วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

เถียงให้รู้เรื่อง เลือกนายกฯโดยตรง และการเลือกสส.แบบเยอรมัน






(ทั้งสองคลิปที่ผมนำมาแปะในบทความเหมาะกับนักศึกษารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มาก)

แม้มติ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้ล้มเลิกเรื่องการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงไปแล้ว แต่หลังจากนั้นรายการเถียงให้รู้เรื่อง ก็ยังอยากนำเสนอแง่มุมในเรื่องนี้ให้มาขบคิดกันว่า ตกลงการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร

ซึ่งขนาดผมไม่ได้เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่พอได้ฟังความคิดเห็นของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ผู้เสนอแนวคิดเลือกนายกฯ โดยตรงแล้ว ผมว่า ความเห็นอาจารย์สมบัติ ชนะเหตุผลของคุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.ประชาธิปัตย์

แต่สำหรับผู้ที่ให้เหตุผลได้กระจ่างและสมเหตุผลมากที่สุดในคลิปนี้คือ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการผู้มาแสดงความเห็นเสริมในรายการ เพราะท่านอธิบายได้ความรู้ดีมาก





ส่วนเรื่องการเลือก สส. แบบระบบเยอรมัน ประเด็นนี้เหตุผลของคุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็ยังสู้เหตุผลของพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เช่นกัน

โดยเฉพาะความคิดเรื่องหลักการคำนวณจำนวน สส.  ซึ่งคุณนิพิฏฐ์ ดูเหมือนจะไม่ค่อยเก่งเรื่องคำนวณเท่าไร่ คือยังคำนวณบนพื้นฐานการคำนวณชั้นเดียว ทั้ง ๆที่ การคำนวณสส.ด้วยวิธีแบบเยอรมัน ต้องคิด 2 ชั้น




จากคลิป 2 ผมสรุปง่าย ๆ เลยว่า พรรคประชาธิปตย์ และพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วยการเลือกตั้งระบบเยอรมัน เพราะกลัวว่าจะสูญเสียจำนวนสส. แล้วทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้น

ทำไมผมถึงว่าแบบนั้น ก็ลองดูคลิปทั้งสองให้จบครับ ได้สาระความรู้และพัฒนาสมองคนดูจริง ๆ

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

สารี อ๋องสมหวัง อภิปราย บ.มือถือเอาเปรียบค่าโทรปัดเศษวินาที






สภาปฎิรูปแห่งชาติ ชงให้ คสช. ปรับปรุงโครงสร้าง กสทช. ให้สามารถทำหน้าที่กำกับ ดูแลกิจการโทรคมนาคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมหนุนข้อเสนอเรื่องให้คิดค่าโทรฯ ตามจริงเป็นวินาที


จาก สปช. เสนอ สปช.มีมติเสนอ คสช. ให้ผู้ประกอบการคิดค่าโทรมือถือเป็นวินาที

เมื่อดูจากรายการเรื่องเช่าเช้านี้ คุณสารี อ่องสมหวัง สปช. ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค อภิปรายเรื่องบริษัทมือถือเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการปัดเศษค่าโทรวินาทีเป็น 1 นาที

นอกจากนี้ยังมีนักข่าวสัมภาษณ์ นายกฯ ประยุทธ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ไปฟังว่า นายกฯ ตอบเรื่องนี้อย่างไร

รวมทั้งฟังเครือข่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ได้แก้ตัวว่าอย่างไรด้วย





วันที่ 6 มกราคม 2558 ในเวทีอภิปรายสภาปฎิรูปแห่งชาติ ( สปช.) นางสาวสารี อ่องสมหวัง ประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำเสนอประเด็นเรื่องขอให้คิดค่าโทรศัพท์ตามเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาทีต่อ น.ส.ทัศนา บุญทอง ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ



นางสาวสารี กล่าวว่า “จากข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยในปี 2014 ประเทศไทยมีจำนวนประชากร รวม 67.9 ล้านคน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวม 94.3 ล้านราย (คิดเป็นสัดส่วน 138.7 %) เป็นแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (เติมเงิน Pre Paid) 82.3 ล้านราย เป็นแบบรายเดือน (Post Paid) 11.7 ล้านราย

โดยแบ่งตามกลุ่มระบบผู้ให้บริการ คือ กลุ่ม AIS เจ้าของคือ บ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน ) (AIS) บ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบ.ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC)
กลุ่ม TRUE เจ้าของคือ บ.ทรูมูฟ จำกัด (TRUE MOVE) บ. เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) บ. เรียล มูฟ จำกัด (Real Move) (MVNO บนโครงข่ายของ CAT)
กลุ่ม DTAC เจ้าของ บ. โทเทิ่ล แอ็คเซีส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) บ.ดีแทค ไตเน็ต จำกัด (DTN)
กลุ่ม CAT เจ้าของ กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
และ กลุ่ม TOT เจ้าของคือ บ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัญหาว่าปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ทุกรายในประเทศไทย คิดค่าบริการตามระยะเวลาเป็นนาที โดยปัดเศษของวินาที เป็นหนึ่งนาที

ผู้บริโภคร้องเรียนว่า คิดค่าบริการไม่เป็นธรรม ควรคิดตามระยะเวลาที่ใช้งานจริง เป็นวินาที เช่น 2 นาที 30 วินาที ปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที ก็เป็น 3 นาที หรือ จาก 4 นาที 5 วินาที ปัดเศษ เป็น 5 นาที “

นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากสภาพปัญหาพบว่า การนับระยะเวลาโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาทีเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ โดยสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กำหนดให้เรียกเก็บ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ตามระยะเวลาจริงจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมด โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ ในขณะที่ต้นทุนการให้บริการนับระยะเวลาตามจริงเป็นวินาที โดยห้ามปัดเศษ แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุกครั้งของการใช้งาน แบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่

เห็นได้ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลาการใช้บริการโทรคมนาคมในหลายลักษณะ อาทิ ประเทศอินเดีย และสเปนมีการกำหนดให้คิดค่าโทรตามระยะเวลาที่ใช้งานจริงเป็นวินาที และสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ IR (International Roaming) โดยให้คิดค่าโทรขั้นต่ำที่ 30 วินาที ตั้งแต่วินาทีที่ 31 ขึ้นไปคิดค่าโทรตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาที”

“การกำกับ ดูแล กิจการโทรคมนาคมและคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย กสทช. มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการคิดค่าธรรมเนียมและค่าบริการ คือประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และ ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕ แต่ประกาศทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว มิได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคิดค่าบริการว่าจะต้องคิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และปัจจุบัน ประเทศไทย จึงยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องคิดค่าบริการตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาที

ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัท ทรู มีรายได้ 9.6 หมื่นล้านบาท ดีแทค มีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท และ เอไอเอส มีรายได้ 1.4 แสนล้าน จากการสำรวจการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พบว่า ค่าบริการระบบเติมเงิน เฉลี่ยอยู่ที่ 341 บาทต่อเดือน ระบบรายเดือนอยู่ที่ 716 บาท เฉลี่ยทั้งสองระบบมีค่าใช้จ่าย 415 บาทต่อเดือน"

น.ส.สารี กล่าวว่า "หากมีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ไม่มีการปัดเศษเป็นนาที จะช่วยประหยัดค่าโทรศัพท์ได้วันละ 1 นาที หรือ 1.33 บาท ซึ่ง 1 เดือน จะประหยัดได้ 40 บาทต่อคน ประเทศไทยมี 94 ล้านเลขหมาย จะประหยัดเงินได้เดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาท สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ ช่วยประหยัดได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นการลดการเอารัดเอาเปรียบ จึงขอให้ สปช.เห็นชอบหลักการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริง โดยคิดเป็นวินาที พร้อมส่งเรื่องให้ คสช.ให้ควเห็นชอบหลักการคิดค่าบริการดังกล่าว" ประธานกรรมาธิการกล่าวทิ้งท้าย



คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที จะช่วยประชาชนประหยัดได้อย่างต่ำเดือนละ 3,500 ล้านบาท


ทั้งนี้เวทีอภิปรายมีสมาชิกสภาปฎิรูปฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเรื่อง ปัญหาการคิดค่าโทรโดยปัดเศษนี้ สะท้อนภาพของตลาดโทรคมนาคมที่ผูกขาด ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก และการไม่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล ของ กสทช. 

ดังนั้น ควรจะต้อง ปฏิรูป กสทช. และปฏิรูปโครงสร้างตลาดไม่ให้ผูกขาด ส่วนเรื่องการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ทำได้เร็วก็ทำไป ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาวิธีให้บริษัทฯ เหล่านี้ต้องคืนเงินที่ไม่ควรได้จากกรณีนี้ให้กับประชาชน ก็จะเป็นประโยชน์
และ กสทช. เป็นองค์การอิสระที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น ก็ควรเข้าไปปรับปรุง แก้ไข โครงสร้างขององค์กร ให้สามารถทำหน้าที่ กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งคณะกรรมาธิการสื่อสารฯ ของ สปช. ก็จะรับไปศึกษาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างของ กสทช.

จากการอภิปรายสมาชิก สปช. ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องให้คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที จากสมาชิก 221 คน เห็นด้วย 211 คน ไม่เห็นด้วย 3 คน และงดออกเสียง 7 คน 



และที่ประชุมยังมีมติให้ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง (ให้กิจการโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง และปฏิรูป กสทช. ให้สามารถทำหน้าที่กำกับ ดูแลกิจการโทรคมนาคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

คลิกอ่าน ค่ายมือถือเอาเปรียบทาสไทยมานาน

วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

ตะลุยกินอาหาร ขนม ในฮอกไกโด






อดีผมได้เจอคลิปท่องเที่ยวแบบสั้น ๆ ในเว็บ MaruMura เกี่ยวกับการท่องเที่ยวตะลุยกินอาหาร และขนมญี่ปุ่นประเภทต่าง ๆ ในฮอกไกโด เกาะใหญ่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ที่มีอากาศเย็นและหนาวตลอดทั้งปี

พอดีเห็นว่าแต่ละคลิปเป็นคลิปสั้น ๆ ยาวคลิปละไม่เกิน 7 นาที ดูเพลิน ๆ ได้ความรู้แถมได้เห็นอาหาร โดยเฉพาะขนมญี่ปุนที่แปลกตาเราคนไทย เลยอยากนำมาให้ดูครับ

แค่ 3 คลิปสั้น ๆ แต่เพลิดเพลินดี

ที่ผมอยากแนะนำ คือ ลองสังเกตราคาอาหารหรือราคาขนมในทุกคลิป เมื่อเทียบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคนญี่ปุ่นดูแล้ว จะเห็นว่า คนญี่ปุ่นนั้นกินอาหารที่มีราคาค่อนข้างถูกและมีคุณภาพสูงมาก

ค่าแรงขั้นต่ำคนญี่ปุ่น ประมาณวันละ 2,100 บาท อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน 100 เยน เท่ากับ 28 บาท

เช่น ถ้าขนมเค้กอย่างดีที่ญี่ปุ่นชิ้นละ 280 เยน ก็จะราคาเท่ากับ 78.40 บาท ซึ่งราคาแบบนี้ผมว่า บางทีถูกกว่าราคาเค้กในเมืองไทยด้วยซ้ำ



ซึ่งแตกต่างจากคนไทย ที่กินอาหารแพงเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำไทยวันละ 300 บาท แถมคุณภาพและความสะอาดโดยรวม อาหารที่ขายในไทยเรา คุณภาพสู้อาหารที่ขายในญี่ปุ่นไม่ได้เลยครับ


ตอน 1 ออกบินจากสุวรรณภูมิ ตรงสู่ ฮอกไกโด



ตอน 2



ตอน 3




ตอน 4 ตอนจบ



คลิกอ่าน เชื่อไหมคนไทยกินเค้กแพงกว่าคนญี่ปุ่น





วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

เมื่อหญิงชายเป็นแฟนกัน เที่ยวกิน ใครจ่าย ?






พอดีไปเจอคอลัมภ์ของดีเจพี่อ้อย นภาพร ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่อง หญิงชายเป็นแฟนกัน เวลาไปกินอาหาร ไปเที่ยว ใครควรเป็นคนจ่าย น่าสนใจดีครับ


โดยมีผู้หญิงคนนึงได้ถามดีเจพี่อ้อยตามนี้

“หนูคบกับแฟนมา 7 ปีแล้วค่ะ ยิ่งคบกันนานเท่าไหร่ หนูยิ่งอยากอยู่คนเดียวมากเท่านั้น ไม่ใช่ว่าหนูไม่รักนะคะ แต่หนูอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก 4 ปีแรกรักกันดีมากค่ะ พ่อแม่หนูรับรู้ทุกอย่าง พอเริ่มเข้าปีที่ 5 - ปีปัจจุบัน หนูเริ่มเห็นความตระหนี่ถี่เหนียว เขาค่อนข้างงกมาก จนหนูอึดอัด ทำตัวไม่ถูก คิดเสมอว่า คนอื่นจะเป็นแบบแฟนหนูไหม 


เวลาเขาชวนหนูไปดูหนัง ถ้าเป็นคนอื่น ก็น่าจะออกให้หนู แต่นี่เขาให้ต่างคนต่างออก ไม่ใช่ต้องการให้เขาออกให้นะพี่ แต่ตามหลักมันสมควรเป็นแบบนี้หรือเปล่า

ซื้อบ้านด้วยกัน แม่ของเขาออกเงินสดให้เพราะไม่อยากให้ลูกชายมีหนี้ แต่แม่เขาไม่รู้ว่า แต่ละเดือนลูกชายเขาก็มาเก็บค่าบ้านกับหนู ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้เข้าไปอยู่ ตัวหนูเองก็มีค่าใช้จ่ายส่วนตัว ต่างจากเขาที่เอาแต่จะได้

พักหลัง ๆ เขาคิดแต่เรื่องของตัวเอง เดินข้ามถนนใหญ่ก็เดินไปคนเดียวไม่เคยคิดที่จะถามหนู ไม่คิดจูง ไม่เคยคิดจะช่วยถือของ แต่ช่วงคบกันใหม่ ๆ เขาดีมาก เหมือนตอนนี้ยิ่งรักยิ่งห่าง


เวลากินอะไรเป็นกลุ่ม ๆ ตอนหารกัน เขาก็ออกแต่ส่วนของเขา ทั้ง ๆ ที่หนูนั่งอยู่ด้วย พี่สาวหนูยังถามเลยว่า ทำไมเขาเป็นคนแบบนั้น งกจัง หนูเคยชวนเขาไปต่างจังหวัด แต่สุดท้าย มันก็เหมือนเดิม ตัวใครตัวมันออกเอง เวลาที่เขาไม่อยากจ่าย เขาก็จะทำเป็นควักกระเป๋าช้า ๆ จนบางทีหนูจ่ายให้ตลอด

ปีนี้ เขาบอกว่าจะมาขอหนูแต่งงาน แต่ก็ยังไม่มีวี่แวว เขาเป็นคนบ้าฟุตบอล จักรยานและเกมมาก ๆ เรื่องของหนูจะอยู่ท้าย ๆ น้อยใจนะ ทั้ง ๆ ที่รักกัน แต่เขาไม่เคยแสดงออกมา มีแต่บอกรักทางตัวอักษร

รักเขานะพี่ แต่เริ่มรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ความใส่ใจก็น้อยลง หนูขอห่างจากเขาซะพัก เขาเลยลบเฟสหนูไปเลย พี่อ้อยว่าหนูควรทำตัวอย่างไรต่อจากนี้”





แล้ว ดีเจพี่อ้อย ก็ตอบ ตามนี้

รัก 7 ปีจะมีอาถรรพณ์ไหม อยู่ที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้ในข้อดีข้อเสียของกันและกันไหม ทำไมต้อง 7 ปี คงเป็นระยะแห่งความเบื่อกำลังดี ความชินกำลังเหมาะ จากเคยหันแต่มุมสวยที่สุดเข้าหากัน ตอนนี้ฉันจะเป็นตัวฉัน เธอก็จะเป็นตัวเธอ เรื่องงก เดี๋ยวค่อยว่ากัน

แต่สิ่งที่ห่วงกว่านั้นคือเรารักกันน้อยลงหรือหรือเปล่า ความใส่ใจค่อย ๆ หายไป เดินไปไหน มีแต่ฉันไม่ใช่มีกันและกัน แต่ก่อนเดินแทบจะประคอง ตอนนี้ต่อให้จะตกท่อ ยังหันหน้ามารำคาญใส่เลย มันเลยส่งผลมาถึงความมีน้ำใจ และมารยาทสังคมโดยทั่วไปของคนรักกัน

ไปดูหนังต่างคนต่างออกได้ค่ะ ไม่ได้มีสูตรไหนบัญญัติไว้ว่าผู้ชายต้องออกเสมอไป แค่บางทีมันดูโรแมนติกน้อยไป ในภาพของแฟนที่ต่างคนต่างหยิบเงินตัวเองมาวางรวมกันเพื่อจ่ายค่าตั๋วหนัง

ถ้าอยากยุติธรรมกันจริง ๆ สลับกันเลี้ยงก็ได้ ยังไงก็โรแมนติกกว่า รอบนี้เธอเลี้ยงนะ รอบหน้าฉันเอง สูตรนี้ได้มาจากสามีค่ะ พอดีเป็นผู้หญิงที่พึ่งลำแข้งตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร ตอนเป็นแฟนกันใหม่ ๆ อะไรก็หารกัน เพราะไม่อยากให้เขารู้สึกว่า เราตั้งหน้าตั้งตาแต่จะรอแฟนเลี้ยง

จนเขาพูดว่า ให้เขาได้เลี้ยงบ้างเถอะ ให้เขาได้ภูมิใจในการได้ดูแลแฟนบ้าง ตอนนั้นหน้าชาและรู้สึกผิด จนมันติดอยู่ในหัวใจเลยว่า คนรักกัน เราผลัดกันเป็นผู้ให้และผู้รับ เพราะความชื่นใจในการเป็นผู้ให้ ก็ไม่ได้ชื่นใจน้อยกว่าการเป็นผู้รับเลย

คู่แต่งงานหลายคู่ นอกจากการเรียนรู้ใจ ต้องคุยกันให้จบว่า ระบบการใช้เงินของเรา จะเป็นยังไง เธอใช้เงินของเธอ ฉันใช้เงินของฉัน แล้วเรามีกองกลางร่วมกัน หรือแม้แต่สามีอยากเลี้ยงดูภรรยา ค่าเลี้ยงดูที่ว่าเป็นแบบไหน เธอออกค่าใช้จ่ายอะไร หรือส่วนไหน เป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของเรา คุยกันให้ครบ จะได้ไม่ต้องจบที่ความผิดใจ บ้านเราช่วยกันซื้อ แม่เขาออกตังค์ส่วนของเขา เราก็ยังต้องออกตังค์ส่วนของเรา เพราะเขาบอกแล้วว่าช่วยกันซื้อ ถ้าน้องอยากให้เขาซื้อให้ ก็ขอกันตรง ๆ จะได้รู้ว่าจุดประสงค์ตรงกันหรือเปล่า ที่พี่อยากถอนหายใจเบาๆ คือข้อสุดท้ายนี่แหละ ไปทานข้าวเป็นกลุ่มต้องหารกัน

ส่วนใหญ่แฟนกันก็คิดรวมกันก่อน จะไปเก็บตังค์กันข้างหลังก็ไม่ว่านะ แต่การแสดงออกแบบนี้ บางทีก็ไม่ค่อยน่ารัก รักกันดูแลกันเป็นเรื่องปกติ การมีน้ำใจต่อกันเป็นเรื่องของวิจารณญาณ จะร้องขอก็ไม่ใช่ แค่บางทีการทำแบบนี้ก็ประจานตัวเองเกินไป จ่ายแต่ในส่วนของตัวเอง คนมองเข้ามาจะรู้สึกยังไง ต่อให้ไม่ได้แคร์ปากใคร หรือชาวบ้านที่ไหน แต่มองยังไง นี่ก็ยังเป็นมารยาทสังคม พี่สาวเรานั่งด้วย เผลอ ๆ เขายังต้องควรออกให้ทั้งแฟนเราและพี่สาวเราเลย หลังไมค์เราเกรงใจ ค่อยเอามาเคลียร์ให้ ยังไงเขาก็ยังดูดีในสายตาคนอื่น

เมื่อขอเขาห่างซะพัก แล้วเขาก็จัดให้ตามที่ขอ ก็รอเวลาเป็นคำตอบ ว่าช่วงที่ห่างกัน เขาทุรนทุรายอยากจะมีเราอยู่ไหม และถ้าเรารู้สึกอย่างเดียวกันว่าเรารักกันมากพอที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน คงต้องมาเปิดใจคุยกัน เขารู้สึกยังไง เรารู้สึกยังไง คุยกันและฟังกัน เรื่องเงินเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ถ้าจะใช้ชีวิตด้วยกันต่อไป หรือเรียนรู้ใจกันมาได้ตั้ง 7 ปี เรื่องแบบนี้ต้องพูดกันตรงๆ

ไม่มีสูตรไหนที่บอกว่าผู้ชายต้องจ่ายทุกอย่าง หรือถ้าจะเป็นแบบนั้นควรเป็นความตั้งใจของเขาไม่ใช่เราเรียกร้อง จะน่ารักกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเราอยากร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใด ๆ บ้าง ไม่ใช่วางกระเป๋า แล้วเรียกร้องว่าเขาต้องดำเนินการส่งเสียเลี้ยงดูทุกวินาทีแห่งชีวิตต่อจากนี้ที่เป็นแฟนกัน

อาถรรพณ์เลข 7 ไม่มีค่ะ ถ้าเรายังรักกันกัน และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน สื่อสารกันทุกความรู้สึก อย่าเก็บกดทุกอย่างไว้ลึกๆ เพราะสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้หายไป จะคู่ไหน ถ้าไม่รักกันมากพอ รักแล้วตั้งหน้าตั้งตาร้องขอ แบบไม่ทำความเข้าใจอีกฝ่าย ไม่ต้องรอถึง 7 ปี บางทีแค่เดือนแรก ยังไม่รอดจากอาถรรพณ์เลย

ดีเจพี่อ้อย

------------------

สรุปท้ายบทความ

สำหรับความเห็นผมนะ ถ้าเป็นแฟนกัน (หรือช่วงกำลังจีบ) ผู้ชายควรออกเงินเลี้ยงผู้หญิงเสมอครับ แต่ผู้หญิงเองก็ควรจะเข้าใจและเห็นใจผู้ชายบ้าง หมายถึง ในบางเวลา บางครั้งผู้หญิงก็ควรเสนอตัวเป็นฝ่ายเลี้ยงผู้ชายบ้างก็จะดีครับ

แต่โดยรวม ๆ ผู้ชายควรเป็นคนเลี้ยงหรือคนจ่ายเงินให้มากกว่าผู้หญิง ผมว่า ในอัตราส่วน 70:30 หรือ 80:20 เลยด้วยซ้ำ

เว้นแต่ว่า ฝ่ายหญิงรวยมาก ฝ่ายชายจนกว่ามาก ก็อาจเหลืออัตราฝ่ายชายต่อฝ่ายหญิงในอัตรา 60:40 หรือแย่สุดก็ 50:50

ถ้าผู้ชายจ่ายน้อยกว่าผู้หญิง หรือให้ผู้หญิงช่วยจ่ายทุกครั้ง ผมว่า มันไม่ค่อยดูดีเท่าไหร่สำหรับผู้ชายนะ

คือผู้ชายยังไงก็ต้องเป็นฝ่ายเลี้ยงผู้หญิงให้มากกว่าเสมอ และไม่ควรออกปากให้ผู้หญิงเลี้ยงหรือช่วยจ่ายโดยไม่จำเป็น เว้นแต่ผู้หญิงจะเสนอตัวจะเลี้ยงหรือเสนอตัวจะช่วยจ่ายเองครับ

"ถ้าตอนคบเป็นแฟนยังเลี้ยงผู้หญิงไม่ได้ แต่งงานไปจะเลี้ยงครอบครัวได้เหรอ"

คลิกอ่าน เชอรี่สามโคก สอนหญิง จากกรณีเน็ตไอเด้า