วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้าวรมควันพิษ เป็นยังไง ?







ข้อมูลจาก มูลนิธิชีววิถี

เพราะข้าวในโครงการรับจำนำระยะสองสามปีมานี้ เก็บเป็นข้าวสาร

ซึ่งการเก็บข้าวนั้นเก็บเป็นข้าวเปลือกดีที่สุด ข้าวเปลือกเมื่อกระเทาะเปลือกออกเป็นข้าวสารมันก็เป็นแป้งแหละครับ แป้งดูดความชื้น มันก็เก็บยากกว่า หรือมีมอดแมลงมากัดกินก็ยิ่งเป็นแป้งเป็นผงแป้งดูดความชื้นได้ดียิ่งขึ้นก็ยิ่งเน่าเสียง่าย

อาการเน่าก็คือ ข้าวป่นเปื่อยจับกันเป็นก้อนมีสีเหลือง ๆ ข้าวเน่าเนี่ยมองเห็นด้วยตานะครับ พวกบริษัทข้าวถุงเค้าก็คงไม่คิดสั้นเอามาบรรจุถุงขาย คือมันประเจิดประเจ้อเกินไป ส่วนว่าจะปนไปกับข้าวแจกบ้างก็เป็นเป็นเคราะห์ซ้ำของคนรับข้าวแจก

ทีนี้เน่าอีกแบบคือ มันชื้นแล้วก็เป็นรา พวกอะฟลาท๊อกซินอันนี้ยิ่งอันตรายครับ หากสะสมก็เป็นสารก่อมะเร็ง นี่ก็มองเห็นด้วยตาอีก ข้าวก็อาการประมาณข้าวเน่า คือ ข้าวเกาะกันเป็นก้อน มีกลิ่นอับ มีสีคล้ำ เท่าที่ตามดูข่าวก็ยังไม่พบเห็นว่ามีใครซื้อข้าวถุงแล้วเจอข้าวเน่าเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ

ส่วนข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวสารเก็บนานคุณภาพก็คงต้องเปลี่ยนไปตามเวลา ยิ่งข้ามปียิ่งไม่ดี มันดูดความชื้นมันก็ร่วนขึ้น เปราะ ไม่นุ่มไม่หอม กินไม่อร่อย อาจมีชื้นมีกลิ่นอับไม่ถึงกับเน่า แม้เก็บในไซโลโกดังเกรดเอ มีการระบายอากาศที่ดี แต่จะให้ดีมากต้องคุมอุณหภูมิซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จะคาดหวังให้โกดังเช่าเก็บลงทุนขนาดนั้นก็เป็นเรื่องเหนือจริงไปนิด

มาถึงข้าวรมควันพิษ ทางราชการก็ออกมายืนยันว่า สารหรือก๊าซที่ราชการแนะนำให้ใช้สองชนิดนั้น มันเป็นสารระเหย มีการตกค้างน้อย หรือแทบไม่ตกค้าง ทางกรมวิชาการเกษตรเค้าแจกแจงดังนี้ครับ

การรมข้าวสารจะใช้เมทิลโบรไมด์ในอัตรา 32 กรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 50 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาในการรม 24 ชั่วโมง และจะระเหยหมดไปทันทีที่เปิดพลาสติก สารชนิดนี้เป็นที่นิยม ใช้เพราะเบากว่าอากาศ จะใช้การระเหยขึ้นด้านบน สามารถแทรกในช่องว่างระหว่างเม็ดข้าวได้ และราคาถูกกว่าสารชนิดอื่น

ส่วนสารฟอสฟินเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง ลักษณะ ของฟอสฟินจะเป็นเม็ดเล็กๆ ลักษณะการทำงานคล้ายลูกเหม็น จะใช้การระเหิดจากที่สูงสู่ที่ต่ำ การรมข้าวสารใช้ฟอสฟินในอัตรา 2-3 เม็ด ต่อข้าวสาร 1 ตัน (น้ำหนักเม็ดละ 3 กรัม) หรือฟอสฟิน 9-10 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาการรม 5-7 วัน หลังจากการรมแล้วต้องมีระยะเวลาการถ่ายเทก๊าซ 12 ชั่วโมง วิธีการนี้จะใช้เวลานานกว่าเมทิลโบรไมด์ จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า

สารพวกนี้จะตายได้ก็จากการสูดดมเข้าไปตรง ๆ ดังนั้นความเป็นอันตรายมากที่สุดของสารพวกนี้จะอยู่ที่ขั้นตอนการรมเป็นสำคัญ นก หนู แมว หลุดเข้าไปในระหว่างการมตายแบบเฉียบพลันทันที

เท่าที่นักวิชาการเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ค้นงานศึกษาแบบเร็ว ๆ พบว่ามีรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ (NIH) พบว่าผู้ที่ทำงานสัมผัสเกี่ยวข้องกับเมธิลโบรไมด์มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ไม่เคยสัมผัสเลย ย้ำนะครับพบแค่ผู้ที่มีโอกาสสัมผัส ไม่ใช่ผู้บริโภคจากการตกค้าง

หากเก็บข้าวนานก็ต้องรมก๊าซมากครั้งขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าความเสี่ยงเรื่องการตกค้างในอาจมีมากขึ้น แต่ที่น่าเป็นไปได้มากกว่าคือการตกค้างในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้วยว่าก๊าซพวกนี้มันระเหยไปก็ไปจับกับความชื้นในอากาศตกเป็นฝนกลับลงมาพื้นโลก ไปจนถึงการดื้อยาของศัตรูข้าว ทำให้ต้องหาทางจัดการด้วยวิธีการที่อาจเสี่ยงขึ้น

เมื่อมีข่าวลือ ข่าวร้ายเกิดขึ้น ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การอาหารและยา เก็บตัวอย่างข้าวในท้องตลาด 57 ตัวอย่างไปตรวจในแลปหาสารตกค้างหลายกลุ่มพบว่ามีการตกค้าง 26 ตัวอย่างในระดับ 0.9-21 ppm ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ที่ 50 ppm ซึ่งก็เบาใจได้บ้างว่าเท่าที่ตรวจพบก็ไม่ได้อันตรายมาตรฐานของไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย !!

รูปด้านบน คือการบิดเบือนของหน่วยงานราชการในเรื่องค่ามาตรฐานสารตกค้างของไทย ว่าตกลงจะใช้ค่าไหนแน่


แต่เรื่องน่ากังวลก็อาจมีได้เหมือนกัน เพราะบางประเทศกำหนดให้ค่ามาตรฐานที่ตกค้างได้สูงสูด (MRL) ต่ำกว่าที่เรากำหนด

ตัวอย่างเช่น อินเดียกำหนดไว้ที่ 25 ppm จีน 5 ppm และไต้หวันที่กำหนดไว้ที่ 1 ppm เท่านั้น

ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของเราในระยะยาวได้เหมือนกัน (ppm : part per million หมายความว่า 1 ส่วนในล้านส่วนในกรณีนี้หน่วยเป็นกิโลกรัม 1 ppm ก็คือ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย !!



ขณะเดียวกันทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับเครือข่ายไทยแพนก็ได้ไปเก็บตัวอย่างมาตรวจบ้างเหมือนกัน เป็นการร่วมตรวจสอบอีกทางหนึ่งครับ ผลน่าจะออกอาทิตย์หน้า

อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นเรื่องดีที่มีการตื่นตัวกัน ทำให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่อย่างแข็งขัน และหวังว่าจะมีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่องสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และจะให้ดีรัฐบาลก็ควรเร่งระบายข้าวออกมาน่ะครับก่อนมันจะเสื่อมไปกว่านี้ หรือไปถึงขั้นเน่า แล้วยังต้องรมก๊าซอยู่เรื่อย

พอแค่นี้ก่อนนะครับ หวังว่าข้อเขียนนี้จะช่วยกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ที่นำไปสู่การค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าเหตุการณ์ข้าวนี้จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคตื่นตัวอย่างมีคุณภาพ ศึกษาค้นคว้าตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน พัฒนาเป็นขบวนการผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการให้หลักประกันอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง

โดย.... กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา


----------------

สารเมทิลโบรไมด์ สารพิษใช้รมข้าว ที่ต้องเลิกใช้ภายในปี 2556 แต่

คลิกที่รูปเพื่อขยาย !!



คลิกที่รูปเพื่อขยาย !!




ปริมาณนำเข้าสารรมควันพิษข้าว เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในปี 2556

คลิกที่รูปเพื่อขยาย !!



ไทยไม่กำหนดมาตรฐานสารเมทิลโบรไมด์ในข้าว

แต่จากตรวจสอบจากข้อมูลเรื่องค่ากำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRLs-Maximum Residue Limits ของเมทิลโบรไมด์ในสินค้าข้าวภายในประเทศไทย ทั้งในประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 163) พ.ศ.2538 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2548 และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกอช.9002-2547 และ 2551) กลับไม่พบค่ากำหนดนี้ในประกาศเหล่านั้น

ในขณะที่ในต่างประเทศได้กำหนดค่า MRLs ของเมทิลโบรไมด์ในสินค้าข้าว ไว้อย่างชัดเจน เช่น ไต้หวัน 1.0 มก/กก สาธารณรัฐเกาหลี 50.0 มก/กก. กลุ่มสหภาพยุโรป 0.1 มก/กก. อังกฤษ 0.1 มล./กก. ออสเตรเลีย 50มก/กก. นิวซีแลนด์ 50มก/กก. เป็นต้น

จากเอกสารประกอบการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปี 2555 โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ระบุว่า ในการกำหนดค่า MRLs ของสหภาพยุโรป สิ่งสำคัญที่กำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ เรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้ค่า MRLs ที่กำหนดจะเป็นค่าที่ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

แต่ขณะเดียวกัน การกำหนดค่า MRLs ของไทย และของ โคเด็กซ์ (คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex Alimentarius Commission) นั้น มาจากมุมมองในเรื่องของการกำหนดเพื่อการค้าเป็นหลัก ค่า MRLs ที่กำหนดออกมาจึงเป็นค่าสูงสุดเท่าที่จะยอมรับได้ เมื่อตรวจแล้วพบว่าไม่เกินจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็ยอมรับได้ว่าผลผลิตการเกษตรดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค


---------------------

ใหม่เมืองเอก ขอสรุปว่า

มาตรฐานข้าวไทยที่ส่งออก และมาตรฐานข้าวที่คนไทยกินในประเทศไม่เท่ากัน

สาเหตุเพราะ ค่ามาตรฐานสารตกค้างในแต่ละประเทศกำหนดไว้ไม่เท่ากัน

ผู้ส่งออกข้าวไทย จะส่งออกให้ตรงตามมาตรฐานในแต่ละประเทศ

ส่วนคนไทยแม้มีมาตรฐานของไทย (มาตรฐานไทยอ้างว่าอยู่ที่50มก./กก) แต่กลับถูกบิดเบือนได้โดยหน่วยงานของรัฐเอง จนยากที่จะน่าเชื่อถือ

เพราะวันนี้ คนไทยเราเชื่อถือรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลปัจจุบันนี่แหละตัวดี ที่พยายามปกปิดข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนไทย เพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองจากนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐบาลเองครับ


คลิกอ่าน เงินหลวงไม่ใช่เงินกู นักการเมืองโกงมาแบ่งให้ก็ดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก