วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลัทธิเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย







เรียกมันว่า ‘ลัทธิเสียงส่วนใหญ่’ (Majoritarianism)


การประท้วงของผู้คนหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์, บราซิล, ตุรกี, ซีเรีย และอื่น ๆ ที่เป็นข่าวทุกวันนี้

ทำให้เกิดคนถามในหมู่นักวิเคราะห์ การเมืองระหว่างประเทศว่าทำไมจึงเกิด “การเมืองข้างถนน” กันร้อนแรงขึ้นทั้ง ๆ ที่หลายประเทศเหล่านั้นก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง?

เป็นคำถามที่คนไทยเองก็คงจะตั้งข้อสงสัยกับตัวเองและเพื่อนร่วมชาติเช่นกัน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องสังกัดสีไหนหรือประกาศตนอยู่ค่ายการเมืองใด

วันก่อน คอลัมนิสต์คนดังของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ Thomas Friedman ตั้งคำถามนี้เหมือนกันและพยายามจะหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า

ทำไมเมื่อสังคมที่สิทธิเสรีภาพ มีการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย และมีวิถีทางเลือกด้วยการเข้าสู่คูหาเลือกตั้งได้แล้ว จึงยังต้องมีการออกมากลางถนนเพื่อเรียกร้องและแสดงความต้องการทางการเมืองอีก?

เขาบอกว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่า “majoritarian” หรือ “ลัทธิเสียงส่วนใหญ่”

ไม่ใช่ “authoritarianism” หรือ “ลัทธิอำนาจเบ็ดเสร็จ” และไม่ใช่ “egalitarianism” หรือ “ลัทธิประชาธิปไตยเสมอภาค”

แต่เป็นปัญหาอันเกิดจากการที่ “เสียงส่วนใหญ่” หรือ “majority” ใช้อำนาจไปในทางที่เกิดความผิดเพี้ยนไปจากความหมายประชาธิปไตยที่แท้จริง

คำนี้น่าสนใจเพราะเป็นคำที่เพิ่งจะเป็นประเด็นของการวิเคราะห์สิ่งที่กำลังเกิดในหลายประเทศเช่นรัสเซีย, ตุรกี หรืออียิปต์ และอีกหลายประเทศที่คนไทยน่าจะรู้จักดี

คำว่า “majoritarian” นี้นักวิเคราะห์เขาหมายถึงพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาตามครรลองประชาธิปไตย (หรือก้ำกึ่งประชาธิปไตยคือประชาชนรู้ว่ามีการโกงเลือกตั้งแต่จับไม่ได้คาหนังคาเขา) และตีความเองว่านั่นคือฉันทานุมัติที่จะทำอะไรก็ได้เมื่อมีอำนาจแล้ว

หรือความเชื่อที่ว่าเมื่อชนะเลือกตั้งแล้ว ตลอดเวลาสี่หรือห้าปีที่อยู่ในตำแหน่ง พรรคที่เป็นรัฐบาลมีสิทธิจะทำอะไรตามที่ตนต้องการเพราะอ้างว่าได้เสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้ง

เหมือนอ้างว่าได้ “เช็คเปล่า” จากประชาชน ผู้มีอำนาจจะใส่ตัวเลขเงินที่จะใช้เท่าไหร่ก็ได้

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความเชื่อที่ผิด และเป็นที่มาของความไม่พอใจของประชาชน ทั้งที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งให้กับที่ไม่ได้สนับสนุนให้เป็นรัฐบาลในกระบวนการเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์อย่างนี้ทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้ง มองข้ามความสำคัญของการรับรู้ความเห็นที่แตกต่าง และไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นเสียงทัดทานจากฝ่ายค้าน หรือสื่อมวลชนหรือนักวิชาการ

อีกทั้งเมื่อชนะเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองเหล่านี้ก็เริ่มจะใช้อำนาจตามกฎหมายในการทำกิจกรรมฉ้อฉลด้วยการตั้งคนของตนไปอยู่ในกลไกตรวจสอบ หรือไม่ก็พยายามจะทำลายกลไกตรวจสอบเหล่านั้นเพราะเป็น “ก้างขวางคอ” ในการใช้อำนาจของตน

“นักการเมืองเหล่านี้เชื่อว่าคำว่าประชาธิปไตยหมายถึงเพียงสิทธิในการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ไม่เคารพในสิทธิอื่น ๆ ทั้งหลายรวมถึงสิทธิของคนเสียงส่วนน้อยที่ก็เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน...” คือบทวิพากษ์ของคอลัมนิสต์มะกันคนนี้

เขาบอกว่าผู้ประท้วงของตุรกี, รัสเซีย และอียิปต์ มีความรู้สึกเหมือนกันอย่างหนึ่งว่าพวกเขาถูกผู้มีอำนาจ “ปล้น”

...และสิ่งที่ผู้มีอำนาจแย่งชิงหรือขโมยจากประชาชนนั้นไม่ใช่แต่เรื่องเงินทองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันอีกด้วย

นั่นหมายความว่าพวกเขารู้สึกว่านักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งนั้น ตั้งตนเป็นเจ้าของประเทศแต่เพียงกลุ่มเดียว และพยายามจะปล้น “สิทธิและเสียง” ของพวกเขาในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างให้อภัยไม่ได้

นักวิจารณ์อียิปต์ คนดัง Bassem Youssef เขียนวิพากษ์ประธานาธิบดีโมหะเหม็ด มอร์ซี ว่า

“เรามีประธานาธิบดีที่รับปากว่าจะตั้งสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกคนรับได้ เรามีประธานาธิบดีที่สัญญาว่าจะเป็นตัวแทนของผู้คนทุกกลุ่ม แต่เขาแต่งตั้งคนจากกลุ่ม Muslim Brotherhood ของเขาในทุกตำแหน่งที่สำคัญของประเทศ...เรามีประธานาธิบดีที่ทำผิดคำมั่นสัญญาทุกข้อ ประชาชนจึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องออกไปกลางถนน...”

สาเหตุที่สองของปรากฏการณ์เดินขบวนของประชาชน คือการที่คนงานชนชั้นกลางถูกบีบ ระหว่างสวัสดิการรัฐที่หดตัวลงขณะที่ตลาดแรงงานถดถอย

การดำรงตนให้อยู่ใน “ชนชั้นกลาง” ยิ่งวันก็ยิ่งต้องเหนื่อยมากขึ้นเพราะโลกแคบลงและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวตลอดเวลา หากตามนวัตกรรมไม่ทัน โอกาสจะตกงานหรือกลายเป็นผู้ถูกโดดเดี่ยวในหน้าที่งานการก็จะสูงขึ้น

แต่รัฐบาลส่วนใหญ่ แม้ที่ได้รับเลือกตั้งมาในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้ตระหนักหรือทำอะไรที่ช่วยให้ประชาชนปรับตัว ตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงอันหนักหน่วงเช่นนี้

พรรคการเมืองส่วนใหญ่สนใจแต่เพียงการชนะการเลือกตั้ง และปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง หรือมุ่งแต่เพียงจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านั้น มิได้มีวิสัยทัศน์หรือความกล้าหาญทางการเมืองเพียงพอ ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำพาประชาชนให้ปรับตัวทันกับความท้าทายของยุคสมัยเลย

ในภาวะที่เกิดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสทองสำหรับพรรคฝ่ายค้านที่จะเข้ามาถมช่องว่าง ทำหน้าที่เป็นความหวังหรือทางเลือกสำหรับประชาชน แต่พรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่ก็อ่อนปวกเปียก ย่ำแย่ ขาดการปรับตัวเพื่อรับบทบาทอันสำคัญนั้น

เมื่อประชาชนพึ่งพาพรรคการเมืองทางเลือกไม่ได้ พวกเขาก็จำเป็นต้องรวมตัวกันกลางถนนเพื่อแสดงความเห็นและเรียกร้องให้รัฐบาลทำสิ่งที่จะต้องทำในฐานะที่ได้รับอาณัติจากประชาชนให้บริหารประเทศ มิใช่เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ของตน

และปัจจัยที่สามที่ทำให้ผู้คนรวมตัวกันเพื่อประท้วงรัฐบาลมากขึ้นก็คือการก่อเกิดของ social media ที่ทำให้ประชาชนทุกประเทศ สามารถแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง และกดดันรัฐบาลให้ต้องฟังเสียงของผู้ไม่พอใจ

โซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นเครื่องมือการสื่อสารระหว่างประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดความอ่าน และรวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งที่ไม่เคยสามารถทำได้ในอดีต...

นั่นคือการระดมประชาชนที่ปกติไม่รู้จักกันหรือไม่เคยรวมตัวกันได้มาพบปะในที่สาธารณะ เพื่อบอกกล่าวกับผู้มีอำนาจว่าพวกเขากำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรงเพียงใด

ผู้ปกครองคนใดไม่สำเหนียก ในแนวโน้มสังคมการเมืองใหม่เช่นนี้ ย่อมจะต้องรู้สึกว่าอำนาจตนกำลังสั่นคลอนยิ่ง


โดย กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

(กรุงเทพธุรกิจ)


คลิกอ่าน กะลาธิปไตย ถ่อยธิปไตย ของเสื้อแดง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก