นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิดนักเขียนที่ค่อนข้างเป็นกลางพอประมาณ แต่บทความเรื่องนี้จัดว่า เป็นกลางพอควรครับ ผมค่อนข้างชอบอ่านหลายเรื่องของคุณนิธิ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเชื่อทั้งหมด คนเราก็ต้องอ่านให้หลายๆด้านจริงมั้ยครับ /ใหม่เมืองเอก
.
----------------
.
คำขวัญของกลุ่มเสื้อแดงคือ "ล้มอำมาตย์" เพราะศัตรูสำคัญในทรรศนะของแกนนำเสื้อแดงคืออำมาตยาธิปไตย
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าคำนี้แปลว่าอะไร หากหมายถึงระบบการเมืองที่จำกัดเวทีเล่นกันเฉพาะในระบบราชการ ผมคิดว่าระบบราชการในเมืองไทยอ่อนพลังลงไปมาก จนมีความหมายทางการเมืองไม่สู้จะมากนัก
แม้แต่เมื่อเกิดรัฐประหารโดยฝ่ายที่ถูกเรียกว่า "อำมาตย์" แล้ว กลับพูดกันว่าระบบราชการ "เกียร์ว่าง" แสดงว่าหากระบบราชการยังมีพลังทางการเมืองจริง กลับเป็นพลังที่สนับสนุนระบอบที่ฝ่ายเสื้อแดงเรียกว่า "ประชาธิปไตย" ด้วยซ้ำ
แต่ผมเชื่อว่าระบบราชการไม่ได้ "เกียร์ว่าง" เพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร หากราชการไม่รู้จะทำอะไรเท่าๆ กับรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นก็ไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน
และแม้ในเวลานี้ ฝ่ายที่ต่อต้านกลุ่มเสื้อแดงอย่างออกหน้าที่สุดคือกลุ่มที่อยู่ในวงการเมือง ไม่ใช่ระบบราชการซึ่งได้แต่ประคองตัวให้อยู่รอดจากภัยการเมืองไปวันๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากแปลอำมาตยาธิปไตยว่า ระบบการเมืองที่เปิดให้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญและผู้มีการศึกษา ได้กำกับควบคุมการบริหารบ้านเมือง โดยคนทั่วไปไม่มีส่วนในการกำกับควบคุมเลย
ถ้าอย่างนั้นผมก็เห็นว่าทัศนคติแบบอำมาตยาธิปไตยยังมีพลังในสังคมไทย แม้แต่กลุ่มเสื้อแดงเองที่อยากให้คุณทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกฯใหม่อีกครั้ง ก็อ้างความเชี่ยว?ชาญของคุณทักษิณ โดยไม่พูดอะไรเลยเกี่ยวกับการกำกับควบคุมรัฐบาล อันเป็นปัญหาที่ทำให้มีคนไม่พอใจรัฐบาลทักษิณเป็นอันมาก
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกกล่าวหา (หรือแกนนำบางคนก็แอบอ้างเอาเอง) ว่าเป็นฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ก็หาได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับระบบราชการแต่อย่างใด ทุกวันนี้กำลังเผชิญข้อหาของตำรวจว่าก่อการร้าย แม้เมื่อตอนเริ่มขบวนการใน พ.ศ.2548 ก็เห็นว่าการเมืองที่ไม่ชอบธรรมเข้าไปควบคุมระบบราชการ และทำให้ราชการขาดความเป็นธรรมไปด้วย พธม.จึงโจมตีราชการบางหน่วย และข้าราชการบางคนอย่างถึงพริกถึงขิง
รัฐประหารใน พ.ศ.2549 ซึ่งมี "อำมาตย์" จำนวนหนึ่งเป็นผู้นำและสนับสนุน ก็หาได้มีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยั่งยืนกับ พธม.ไม่ แตกร้าวกันมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ จนถึงทุกวันนี้ บางคนในกลุ่ม พธม.ยังเชื่อว่า การลอบทำร้ายแกนนำบางคนของตนนั้น เป็นการกระทำของ "คนมีสี" ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของอำมาตยาธิปไตยนั่นเอง
คุณกษิต ภิรมย์ ซึ่งลือกันว่าเป็นคนของ พธม.ส่งเข้ามาร่วมรัฐบาล ก็หาใช่ตัวแทนของระบบราชการกระทรวงการต่างประเทศไม่ แม้เคยรับราชการมาตลอดชีวิตราชการที่นั่นก็ตาม โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับคุณนิตย์ พิบูลสงคราม หรือคุณเตช บุนนาค ทั้งสองเป็น "มืออาชีพ" ที่คนกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเป็นตัวแทนของตนมากกว่า
ดูอย่างไรก็มองไม่เห็นว่า พธม.จะเป็นตัวแทนของอำมาตยาธิปไตยไปได้อย่างไร
ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดง จึงไม่ใช่เพราะฝ่ายหนึ่งเชียร์อำมาตยาธิปไตย แต่อีกฝ่ายหนึ่งอยากล้ม ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันด้วยเรื่องประชาธิปไตยต่างหาก เพราะต่างก็นิยามประชาธิปไตยแตกต่างกัน
ประชาธิปไตยของไทยนั่นแหละที่เป็นตัวปัญหา เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้
ฝ่ายเสื้อเหลืองเห็นว่า ประชาธิปไตยไทยมีแต่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหนทางให้นักการเมืองขี้ฉ้อเข้ามากุมอำนาจรัฐ แล้วก็ทำการทุจริตคิดมิชอบกันไม่รู้จบ ถึงจะสร้างกลไกตรวจสอบอย่างที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำไว้ ก็ไม่อาจป้องกันได้ เพราะนักการเมืองขี้ฉ้อ กลับแทรกแซงองค์กรอิสระเสียจนไม่อาจทำงานได้อย่างเที่ยงธรรม วิธีแก้คือสร้างหรือเสริมอำนาจนอกระบบ (ประชาธิปไตย) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม, ตุลาการ, ระบบราชการบางส่วน หรือสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายเสื้อแดงให้ความสำคัญแก่การเลือกตั้งจนละเลยองค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตยไปเสียหมด ทั้งนี้เพราะฝ่ายเสื้อแดงเชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรทรัพยากรให้ตกแก่ประชาชนที่อยู่นอกเขตตัวเมือง และประชาชนระดับล่างมากขึ้น ปัญหาการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองเป็นปัญหาระดับรอง เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลไทยทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารได้ทำสืบเนื่องกันมานาน ฉะนั้นจึงต้องเอาระบอบเลือกตั้งกลับคืนมา โดยรอนอำนาจนอกระบบ (ประชาธิปไตย) ทุกชนิดลงเสีย เพื่อให้กระบวนการทางการเมืองเป็นกระบวนการที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับทางออกทางการเมืองของทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่ผมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาทางการเมืองที่ทั้งสองฝ่ายมองเห็นนั้นล้วนเป็นปัญหาจริงในการเมืองไทยทั้งสิ้น และด้วยเหตุดังนั้น ทางออกทางการเมืองของไทยจึงต้องตอบปัญหาเหล่านั้นให้ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการต่อสู้ทางการเมือง ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายลืมยุทธศาสตร์ไปเสียหมด นั่นคือ ลืมไปว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนนั้น มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาการเมืองไทยไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งต้องตอบปัญหาทางการเมืองที่ตัวมองเห็นได้ การต่อสู้ทางการเมืองมักให้ความสำคัญแก่ยุทธวิธีเสียจนยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายหลักถูกวางไว้บนโปสเตอร์อย่างไร้ความหมายเสมอ
ยุทธวิธีที่ทั้งสองฝ่ายใช้อย่างได้ผลชื่อ ทักษิณ ชินวัตร พธม.ใช้ทักษิณเพื่อทำให้ผู้ที่ไม่เอาทักษิณหวาดกลัวว่าทักษิณกำลังจะกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ฝ่าย นปก.ใช้ทักษิณเพื่อปลุกระดมคนเอาทักษิณให้ออกมาช่วยกันสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้ทักษิณกลับมาสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง
ผมออกจะสงสัยว่า ทั้งสองฝ่ายรู้อยู่แล้วว่าทักษิณไม่อาจเป็นคำตอบของการเมืองไทยได้แล้ว ทักษิณมีได้แต่พรรค แต่ทักษิณไม่มีพวก ผมหมายถึงคนที่สามารถเป็นแกนนำของแก๊งการเมือง และสามารถตอบสนองเชิงบริหารให้แก่ทักษิณได้ บริษัททักษิณใหญ่ในการเลือกตั้งแน่ แต่เสี่ยงเกินไปที่จะร่วมหุ้นด้วย ชื่อทักษิณเป็นชื่อที่ใช้ได้ดีในเชิงยุทธวิธีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุทธวิธีครอบงำการต่อสู้มานาน ทั้งสองฝ่ายจึงมีผลประโยชน์ปลูกฝังอยู่กับยุทธวิธีเสียจนไม่สามารถขยับออกไปสู่ยุทธศาสตร์ได้ ต่างฝ่ายต่างมีคดีติดตัวกันหลายคดี ต่างฝ่ายต่างมีพันธะทางใจกับ "สาวก" ของตนจำนวนมาก ซึ่งถูกดึงเข้ามาด้วยยุทธวิธีมากกว่ายุทธศาสตร์ ความขัดแย้งจึงถูกจำกัดลงเพียงเรื่องทักษิณ ส่วนเรื่องคอร์รัปชั่น, ฝ่ายบริหารที่ตรวจสอบไม่ได้ และการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ หรือประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับปัญหาของสังคมไทย กลับถูกทิ้งไว้ตามเดิม โดยไม่มีฝ่ายใดแตะต้อง
รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่สามารถนำประเทศทะลุทะลวงออกไปจากความติดตันทางการเมืองนี้ได้ เพราะแม้แต่ตัวรัฐบาลเองก็เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งของยุทธวิธีเท่านั้น ซ้ำร้ายเมื่อได้อำนาจแล้วก็พอใจแต่จะเป็นเพียงเครื่องมือทางยุทธวิธีไปเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอดของตนเอง นอกจากรัฐบาลแล้ว ความขัดแย้งที่ติดตันนี้ยังใช้อะไรอื่นๆ ที่มีความสำคัญในสังคมอีกมาก แม้แต่รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเครื่องมือทางยุทธวิธี
เรื่องมันน่าเศร้า เพราะส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ได้ติดตันอยู่ในความขัดแย้งนี้ แต่ต้องตกเป็นเชลยที่หาทางออกไม่ได้ไปด้วย
แม้กระนั้นประชาชนคนนอกทั้งหลายนี้เท่านั้นที่เป็นความหวัง ว่าสังคมไทยจะหาทางออกจากความขัดแย้งที่ติดตัน เพื่อไปสู่ความขัดแย้งที่อาจนำเราไปสู่ข้อสรุปและประชาธิปไตย โดยเฉพาะนักวิชาการ, กลุ่มประชาสังคม, องค์กรอิสระ, สื่อ, องค์กรผลประโยชน์ใหญ่ๆ เช่น หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ (หากเลิกคิดสั้นๆ แต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเสียที) และกลุ่มความเคลื่อนไหวทางสังคมอีกมาก
ภาระจึงตกเป็นของคนนอก!
ขอบคุณบทความจากมติชนออนไลน์
"
"
akecity ใหม่เมืองเอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก