฆ่า ลักขโมย ขายตัวต้มตุ๋น หลอกลวง ค้าของผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติดหรืออื่น ๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์มา ก็ทำได้โดยไม่รู้สึกละอาย ผลสุดท้ายกลายเป็นคนมีนิสัยใจบาปหยาบช้า
เพราะทนการบีบคั้นจากความยากจนไม่ไหว
โดยสรุป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า คนจนจะพ้นจากความยากจนได้ต้องอดทนต่อความยากจนในปัจจุบัน และต้องเอาชนะความตระหนี่ ด้วยการหมั่นสั่งสมบุญกุศลไว้ล่วงหน้าอย่าได้ขาดแม้แต่วันเดียวดังคำสอนของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ในพิลารโกสิยชาดก ว่า
“คนตระหนี่กลัวจนจึงให้ทานไม่ได้ความตระหนี่นั้นจึงเป็นภัยสำหรับคนที่ไม่ให้ดังนั้นพึงกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวครอบงำมลทินใจเสีย แล้วให้ทานกันเถิด เพราะว่าในภพชาติหน้า บุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลายได้”
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะพ้นความจนได้นั้นจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า
๑.
คนยากจน คือ คนขาดแคลนทรัพย์เพราะความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ มีความประมาท ไม่ทำบุญไว้ในอดีตจึงทำให้ต้องมาเกิดเป็นคนยากจนในปัจจุบัน
๒.
คนอยากจน คือ คนที่มีทรัพย์แต่ต้องไปเกิดเป็นคนยากจน เพราะความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ มีความประมาท ไม่ทำบุญไว้ในปัจจุบัน จึงต้องไปเกิดเป็นคนยากจนในอนาคต
๓.
คนจนยาก คือ คนที่ยากจะพบกับความยากจน เพราะไม่มีความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ ไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน ย่อมจะได้ไปเกิดเป็นมหาเศรษฐีในอนาคต
๓. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า
ความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย
ความรวย หมายถึง การมีทรัพย์
ความรวยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
-
ความรวยทางโลก เรียกว่า
“โลกิยทรัพย์” คือ การมีทรัพย์สิน เงินทอง สมบัติพัสถานมากมาย และมีความสามารถใช้จ่ายทรัพย์นั้นได้อย่างมีความสุข
-
ความรวยทางธรรม เรียกว่า
“อริยทรัพย์” มี ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา
ความรวยจึงมิใช่สิ่งเลวร้ายแต่อย่างใด แต่เป็นความสุข ความปลื้มใจ เป็นลาภอันประเสริฐ ผู้ที่ปรารถนาความรวยสมควรที่จะวางเป้าหมายไว้ที่การแสวงหาทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์มาไว้เป็นของตน
ในทางพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ความรวยหรือทรัพย์ที่ตนเองมีนั้น มีไว้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลต่าง ๆ คือ
๑) เพื่อเลี้ยงตนให้เป็นสุข
๒) เพื่อเลี้ยงบิดามารดาให้เป็นสุข
๓) เพื่อเลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ และบริวารให้เป็นสุข
๔) เพื่อเลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข
๕) เพื่อบำเพ็ญทักษิณาทานในสมณพราหมณ์ ซึ่งหมายความว่า เรายิ่งมีทรัพย์มากเท่าไร เรายิ่งสามารถใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ทั้ง ๕ ประการนี้ได้มากเท่านั้น ผลที่ได้จากการใช้ทรัพย์เช่นนี้ย่อมทำให้เราได้ผลบุญมากไปด้วย
ดังนั้น กล่าวโดยสรุปแล้ว
พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนต้องจน แต่สอนให้คนรู้จักตั้งตนตั้งฐานะให้
รวยอย่างสุจริต อันเป็นการทำประโยชน์ในชาตินี้ให้สมบูรณ์
และเมื่อรวยแล้วก็ควรรวยอย่างมีเป้าหมาย คือ นำทรัพย์ไปสร้างบุญต่อ เพื่อสร้างประโยชน์ในภพหน้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะเป็นโอกาสให้เราได้เดินไปสู่เป้าหมายคือการบรรลุมรรค ผล นิพพานในที่สุด
คลิกอ่าน พระไตรปิฏก เรื่อง ความยากจน การเป็นหนี้ ในอิณสูตร
--------------------------
คลิปอธิบายพระพุทธเจ้าไม่เคยห้ามรวย
VIDEO
-------------------------
สุขของคฤหัสถ์
หรือ กามโภคีสุข 4 คือ
สุขของชาวบ้าน , สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ,
สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี
1.
อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม
2.
โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์
3.
อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร
4.
อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
บรรดาสุข 4 อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
---------------------
ทุติยปาปณิกสูตร ว่าด้วยคุณสมบัติของพ่อค้า
ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ไม่นานนักก็ถึง
ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ในโภคทรัพย์
องค์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ พ่อค้าในโลกนี้
๑. มีตาดี
๒. มีธุรกิจดี
๓. เพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย
พ่อค้าชื่อว่ามีตาดี เป็นอย่างไร
คือ พ่อค้าในโลกนี้รู้จักสินค้าว่า “สินค้านี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปอย่างนี้ จักมีมูลค่าประมาณเท่านี้ มีกำไรเท่านี้” พ่อค้าชื่อว่ามีตาดี เป็นอย่างนี้แล
พ่อค้าชื่อว่ามีธุรกิจดี เป็นอย่างไร
คือ พ่อค้าเป็นคนฉลาดซื้อและขายสินค้าได้ พ่อค้าชื่อว่ามีธุรกิจดี เป็นอย่างนี้แล
พ่อค้าชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก ย่อมรู้จัก
พ่อค้าในโลกนี้อย่างนี้ว่า “พ่อค้าผู้นี้แลมีตาดี มีธุรกิจดี และสามารถที่จะเลี้ยงดู
บุตรภรรยาได้ทั้งใช้คืนให้แก่พวกเราได้ตามกำหนดเวลา”
คหบดีหรือบุตรคหบดีเหล่านั้น ย่อมเชื้อเชิญพ่อค้านั้นด้วยโภคทรัพย์ว่า “นับแต่นี้ไป ท่านจงนำโภคทรัพย์ไปเลี้ยงดูบุตรภรรยา และใช้คืนให้พวกเราตามกำหนดเวลา”
พ่อค้าชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยที่พักพิงอาศัย เป็นอย่างนี้แล
พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ไม่นานนักก็ถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไพบูลย์ในโภคทรัพย์
ที่มา เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๖๓-๑๖๕.
-----------------------
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หรือ หัวใจเศรษฐี
"อุ อา กะ สะ"
ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 คือ
ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น
1.
อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี
2.
อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย
3.
กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
4.
สมชีวิตา มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้
ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า
ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
---------------------
ในเรื่องความร่ำรวย ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนยังมีปรากฏในพระไตรปิฎกอีกหลายแห่ง เช่น
หลักการทำทาน แต่ในบทความนี้ผมแค่ยกมาเป็นตัวอย่างบางเรื่องเท่านั้น
สุดท้ายนี้ผมขอแนะนำหนังสือเสียงเรื่อง
เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน เขียนโดย คุณดังตฤณ
เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน โดยคุณ ดังตฤณ
เรื่อง ฐานะร่ำรวย
VIDEO
คลิกอ่าน หลักพุทธศาสนา vs กฎแห่งจักรวาลและความร่ำรวย