วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มองวิกฤติหนี้ยุโรป แล้วย้อนมองไทย







เกริ่น

เมื่อหลายวันก่อน มีข่าวข้าราชการบำนาญของกรีซออกมาประท้วงรัฐบาลกรีซไม่รู้เป็นรอบที่เท่าไหร่แล้ว เหตุเพราะรัฐบาลกรีซตัดลดเงินบำนาญจนเหลือแค่ครึ่งเดียวจากที่เคยรับ แถมสวัสดิการด้านการพยาบาลก็ถูกยกเลิกไป รัฐไม่จ่ายเงินค่ารักษาให้ข้าราชการอีกแล้ว

ส่วนนักศึกษาที่จบใหม่ก็ตกงานมากกว่าร้อยละ 50-60 % แถมล่าสุดแม้แต่สถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐบาลก็เพิ่งถูกสั่งปิด จอดำ และพนักงานในสถานีก็ตกงานกันกว่า 2พันคน

ผมมองดูวิกฤติกรีซแล้ว น่ากลัวมาก เพราะกรีซเคยใช้นโยบายประชานิยมมานาน โดยที่ไม่แสวงหารายได้ให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้คนในประเทศสูงเกินกว่าประสิทธิภาพของงาน

ซึ่งตอนนี้ไทยเรากำลังเดินตามรอยกรีซหรือไม่ ?

ผมได้อ่านบทความด้านล่างของอาจารย์วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว บอกตามตรง ไทยเราน่ากลัวจริง ๆ

ใหม่เมืองเอก

=======================

มองวิกฤติหนี้ยุโรป แล้วย้อนมองไทย


1. วิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS

วิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2008 หลังจากที่วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นได้ 2 ปี ประเทศกลุ่มนี้รู้จักกันในนาม PIIGS ได้แก่ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน เป็นกลุ่มประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการขาดดุลงบประมาณสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน

กรีซ เมื่อแรกเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทุกประเทศรวมทั้งกรีซได้รับสิทธิ์จัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนราคาถูกเท่าเทียมกัน และนำเงินทุนไปพัฒนาประเทศ

แต่กรีซใช้นโยบายรัฐสวัสดิการมาก่อน และภายหลังเป็นสมาชิกอียูแล้วก็ยังคงใช้นโยบายนี้ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นแทนที่จะนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปใช้สร้างประสิทธิภาพในการผลิต กลับนำไปถมในด้านประชานิยมซึ่งมีมากมาย อาทิ นโยบายเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดสำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป การจ่ายโบนัสแก่ข้าราชการปีละ 3 ครั้ง ฯลฯ รายได้ภาษีเกือบทั้งหมดถูกใช้จ่ายเป็นค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการสังคม ไม่มีเงินเหลือสำหรับการลงทุน มีการกู้เงินเกินตัวโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระคืน

ในภาคแรงงานของกรีซได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมอียู ประสิทธิภาพแรงงานต่ำแต่ค่าแรงงานสูง ไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานของประเทศสมาชิกอื่นในอียู แรงงานกรีกจึงตกงาน รัฐบาลแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยจ่ายเงินสวัสดิการแก่ผู้ว่างงาน สร้างภาระการคลังและส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก

ซ้ำร้ายยังมีการตกแต่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและบัญชีหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่าความเป็นจริง สถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอบวกกับการสูญเสียความน่าเชื่อถือกับรายงานหนี้สาธารณะ ทำให้กรีซต้องประสบภาวะวิกฤตการเงินอย่างหนัก ในปี 2007 สัดส่วนหนี้สาธารณะของกรีซอยู่ที่ร้อยละ 115 และต่อมาเพิ่มเป็น 220 ของ GDP คิดเป็นมูลหนี้ 14-15 ล้านล้านบาทจากเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ ทรอยก้า IMF และธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี)

กรีซต้องหาเงินไปชำระหนี้ด้วยการนำกิจการต่างๆ อันเป็นสมบัติของชาติขายให้ต่างชาติถึงขั้นจะขายโบราณสถานอันเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งกิจการรถไฟซึ่งสร้างด้วยเงินกู้จำนวนมหาศาลก็อาจจะต้องนำออกขายให้ต่างชาติ

มีข่าวว่าผู้เกษียณรายหนึ่งซึ่งเคยรับบำนาญแบบสบายๆ ครั้นถูกตัดลดเงินบำนาญ ปรับตัวไม่ได้ถึงกับฆ่าตัวตาย

สาธารณรัฐไซปรัส (Cyprus) ภูมิประเทศเป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นที่ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางใต้ของประเทศตุรกี ได้รับเอกราชพ้นจากอาณานิคมอังกฤษในปี ค.ศ. 1960 มีประชากร 1.1 ล้านคน มีนักท่องเที่ยว 2.4 ล้านคนต่อปี เป็นหนึ่งประเทศสองระบบเศรษฐกิจ ซีกใต้ประชากรร้อยละ 77 มีเชื้อสายกรีก ใช้เงินสกุลยูโร อีกส่วนเป็นไซปรัสเหนือ ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายตุรกี ใช้เงินสกุลท้องถิ่น

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไซปรัสมีหนี้สาธารณะประมาณร้อยละ 67 ของ GDP สาเหตสำคัญเกิดจากธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 3 แห่งของไซปรัสได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลกรีซจำนวนมากถึง 5,250 ล้านยูโร เมื่อกรีซเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและมีการแก้ปัญหาโดยปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไซปรัสขาดทุนมหาศาล ระบบการเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง รัฐบาลไซปรัสพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากกู้เงินจากสหภาพยุโรปแล้ว ยังต้องขายทุนสำรองทองคำ ขายท่าเรือ ขายสายการบินของรัฐ หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องปรับลดการจ้างงาน ข้าราชการและพนักงาน ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจ ทำให้มีคนตกงานและแรงงานรุ่นใหม่ว่างงานจำนวนมาก

สเปน เมื่อเข้าร่วมสหภาพยุโรป ธนาคารพาณิชย์กู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์แตกในปี 2008 ที่อยู่อาศัยถูกทิ้งร้างนับหลายล้านยูนิตอุตสาหกรรมการก่อสร้างและครัวเรือนชาวสเปนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ภายหลังฟองสบู่แตก ธนาคารพาณิชย์ทำการยึดที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นวิกฤตทางสังคม

มีคนฆ่าตัวตายหลายรายเมื่อถูกตำรวจบังคับให้ออกจากบ้านของตน ครอบครัวชาวสเปนกอดคอร่ำไห้เมื่อถูกบังคับให้ออกจากบ้านไปใช้ชีวิตเร่ร่อนบนทางเท้าข้างถนน รัฐบาลหัวอนุรักษ์ไม่ยอมแก้กฎหมายจำนองซึ่งระบุว่าลูกหนี้ถูกยึดบ้านแล้วยังต้องชำระหนี้ต่อไปจนครบ

ในปี 2012 อัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 27 นั่นคือทุก 4 คนมีผู้ตกงานมากกว่า 1 คน ที่น่าเศร้าคือคนหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 25 ปีตกงานเกินครึ่ง อัตราการว่างงานนี้อยู่ในระดับเดียวกับ Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ธนาคารกลางสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือในรูปเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ แลกกับเงื่อนไขบางอย่างที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาดุลงบประมาณภาครัฐ การรักษาสภาวะดุลการค้า เป็นต้น



2. มองกลุ่ม PIIGS แล้วมองไทย

วิกฤตเศรษฐกิจที่มีสาเหตุหลักจากการกู้หนี้ยืมสินของรัฐบาลกรีซและอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป สามารถนำมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับประเทศไทย ดังนี้

1. การดำเนินนโยบายประชานิยมของไทยแบบหว่านไปทั่ว อาจเทียบเคียงเป็น “น้องๆ” ของการดำเนินระบบรัฐสวัสดิการของกรีซ ในช่วงรัฐบาลพรรคของทักษิณมีการออกนโยบายประชานิยมต่างๆ มากมายอย่างต่อเนื่อง มาตรการต่างๆ แบ่งได้เป็น 3 แบบ

(ก) มาตรการที่ลดรายได้ของรัฐ เช่น ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (1.5 แสนล้านต่อปี) ลดภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อนบ้านหลังแรก ลดภาษีรถยนต์คันแรก (1 แสนล้านบาท) 
(ข) มาตรการที่รัฐต้องจ่ายเงินชดเชย เช่น การรับจำนำข้าว (ขาดทุน 3 แสนล้านบาท) การชะลอจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน (3 หมื่นบ้านบาทต่อปี)
(ค) มาตรการที่เพิ่มรายจ่ายงบประมาณ เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการขั้นต้น 15,000 บาท (1.2 แสนล้านต่อปี) การปรับเพิ่มเบี้ยคนชราคนพิการ กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาสตรี มาตรการต่างๆ ทั้งหมดเบ็ดเสร็จรวม 7-8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เฉพาะ 4 โครงการหลักต้องใช้เงินมากกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย
โครงการสินเชื่อบัตรเครดิตเกษตรกร (174,000 ล้านบาท)
โครงการพักหนี้เกษตรกร (ต้องจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารของรัฐราว 45,000 ล้านบาทต่อปี) โครงการบ้านหลังแรก ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 5 ปี (48,000 บาท)
โครงการรีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคล (10,000 ล้านบาท) โครงการเหล่านี้หากขาดทุน สุดท้ายจะต้องเป็นภาระงบประมาณภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีวิธีการหารายได้เพิ่มทางอื่นนอกจากพึ่งพาการกู้ยืม โครงการประชานิยมเป็นสิ่งที่เมื่อเริ่มแล้วหยุดก่อนจะสายเกินแก้ทำได้ยาก ผู้รับประโยชน์เสพติด เปรียบเหมือนรถเบรกแตก ต้องปล่อยให้รถวิ่งจนชนเสาไฟฟ้าหรือตกเหวไป ถึงเวลานั้นประชาชนทุกหมู่เหล่าเจอทุกข์หนักเพราะปรับตัวไม่ทัน

2. นโยบายรัฐสวัสดิการที่บิดเบือนกลไกทางเศรษฐกิจของกรีซ คือ การแก้ปัญหาการว่างงานด้วยการให้เงินช่วยเหลือผู้ตกงานและจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงาน ทำให้แรงงานขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาฝีมือตนเอง ทำให้แรงงานกรีกแข่งขันสู้แรงงานสมาชิกอื่นในอียูไม่ได้ การว่างงานจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ตกงานจึงเป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายในระยะยาว

ปรากฏการณ์นี้อาจนำมาเทียบเคียงกับนโยบายค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท โดยไม่มีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพแรงงานตามความต้องการของผู้จ้าง ปัจจุบันแรงงานไร้ฝีมือของไทยถูกแรงงานไร้ฝีมือจากพม่าและเขมรแย่งงานไปมาก การเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเริ่มในปี 2558 แรงงานกึ่งมีฝีมือของไทยจำนวนมากก็จะถูกแย่งงานเช่นกัน

3. ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายและการทำบัญชี การที่กรีซพยายามรายงานตัวเลขหนี้สาธารณะให้น้อยกว่าความเป็นจริง เป็นการปกปิดสัญญาณเตือนภัยหนี้สาธารณะ และเมื่อตัวเลขที่แท้จริงถูกเปิดเผย รัฐบาลกรีกไม่สามารถลวงโลกต่อไป เจ้าหนี้จึงเกิดความตื่นตระหนก

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามซ่อนตัวเลขอย่างประเทศกรีซ แต่ในสมัยแรกทักษิณใช้วิธีซุกหนี้โดยใช้เงินของสถาบันการเงินต่างๆ ของรัฐมาสนับสนุนโครงการประชานิยม มีทั้งเม็ดเงินจาก ธกส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเอสเอ็มอี

ต่อมาก็ใช้วิธีลดตัวเลขหนี้โดยโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาทไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และการออก พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาทแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการออก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบคมนาคม ก็เพื่อเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการก่อหนี้และการใช้จ่ายเงินกู้ อย่างน้อยในช่วง 3-7 ปีที่ใช้จ่ายเงินกู้ แต่หลังจากเบิกจ่ายเงินกู้ไปหมดแล้วและทิ้งปัญหา เมื่อนั้นแหละสังคมไทยจึงจะตื่น แต่ก็สายไปเสียแล้ว

4. ภาวะความผันผวนและเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ หนี้สาธารณะจะพุ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้เสมอ จากการที่ต้องกู้เงินใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งสวนทางกับ GDP ที่ชะงักงัน ดังจะเห็นได้จากตารางที่ 1 การก่อหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบัน ในด้านหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ควรจะพิจารณาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นได้ทั้งจากในและนอกประเทศ

เมื่อมองผลกระทบวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS แล้ว คนไทยที่เสพติดนโยบายประชานิยม โดยไม่สนใจว่าเงินที่ใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาจากหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมา

อีกทั้งมีการทุจริตโกงกินแทบทุกโครงการ จนวันหนึ่งหมดหนทางจ่ายคืนหนี้ ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

พวกที่รับประโยชน์จากมาตรการประชานิยมไม่อาจปฏิเสธว่ารัฐบาลที่สร้างความหายนะแก่ประเทศมาจากแรงหนุนของพวกตน เพราะหากไม่ลงคะแนนเสียงให้ พวกนี้ก็เข้าสู่อำนาจรัฐไม่ได้


http://astv.mobi/AbCfJsn

บทความโดย วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาตร์ ม.ธรรมศาสตร์




1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ เข้าใจแล้วว่า ที่เขาเตือน ๆ นั้นคืออะไร

    ตอบลบ

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก