วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นักเศรษฐศาสตร์จี้ ปตท.คืนท่อก๊าซ และวัตถุประสงค์การปฏิรูปพลังงาน







"เราไม่ได้เรียกร้องให้ราคาพลังงานถูกลง แต่เราเรียกร้องให้ราคาพลังงานที่เป็นธรรมแก่ประชาชน"

นักวิชาการด้านเศษฐศาสตร์ที่สนับสนุนเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน จี้ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซให้เป็นของรัฐ

ย้ำ! การมีส่วนร่วมภาคประชาชนคือสิ่งสำคัญในการปฏิรูปพลังงาน พร้อมหารูปแบบการเคลื่อนไหวแบบใหม่หลังจากที่ทหารมีคำสั่งให้หยุดเดินรณรงค์เพราะละเมิดกฎอัยการศึก



เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายขาหุ้นฯ นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้อง 5 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนระบบการให้สัมปทานปิโตเลียมจากเดิมที่ใช้ระบบสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต

เรื่องที่ 2 คือ ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ทั้งบนบกและในทะเล ตามที่ศาลปกครองวินิจฉัยไว้

เรื่องที่ 3 คือ ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติให้เป็นธรรม

เรื่องที่ 4 คือ การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ที่ต้องให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบระหว่างการใช้พลังงานหมุนเวียนกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

เรื่องที่ 5 คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการปฏิรูปพลังงาน และการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านพลังงาน

นายเดชรัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ศาลมีคำสั่งให้ ปตท.คืนท่อก๊าซทั้งหมด แต่ ปตท.ยังไม่ได้คืนส่วนที่เป็นท่อในทะเล จึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบว่า ปตท. คืนท่อก๊าซครบถ้วนแล้วหรือไม่

ซึ่งความเป็นจริงแล้วสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยทำรายงานการคืนท่อก๊าซของ ปตท. แต่ยังไม่มีการนำรายงานฉบับนั้นออกมาเผยแพร่ เพื่อพิจารณาตรวจสอบ

ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ให้ข้อมูลว่า ท่อก๊าซในทะเลไม่จำเป็นต้องคืน เพราะอยู่ในเขตนอก 12 ไมล์ทะเลซึ่งอยู่นอกอำนาจทางกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วพบว่าอำนาจอธิปไตยของไทยครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะด้วย

ส่วนข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน และระบบสัมปทาน นั้นต้องเริ่มที่ให้รัฐเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อให้ปตท.ปฏิบัติตามนโยบายนั้น

สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ นายเดชรัตน์เสนอให้มีการพิจารณายกเลิกกองทุนน้ำมันอย่างเป็นขั้นตอน

เนื่องจากกองทุนน้ำมันสร้างภาระให้ผู้ใช้น้ำมัน และทำให้เกิดการบิดเบือนราคา รวมถึง ก๊าซหุ้งต้มควรจัดสรรให้ภาคครัวเรือนก่อน แล้วค่อยจัดสรรให้ภาคปิโตรเคมี ซึ่งควรได้ใช้แบบเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ใช่ว่า ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ ปตท.แล้วได้สิทธิพิเศษด้านราคา

สำหรับความกังวลว่าหากขึ้นราคาก๊าซในภาคปิโตรเคมี จะสร้างภาระให้ประชาชนภายหลังหรือไม่นั้น ?

นายเดชรัตน์กล่าวว่า ต้องปรับความคิดใหม่ว่า ก๊าซทั้งหมดเป็นของประชาชน ปตท.เป็นเพียงผู้รับมาดำเนินการ ซึ่งสิ่งที่ ปตท.พยายามชี้แจงมาตลอด คือ ธุรกิจปิโตรเคมี สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมาก จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องซื้อวัตถุดิบราคาต่ำกว่าที่ประชาชนซื้อ ควรซื้อในราคาเดียวกัน

ซึ่งปัจจุบันการใช้ก๊าซหุ้งต้มของธุรกิจปิโตเคมีนั้นไม่ต้องเสียภาษีท้องถิ่นหรือภาษีสรรพสามิต ซึ่งสะท้อนถึงโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากอีกด้วย

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของเครือข่ายขาหุ้นฯ นายเดชรัตน์มองว่า การที่ทหารออกคำสั่งให้หยุดการเดินรณรงค์จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถึง กรุงเทพฯ นั้นแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมอง การเดินรณรงค์ให้ข้อมูลประชาชน แจกเอกสารเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ

เครือข่ายฯ จึงต้องหาว่าวิธีที่เหมาะสมกับการให้ข้อมูลประชาชนในช่วงที่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึกและไม่อยากให้มีการใช้อำนาจมาปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพิ่งเปิดรับการแสดงความคิดเห็นครับ ทุกความเห็นคือกำลังใจ
แล้วอย่าลืมแวะไปที่บล้อคมุมมอง-ใหม่เมืองเอกนะครับ ขอบคุณ/ใหม่ เมืองเอก