วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เงินหลวงไม่ใช่เงินกู นักการเมืองโกงมาแบ่งให้ก็ดี






ทำไมคนไทยจำนวนมากยอมรับนักการเมืองโกงได้ แต่ข้อแม้ว่าต้องแบ่งส่วนที่โกงมาให้ฉันบ้าง ?

ผมเจอบทความที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ จึงอยากนำมาให้อ่าน

และตอนท้ายยังมีความคิดเห็นของผู้ที่ได้อ่านบทความนี้ แล้วได้แสดงความเห็นที่น่าคิดมาก

-----------------------

มรดกจากยุคสมบูรณาถึงยุคไพร่เสื้อแดง
โดย บัณรส บัวคลี่


เอแบคโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ แต่ผลออกมายังเหมือนกับครั้งก่อนหน้าว่า

ประชาชนไทยจำนวนมากกว่าครึ่งรับได้กับการคอรัปชั่นโดยหากว่าโกงแล้วยังมีผลประโยชน์ตกมาสู่ประชาชนบ้าง

แม้จะไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่จากที่สัมผัสผู้คนมาเยอะเมื่อเทียบระหว่างชนชั้นกลางกับชั้นล่างลงมา ขอฟันธงว่าประชากรชาวไพร่ ชาวรากหญ้านี่แหละที่เป็นประชากรกลุ่มหลักที่ยอมรับได้หากนักการเมืองคดโกง

ตัวอย่างจากคนเสื้อแดงออกมาต่อสู้ทางการเมืองให้กับไทยรักไทยต่อเนื่องถึงเพื่อไทยก็เพราะพรรคการเมืองดังกล่าวมีนโยบาย “แบ่งปันน้ำแกง” คือจัดงบประมาณลงมาถึงประชาชนได้เด่นชัด

นี่กระมังเป็นเหตุให้คนไทย 65% ที่รวมถึงคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งจึงไม่ค่อยรู้สึกแสลงตาแสลงใจกับข่าวข่าวการโกงกินของนักการเมืองแถมออกจะเฉย ๆ ซะงั้น

ความคิดของประชาชนที่ยอมรับได้หากผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกครองทุจริตโดยมีเงื่อนไขว่าแต่ต้องขอมีน้ำแกงแบ่งปันมาให้ประชาชนผู้ไม่มีอำนาจดังกล่าว เป็นความคิดที่สืบสาวไปถึงยุคศักดินาสวามิภักดิ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโน่นเลยเพราะนี่เป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมว่าด้วยทรัพยากรส่วนกลางที่คนไทยถือว่าเป็น “เงินหลวง” หรือ “ของหลวง”

ชื่อว่าเงินหลวงหรือของหลวงก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่ใช่เงินเราหรือของเรา เพราะในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย่อมถือว่าทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งสิ้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นถนนหนทางสิ่งก่อสร้างทั้งหลายล้วนแต่เป็นของหลวงซึ่งมี “ข้าราชการ” รับดำเนินการให้หลวงอีกทอด ไม่ใช่ธุระกงการของประชาชน

ดังนั้นกิจการงานของหลวงที่ต้องใช้เงินหลวงจึงเป็นเรื่องของข้าราชการตัดตอนไปทำ สมัยก่อนโน้นคือเมื่อ 20 ที่แล้วยังมีธรรมเนียมเขียนป้ายข้างรถยนต์ “ใช้ในราชการ” เท่านั้น ตอกย้ำว่านี่เป็นทรัพย์สมบัติของหลวงที่ระบบราชการท่านใช้งานกัน มันไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชนคนเดินดินธรรมดา

จนระยะหลัง ๆ มานี้จึงค่อย ๆ พัฒนาระบบคิดและหลักการใหม่ไปตามพัฒนาการทางการเมืองว่าระบบราชการไม่ใช่เรื่องของหลวงแต่เป็น “บริการสาธารณะ” ที่มีไว้ให้ประชาชนเจ้าของประเทศ ฃฃ

ซึ่งแม้จะดีกว่าเมื่อ 20-30 ปีก่อนมากมายก็เหอะ ระบบราชการและงบหลวง เงินหลวง ของ ๆหลวงก็ยังไม่ได้ตกเป็นสมบัติของประชาชนจริง เพราะของหลวงทั้งหลายในยุคก่อนได้กลายเป็นสมบัติของพ่อค้านักการเมืองไปซะยังไม่ใช่กิจการของประชาชนเจ้าของประเทศอยู่ดี

การอยากได้เงินหลวงเข้าพกเข้าห่อมาเป็นของตนเองเป็นความอยากพื้นฐานสันดานมนุษย์ ในสมัยก่อนโน้นโกงเงินหลวงก็คือโกงเงินของพระราชา แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยสำนวนโกงเงินหลวงที่ติดปากสืบทอดมาที่แท้คือการโกงเงินจากทรัพย์สินภาษีอากรของราษฎร

แต่คนธรรมดาสามัญแทบไม่มีใครคิดว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของตนเอง ยังคงติดกับธรรมเนียมความคิดเดิมคือเงินของแผ่นดินที่ลอยลงมาแปลงเป็นถนนหนทาง สถานีอนามัย โรงพัก อำเภอ ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ “หลวง” คือรัฐบาลประทานลงมาให้อยู่เช่นเดิม

ด้วยธรรมเนียมความคิดแบบนี้ จึงกลายเป็นว่าส.ส.ที่ได้รับความนิยม คือส.ส.ที่เข้าไปต่อสู้ในสภาเพื่อต่อรองแย่งชิงเอา “เงินหลวง” มาให้ชาวบ้าน แปลงมาเป็นถนนหนทาง ไฟฟ้า สะพาน สถานที่ราชการใหม่ๆ เช่นวิทยาลัยพลศึกษา สนามกีฬากลาง ฯลฯ

ต่อมาเลยกลายเป็นแบบแผนธรรมเนียมว่า พรรคการเมืองที่ดีคือพรรคที่มีนโยบายให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและบริการ เช่น เอาเงินกองทุนหมู่บ้านมาให้ใช้กู้ยืมกันเองคนละ 2 หมื่น (แถวบ้านบางรายยังไม่คืนเลย ฮาๆ)

และเมื่อส.ส.หรือพรรคการเมืองได้ไป “ต่อสู้แย่งชิง” เงินหลวงมาให้เราดังนั้นชาวบ้านจึงต้องยอมๆ ให้เขาโกงกินหัวคิวไปวัดครึ่งกรรมการครึ่งชาวบ้านขอแบ่งน้ำแกงมากินด้วยก็ยังดี

บางโครงการไม่เหมาะสม แพงเกิน ไม่ได้ประโยชน์อะไรแต่เมื่อมาลงพื้นที่แล้วก็จะมีคนจำนวนไม่น้อยมีความคิดว่าเอา ๆ ไปเถอะไหน ๆ ก็ได้งบมาแล้ว

ทั้งหมดทั้งมวลมาจากรากเหง้ากรอบความคิดพื้นฐานที่ว่างบประมาณแผ่นดินไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเอง มันเป็นเงินหลวงที่เป็นเรื่องของเจ้านายข้าราชการนักการเมืองเขาจัดการกัน ให้ชาวบ้านได้มาใช้ประโยชน์บ้างก็ดีถมแล้ว ส่วนเขาจะโกงกินบ้างก็ให้ถือเป็นค่าตอบแทนเขาไป

นักการเมืองเค้าชอบนะครับ ชอบกรอบความคิดของชาวบ้านแบบนี้เพราะมันง่ายต่อการเอาเงินของชาวบ้านมาซื้อเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านอีกทอด การซื้อใจทำให้ชาวบ้านรักผูกพันกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมีแต่ต้องดำรงความเชื่อเรื่องเงินหลวงเอาไว้

อยากให้ใครสักคนทำวิจัยดูความสัมพันธ์ระหว่างกรอบความเชื่อเรื่องเงินหลวงกับรายได้ของบุคคลว่ามีความสัมพันธ์กันยังไง ขอฟันธงอีกทีว่าผลวิจัยน่าจะชี้ชัดว่าคนที่คิดว่าเงินหลวงเป็นเงินที่ลอยลงมาก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานภาษี ไม่ต้องเสียภาษีประจำปี แล้วคนกลุ่มนี้เองที่คิดว่าโกงไม่เป็นไรขอให้ทำงาน

ส่วนคนที่ต่อสู้กับการโกงกิน เกลียดคนโกงซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมกลับเป็นมนุษย์เงินเดือน ชนชั้นกลาง พ่อค้าห้องแถวที่ถูกขูดรีดจากระบบภาษีสรรพากรโดยตรง พวกนี้จึงเข้าใจได้ชัดเจนว่า งบประมาณแผ่นดินที่เรียกกันว่า “เงินหลวง” นั้นที่แท้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของเขา

ไม่แปลกที่คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มน้อยเลือกตั้งแต่ละทีก็แพ้เขาล่ะครับ นั่นเพราะประชากรไทยที่อยู่ในฐานภาษีมีเพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น

ส่วนที่เหลือไม่ต้องยื่นแบบภาษีเพราะรายได้ไม่ถึง แล้วคนพวกนี้ก็จ่ายภาษีทางอ้อมผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านร้านเซเว่นฯ ผ่านการเติมน้ำมันรถกัน ซึ่งแทบไม่รู้สึกรู้สาว่านี่คือภาษีที่ตนจ่ายให้รัฐไป

ด้วยเหตุนี้ความรู้สึกที่ว่างบประมาณแผ่นดินไม่ใช่เป็นเงินของประชาชนหากเป็น “เงินหลวง” ที่ลอยลงมา หากว่าประชาชนได้แบ่งมามาถือเป็นกำไร...จึงยังฝังแน่นอยู่ในสังคม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกรู้สาว่าต้องแบกรับภาระภาษีและแม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองและทำงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนเจ้าของประเทศมาแล้วกว่า 80 ปีก็ตาม

ในประเทศไทยมีคนที่เรียกตัวเองว่าชนชั้นไพร่ นัยว่าเป็นการประชดประชันกลุ่มอำมาตย์ขุนนาง และก็น่าตลกดีที่ในมิติของหน้าที่ภาษีและความรับรู้เชิงอำนาจถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ...ชนชั้นไพร่กลุ่มดังกล่าวกลับยังมีสำนึกแบบไพร่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชจริงๆ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของเงินงบประมาณแผ่นดิน เฝ้าแต่รอคอยการประทานลงมาจากผู้มีอำนาจบริหาร

มิหนำซ้ำยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวงที่นักการเมืองและข้าราชการผู้มีอำนาจบริหารเงินได้ประทานบริการลงมาแก่ตนอีกต่างหาก

ชนชั้นไพร่ที่ยังคงสำนึกแบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชเหล่านั้น จึงพากันตอบแทนผู้มีอำนาจที่เจียดงบประมาณแผ่นดินมาให้ตนด้วยการยกสิทธิการคดโกงเบียดบัง“เงินหลวง”ให้กับเหล่านักการเมือง ออกใบอนุญาตคอรัปชั่นให้ซะ

ตราบใดที่คนส่วนน้อยยังเป็นผู้เสียภาษี ตราบนั้นคนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้สึกรู้สาก็จะยังอนุญาตให้ข้าราชการและนักการเมืองคดโกงได้ต่อไป ๆ ๆ

สำรวจอีกกี่ครั้งก็ทำใจเถอะครับ..ชาวไพร่คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาถือว่างบประมาณแผ่นดินเป็นเงินหลวงที่ลอยลงมาจากฟ้า ใครแบ่งมามากที่สุดเป็นกำไร ใครโกงได้โกงไปขอเราแบ่งด้วยเป็นพอ !

http://astv.mobi/Alglfjh

-------------------

ความเห็นโดน ๆ จากผู้อ่านบทความข้างบนนั้นแล้ว


หลักการง่าย ๆ ประการหนึ่งของการเป็นพลเมือง ก็คือ การเสียภาษีให้แก่รัฐ

ซึ่งนี่เป็นหลักการที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปกครองตัวเองของประชาชน (self-government)

การเสียภาษี จะเป็นการบังคับให้ประชาชนเป็นพลเมือง เพราะจะต้องเข้าไปตรวจสอบ สักถาม ว่านำเงินภาษีของตนไปทำอะไร บริการสาธารณะที่ได้มีคุณภาพสมกับเงินภาษีหรือไม่ ซึ่งนี่ก็คือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการควบคุมนักการเมืองนั่นเอง

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเงินภาษีในแง่งบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับภาษีในแง่ของการทำหน้าที่ของพลเมือง

ประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เสียภาษี จึงไม่รู้สึกหวงแหน หรือรู้สึกว่า ตนมีภาระหน้าที่อะไร ที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบการใช้ภาษี ว่ามีความสุจริต คุ้มค่าหรือไม่

และบังเอิญว่า คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เสียภาษีนี้ คือ คนจน และคนจนนี้เอง ที่กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้ง

ดังนั้น จะไม่ให้การเมืองไทยแปลกประหลาดได้อย่างไร ที่คนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ใช่ผู้เสียภาษี และไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ กำกับดูแลการใช้ภาษีนั้น ก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบให้ยุ่งยากทำไม ในเมื่อเงินได้ของแผ่นดินนั้น เป็นของส่วนกลาง ที่มาจากไหนก็ไม่รู้

พูดกันอย่างถึงที่สุด เสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งของประเทศนี้ จึงหวังเพียงให้มีผลประโยชน์อะไรก็ได้ ตกมาถึงตัวเองบ้างเป็นพอ

ข้อสรุปนี้ ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอย ๆ เพราะเห็นได้จากคนเสื้อแดงที่เรียกร้องความเท่าเทียม แต่กลับแบมือขอรับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม โดยไม่สนใจการตรวจสอบใด ๆ เลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีข้ออ้างอยู่เพียงอย่างเดียวว่า รัฐบาลมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

เช่นนี้แล้ว บางท่านจึงเสนอว่า ในการเลือกตั้งควรกำหนดให้ผู้เสียภาษีเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งแม้จะน่าสนใจ แต่ในทางหลักการ ก็ขัดกับหลักประชาธิปไตย เพราะหากกันคนส่วนใหญ่ออกไป จะขึ้นชื่อว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร

ทางออกในเรื่องนี้ ที่สุดแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นการทำให้ประชาชนเป็นผู้ที่สามารถเสียภาษี ซึ่งจะบังคับให้ประชาชนกลายเป็นพลเมือง และรู้จักหน้าที่ของตน แม้ไม่อาจทำได้ในระดับชาติ แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ได้ในระดับท้องถิ่น ซึ่งก็เท่ากับประชาชนได้เสียภาษีให้ประเทศชาติไปในตัว

และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาษีนั้น จะต้องถูกใช้ที่ท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนจึงจะเห็นว่า ภาษีของตนถูกใช้ไปอย่างไร หากเห็นว่าไม่ชอบมาพากล ก็จะได้เข้าไปตรวจสอบการใช้ภาษีนั้น

แต่นักการเมืองระดับชาติ คงพอใจที่จะไม่ทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมือง เพราะการที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าไปตรวจสอบการทำงานของตนเอง ย่อมเป็นผลดีเพียงแค่หยิบยื่นผลประโยชน์เชิงนโยบายให้เป็นการเอาใจ หนทางในการครองอำนาจก็ราบรื่นขึ้น

ทางเดียวก็จะทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมือง คือการเสียภาษี !!


---------------------

ใหม่เมืองเอก ขอสรุปว่า

นักการเมือง คือ อำมาตย์ยุคใหม่ ที่โกงเอาเงินภาษีชาติมาแบ่งประชาชน

คนจน คือ ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่ไม่เสียภาษีโดยตรง เลยไม่คิดว่า เงินภาษีชาติก็คือเงินตัวเอง จึงพร้อมที่กราบกรานขอบคุณนักการเมืองที่โกงภาษีมาแบ่งให้ !!

ชนชั้นกลาง คือ กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีรายได้โดยตรง เลยรู้สึกว่า เงินภาษีคือเงินของตัวเอง จึงไม่ยอมให้ใครมาโกงกินเงินภาษีนั้น


เงินหลวงไม่ใช่เงินกู!! เงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน!!


คลิกอ่าน ลัทธิเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก